พรรคก้าวไกล จะถูกยุบพรรคหรือไม่? ในวันที่ 7 ส.ค. 2567 นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีที่ กกต.ยื่นคำร้อง กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค
แต่เป็นที่น่าสังเกตทำไมบรรดานักการทูตและผู้สังเกตการณ์ต่างชาติทั้งหลาย รวมถึงผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ หรือแม้แต่วุฒิสภาสหรัฐฯ ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความกังวลพร้อมๆ กันต่อสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังเกิดขึ้นในประเด็นคดียุบพรรคก้าวไกล และล่าสุด รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่ารัฐบาลไทยได้ยื่นหนังสือตอบสหประชาชาติว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องยุบพรรคก้าวไกล และไม่สามารถแทรกแซงการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้
พร้อมกับย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองตั้งแต่ พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และไทยรักษาชาติ เพราะการยุบพรรคที่ยึดโยงกับประชาชนทำให้เสียงของประชาชนไม่ถูกสะท้อนตามความเป็นจริง และอำนาจการยุบพรรคการเมืองโดยศาลเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ประชาชนไทยให้การรับรอง รัฐบาลจึงไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
...
เหตุผลนานาชาติกดดันไทย ปมยุบพรรคก้าวไกล
สถานการณ์โลกล้อมไทยออกมากดดันคดียุบพรรคก้าวไกล “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู” ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบุว่า การออกมาเคลื่อนไหวของต่างชาติต่อสถานการณ์การเมืองไทยมีมานานแล้ว จนมาถึงคดียุบพรรคก้าวไกล มีความรู้สึกว่าเป็นเพราะพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองท้าทายอำนาจเก่า และจากกระแสฝ่ายประชาธิปไตยมักถูกมองเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ใช่อนุรักษนิยม
ส่วนฝ่ายประเทศตะวันตกก็มีความคิดแบบประชาธิปไตยจนเห็นว่าวิธีทางการเมืองโดยการยุบพรรคไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ในแง่ที่ว่าประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคการเมืองเข้ามาแล้วก็ถูกยุบพรรค แต่นักการเมืองก็ไม่ได้หายไปไหน เป็นความรู้สึกว่าพรรคไม่ได้โค่น หรือล้มล้างการปกครอง
“พวกสถานทูตก็คุยกัน ก็เห็นตรงกัน ก็ออกมากดดัน ยิ่งทำอย่างนี้ย่ิงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอม ถ้ายอมก็เท่ากับให้ต่างชาติมาแทรกแซงการตัดสินของศาล ก็น่าสนใจในประเด็นนี้ แต่ดูแล้วก้าวไกลคงไม่รอด ก็เลยกดดัน หวังว่าจะฟังคำทักท้วง แต่คงไม่ได้อย่างที่ต้องการ และก้าวไกลเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ อาจเข้ามากดดันคดียุบพรรคก็ได้ อีกทั้งเรื่องยุบพรรคไม่ค่อยเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยสากลทั่วไป ถ้าไม่ล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างชัดเจน”
ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้ ก.ม.รัฐธรรมนูญ เป็นข้ออ้างยุบพรรค
แต่ของไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และโทษการยุบพรรค จะต้องล้มล้างระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่นการรัฐประหาร ซึ่งพรรคการเมืองไม่ควรเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นข้ออ้างในการกำจัดของฝ่ายอนุรักษนิยม
ทั้งๆ ที่พรรคก้าวไกลมาจากการเลือกตั้ง ก็เท่ากับล้มล้างเจตนารมณ์ของประชาชนที่สนับสนุนพรรคนี้ และการจะยุบพรรคต้องอีกขั้นตอนหนึ่ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้วว่าล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ 18 ประเทศมองว่าโครงสร้างการเมืองไทยเป็นคนละหลักคิด ไม่สอดคล้องกับตะวันตก จึงผนึกกำลังกดดัน
เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญและศาล มีความเป็นไปได้ว่าโอกาสจะยากที่จะเป็นอื่นนอกจากการยุบพรรค ทำให้กระแสการเมืองไทยอาจพลิก และไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลจะเป็นอย่างไรก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง สุดท้ายแล้วต้องอธิบายถึงสาเหตุในการตัดสินตามข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย หรือถ้าไม่ยุบพรรค ก็ต้องอธิบายว่ามีหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติม หรือ กกต.ทำไม่ถูกขั้นตอน ก็ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนอย่างสมเหตุสมผล เพราะเป็นจุดสนใจและจับจ้องของต่างชาติ.
...