โรคฝีดาษลิง แม้ยังไม่มีการระบาดในไทย แต่ตอนนี้หน่วยงานรัฐมีการเฝ้าระวังนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการวางแนวทางป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำสัตว์ป่าเข้าประเทศตามแนวชายแดน แต่หลายคนยังหวั่นวิตก โดยเฉพาะชุมชนที่มีประชากรลิงอาศัยอยู่ และกลัวว่าตนเองจะเป็นกลุ่มเสี่ยง

“ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ” หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคฝีดาษลิง เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อจากลิงในแอฟริกามาสู่คน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับลิงในไทย ดังนั้นชุมชนที่มีลิงอาศัยอยู่ ไม่ต้องกังวล เพราะตอนนี้หลายคนวิตกกังวลจนกลายเป็นความหวาดระแวง เมื่อเห็นลิงในพื้นที่มีอาการผิดปกติ จะแจ้งให้ภาครัฐไปกำจัด

แม้มีการป้องกันลักลอบนำสัตว์ป่าเข้ามาริมชายแดน แต่ไม่น่าเป็นห่วงเท่าการลักลอบนำสัตว์จากแอฟริกาที่มีการพบเชื้อจากลิงรายแรกเข้ามายังประเทศไทย รวมถึงสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู ที่มีการลักลอบนำเข้ามาผ่านสายการบินต้นทาง โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีความเสี่ยงมากกว่าซากสัตว์ เพราะสัตว์บางตัวนำเข้ามาอาจยังไม่แสดงอาการชัดเจน เนื่องจากอยู่ในระยะฟักตัว ดังนั้นมาตรการตรวจสอบของภาครัฐจะต้องมีความเข้มงวดสูง

...

ตัวอย่างเช่น การแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกา มีการลักลอบนำหนูจากแอฟริกาเข้ามาในประเทศ ทำให้เกิดการแพร่ระบาด ซึ่งแนวทางป้องกันสำคัญตอนนี้ ต้องมีการควบคุมการแพร่ระบาดจากมนุษย์สู่มนุษย์ เพราะสามารถติดได้ง่ายกว่าแบบอื่น

สำหรับทีมแพทย์ที่ต้องเป็นด่านหน้าในการตรวจสอบนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ควรมีแพทย์โรคผิวหนังทำหน้าที่วิเคราะห์อาการตุ่มบนผิวหนัง เพื่อจำแนกอาการ ขณะเดียวกันต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเพศสัมพันธ์ ในการช่วยวิเคราะห์กลุ่มเสี่ยง

เพราะโรคนี้มีอาการคล้ายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส, เริม ซึ่งคนไข้บางรายมีอาการตุ่มบนผิวหนัง ยังไม่แสดงอาการบนผิวหนังตามแขน ขา ที่สังเกตได้ง่าย แต่จะมีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือผิวหนังตามจุดซ่อนเร้นใต้ร่มผ้า ทำให้หน่วยคัดกรองไม่เห็นความผิดปกติ

แม้ตอนนี้ยังไม่มีผู้ติดเชื้อในไทย แต่อนาคตน่าจะมีผู้ที่ติดเชื้อนำเข้ามาแพร่ระบาด แต่โรคนี้ไม่ได้ติดกันง่ายๆ เหมือนโควิด-19 จึงควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้คนที่มีเชื้อเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักเที่ยวกลางคืนที่อาจมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะตอนนี้ในต่างประเทศ คลัสเตอร์ใหญ่ คือ กลุ่มชายรักชาย ที่มีผู้นำเชื้อเข้ามาในประเทศได้

"ควรมีการให้ความรู้กับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก แม้ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ช่วยในการป้องกันอย่างชัดเจน แต่อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ยังมีน้อย ซึ่งตอนนี้หลายหน่วยงานกำลังเร่งวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนออกมาใช้ป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่ระบาดในวงกว้าง"

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค มีการแนะนำถึงกระบวนการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคฝีดาษลิง ว่า ผู้ป่วยจะมีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส มีประวัติมีไข้ร่วมกับอาการ เช่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต รวมถึงมีผื่นกระจายตามลำตัว มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด

สำหรับการป้องกันโรคฝีดาษลิง 1.ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือสัตว์ป่า 2.หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ปรุงสุก 3.หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสกับสัตว์ และคนที่เสี่ยงติดเชื้อ.