น้ำท่วมภาคเหนือขยายวงกว้างในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ เชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ วิกฤติหนัก และมวลน้ำขนาดใหญ่ใกล้เข้า จ.สุโขทัย ต้องเตรียมรับมือเฝ้าระวังน้ำท่วม คาดว่าฝนในพื้นที่ยังตกหนักต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ส่วนพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังคงจะมีฝนตกหนักตลอดเดือน ก.ย. และอาจลากยาวไปถึงกลางเดือน ต.ค. จากสภาวะลานีญา ทำให้ฝนตกมากกว่าค่าปกติ

สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ และมวลน้ำกำลังจ่อเข้า จ.สุโขทัย ในอีก 1-2 วันนี้ ก่อนมวลน้ำจะไปต่อพื้นที่ภาคกลาง ไปสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เข้าใกล้พื้นที่กรุงเทพฯ มากขึ้น อาจทำให้คนกรุงผวาจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554 และจะมีความเป็นไปได้หรือไม่? จากการอัปเดตสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด

น้ำท่วมอ.เทิง จ.เชียงราย ล่าสุดน้ำเริ่มลด
น้ำท่วมอ.เทิง จ.เชียงราย ล่าสุดน้ำเริ่มลด

มวลน้ำจากแพร่ เตรียมเข้าสุโขทัย เฝ้าระวังตัวเมือง

...

“วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงภาพรวมน้ำท่วมที่ผ่านมา และพื้นที่ต่อไปต้องเตรียมรับมือ ว่า ก่อนหน้านั้นน้ำท่วมหนักในพื้นที่ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา ซึ่งขณะนี้มวลน้ำได้ไหลหลากอย่างรวดเร็วและแรง ลงลำน้ำสั้น ทำให้ปริมาณน้ำที่ท่วมลดลง อาจมีน้ำท่วมขังบางส่วน 

ส่วน จ.น่าน น้ำได้ลอดท่อล้นเข้าสู่ตัวเมืองน่านในระดับสูงสุดตั้งช่วงค่ำวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา จนเมื่อเช้าวันที่ 23 ส.ค. เริ่มลดระดับลงต่อเนื่อง มีฝนตกอยู่บ้าง และปริมาณน้ำตั้งแต่ต้นน้ำใน อ.ทุ่งช้าง มาจนถึงอ.ท่าวังผา ลดระดับลงต่อเนื่อง จะไหลต่อไป อ.เวียงสา อาจทำให้ระดับน้ำในพื้นที่เพิ่มขึ้น ก่อนลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ น่าจะสามารถช่วยเก็บน้ำได้ เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนยังมีน้อย ทำให้มวลน้ำไม่ไหลลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

น้ำท่วมทะลักเข้าตัวเมืองน่าน
น้ำท่วมทะลักเข้าตัวเมืองน่าน

ขณะที่ จ.แพร่ น้ำท่วมตั้งแต่บ่ายวันที่ 22 ส.ค. กระทั่งตอนเย็น ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น กระจายเป็นวงกว้างในช่วงค่ำที่ผ่านมา และเริ่มทรงตัวตั้งแต่บ่ายวันที่ 23 ส.ค. จนมาช่วงเย็นพบว่าระดับน้ำลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมวลน้ำค่อนข้างมาก ต้องใช้เวลากว่าน้ำจะลดลง และปริมาณน้ำ 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะไหลต่อเนื่องมายัง จ.สุโขทัย ซึ่งต้องเตรียมรับมือ โดยเฉพาะตัวเมืองสุโขทัย 

“น้ำไหลผ่านมาจาก อ.วังชิ้น และ อ.เด่นชัย จ.แพร่ เข้าสู่สุโขทัย จนน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่างๆ คาดว่ามีปริมาณน้ำ 1,300 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่สุโขทัยรับได้แค่ 500 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น แต่ยังมีประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ก่อนน้ำจะไหลถึงตัวเมือง สามารถตัดน้ำได้ รวมถึงคลองสาขาตลอดแม่น้ำยม สามารถตัดน้ำได้ทีละน้อย อาจมีปริมาณน้ำเหลือ 900 ลบ.ม.ต่อวินาที เข้าสู่สุโขทัย แต่ก็ยังเกินเกือบเท่าที่จะรองรับได้”

คนกรุง ติดตามสถานการณ์ให้ดี ฝนตกหนัก น้ำทะเลหนุน

สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนืออาจไม่กระทบพื้นที่ภาคกลาง แต่เดือนก.ย.ยังมีฝนตกหนัก จะตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนล่าง แม้พื้นที่ภาคกลางไม่น่ากังวล แต่ต้องติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่สุโขทัย จะไหลต่อเข้าทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นแก้มลิงสามารถรับน้ำได้ และน้ำจะไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสววรค์ อาจมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะปริมาณฝนจะมากกว่าค่าปกติของเดือน ก.ย.

...

ความกังวลของคนกรุงเทพฯ ว่าจะน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554 หรือไม่นั้น จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ แต่อย่าวิตกว่าจะน้ำท่วมเหมือนปี 2554 ไม่มีอย่างแน่นอน แต่ยังคงต้องเกาะติดเฝ้าดูสถานการณ์ เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังต้องเจอสถานการณ์น้ำทะเลหนุน รวมถึงปริมาณฝนที่ตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ แม้เข้าเดือน ต.ค. ยังคงมีฝนตก น้ำทะเลหนุนบริเวณปากแม่น้ำและพื้นที่ราบลุ่ม

น้ำท่วมปี 2554 น้ำเอ่อทะลักรอบสนามหลวง
น้ำท่วมปี 2554 น้ำเอ่อทะลักรอบสนามหลวง

“ที่กังวลกันว่ามวลน้ำเหนือจะเข้ามาเหมือนปี 2554 ต้องบอกว่าปริมาณน้ำในเขื่อนเจ้าพระยายังน้อย ยังสามารถรองรับน้ำได้ ระดับน้ำไม่เท่าปีนั้น เพราะตั้งแต่ต้นปีมีทั้งร้อนและแล้ง ทำให้ความชุ่มชื้นของดินต่างกันมาก และ 4 เขื่อนหลักในปี 2554 มีน้ำมากกว่าหลายพันล้านลูกบาศก์เมตร และปีนั้นฝนตกหนักมาก อย่าได้กังวล แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อความไม่ประมาท”.

...