ข้อมูลล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงนอกทวีปแอฟริกาที่ชาวโลกกำลังเป็นกังวล "เรา" ควรรู้อะไร และอะไรคือ วิธีการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดจากการแพร่ระบาดครั้งนี้จาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ, องค์การอนามัยโลก และ ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติแห่งสหราชอาณาจักรกันบ้าง...
โรคฝีดาษลิง :
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคที่พบได้ยาก ซึ่งเกิดจากไวรัสที่เป็นสายพันธ์ุเดียวกับไวรัสไข้ทรพิษ แต่โดยทั่วไปจะมีความรุนแรงน้อยกว่า และการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษลิงมากถึง 85%
โรคฝีดาษลิงถูกตรวจพบครั้งแรกในลิงที่ถูกจับเมื่อปี 1958 ส่วนผู้ป่วยรายแรกที่ถูกตรวจพบและมีการบันทึกทางแพทย์เกิดขึ้นในปี 1970 ซึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงประปรายใน 10 ประเทศของทวีปแอฟริกา คือ สาธารณรัฐเบนิน, แคเมอรูน, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, กาบอง, สาธารณรัฐโกตดิวัวร์, ไลบีเรีย, ไนจีเรีย, สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน, ซูดานใต้
...
อย่างไรก็ดีในปี 2017 ได้พบการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่สุด โดยพบผู้ต้องสงสัยรวม 172 คน และได้รับการตรวจพิสูจน์ยืนยันรวม 61 ราย โดยในจำนวนนี้ มากถึง 3 ใน 4 เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 21-40 ปี
ส่วนกรณีการติดเชื้อนอกทวีปแอฟริกานั้นไม่พบมากนัก โดยทั่วไปส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับการเดินทางระหว่างประเทศ หรือ การนำสัตว์เข้าประเทศ โดยรายงานการพบผู้ป่วยนอกทวีปแอฟริกาก่อนหน้านี้ พบในประเทศ อิสราเอล สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา โดยในปี 2003 มีรายงานผู้ติดเชื้อมากถึง 81 คน ที่มีความเชื่อมโยงกับการนำเข้า “กระรอกดิน” (Prairie dog) โดยไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ ตา จมูก และ ปาก
การติดต่อจากคนสู่คน :
โดยมากมักเกิดขึ้นผ่านระบบเดินหายใจ (ข้อแนะนำควรอยู่ห่างจากผู้ป่วยประมาณ 2-3 ฟุตเป็นอย่างน้อย) หรือ การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นเวลานานๆ รวมถึงวัสดุปนเปื้อนอื่นๆ เช่น ผ้าปูที่นอน หรือ เสื้อผ้า
ส่วนการติดต่อจากสัตว์สู่คน :
โดยมากมักเกิดจากการถูกกัดหรือข่วน โดยปัจจุบันโรคฝีดาษลิงยังไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เตือนว่า การสัมผัสใกล้ชิดในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลานานทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อได้
จะรู้ได้อย่างไรว่า มีความเสี่ยงจะเป็นโรคฝีดาษลิง :
ระยะฟักตัว (ช่วงตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนถึงเริ่มมีอาการ) โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 6-13 วัน แต่ในบางกรณีอาจอยู่ในช่วงระยะเวลาประมาณ 5-21 วัน
ระยะลุกลาม : 0-5 วัน :
เกิดอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน มีไข้ 38.3 องศาเซลเซียส มีอาการปวดศีรษะ, ต่อมน้ำเหลือง, ปวดหลัง, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะอย่างรุนแรง, มีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรงอย่างรุนแรง, มีภาวะต่อมน้ำเหลืองโต
จากนั้นอีก 1-3 วัน จะเกิดมีผื่นขึ้น ซึ่งโดยมากมักจะขึ้นที่ทั่วบริเวณใบหน้า (95%) ก่อนจะแพร่กระจายไปตามส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมถึงฝ่าเท้าและฝ่ามือ (75%) ช่องปาก (70%) อวัยวะเพศ (30%) เยื่อบุตา (20%) ซึ่งผื่นที่ขึ้นอาจทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มหนองไปจนถึงมีเลือดคั่ง ก่อนจะตกสะเก็ดแล้วหลุดออกไปเอง ขณะที่การติดเชื้อมักกินระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ และโดยมากมักจะหายไปเอง
ทั้งนี้ หากพบว่าตัวเองมีภาวะความเสี่ยง ควรแยกตัวเองเพื่อทำการกักโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่นและรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
...
โรคฝีดาษลิงอันตรายแค่ไหน :
แม้บางกรณีอาจเคยพบว่าผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมีอาการรุนแรงและมีรายงานพบผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งในทวีปแอฟริกา หากแต่อัตราการเสียชีวิตยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 3-6% เท่านั้น
อย่างไรก็ดี กรณีอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็กมากที่สุด รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และสตรีมีครรภ์ นอกจากนี้ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-50 ปี ในบางประเทศอาจอ่อนแอต่อโรคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ
โดยโรคฝีดาษลิง มี 2 สายพันธ์ุ คือ 1.สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีระดับความรุนแรงของโรคไม่มากนัก 2.สายพันธุ์แอฟริกากลาง หรือ สายพันธุ์คองโก ซึ่งมีระดับความรุนแรงสูง อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่มี ณ ขณะนี้ การแพร่ระบาดในหลายประเทศ ณ ปัจจุบัน น่าจะมีความเชื่อมโยงกับ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มากที่สุด
...
วิธีการรักษา :
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคฝีดาษลิง ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วโรคนี้มักจะมีอาการไม่รุนแรงก็ตาม โดยผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อมักถูกกักตัวไว้ในห้องแรงดันลบและได้รับการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ อย่างไรก็ดี วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7 วิธีป้องกันตัวเองจากโรคฝีดาษลิง
1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง
2.ใช้หน้ากากอนามัยหากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีอาการ
3.ใช้ถุงยางอนามัยและสังเกตอาการหากคุณเพิ่งเปลี่ยนคู่นอน
4.หลักเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของไวรัส โดยเฉพาะ ลิง และ หนู
5.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ แอลกอฮอล์ หากสัมผัสผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง
6.ใช้อุปกรณ์ส่วนตัวในการดูแลผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ
7.กินเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก
*** หมายเหตุ อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ, องค์การอนามัยโลก, ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติแห่งสหราชอาณาจักร ***
...
สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงล่าสุด :
สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ค. 2022 พบผู้ต้องสงสัยและได้รับการยืนยันรวมทั่วโลก 417 คน ใน 23 ประเทศนอกทวีปแอฟริกา ประกอบด้วย อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เบลเยียม, แคนาดา, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ไอร์แลนด์, อิสราเอล, อิตาลี, เม็กซิโก, เนเธอร์แลนด์, โปรตุเกส, สโลวีเนีย, สเปน, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา
*** หมายเหตุ อ้างอิงข้อมูลจาก Our World in Data ***
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟฟิก : Jutaphun Sooksamphun
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :