แกะรอยปฐทบทความขัดแย้ง 2 บิ๊กตำรวจ ผู้การวิสุทธิ์ ระบุ 4 ประเด็นรอยร้าว ทั้งการช่วงชิงอำนาจ การทับเส้นของผลประโยชน์ และการเติบโตในวงราชการ ...
ยังคงดำเนินต่อไป สำหรับปัญหาของ 2 บิ๊กตำรวจ ผู้นำองค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่เวลานี้ “บิ๊กโจ๊ก” หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ได้กลายเป็น ประชาชนคนธรรมดาแล้ว เพราะ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. ได้ลงนาม ให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ซึ่งทีแรก “บิ๊กโจ๊ก” นั้น เดินหน้าชนไปถึง นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน โดยมีการยื่นหนังสือกับ ป.ป.ช. ให้เอาผิดในการกลั่นแกล้ง สกัดไม่ให้เป็น ผบ.ตร. แต่ภายหลัง ทาง ป.ป.ช. ได้เปิดเผยว่า ได้มีการถอนคำร้องของ นายกฯ ออกไปแล้ว
“ใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้นเรามี พ.ร.บ.ตำรวจ นายกฯ จะใช้อำนาจอะไรต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ตำรวจ วันนี้มาหาความยุติธรรมนอกองค์กร เพราะองค์กรให้ความยุติธรรมไม่ได้ จะดำเนินคดีคนเกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นคนใต้มีเลือดนักสู้ ถ้าเป็นคนอื่นคงหมอบแล้ว แต่ถ้าไม่สู้คงเสียสิทธิตลอดชีวิต ส่วนจะได้กลับมารับราชการหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ” อดีต รอง ผบ.ตร. กล่าวตอนหนึ่ง ในวันที่ 22 เม.ย. วันที่เข้าร้องเรียนกับ ป.ป.ช.
...
ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กำลังเดินเครื่องเต็มสูบ อีกฝ่ายหนึ่ง อย่าง “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ที่ถูกคำสั่งย้ายให้ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.67 ตอนหนึ่งว่า “สาเหตุเพราะไม่สามารถบริหารความขัดแย้งได้ จึงต้องมอบหมายให้ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย บริหารราชการแทน
“ผมเป็น ผบ.ตร.คนที่ 14 แล้ว หากบริหารงานไม่ผ่าน ก็ต้องพิจารณาตัวเอง..ไม่ท้อ ไม่หวั่นไหว จะให้อยู่จนปลดเกษียณ ที่ไหนก็ทำงานได้” นี่คือ เสียงของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ก่อนจะหายหน้าจากสื่อ
คำถามคือ ระหว่าง 2 บิ๊กตำรวจ มีความขัดแย้งอะไรกัน อะไร...คือชนวนเหตุนำไปสู่ความขัดแย้ง และบานปลายกลายเป็นศึกภายใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ องคาพยพของทั้งสองฝ่ายห้ำหั่นกันไม่จบ เรื่องนี้ “เรา” จะมาไล่เรียงให้ได้เข้าใจ
ผู้การวิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ได้เล่าถึง “รากปัญหา” ที่เกิดขึ้นกับ สองบิ๊กตำรวจ ที่ลุกลามไปถึงบานปลายทำให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มัวหมองไปด้วย
ชนวนขัดแย้ง ที่ 1 : การก้าวสู่อำนาจ กับตะกอนความอยุติธรรม
ผู้การวิสุทธิ์ บอกว่า หลายคนคงทราบอยู่แล้ว ว่ามีการแข่งขัน การก้าวสู่อำนาจ ในเก้าอี้ ผบ.ตร. เดิมที คนที่อาวุโส สูงสุด ไม่ใช่ “บิ๊กโจ๊ก” แต่เป็น พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ซึ่งถือว่ามีความ อาวุโส อันดับที่ 1 (ต่อมามีการย้ายให้มารับตำแหน่ง เลขาธิการ สมช.) ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อันดับ 2 ขณะที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ อาวุโส น้อยกว่ามาก... แต่ผลสุดท้าย ผู้ที่ผงาด เป็น ผบ.ตร. คือ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์
คำถาม คือ หากเราเป็น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ...พอใจหรือไม่? ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทำผลงานไว้มากมาย
ความเป็นจริงการแข่งขัน ชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. นั้น เบอร์ 1 กับ เบอร์ 2 จะต้องแข่งกัน แต่กลายเป็นว่า เบอร์ 4 ได้ขึ้น?
“สาเหตุที่บิ๊กโจ๊กไม่ได้ขึ้น เพราะอายุราชการเหลือเยอะ ถ้าหากปีที่แล้ว บิ๊กโจ๊ก ขึ้น ผบ.ตร. จะอยู่ยาวไปอีก 7 ปี กว่าจะหมดคือ ปี 2574 คำถามคือ รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร. หรือแม้แต่ จเรตำรวจ ที่เทียบเท่ารอง ผบ.ตร. รวมเกือบ 10 นาย จะหมดสิทธิขึ้นทันที เพราะอายุราชการเหลือน้อยกว่า...นี่คือ ประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก” ผู้การวิสุทธิ์ กล่าวและว่า
บิ๊กโจ๊กเคยพูดเองว่า สาเหตุที่ชวดเก้าอี้ ผบ.ตร. ครั้งนี้ เพราะอายุราชการเหลือเยอะ อยู่นาน ทำให้ “ถูกเลื่อยขาเก้าอี้” นี่คือ ตะกอนแห่งความไม่พอใจ
...
ชนวนขัดแย้ง ที่ 2 : ผลประโยชน์ทับเส้น?
ผู้การวิสุทธิ์ อธิบายว่า ที่ผ่านมา “ลูกน้อง” ของทั้งสองฝ่าย มีการทับเส้นทาง กับ ปม “ธุรกิจไม่เปิดเผย” โยงใย กลายเป็นเส้นทางการเงิน ที่ซ้ำซ้อนกัน
ชนวนขัดแย้ง ที่ 3 : การใช้อำนาจ และการเอาคืน
ผู้การวิสุทธิ์ ชี้ว่า ที่ผ่านมา กรณี “กำนันนก” เมื่อสารวัตรทางหลวงถูกยิงตาย ซึ่งแต่ละคนล้วนมีสังกัด มีเจ้านาย คนที่เป็น “ผู้กำกับ” ที่เครียดจนตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง ก็มีสังกัด
ผลปรากฏว่า เวลานั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นฝ่ายที่คุมการสืบสวนคดีนี้ จะมีดำเนินคดีกับทุกคน ซึ่งถือเป็นการดำเนินคดีแบบเหมาเข่ง ไม่สนเด็กใคร
ขนาดคนที่ตายไปแล้ว บิ๊กโจ๊ก ยังดำเนินคดี...ทั้งนี้หากพูดตามหลักกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถึงแม้สุดท้าย จะจบลงด้วยมาตรา 39 คือ ผู้กระทำผิดถึงแก่ความตาย
จากเรื่องนี้กลายเป็นว่า มีการสร้างรอยแผลบาดหมางกัน ระหว่าง “ลูกน้อง” หากใครมีโอกาสเล่นงานฝ่ายตรงข้ามก็ซัดกันไม่ยั้ง หากมีโอกาสก็จะ “เอาคืน” กันและกัน
...
ชนวนความขัดแย้งที่ 4 : คอนเน็กชัน และเส้นทางเติบโต
ประเด็นที่ 4 นี้คือ เรื่องที่สำคัญที่สุด ที่หลายคนไม่พูด บางคนไม่กล้าพูด คือเส้นทางการเติบโตในสถาบันตำรวจ ผู้การวิสุทธิ์ อธิบายว่า ที่ผ่านมา หากตำรวจที่ไม่ได้จบจากโรงเรียนนายร้อยสามพราน มักไม่ค่อยก้าวถึงตำแหน่ง ผบ.ตร.
ยกตัวอย่างให้เห็นเด่นชัด! พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ซึ่งเคยเป็นรอง ผบ.ตร. ที่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีประวัติด่างพร้อย ตอนอยู่ ผู้บัญชาการ ภาค 1 จะแต่งตั้ง ในกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 เรียกสัมภาษณ์ทุกคน ไม่มีนอก ไม่มีใน อันนี้ยืนยันโดยผู้การวิสุทธิ์!
เมื่อถึงโอกาสจะขึ้นเป็น ผบ.ตร. เป็นอาวุโส เบอร์ 1 ก็ถูก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง แซงไป เนื่องจากจบโรงเรียนนายร้อย สามพราน ทั้งที่ พล.ต.อ.เอก มีปริญญาหลายใบ ปริญญาตรี, โท, เนติบัณฑิต เรียกว่า ปริญญาเกือบ 10 ใบ ความรู้เยอะ ประวัติดี แต่ไม่ได้ขึ้น
ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสมัยนั้น ก็บอกให้รอปีหน้า....พอถึงเวลา ก็โดน “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา แซงไป.... เพราะไม่ใช่เป็นนักเรียนนายร้อย?
นี่คือ สิ่งที่ชี้ชัดว่า กระบวนการคัดเลือกมีปัญหาหรือไม่ ที่สำคัญ คือ ไม่ใช่แค่ตำแหน่ง ผบ.ตร. เท่านั้น หากเป็นตำแหน่งอื่นๆ เช่น ผู้การ, ขึ้นผู้ช่วยฯ ก็โอกาสขึ้นได้ยาก
“คนที่จบ ปริญญาตรี หรือมาจากชั้นประทวนนั้น โอกาสน้อยกว่า ซึ่งเป็นแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย ยกเว้นแต่ว่า คนคนนั้น จะมีที่มาพิเศษ หรือ นามสกุลดัง และเมื่อได้โอกาสขึ้น ก็สร้างความไม่พอใจ กลายเป็นเรื่อง แบ่งฝักฝ่าย” ผู้การวิสุทธิ์ สะท้อนให้เห็นภาพ และมันก็อาจจะยังเป็นเช่นนี้อยู่ตลอดก็เป็นได้?
หรือ...หลังจากนี้ มีการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปตำรวจ แต่งตั้งคนเก่ง คนดี เติบโตด้วยระบบคุณธรรม จริยธรรม เป็นที่พึ่งของประชาชน ดังคำขวัญตำรวจ ที่เป็น "พิทักษ์สันติราษฎร์" ความทุกข์ร้อนของประชาชนต้องมาก่อน
...
อ่านบทความที่น่าสนใจ