• ไทยสกัด "โรคฝีดาษลิง" หลังพบระบาดหลายประเทศ สั่งยกระดับเฝ้าระวัง-เตรียมพร้อมรับมือ หลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว กำชับด่านตรวจคนเข้มคัดกรองคนเดินทางจากพื้นที่มีการระบาด
  • แนะวิธีหลีกเลี่ยงหากไปประเทศเสี่ยง ผุดศูนย์ EOC คัดกรองกลุ่มเสี่ยง เพื่อมั่นใจรับมือได้ทัน เน้นตรวจเข้ม 2 จุด จับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดในแอฟริกา-ยุโรป ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง หากมีอาการให้รีบพบหมอ รพ.ใกล้สุดทันที 
  • สธ.ตั้งคณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน "ฝีดาษลิง" ยืนยันยังไม่มีการระบาดในไทย แต่ไม่ประมาทเตรียมรับมือไว้ก่อน ผู้เชี่ยวชาญถกนิยามโรคฝีดาษลิงยึด 3 เกณฑ์ พร้อมประเมินสถานการณ์ภาพรวม

สถานการณ์โควิดฯ ในไทยอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์โควิดฯ ทั่วโลกดีขึ้นตามลำดับ จนอาจเข้าสู่โรคประจำถิ่นในไม่ช้านี้ แต่ล่าสุดกลับเกิด "โรคฝีดาษลิงระบาด" ขึ้นมาแทนที่ โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกาและประเทศแถบโซนยุโรป ทั้งที่ความเป็นจริงเชื้อฝีดาษได้หายลับไปนานหลายทศวรรษ ซึ่งจากการระบาดครั้งนี้สร้างความกังวลให้ชาวโลกเป็นอย่างมาก จนหลายประเทศต่างกำลังจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด ส่วนประเทศไทยก็ตื่นตัวเช่นกัน ล่าสุดมีการสั่งยกระดับเฝ้าระวังคนเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาด ภายหลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว เพื่อความไม่ประมาทเตรียมพร้อมรับมือได้ทัน หากพบคนติดเชื้อภายในประเทศ นอกจากนี้ยังสั่งประเมินสถานการณ์ภาพรวม กำชับทุก รพ.เฝ้าระวัง ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศให้ตรวจเข้มการคัดกรอง และเน้นย้ำคนไทยที่เดินทางไปประเทศเสี่ยงต้องเข้มงวดดูแลตัวเอง !!!

...

ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินสกัด "ฝีดาษลิง"

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรณีโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจัดทำแผนทั้งในระยะยาว ระยะกลาง ในการปรับปรุงกลยุทธ์และมาตรการให้เหมาะสม โดยองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงและมีผู้ป่วยสงสัยเป็นฝีดาษลิงอยู่ระหว่างสอบสวนโรคในหลายประเทศ ที่ไม่ใช่แหล่งระบาดของโรคฝีดาษลิง และมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในอีกหลายประเทศ

"ระยะนี้เป็นช่วงเริ่มเปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศไทยได้มากขึ้น และเป็นช่วงเตรียมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิดฯ ดังนั้นอาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ทั้งในช่องทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ หรือผู้ที่เดินทางจากประเทศดังกล่าวไปในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ภายในไทย"

แนะ 3 ข้อระมัดระวัง หากต้องเดินทางไปประเทศมีการระบาด

นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคได้มีการยกระดับเพื่อเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางจากประเทศเสี่ยง ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิงควรระมัดระวัง ดังนี้

  • 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานพบเชื้อในสัตว์เหล่านี้ในประเทศไทยก็ตาม หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิงให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขาให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง
  • 2.ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention (UP) โดยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก กินอาหารปรุงสุก เป็นต้น
  • 3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด และน้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยว่าป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง

เผยหลายเคสไม่ได้ไปพื้นที่เสี่ยง แต่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย

ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงโรคฝีดาษลิงว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 2565 เป็นต้นมา มีรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเพิ่มขึ้น และกระจายไปแล้วหลายประเทศภาคีสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ที่ไม่ได้เป็นประเทศที่เป็นดินแดนที่มีโรคชุกชุม (non-endemic areas) จากการสอบสวนโรคพบว่า มีเคสจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีประวัติเดินทางไปในดินแดนที่โรคชุกชุม แต่มีประวัติการมีสัมผัสทางกายกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง จึงขอให้มีการเฝ้าระวังโรคเพราะคาดว่า จะมีรายงานเคสมากขึ้นในประเทศที่ไม่ได้เป็นประเทศที่เป็นดินแดนที่มีโรคชุกชุม และควรมีการให้ความรู้แก่ประชาชนให้คอยสังเกตอาการเจ็บป่วย และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้

ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยันยังไม่มีการระบาดในไทย

ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงโรคฝีดาษลิงที่กำลังระบาดในต่างประเทศขณะนี้ว่า ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขโดยไม่ตื่นตระหนก ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการพนักงานปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงระดับกรม ซึ่งมี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เป็นประธาน มีรองอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการชุดนี้จะติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคทั้งต่างประเทศและในประเทศ คัดกรองบุคคลที่มาจาก 17 ประเทศเสี่ยงโดยด่านคัดกรองของกรมควบคุมโรคที่สนามบิน ได้กำชับสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้ไปทำความเข้าใจ ติดตามข้อมูลจากคลินิกโรคผิวหนัง คลินิกกามโรคในประเทศว่าพบโรคนี้เข้ามาบ้างแล้วหรือไม่ ยืนยันว่าสถานการณ์ในประเทศยังไม่มีอะไรน่าตื่นตกใจ และยังไม่พบการระบาดของโรคในไทย ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลของกรมควบคุมโรค ส่วนการฉีดวัคซีนของประชาชนที่เกี่ยวกับโรคฝีดาษนั้น ที่จริงเป็นการปลูกฝีที่มีขึ้นในช่วงปี 23 ผู้ที่เกิดหลังจากปี 23 จะไม่ได้รับการปลูกฝีประเภทนี้ การปลูกฝีไม่ได้ช่วยป้องกันโรค แต่ช่วยป้องกันอาการรุนแรงของโรคได้ 80%

...

แจงสาเหตุตั้งศูนย์ EOC

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีกรมควบคุมโรคจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) เฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงของไทยว่า เพื่อเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ทันและป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ เพราะโรคนี้ยังไม่มียาเฉพาะรักษา ต้องรักษาประคับประคอง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ฯ เป็นระดับกรมเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่างประเทศว่า แต่ละประเทศมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมและกำลังมีการระบาดถึงระดับไหน ขณะนี้ไทยยังไม่มีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงและไม่เคยเจอโรคนี้มาก่อน

เน้นเฝ้าระวังเข้ม 2 จุด

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า สำหรับการเฝ้าระวังโรคภายในประเทศนั้น แบ่งเป็นการเฝ้าระวังที่ด่านสนามบินต่างๆ กับการเฝ้าระวังที่สถานพยาบาล โดยที่ด่านสนามบินจะเน้นการเฝ้าระวังสายการบินของผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงสูงในทวีปแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก ส่วนทวีปยุโรปที่มีการระบาดอยู่ ได้แก่ อังกฤษ สเปน และโปรตุเกส เบื้องต้นจะดูว่ามีแผลอะไรหรือไม่ อาจจะไม่เห็นอาการเพราะเริ่มต้นอาการจะน้อยหรือไม่มีอาการ ทั้งนี้จะมีการแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) ซึ่งมีคิวอาร์โค้ดให้ทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว มีคำแนะนำว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่ม ให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และให้แจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย ส่วนการเฝ้าระวังที่สถานพยาบาลนั้น หากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยคือ มีอาการเข้าได้กับโรคและมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยงที่กำลังมีโรคนี้ระบาดข้างต้น ให้สถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ขณะนี้สามารถตรวจได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวัง

...

ยันระบาดในแอฟริกามานานแล้ว

นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า โรคฝีดาษลิงระบาดประปรายในแอฟริกามานานหลายปีแล้ว แต่ไม่มีคนนำโรคออกมา แต่ครั้งนี้มีคนไปติดเชื้อจากประเทศในแอฟริกาและนำเชื้อเข้ามาในยุโรป ติดเชื้อกันหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่มีการระบาดค่อนข้างมากใน 100 กว่าคน มีหลายคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชายรักชาย (MSM) แต่ความจริงแล้วโรคนี้แพร่ระบาดได้หมดไม่ว่าจะเป็นใคร หากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ ลิงไม่ได้เป็นพาหะของโรค แต่เป็นแหล่งโรคจากลิงสู่คน และตอนนี้กลายเป็นการติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งยังคงพบโรคฝีดาษลิงในกลุ่มลิงจากแอฟริกา ส่วนลิงไทยยังไม่พบการรายงาน

ทั่วโลกมีวัคซีนไม่มาก ส่วนไทยไม่มีเลย

ส่วนจะมีการกลับมาปลูกฝีเพื่อป้องกันฝีดาษ (smallpox) อีกครั้งในประเทศไทยหรือไม่นั้น นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ต้อง เพราะขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนฝีดาษ smallpox มากพอ เพราะเป็นโรคที่ถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว ตั้งแต่ปี 2523 เหลือเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเท่านั้นที่เก็บเชื้อฝีดาษเดิมไว้ ส่วนไทยไม่มีเก็บไว้ ขณะนี้กำลังประสานงานหาวัคซีนอยู่ว่ามีประเทศใดเก็บไว้บ้าง หรือถ้าจะผลิตเพิ่มต้องดูว่ามีบริษัทใดจะผลิตเพิ่มได้บ้าง แต่สามารถจำลองสายพันธุ์ออกมาทำวัคซีนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวจริง และช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานผู้ติดเชื้อ 100 กว่าคน จะต้องติดตามสถานการณ์และข้อมูลของฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นว่า กลไกในการติดเชื้อนอกจากการอยู่ใกล้ชิดแล้ว มีกลไกอื่นอีกหรือไม่รวมทั้งติดตามสายพันธุ์ที่กำลังระบาดแตกต่างจากที่เคยเจอหรือไม่

...

ผู้เชี่ยวชาญถกนิยามฝีดาษลิง ยึด 3 เกณฑ์

นพ.จักรรัฐ เปิดเผยว่า จะหารือกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เกี่ยวกับการปรับนิยามโรคฝีดาษลิงว่า จะเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ เบื้องต้นต้องมีเกณฑ์ 3 ข้อ คล้ายกับโควิด-19 คือ 1. เกณฑ์ทางคลินิกว่ามีอาการอะไรบ้างที่เข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิงที่ชัดๆ คือมีตุ่ม 2. เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ ว่าจะต้องใช้แล็บแบบไหน ระดับใด 3. เกณฑ์ทางระบาดวิทยา จะต้องมีประวัติสัมผัส ประวัติเสี่ยงว่าจะเป็นอย่างไร ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมีการหารือกันก่อน เพราะไทยไม่เคยมีโรคฝีดาษลิงมาก่อน ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินว่าเข้าได้ตามเกณฑ์หรือยัง จากนั้นจะให้คำแนะนำต่อกรรมการวิชาการ เสนอต่อ รมว.สาธารณสุขทราบต่อไป

ย้ำคนไทยไปประเทศเสี่ยง ต้องเข้มดูแลตัวเอง

เมื่อถามถึงการพิจารณาการฉีดวัคซีน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ตอนนี้ยังต้องประเมินสถานการณ์ภาพรวมอีกครั้ง เพราะยังมีผู้ติดเชื้อหลักร้อยคน ต้องคาดการณ์ก่อนว่าสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ การปลูกฝีไม่ใช่ว่าจะทำได้ทันที ต้องเตรียมหลายเรื่องทั้งวัคซีนที่จะมาปลูก วางแผนจัดหาวัคซีนว่ามีที่ไหนขายราคาเท่าไร ไทยจะฉีดใครได้บ้างและฉีดใครก่อน เพราะไม่ใช่ว่าฉีดได้ทุกคนเนื่องจากมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก หากต้องปลูกฝีจะพิจารณาจากคนที่อาจจะมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เช่น บุคลากรการแพทย์ ส่วนประชาชนทั่วไปยังต้องประเมินว่าเป็นกลุ่มไหน ต้องดูข้อมูลทางระบาดเพิ่มเติม ตอนนี้จึงดูที่กลุ่มเดินทางไปประเทศที่มีการติดเชื้อ แต่ยังประเมินไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร จนกว่าจะได้ข้อมูลมากกว่านี้ ว่าที่แอฟริกา ยุโรป การระบาดไปถึงไหน เพราะตอนนี้มีผู้ติดเชื้อหลักร้อย เบื้องต้นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อ พบติดจากการร่วมงานเทศกาล การมีเพศสัมพันธ์ ประเทศยุโรปมีการวางมาตรการที่ค่อนข้างดี เช่น เบลเยียมกักตัว 21 วัน อาจจะทำให้การระบาดไม่ข้ามทวีปก็ได้ หากไม่ได้ใกล้ชิดจริงๆ และคนที่ติดเชื้ออายุก็ไม่เกิน 60 ปี

กำชับทุกจังหวัดเข้มเฝ้าระวัง

เมื่อถามว่า กรณีติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการจะแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ระยะแพร่เชื้อส่วนใหญ่จะมีไข้ มีตุ่ม ส่วนเรื่องการกักตัวอย่างไรหรือไม่ หลักการคือกักเท่าจำนวนวันฟักตัวที่นานที่สุด โรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัว 5-21 วัน แต่ส่วนใหญ่จะกักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญจะหารือกัน ประเทศที่เราเฝ้าระวังตอนนี้ยังมี 3 ประเทศหลัก ที่มีการระบาดในประเทศ คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส อีก 17 ประเทศเป็นประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ เกณฑ์กักตัวเบื้องต้น คือมาจากประเทศเสี่ยง มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ หากเจอคนมีความเสี่ยงจะขอเก็บตัวอย่างส่งตรวจใน 24 ชั่วโมง ใช้เวลา 24-48 ชั่วโมง จึงทราบผล หากเป็นลบก็ใช้ชีวิตได้ปกติ ขณะนี้ไทยยังไม่มีรายงานการส่งตรวจเชื้อในผู้เดินทาง แต่สั่งการให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศเพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มาคลินิกผิวหนัง จังหวัดท่องเที่ยวอาจต้องมีการให้ความรู้บุคลากรการแพทย์และประชาชน องค์การอนามัยโลกตอนนี้ยังไม่ได้ประกาศยกระดับโรค มีเพียงการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีการระบาดผิดปกติในยุโรป ต้องติดตามใกล้ชิด แต่คาดว่าจะมีการประชุมอีกเร็วๆ นี้และพิจารณาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

"กรมวิทย์" เตรียมพร้อมวินิจฉัยโรค-ให้การรับรองคุณภาพวัคซีนฝีดาษ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมได้เตรียมความพร้อมทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อในคน การตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนฝีดาษ เพื่อให้การรับรองคุณภาพวัคซีนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรค จึงมั่นใจได้ว่าหากมีการนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วนจะดำเนินการได้ทันท่วงที วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษหรือฝีดาษคน ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึงร้อยละ 85 โรคฝีดาษคนถูกกำจัดไปตั้งแต่ พ.ศ. 2523 กว่า 40 ปีแล้วที่ไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ แต่วัคซีนยังมีการผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เป็นอาวุธชีวภาพและป้องกันโรคฝีดาษลิง สหรัฐอเมริกามีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษคนรวม 2 ผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ส่วนโรคฝีดาษลิงขณะนี้ยัง ไม่มีการรักษาเฉพาะ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ควบคุมโรคโดยใช้ยารักษาโรคไข้ทรพิษ ได้แก่ Tecovirimat (ST-246), Cidofovir และ brincidofovir รวมถึงการให้แอนติบอดีเสริมภูมิต้านทานสำเร็จรูปชื่อ Vaccinia Immune Globulin (VIG) รักษาผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษหรือผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรุนแรง ยาดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการติดตามประเมินประสิทธิภาพ

ติดเชื้อไม่ง่ายเหมือนโควิดฯ

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ กล่าวว่า การติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสแลกเปลี่ยนสารคัดหลั่ง ละอองฝอย น้ำลาย และเลือด กรณีที่มีแผลทำให้ติดเชื้อได้ ดังนั้น ความคิดที่ว่าส่วนใหญ่จะติดเชื้อในกลุ่มคนรักร่วมเพศ จึงไม่ถูกต้อง เพราะสามารถติดได้ในทุกคน เพราะเป็นการติดเชื้อในลักษณะใกล้ชิดกันมาก แต่การติดเชื้อไม่ได้ง่ายเหมือนกับโควิด-19 และมีความน่ากังวลน้อยกว่าโรคฝีดาษคน ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตั้ง ห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิงในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อแล้ว หากผู้ที่มีผื่นตุ่มหนองตามร่างกาย สถานพยาบาลสามารถเก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณแผล ส่งตรวจ RT-PCR ได้ที่แล็บ ซึ่งมีน้ำยาตรวจเฉพาะ

ผู้เขียน : หงเหมิน

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun