จากรายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO สิ้นสุดวันที่ 5 มิ.ย. 2022 ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) นอกทวีปแอฟริกา ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.-2 มิ.ย. มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว รวมกันมากกว่า 780 คนใน 27 ประเทศ

สถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น นำไปสู่การตั้งถามสำคัญที่ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไวรัสที่ถูกพบในแอฟริกาตะวันตกเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษก่อน และโดยทั่วไปไม่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจากคนสู่คน จู่ๆ จึงกลายมาเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความวิตกกังวลในวงกว้างในช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา และถึงเวลาแล้วหรือยังที่ สำหรับการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ให้กับชาวโลกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เช่นเดียวกับ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โรคฝีดาษลิงระบาดอย่างรวดเร็วในเวลานี้ :

แม้จากข้อมูลที่มีในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเริ่มต้นที่ไหนและอย่างไร แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่า อาจจะมีการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงอย่างเงียบๆ ในประชากรบางกลุ่ม นอกแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตกมานานตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน เพียงแต่สิ่งที่ยังไม่รู้อย่างแน่ชัด คือ ระยะเวลาที่ว่านั้น มันมีระยะเวลาเนิ่นนานขนาดไหน อาจจะระยะเวลาเป็นเดือน หรือเมื่อ 2-3 ปีก่อน ด้วยเหตุเพราะการระบาดในลักษณะที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นไปได้ยากมากที่ เชื้อไวรัสฝีดาษลิงจะเพิ่งแพร่ออกจากแอฟริกาภายในระยะเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์

...

เพราะเหตุใดการแพร่ระบาดจึงหลุดรอดจากการตรวจสอบ :

ในแอฟริกาการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงที่เกิดขึ้นในอดีตส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ และมักไม่ได้เกิดจากการแพร่เชื้อจากคนสู่คน แต่ในกรณีที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน พบว่ามีการติดต่อผ่านการสัมผัสอย่างใกล้ชิดในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ด้วยเหตุนี้ รอยโรคในหลายกรณีจึงถูกวินิจฉัยผิดไปว่า เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริมที่อวัยวะเพศ หรือ โรคซิฟิลิส

นอกจากนี้ ตามรายงานของ CDC ยังระบุอีกด้วยว่า ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งในสหรัฐฯ ไม่ปรากฏอาการสัญญาณเริ่มต้นโดยเฉพาะอาการไข้ ก่อนที่รอยโรคจะปรากฏขึ้น เช่นที่เคยสามารถสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในอดีต ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความสับสนและล่าช้าในกระบวนการติดตามและเฝ้าระวังโรคของหน่วยงานสาธารณสุขในหลายประเทศ

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงจำเป็นแล้วหรือยัง :

ความเห็นขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO รวมถึง ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ยืนยันว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องระดมฉีดวัคซีนกับประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาหลังผ่านไปประมาณ 2-4 สัปดาห์ อีกทั้งปัจจุบันยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดที่กำลังเกิดขึ้นนอกแอฟริกาในเวลานี้ ขณะเดียวกันอัตราการแพร่ระบาดต่อจำนวนประชากรยังไม่สูงมากนัก และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ โรคฝีดาษลิงไม่ได้แพร่ระบาดได้ง่ายเหมือนกับกรณีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

ขณะเดียวกันระบบสาธารณสุขโลก นอกจากจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษลิงสูงแล้ว ยังมีข้อมูลของโรคนี้จำนวนมากอยู่ในมือ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เมื่อ 2 ปี ก่อนที่ในคราวนั้น นอกจากจะมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคเพียงเล็กน้อยแล้ว โลกยังไร้ซึ่งวัคซีนสำหรับการป้องกันอีกด้วย

โดยปัจจุบัน WHO ได้กำหนดให้การระบาดโรคฝีดาษลิง มีความเสี่ยงด้านสาธารณสุขในระดับปานกลาง (Moderate) ส่วน CDC ยังคงกำหนดระดับความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนชาวสหรัฐฯ ให้อยู่ใน ระดับต่ำ (Low) ต่อไป

...

ณ ปัจจุบัน ใครคือผู้ที่ได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง :

CDC แนะนำให้ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสและการติดเชื้อ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่ศึกษาไวรัสฝีดาษลิง, บุคลากรด่านหน้า (First Responder) ที่อาจเข้าร่วมในการรักษาผู้ป่วย และผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพของผู้ติดเชื้อ

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง :

จากการเปิดเผยของ CDC ปัจจุบันสหรัฐฯ มีวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ (ซึ่งสามารถใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้อยู่ 2 ชนิด) คือ 1.วัคซีน ACAM2000 2.วัคซีน Jynneos

1. วัคซีน ACAM2000 :

ปีได้รับการรับรอง : ปี 2007

วิธีฉีด : ใช้เข็มซึ่งมีเชื้อไวรัสมาขีดข่วนผิวหนังบริเวณต้นแขนจนเกิดเป็นแผลถลอกเพื่อให้เชื้อไวรัสเข้าสู่บาดแผล หรือ การปลูกฝี

ประสิทธิภาพ : กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง (Active Immunization) และได้รับการยืนยันว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้ทรพิษและโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85%

จุดเด่น : ฉีดครั้งเดียวป้องกันได้ตลอดชีวิต

จุดด้อย : ไม่เหมาะกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและต้องระมัดระวังการแพร่กระจายไวรัสไปสู่ผู้อื่นผ่านบาดแผลที่ปลูกฝี

...

2.วัคซีน Jynneos

ปีได้รับการรับรอง : ปี 2019

ประสิทธิภาพ : สามารถสร้างระดับภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมสำหรับป้องกันโรคไข้ทรพิษและโรคฝีดาษลิงได้ในคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

วิธีฉีด : ฉีดบริเวณผิวหนัง 2 เข็มห่างกันประมาณ 1 เดือน

จุดเด่น : สามารถฉีดให้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้

จุดด้อย : ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อฉีดให้กับมนุษย์แล้วจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไปได้ตลอดชีวิต ทำให้ต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

...