ทำความรู้จัก ปลาหมอคางดำ และถิ่นที่อยู่ เอเลี่ยนสปีชีส์ที่เข้าขั้นรุกราน ทำลายระบบนิเวศ แทนที่ปลาชนิดอื่น กับ 3 แนวทางแก้ปัญหาที่มีผลกระทบตามมา
กลายเป็น “วาระแห่งชาติ” ไปแล้ว สำหรับการ ไล่ล่า กำจัด “ปลาหมอคางดำ” ที่ตอนนี้ไปโผล่แล้วหลายพื้นที่ โดยปลาชนิดนี้ เมื่อมันไปที่ใด มันก็แทนที่ปลาท้องถิ่น สร้างความเป็นห่วง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “เรา” มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.สหภพ ดอกแก้ว รองหัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาให้ความเห็นที่น่าสนใจ พร้อมเล่า ปูมหลัง และถิ่นที่อยู่...
ปลาหมอคางดำมาจากไหน?
ดร.สหภพ กล่าวว่า ปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron Ruppell) ปลาน้ำจืดที่อยู่ในสภาวะน้ำเค็มได้ เรียกว่า “ปลาน้ำกร่อย” อยู่ในตระกูลปลาหมอเทศ เดิมทีมันอาศัยในแม่น้ำแถวทวีปแอฟริกา
ดร.สหภพ คาดว่า ถิ่นที่อยู่จำนวนมาก น่าจะอยู่ในประเทศ “กานา” แต่โดยรวม น่าจะอยู่ในทวีปแอฟริกา ในโซนๆ นี้
...
“สัตว์น้ำทุกอย่างมันมีวัฏจักร ตามหลักวิวัฒนาการและความสมดุล ฉะนั้น สถานที่ ที่มันอยู่ จะต้องมีสัตว์ชนิดอื่นที่ควบคุมมันได้ โดยที่แอฟริกา นั้น มีปลาหมอหลายชนิด ปลาหมอสี ปลานิล เหล่านี้เมื่ออยู่รวมกัน มันจะก้าวร้าวกันไปมา และควบคุมกันเอง”
สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของปลาหมอคางดำ คือ มันขยายพันธุ์เร็ว ทนต่อทุกสภาพแวดล้อม แม้สภาพแวดล้อมจะแย่ มันก็อยู่ได้ เช่น แหล่งน้ำในไทย สภาพแวดล้อมแย่ สัตว์น้ำชนิดอื่นอยู่ไม่ได้ แต่มันอยู่ได้
นอกจากนี้ ปลาในตระกูลนี้ จะมีลักษณะ “อมไข่” ดูตัวอ่อนในปาก แตกต่างจากปลาประเภทอื่น ที่ไข่แล้วทิ้ง เช่นเดียวกับ ปลานิล ปลาหมอเทศ โดยเป็นปลาตัวผู้ที่อมไข่ และเมื่อพัฒนาเป็นตัวอ่อน เมื่อออกจากปาก เขาจะว่ายน้ำและกินตัวอ่อน ทำให้ “อัตราการรอด” มันสูงกว่าปลาชนิดอื่นๆ นี่คืออีกหนี่งสาเหตุ
เริ่มระบาดในไทยเมื่อไหร่
สาเหตุการระบาดในไทยนั้น ยังไม่แน่ชัด แต่มีการค้นพบเมื่อราว 6-7 ปีก่อน โดยค้นพบที่แรก จ.สมุทรสงคราม โดยผู้ประสบปัญหา คือ เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง ที่เลี้ยงแบบบ่อธรรมชาติ
เมื่อปล่อยกุ้งธรรมชาติเข้าไป เวลาปล่อยน้ำ ไม่มีการฆ่าเชื้อน้ำ แล้วปลาหมอคางดำ ดังกล่าวก็มากับน้ำ และเมื่อตัวอ่อนของปลามันหลุดรอดเข้าไป ปลาหมอคางดำ จึงเข้าไปกินกุ้ง และแทนที่กุ้งที่เขาเลี้ยง กลายเป็นว่า เหล่าเกษตรกรก็ตั้งคำถามว่า ปลาหมอคางดำ มาจากไหนกันแน่... ซึ่งปัจจุบัน ก็มีหลายกระแสข่าว แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น
แพร่กระจายไปแค่ไหน..
ดร.สหภพ ระบุว่า ปัจจุบัน มีการค้นพบในหลายพื้นที่ ตั้งแต่สมุทรสาคร เพชรบุรี และก็ลงใต้ไปถึง นครศรีธรรมราช สงขลา
“มันไปถึงภาคใต้ได้ เพราะ มันเป็นปลาที่ทนความเค็มของน้ำได้ เรียกว่า Marine Tilapia โดยมันจะออกไปตามปากแม่น้ำ และเลาะชายฝั่ง โดยจากข้อมูลยังไม่พบว่า มันไปปรากฏตัวในทะเลลึก พบเพียงชายฝั่งเท่านั้น จากนั้นมันก็แพร่กระจายไปเรื่อยๆ เพชรบุรี ประจวบฯ ชุมพร”
ความรุนแรงในการระบาดในไทย
ดร.สหภพ อธิบายว่า ความรุนแรงในการระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ร้ายแรงกว่าคำว่า “Alien Species” หรือ สัตว์น้ำต่างถิ่น แต่มันหนักถึงขั้น “Invasive Species” คือ สัตว์น้ำรุกราน คือมันไปวุ่นวายกับชีวิตสัตว์น้ำท้องถิ่น
...
Alien Species เรียกสัตว์น้ำต่างถิ่นทั้งหมด บางชนิดไม่มีผลกระทบกับระบบนิเวศ หรือ บางชนิดมีผลกระทบน้อย แต่กรณี “ปลาหมอคางดำ” คือสร้างผลกระทบรุนแรง จึงเรียกว่าเป็นสัตว์น้ำรุกราน
เช่น กรณี สมัยก่อน “หอยเชอรี่” เมื่อก่อนได้รับผลกระทบมาก แต่ปัจจุบันไม่ได้รับผลกระทบแล้ว เพราะเราเลือกที่จะรับประทานมัน
หรือ ปลายี่สกเทศ, ปลานวลจันทร์เทศ เหล่านี้จะไม่ค่อยพบในธรรมชาติเท่าไร จะพบเจอผ่านการเลี้ยง
แต่ Invasive Species จะมุ่งทำลายระบบนิเวศสัตว์น้ำของเรา...
“ปลาหมอคางดำ” กับการทำลายล้างระบบนิเวศ
ดร.สหภพ อธิบายว่า ปลาหมอคางดำ เป็นปลาประเภท ปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ (Omnivorous Fish) คือ มันกินได้หมด ทั้งพืช สัตว์ ซากพืช ซากสัตว์ ถามว่ามันจ้องทำลายสัตว์น้ำท้องถิ่นของเราหรือไม่ ก็ไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแต่มันกินทุกอย่าง
“เมื่อมันไปอยู่ที่ไหน มันจะ “เข้าไปแทน” สัตว์น้ำท้องถิ่นของเรา... สมมติในคลองมี ปลา ประมาณ 1 ตัน เมื่อมันเข้าไป มันจะเข้าไปทดแทนปลา 1 ตันนั้น แทนปลาชนิดอื่นๆ คือ มันกินอาหาร ใช้อากาศ แทนปลาท้องถิ่นเรา ทำให้ปลาของเราถดถอยลงไปอยู่ที่อื่น หรือ ตายลง...น่ากลัวมาก”
วิกฤติขนาดไหน ดร.สหภพ บอกว่า ตามคลองในจังหวัดริมทะเล เริ่มเจอปลาชนิดนี้จำนวนมากแล้ว โดยเจอแทนปลากระบอก กุเลา ปลาตะกรับเสือดาว ซึ่งเป็นปลาที่มีมูลค่าเศรษฐกิจ ที่เริ่มจะหายไป ส่วนที่กระทบกับเกษตรกร คือ เกษตรกรเลี้ยงกุ้งธรรมชาติ ปลาหมอคางดำ จะเข้าไปแทนกุ้งที่เลี้ยง
มีรายงานว่า หากลงทะเล จะสร้างหายนะทางทะเล เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน ดร.สหภพ ตอบว่า พฤติกรรมของมันเลือกที่จะเลาะชายฝั่ง เรายังไม่พบในทะเลลึก โดยมันไม่ชอบน้ำที่เค็มจัด เพียงแต่ว่ามันทนได้ เท่านั้น เราไม่รู้ว่าอนาคตมันจะปรับตัวได้ขนาดไหน
...
3 แนวทางแก้ปัญหา ทุกแนว ล้วนมีผลที่ตามมา
แนวทางการแก้ไข ดร.สหภพ บอกว่า ทุกวิธีการที่ทำ มีผลกระทบที่ตามมาทั้งสิ้น แต่เราก็ต้องทำ
จับกิน : เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดจำนวน ซึ่งการจับในที่นี้ ปลาชนิดอื่นๆ จะโดนจับไปด้วย อาจติดสัตว์น้ำท้องถิ่นด้วยหรือไม่ การจับแบบทำลายล้างแบบนี้ จะกระทบภาพรวมของสัตว์น้ำบริเวณนั้น หรือไม่ นี่คือสิ่งที่แลกมา...
ปล่อยปลาผู้ล่า : การปล่อยกะพงขาว นั้น จะไปช่วยกินปลาหมอคางดำ ได้จริง คำถามคือ ปลาผู้ล่า จะไปกินสัตว์น้ำท้องถิ่นด้วยหรือไม่
“หากยังมีการรณรงค์การจับอยู่ บวกกับการปล่อยปลาผู้ล่า แล้วปลาผู้ล่า จะโดนจับด้วยหรือไม่...”
ทำหมันปลา : มีแนวคิดว่าหน่วยงานที่ดูแล จะทำหมันปลา ด้วยการปล่อยปลาที่มี “โครโมโซม” 4 ชุด ซึ่งปกติ สัตว์ประเภทนี้จะมีโครโมโซม 2 ชุด 2N แต่การปล่อย 4 ชุด เพื่อให้ผสมออกมาแล้วกลายเป็น 3N ซึ่งมันจะหมัน นี่คือแนวทางหนึ่ง
แต่การที่เราปล่อยไปอีก มันอาจจะออกลูกหลาน แล้วกลายเป็นหมัน คำถามคือ เราทำลายมันก่อนไม่ดีกว่าหรือ แล้วถ้าปลาบางตัวมันหลุด N ล่ะ มันไม่เป็นการเพิ่มจำนวนหรือ
...
“ย้ำอีกครั้งคือ ทุกแนวทางมีผลที่ตามมา แต่หน่วยงานใด จะเลือกทางใด”
ดร.สหภพ กล่าวว่า แนวทางที่ดูดีที่สุด และ ควรสนับสนุน ก็คือ การบริโภคมัน ใช้ประโยชน์จากมันให้ยั่งยืน แม้มันจะมีผลกระทบก็ตาม แต่เราก็ถอดบทเรียนจาก “ตั๊กแตนปาทังกา” และ “หอยเชอรี่”
แต่ทั้งสองนั้นมีรสชาติอร่อย แต่ปลาหมอคางดำ เขาว่าไม่อร่อย? ดร.สหภพ ตอบว่า เนื้อ และ เท็กซ์เจอร์ ของมัน อยู่ในขั้น “พอรับได้” ไม่ถึงอร่อยและ ไม่อร่อย เรียกว่าอยู่ในระดับกลางๆ แต่...ไทย มีจุดเด่นมากกว่าประเทศอื่น
“เรามีจุดเด่นเรื่องเครื่องปรุง เครื่องเทศเยอะ เราสามารถนำไปแปรรูปอาหารประเภทต่างๆ ได้ เช่น การใช้กระเทียม หัวหอม พริกแกง ดังนั้น เราสามารถนำปรุงให้ถูกปากคนไทยได้”
อ่านบทความที่น่าสนใจ