จากการพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ที่สหราชอาณาจักรมากถึง 7 คน ส่งสัญญาณถึงการแพร่ระบาดในชุมชนเป็นครั้งแรกของประเทศอังกฤษ ทำให้หลายคนเกิดความหวาดกลัวและกังวลถึงอันตรายของโรคนี้ ซึ่งโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) กับโรคไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ (Smallpox) ที่เคยระบาดในอดีต มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และสามารถป้องกันได้หรือไม่
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากอะไร
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เกิดอาการในคนคล้ายกับโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ (Smallpox) ซึ่งถูกกวาดล้างหมดไปจากโลกแล้ว ตั้งแต่ปี 2523 แต่โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ยังเกิดขึ้นประปรายในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกา
โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษไปได้นั้น มีการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกกันว่า "การปลูกฝี" เพื่อช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ แต่เด็กที่เกิดหลังจากปี 2523 ซึ่งไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) มากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) พบสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 10
ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่อยู่ในชนบทห่างไกลของแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก บริเวณใกล้เขตป่าร้อนชื้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ได้บ่อย เป็นสาเหตุให้โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) แพร่ระบาดจากสัตว์จำพวกกระรอกและลิงมาสู่คนด้วยการสัมผัสกับเลือดสัตว์หรือถูกสัตว์เหล่านี้กัด
อาการโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)
อาการของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) จะแสดงหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 12 วัน โดยมีอาการคล้ายโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ (Smallpox) ในอดีต มีลักษณะอาการดังนี้
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ปวดกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย
- อาจมีอาการไอหรือปวดหลังร่วมด้วย
- มีผื่นขึ้นกระจายตามร่างกาย และกลายเป็นตุ่มหนอง
...
อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคได้เอง แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีภูมิต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิตได้
โรคฝีดาษ (Smallpox) มีสาเหตุจากอะไร
โรคไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ (Smallpox) เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสวาริโอลา ซึ่งสามารถติดต่อจากคนสู่คน โดยจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย รวมถึงการสัมผัสกับผื่นหรือตุ่มน้ำของผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกันก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้
ปัจจุบันโรคไข้ทรพิษถูกกวาดล้าง หมดไปจากโลกนี้แล้ว แต่ยังมีการเก็บตัวอย่างเชื้อไว้เพื่อใช้สำหรับการศึกษาเพิ่มเติม จนได้มีการผลิตยารักษาโรคไข้ทรพิษตัวใหม่คือ ยา Tecovirimat (TPOXX) ในปี 2561 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการระบาดในอนาคต
อาการโรคฝีดาษ
เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 7-17 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มแสดงอาการต่างๆ ดังนี้
- มีไข้สูง
- รู้สึกไม่สบายตัว หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
- ปวดหลังอย่างรุนแรง
- อาเจียน
- มีผื่นสีแดงขึ้นลามไปทั่วทั้งตัว แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำและตุ่มหนองตามลำดับ
จากนั้นต้องใช้เวลาอีก 8-9 วันแผลจึงเริ่มตกสะเก็ด แล้วค่อยๆ หลุด เหลือเพียงแผลเป็นในที่สุด โดยช่วงที่เกิดการแพร่กระจายเชื้อจะเริ่มตั้งแต่ช่วงที่มีผื่นขึ้นจนกระทั่งสะเก็ดแผลหลุดร่วงไปจนหมด หากผู้ป่วยไม่มีอาการที่รุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายก็สามารถหายเป็นปกติได้ในเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ และอาจมีเพียงแผลเป็นให้เห็น
วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)
- เลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยเฉพาะลิง และหนู
- เลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงและสิ่งของของผู้ป่วย รวมถึงลมหายใจของผู้ป่วย
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสสัตว์ หรือสัมผัสสิ่งของสาธารณะ
- ใช้ผ้าปิดจมูกและปาก เมื่อไปในสถานที่เสี่ยงมีโรคระบาด
- ถ้าพบผู้ป่วย ให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น
เนื่องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) มีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสโรคฝีดาษ (Smallpox) หรือไข้ทรพิษ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจึงสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงได้ แต่การฉีดวัคซีนควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยงหรือใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน
นอกจากนี้ ยังพบว่าเชื้อโรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ ระหว่างการพูดคุยเผชิญหน้ากันเป็นเวลานาน หรือติดเชื้อจากสารคัดหลั่งของร่างกาย รวมทั้งมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผื่นทั่วไป เหมือนกับโรคอีสุกอีใส โรคหัด โรคหิด และโรคซิฟิลิส ทำให้ยากต่อการวินิจฉัยโรคในเบื้องต้น
ข้อมูลอ้างอิง: ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ