'ปลาหมอคางดำ' จัดการได้อย่างไรบ้าง ปลากะพงช่วยล่าได้จริงหรือ ขณะนี้พื้นที่ใดน่าห่วงที่สุดจากการรุกราน ฯลฯ ชวนคลายข้อสงสัยหลากคำถามจากโลกโซเชียล ไปกับ 'ดร.สหภพ ดอกแก้ว' รองหัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จากการแพร่ระบาดใน จ.สมุทรสงคราม สู่การระบาดลุกลามกว่า 17 จังหวัดทั่วไทย นี่คือความร้ายกาจของ ปลาหมอคางดำ เอเลี่ยนสปีชีส์ที่ถูกจับตาเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศขณะนี้ เพราะมันทั้งดุ กินจุ และแข็งแกร่ง จัดการอย่างไรก็ยังไม่หมดเสียที จนกระทั่งความร้ายกาจของเจ้าปลาชนิดนี้ กำลังจะถูกเสนอยกให้เป็น วาระแห่งชาติ!

อย่างไรก็ตาม วันนี้ทีมข่าวฯ ได้คัดเลือกคำถามจากผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ที่เกี่ยวข้องกับ 'ปลาหมอคางดำ' ซึ่งรวบรวมและประมวลจากคอมเมนต์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 8-17 ก.ค. 2567 โดย Thairath Data Team และ เครื่องมือ Zocial Eye ของ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด มาทั้งหมด 6 คำถามด้วยกัน

สำหรับผู้ที่มาไขข้อสงสัยให้เราวันนี้ คือ 'ดร.สหภพ ดอกแก้ว' รองหัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ้าอยากรู้แล้วว่ามีอะไรบ้าง เชิญคุณผู้อ่านเลื่อนชมด้านล่างนี้ได้เลย!

...

วิธีกำจัดปลาหมอคางดำมีอะไรบ้าง? : 

ดร.สหภพ บอกกับเราว่า ขณะนี้มีวิธีกำจัดปลาหมอคางดำอยู่ประมาณ 4 วิธี โดยแต่ละวิธีมีดีและเสียต่างกันไป สำหรับวิธีที่ 1 คือ 'ล่า ลุย จับ' วิธีนี้จะทำให้เห็นผลไวและชัดเจน แต่ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้น คือ การล่าลักษณะนี้เป็นการล่าโดยไม่เลือกสายพันธุ์ ฉะนั้น สัตว์น้ำท้องถิ่นอาจโดนล่าขึ้นมาด้วย

วิธีที่ 2 'ปล่อยปลานักล่า' ข้อดีของวิธีนี้ มาจากที่ปลานักล่าไปกินลูกปลาหมอคางดำ ส่งผลให้ปริมาณเจ้าเอเลี่ยนสปีชีส์ลดลง แต่ข้อเสียคือ นักล่าของเราอาจไปกินลูกสัตว์น้ำท้องถิ่นด้วยนี่สิครับคุณผู้อ่าน!

วิธีที่ 3 'จับแปรรูป' ถือเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภค และรู้จักที่จะเรียนรู้อยู่กับเหล่าเอเลี่ยนสปีชีส์ โดยอาจถอดบทเรียนจากสัตว์ต่างถิ่นที่เคยรุกราน เช่น ตั๊กแตนปาทังก้า หรือหอยเชอรี่ ที่ทั้งสองชนิดแม้จะเคยระบาดหนัก แต่ตอนนี้กลับไม่เพียงพอต่อการบริโภค 

แต่ข้อเสียที่อาจตามมาจากวิธีนี้ ดร.สหภพ แสดงความกังวลว่า หากเกิดการบริโภคปลาหมอคางดำจนติดตลาดมากเกินไป จนกระทั่งเกิดการสนับสนุนการเลี้ยง อาจจะทำให้พวกมันแพร่พันธุ์มากขึ้นไปอีก! 

ส่วนวิธีสุดท้าย แม้จะยังไม่ได้ลงมือทำ แต่เป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ นั่นก็คือ 'ทำให้เจ้าคางดำเป็นหมันซะ!' รองหัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อธิบายวิธีนี้ว่า จะทำการปล่อยปลาหมอคางดำที่มีโครโมโซม 4 ชุด หรือ 4X ลงไปผสมกับปลาหมอคางดำที่อยู่ในธรรมชาติ พวกมันจะผสมพันธุ์และได้ลูกที่เป็นหมัน

"โดยปกติแล้วสัตว์จะมีโครโมโซมแค่ 2 ชุด อย่างคนก็มีแค่ 2 ชุด แต่จะต้องทำให้ปลาหมอคางดำมีโครโมโซม 4 ชุด เพื่อจะสร้างเซลล์สืบพันธุ์มี 2 ชุด แล้วไปผสมกับเซลล์สืบพันธุ์ของปลาหมอคางดำในธรรมชาติที่มีเซลล์สืบพันธุ์ 1 ชุด รวมกันเป็น 3 ชุด ก็จะกลายเป็นหมัน"

"ข้อเสียของวิธีนี้คือใช้งบประมาณค่อนข้างสูง และเห็นผลช้า เนื่องจากเราต้องปล่อยปลาที่มีโครโมโซม 4 ชุด ลงไปให้แพร่พันธุ์กับประชากรปกติก่อนระยะหนึ่ง แล้วค่อยได้ลูกที่เป็นหมันออกมา ย่อมหมายความว่า ต้องปล่อยให้มันเกิดอีกครั้งหนึ่ง แล้วลูกเหล่านั้นจึงจะเป็นหมัน ส่วนปลาที่ปล่อยไปจะเป็นตัวเมียหรือตัวผู้ก็ได้"

...

'ปลากะพง' กำจัด 'ปลาหมอคางดำ' ได้จริงหรือ? : 

จากกรณีที่มีการปล่อย ปลากะพง ลงสนามนักล่าปลาหมอคางดำ นำมาซึ่งข้อสงสัยว่าปลากะพงจะจัดการได้จริงหรือ เรื่องนี้ ดร.สหภพ ยืนยันว่า "ได้จริง" ก่อนจะอธิบายประกอบว่า

ปลากะพง เป็นปลานักล่า ฉะนั้น มันจะกินปลาที่มีขนาดเล็กกว่าปาก ซึ่งก็มักจะเป็นลูกปลา เนื่องจากปลากะพงไม่ใช่ปลาประเภทกัดแทะ เหมือนพวกปลาฉลามและปลาปิรันยา หรือปลาชะโด ที่ฉีกเหยื่อก่อนกิน ดังนั้น ถ้าปลาตัวไหนมีขนาดเล็กกว่าปากมัน มันจะกินหมดเลย แต่ถ้าปล่อยปลากะพงที่ขนาดเล็กกว่าปากปลาหมอคางดำ ก็อาจโดนมันฮุบเข้าปากได้เหมือนกัน!

"วิธีนี้ได้ผล เพราะปลากะพงไปกินลูกปลา ถ้ากะพงจะแพร่พันธุ์ต่อ เดี๋ยวมันก็จะมูฟลงทะเล เพราะมันไม่ขยายพันธุ์ในน้ำกร่อย"

เราถามต่อไปว่า สามารถปล่อยปลาชะโดได้ไหม เพราะมันอาจจัดการปลาหมอคางดำได้?

ดร.สหภพ ให้คำตอบว่า ปล่อยได้ แต่ต้องปล่อยในน้ำจืด เพราะตอนนี้บริเวณที่มีปัญหาและปล่อยปลากะพง คือช่วงที่เป็นพื้นที่น้ำกร่อย อย่างไรก็ตาม การจะปล่อยปลาชะโดต้องหาปริมาณที่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งขณะนี้เรายังเพาะพันธุ์ได้ไม่มาก เพราะยังจับลูกพันธุ์มาจากธรรมชาติ 

...

"ส่วนเหตุที่เลือกปลากะพง เพราะเป็นปลาที่สามารถเพราะพันธุ์ได้จำนวนที่แน่นอน อีกอย่างคือ ปลาหมอคางดำลงทะเลได้ ส่วนปลากะพงก็ลงทะเลได้ ดังนั้น แต่ละน้ำมีความแตกต่างกัน ต้องให้ผู้ล่าแต่ละกลุ่มจัดการ ถ้าเข้าน้ำจืดปล่อยปลาชะโดได้"

ทำไมต้องเร่งจัดการปลาหมอคางดำ? :

คำถามนี้ทาง รองหัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มก. มีคำตอบให้เราเพียงคำตอบเดียว นั่นก็คือ "เพราะมันแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อย่างกับปลาปิศาจ!"

"ถ้าจับปลาหมอคางดำมาผ่าดูในท้อง จะพบว่าตัวใหญ่ไข่จะน้อย ส่วนตัวเล็กไข่จะมาก เพราะตัวเล็กยังเป็นสาว เลยต้องรีบแพร่พันธุ์ไว้ก่อน ดังนั้น ตอนนี้ที่เป็นปัญหามาก คือ ลูกปลาเต็มไปหมด แล้วพวกมันนี่แหละจะเข้าไปทดแทนสัตว์น้ำท้องถิ่นของไทย!"

ดร.สหภพ อธิบายต่อว่า สมมติว่าในหนึ่งคลอง สามารถบรรจุปลาที่มีสายพันธุ์หลากหลายได้ 1,000 ตัว แต่อยู่ดีๆ ปลาหมอคางดำเข้าไปทดแทนในพื้นที่ประมาณ 90% หรือ 900 ตัว ทำให้ปลาไทยเหลือแค่ 100 ตัว ซึ่งการทดแทนนั้นเกิดขึ้นจากการเข้าไปแย่งอาหาร

...

'ปลาหมอคางดำ' เหมาะแปรรูปเป็นน้ำปลาหรือไม่? : 

เพียงสิ้นสุดคำถามดังกล่าว ปลายสายก็ตอบเรามาแทบจะทันท่วงทีว่า "เหมาะเป็นอย่างยิ่ง!" เพราะถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้คนมีอาชีพได้ เนื่องจากปลาหมอคางดำที่เป็นปัญหาในขณะนี้ คือไซส์ขนาดเล็กประมาณ 1 นิ้ว ถึง 3 นิ้ว ซึ่งอาจจะใช้ประโยชน์จากมันได้ไม่เต็มที่ 

แต่ไซส์แบบนี้แหละ ที่เหมาะอย่างยิ่งแก่การทำน้ำปลา ไม่ก็กะปิ ปลาป่น หรืออาหารใดๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเนื้อโดยตรง ส่วนลดรสชาติก็อยู่ที่การปรุงและการหมักของแต่ละเจ้า

"การใช้ปลาหมอคางดำมาประกอบอาหาร หรือทำเครื่องปรุง บอกได้เลยว่าคุณจะได้ของรสชาติดี เพราะพวกนี้เป็นปลาน้ำกร่อย ไม่มีกลิ่นโคลนติดมากับตัวปลา อย่างตัวเราเองลองทำให้คนแถวบ้านกิน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.นนทบุรี มีแต่คนชมว่าเนื้อปลาอร่อย เพราะปกติพวกเขากินปลาน้ำจืด มักจะเจอเนื้อปลาที่มีกลิ่นโคลน ทำให้ไม่ได้สัมผัสกับรสชาติอย่างเต็มที่"

พบการแพร่พันธุ์ในพื้นที่ใดบ้าง และพื้นที่ใดน่าห่วงที่สุด!? : 

ดร.สหภพ กล่าวกับเราว่า พื้นที่ที่พบปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์ คือ พื้นที่ที่เป็นน้ำกร่อย ซึ่งน้ำกร่อยนี้ได้แก่บริเวณที่มีอิทธิพลน้ำทะเลท่วมถึง หรือบริเวณปากแม่น้ำ เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ หรือเพชรบุรี อย่างเพชรบุรีจะมีน้ำจืดคือแม่น้ำเพชรบุรี โชคดีที่ยังไม่พบปลาหมอคางดำเข้าไปในแหล่งน้ำลึกๆ มีเพียงช่วงปากแม่น้ำ

"ตอนนี้ปลาหมอคางดำยังคงอยู่ในน้ำกร่อยเป็นส่วนใหญ่ และเหนือน้ำจืดไปเล็กน้อย ยังไม่เข้าไปช่วงน้ำจืดลึกๆ อย่างในกรุงเทพฯ จะพบปลาหมอคางดำช่วงปากแม่น้ำ แต่ถ้าเข้าไปลึกจนถึงอยุธยาจะยังไม่พบพวกมัน แม้ว่าเป็นแม่น้ำสายเดียวกันก็ตาม แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือ เกรงว่าจะมีคนทะลึ่งเอาไปปล่อย ในน่านน้ำที่ยังไม่มีการระบาด"

เมื่อถามว่า พื้นที่ไหนน่าห่วงที่สุด?

ดร.สหภพ ให้คำตอบว่า ที่น่าห่วงที่สุดก็คือทั้ง 3 สมุทร ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร เนื่องจากเป็นแหล่งปากแม่น้ำ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารและแร่ธาตุ ทำให้กลายเป็นพื้นที่สวรรค์ของการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น กุ้งก้ามกราม กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย ปูทะเล ปูม้า เป็นต้น หรือพวกปลากระบอก ปลากุเลา ก็จะมาวางไข่ที่ปากแม่น้ำนี้

แต่ แต่ แต่! รองหัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เผยสิ่งที่น่ากังวลว่า หากปลาหมอคางดำมีปริมาณเพิ่มขึ้น พวกมันจะกลายเป็นวายร้าย ที่เขมือบลูกสัตว์น้ำเหล่านั้น เพราะพวกมันไม่ได้กินสัตว์น้ำท้องถิ่น แต่จ้องกินลูกสัตว์น้ำท้องถิ่น ซึ่งนั่นทำให้ประชากรสัตว์น้ำท้องถิ่นไทยลดลง!

จับกินให้เรียบ! เหมือนที่เคยทำกับน้องหอยเชอรี่ วิธีนี้ใช้ได้อยู่หรือไม่? : 

"ทำได้ ใช้ได้ และเราสนับสนุนวิธีนี้" ดร.สหภพ กล่าวตอบเราแทบจะทันทีอีกครั้ง ก่อนจะเสริมต่อว่า "แต่ละหน่วยงานก็มีวิธีจัดการที่ต่างกันออกไป แต่เราในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ ขอแนะนำว่า การจับกินเป็นการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน"

รองหัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บอกว่า คุณอย่าไปคิดว่าจะกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทยได้ เราบอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจะล่าจนเหลือแค่ 10 ตัว หรือ 20 ตัว สุดท้ายมันก็จะสามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้อีก 

เอเลี่ยนสปีชีส์ทุกชนิดเราไม่มีทางจับได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่ามีตั้งกี่ชนิดแล้วที่เราเรียนรู้อยู่มันได้ เช่น ตั๊กแตนปาทังก้า แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางอย่างที่เราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากมัน เช่น ปลาซัคเกอร์

"การที่เรากระตือรือร้นกันในช่วงนี้ จนทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อจัดการ เกรงว่าถถ้าผ่านไปสักระยะจะเลิกสนใจและเงียบ สุดท้ายปลาหมอคางดำก็จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง" ดร.สหภพ แสดงความกังวล

"เราแค่อยากจะสื่อสารว่า การกินคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน แม้ว่ามันยังอยู่แต่การปราบด้วยวิธีกิน เป็นการทำที่ยั่งยืน เพราะมนุษย์นี่แหละจะเป็นดัชนีควบคุมสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ และอาจทำให้ประชาชนมีอาชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะคอยกำหนดทิศทาง เช่น ห้ามเลี้ยงปลาหมอคางดำ หากต้องการใช้ประโยชน์ สามารถทำได้โดยการจับจากธรรมชาติ"

ประชาชนหลายคนยังเข้าไม่ถึงปลาหมอคางดำ แม้ว่าพวกเขาอยากช่วยกิน หรือทำประโยชน์จากพวกมันมากเท่าไรก็ตาม เรามองว่ารัฐหรือใครก็ตาม ที่จะเป็นตัวกลางช่วยให้คนเข้าถึงปลาหมอคางดำได้ อาจจะออกมาสนับสนุนตรงนี้ เช่น บริษัทนำไปแปรรูปเป็นเนื้อที่พร้อมบริโภค เพราะคนต่างจังหวัดอาจจะอยากลองแต่หากินไม่ได้ อย่างตัวเราเองก็ทำขนมจีนน้ำยา ข้าวตังหน้าตั้ง ข้าวแช่ จากปลาหมอคางดำลงเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อให้คนได้รู้จัก อยากกระตุ้นให้คนเห็นว่ามันกินได้นะ 

"อยากฝากว่า ตอนนี้มันเป็นปัญหาให้กับประเทศไทย อยากให้ทุกคนช่วยกันใช้ประโยชน์จากตรงนี้ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ไม่ต้องไปวาดภาพสวยว่า เราจะต้องกำจัดมัน เราไม่ยอมรับมัน เพราะมันเป็นไปไม้แล้ว เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และควบคุม และฝากเลยว่าใครอย่าได้ทะลึ่งเอาไปปล่อยในแหล่งน้ำที่ยังไม่มีการระบาด" ดร.สหภพ ดอกแก้ว กล่าวส่งท้าย

ดร.สหภพ ดอกแก้ว
ดร.สหภพ ดอกแก้ว

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :