อัปเดตเส้นทาง "น้ำเหนือ" ทะลักท่วม "สุโขทัย" คาด 4 อำเภอกระทบหนัก เร่งผันน้ำเข้าทุ่งลดรุนแรง ภาพถ่ายดาวเทียม ชี้ อีก 5-6 วัน มวลน้ำถึง "พิจิตร" จับตากลางเดือน ก.ย. "ลานีญา" หอบฝนถล่มซ้ำ หวั่นทุ่งรับน้ำเต็ม สะเทือนถึงพื้นที่ภาคกลาง

วันนี้ (26 ส.ค. 67) น้ำเหนือเริ่มเอ่อล้นตลิ่งหลายแห่งในจังหวัดสุโขทัย ท่ามกลางความหวั่นวิตกของคนปลายน้ำ หากวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าสถานการณ์มวลน้ำเหนือยังน่าวิตก "กัมปนาท ดีอุดมจันทร์" หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า มวลน้ำเหนือตอนนี้เคลื่อนตัวออกมาจากจังหวัดแพร่ เข้าสู่พื้นที่จังหวัดสุโขทัย เมื่อวาน (25 ส.ค. 67) โดยจุดนี้มีการผันน้ำเข้าไปยังพื้นที่ทุ่งบางระกำ ซึ่งก่อนหน้านั้นหน่วยงานรัฐ ได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวในทุ่งจนหมดแล้ว

สุโขทัย ขณะนี้จากการวิเคราะห์ผ่านแผนที่ดาวเทียม และส่งทีมงานบินโดรนตรวจสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยง พบว่ามี 4 อำเภอในจังหวัดสุโขทัย เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม คือ อำเภอกงไกรลาศ, สวรรคโลก, ศรีสำโรง, คีรีมาศ ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำมากว่า 10 ปี แม้ตอนแรกมีการคาดการณ์ว่าจะไม่ท่วมหนัก แต่อาทิตย์ก่อนมีฝนตกหนัก ทำให้มีปริมาณน้ำมาก

...

พื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัย หากไม่มีฝนตกเพิ่ม พื้นที่น้ำท่วมจะไม่ขยายวงกว้างมากกว่านี้ คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่สุโขทัย ท่วมขังไปถึงกลางเดือนกันยายน น้ำถึงจะลดลงเต็มที่ ด้วยความที่แม่น้ำยมไม่มีเขื่อนกั้นน้ำ ทำให้ต้องมีการผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ตอนล่าง

"น้ำเหนือที่ล้นเข้ามาในจังหวัดสุโขทัย มีการผันน้ำเข้าสู่ทุ่งบางระกำ ทำให้ความรุนแรงของน้ำที่ไหลลงไปสู่จังหวัดพิจิตรลดลง คาดว่าอีกประมาณ 5-6 วัน มวลน้ำเหนือเคลื่อนตัวเข้าสู่จังหวัดพิจิตร"

3 อำเภอพื้นที่จังหวัดพิจิตร เตรียมพร้อมรับมือ "น้ำเหนือ"

"กัมปนาท" วิเคราะห์ว่า จากภาพถ่ายดาวเทียม ทำให้เห็นว่าพื้นที่ในจังหวัดพิจิตรเสี่ยงน้ำท่วม คือ อำเภอบางมูลนาก, ตะพานหิน, เมือง แต่ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนือ ที่จะตกมาเพิ่มหรือไม่ และขึ้นอยู่กับทุ่งรับน้ำในจังหวัดสุโขทัย จะสามารถรับน้ำได้หรือไม่ แต่ถ้าปริมาณน้ำมีเกินมากกว่ากำหนด จะทำให้พื้นที่รับน้ำในจังหวัดพิจิตร ได้รับผลกระทบรุนแรง

เส้นทางมวลน้ำเหนือ จะไหลเข้าสู่พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณต้นเดือนกันยายน โดยพื้นที่เสี่ยงคือ อำเภอเก้าเลี้ยว และบึงบอระเพ็ด หากมีปริมาณน้ำเพิ่มสูง จะมีการผันน้ำเข้าสู่ทุ่งในพื้นที่ภาคกลาง เช่น ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม เป็นต้น ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ภาคกลางลดลง และไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ

จับตา "ลานีญา" กลางเดือนกันยายน เติมน้ำท่วมซ้ำ

"กัมปนาท" มองว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้คือ ปรากฏการณ์ลานีญา ที่เริ่มเข้าในช่วงกลางเดือนกันยายน-ตุลาคม ทำให้มีพายุเข้ามาประมาณ 1-2 ลูก ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมเพิ่มขึ้นจากเดิม เสี่ยงทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ คาดว่าหากรุนแรง จะมีน้ำท่วมคล้ายปี 2565 แต่ไม่หนักเท่ากับน้ำท่วมปี 2564 ที่ตอนนั้นมีพายุเข้ามาถึง 5 ลูก

...

สถานการณ์ตอนนี้คาดว่า น้ำเหนือยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพฯ เพราะหน่วยงานรัฐตอนนี้มีการบริหารจัดการน้ำ โดยผันน้ำไปสู่ทุ่งต่างๆ กว่า 11 แห่ง ซึ่งหลังจากนี้ต้องจับตาพายุฝนที่จะเข้ามารอบใหม่ เพื่อเทียบเคียงและบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

ตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในมหาวิทยาลัย

"ศุภมาส อิศรภักดี" รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วมขึ้น เพื่อเป็นวอร์รูมในการวางแผน ประสานงานกับภาคส่วน และสั่งการไปยังหน่วยงานภายใต้กระทรวงฯ ในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งของที่จำเป็นไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด เพื่อช่วยสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการรองรับเหตุ

...

ขณะเดียวกัน มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย โดย มรภ.เชียงราย จังหวัดแพร่ โดย ม.แม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน โดย มทร.ล้านนา น่าน จังหวัดพะเยา โดย ม.พะเยา จังหวัดสุโขทัย โดย มรภ.พิบูลสงคราม จังหวัดระนอง โดยวิทยาลัยชุมชนระนอง จังหวัดภูเก็ต โดย มรภ.ภูเก็ต จังหวัดยะลา โดย มรภ.ยะลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย ม.วลัยลักษณ์ และจังหวัดสงขลา โดย ม.สงขลานครินทร์