ปมร้อนสีกากี เซ็นให้ "บิ๊กโจ๊ก" และพวกออกจากราชการไว้ก่อน ผู้การวิสุทธิ์ วิเคราะห์ ทางรอด ไม่รอด รีเทิร์นชิง เก้าอี้ ผบ.ตร. และ ปมที่หลายคนมองข้ามเรื่อง มลทินมัวหมอง ...

“ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” สำหรับ “บิ๊กโจ๊ก” หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. หลังถูกพนักงานสอบสวน บช.น. สั่งการให้พนักงานสอบสวน สน.เตาปูน ออกหมายเรียกข้อกล่าวหาฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน หลังมีหลักฐานโยงไปกับเว็บพนันออนไลน์ 

กระทั่งเมื่อวานนี้ (18 เม.ย.) หลังหยุดสาดน้ำสงกรานต์ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. รรท.ผบ.ตร. ก็เซ็นคำสั่ง ลงดาบ “บิ๊กโจ๊ก” ในหนังสือคำสั่งที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย. 2567 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ใจความว่า ด้วยข้าราชการตำรวจดังต่อไปนี้ 

1. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2. พ.ต.อ.กิตติชัย สังขถาวร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา
3. พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธร พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 4. ส.ต.อ.ณัฐวุฒิ หวัดแวว ผู้บังคับหมู่ (ทำหน้าที่จราจร) งานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจจราจร
5. ส.ต.อ.ณัฐนันท์ ชูจักร ผู้บังคับหมู่ งานสายตรวจ 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร 

...

เรื่องนี้ รรท. ผบ.ตร. หรือบิ๊กต่าย ได้ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. เคยแถลงต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภาว่า ทุกอย่างขอให้เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอน ตามกฎ ก.ตร. จากวันนั้นถึงวันนี้ (18 เม.ย.) ก็มีรายงานพฤติการณ์แห่งคดี โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็ได้รายงานการต้องคดีตามระเบียบ ขณะที่อีกทางหนึ่ง ก็ได้รับรายงานจาก กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยได้รายงานว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และข้าราชการตำรวจอีก 4 คน รวมเป็น 5 คน ได้กระทำผิดอาญาจริงจึงได้มีการเสนอความเห็นให้ผมปฏิบัติตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในมาตรา 131 ซึ่งเป็นกรณีที่ข้าราชการตำรวจต้องหาคดีอาญา ประกอบกับมาตรา 112 ในรายละเอียดแห่งการพิจารณาว่าจะกระทำผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ประกอบกัน 

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า การพิจารณาได้พิจารณาภายใต้กรอบของกฎหมายว่าพฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงขนาดไหนซึ่งการพิจารณาแล้วพบว่ามีความร้ายแรงของข้อเท็จจริงเกิดขึ้นจากการกระทำผิดซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาจากการที่ศาลได้ออกหมายจับ ทั้ง 5 ราย จึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จากนั้นเห็นแล้วว่าพฤติกรรมต่างๆ และการสอบสวนของคณะกรรมการจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็วจึงให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งเป็นไปตามกฎก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักและออกจากราชการไว้ก่อน

ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีสิทธิ์ที่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ซึ่งทาง พล.ต.อ.สราวุฒิ จะต้องให้โอกาส พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายและกฎก.ตร. ขณะเดียวกันทาง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะใช้สิทธิ์ในการร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้ด้วยเช่นกัน...  

นี่คือสิ่งที่ รักษาการ ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์... ส่วนใครที่ยังไม่ค่อยเข้าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น และช่องทางการต่อสู้ของ “บิ๊กโจ๊ก” จะมีหนทางไหนบ้าง วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะช่วยไขให้กระจ่างขึ้น โดยเราได้พูดคุยกับ ผู้การวิสุทธิ์ หรือ วิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี 

ไล่เรียงไทม์ไลน์ คดี “บิ๊กโจ๊ก” สู่การถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน! 

ผู้การวิสุทธิ์ อธิบายว่า หลังจาก “บิ๊กโจ๊ก” ถูกดำเนินคดี ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ที่ ป.ป.ช. อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ สน.เตาปูน 

...

ป.ป.ช. : หน่วยงานดำเนินคดีกับข้าราชการประพฤติมิชอบ หรือ ทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อเป็นข้าราชการ ก็จำเป็นต้องส่งให้ ป.ป.ช. 

“หน่วยงานเกี่ยวกับทุจริตนั้นมี 2 หน่วยงาน คือ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ซึ่งอำนาจหน้าที่นั้นเหมือนกัน ที่ต่างกัน คือ “ชั้นยศ” หมายความว่า หาเป็นข้าราชการยศตั้งแต่ “พันตำรวจเอก” ลงมา ก็จะส่งเรื่องไป ป.ป.ท. หากเป็น “พันตำรวจเอก” ขึ้นไป ก็ส่งเรื่อง ไป ป.ป.ช. เรื่องนี้ ก็อยากให้ประชาชนทำความเข้าใจก่อน... นี่คือ สาเหตุที่ทำไม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกส่งเรื่องไป ป.ป.ช.

คดีอาญา ที่ สน.เตาปูน มาจาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กับพวก ถูกแจ้งความว่าร่วมกันฟอกเงิน หรือสมคบกันฟอกเงิน เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตต่อหน้าที่...พนักงานสอบสวน สน.เตาปูน สามารถสอบสวนดำเนินคดีได้ เพราะเป็นคดีอาญา ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ 

หลังการสอบสวนมา 3-4 เดือนก็พบว่า คดีมีมูล จึงมีการเสนอศาลออกหมายจับ 5 คน ปรากฏว่า ศาลออกหมายจับ 4 คน ขณะที่ “บิ๊กโจ๊ก” นั้น ถือว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่น่าจะหลบหนี จึงบอกพนักงานสอบสวนว่า ให้ออกหมายเรียกก่อน 

ศาลออกหมายจับ 4 คนข้างต้น ส่วน “บิ๊กโจ๊ก” ถูกออกหมายเรียก ครั้งที่ 1, ครั้งที่ 2 

“ความจริงแล้ว หากเป็นคดีที่มีอัตราโทษมากกว่า 3 ปี ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกก็ได้ ออกหมายจับได้เลย...แต่คดีนี้ศาลเห็นว่า เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พนักงานสอบสวนก็ 'กันเหนียว' ก็เลยออกหมายเรียก 2 ครั้ง ก่อนจะขอออกหมายจับ ซึ่งศาลอนุมัติ”

...

สิ่งที่ผู้การวิสุทธิ์ วิเคราะห์ สาเหตุที่มีการอนุมัติหมายจับ มีอยู่ 3 ประเด็น 

1. อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญา : ไม่ใช่ศาลทุจริตประพฤติมิชอบ ที่ทาง ป.ป.ช. จะต้องส่งเรื่องไป 

2. มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ทำความผิด ฐานฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน

3. มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยง ไม่ยอมรับหมายเรียก 

จาก 3 ประเด็นดังกล่าว เป็นที่มาของการอนุมัติหมายจับ ซึ่งเมื่อมีหมายจับแล้ว ก็สามารถจับกุมได้ทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงได้เข้ามอบตัว และมีการแจ้งข้อกล่าวหา 

เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ก็ตกเป็นผู้ต้องหา ตรงนี้จะเข้ากฎหมาย ป.วิอาญา เพราะเมื่อเป็นผู้ต้องหาแล้ว เขาก็มีสิทธิ์ได้รับการประกันตัว 

“หากท้องที่ไหน มีข้าราชการถูกดำเนินคดี จะต้องรายงานตามลำดับชั้นจนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” 

ผู้การวิสุทธิ์ อธิบายว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทาง สน.เตาปูน ก็ต้องรายงาน ว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้มามอบตัว โดยรายงานไปยัง บก.น.2 ไล่ไปถึง บช.น. แล้วก็ส่งเรื่องไปถึง สตช. ถือเป็นการรายงานตามระเบียบ ไม่เกี่ยวกับคดี 

...

อีกทางหนึ่ง กฎหมายระเบียบ ไม่เกี่ยวกับคดี และ พ.ร.บ.ตำรวจ ในกรณี ข้าราชการ เมื่อถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี เจ้าตัวต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาภายใน 7 วัน 

ทางแรก สน.เตาปูนรายงานขึ้นมา อีกทางหนึ่ง “บิ๊กโจ๊ก” รายงานไปตามลำดับชั้น ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นรอง ผบ.ตร. จึงต้องรายงานถึง สตช. โดยตรง เมื่อ 2 สายบรรจบกัน ก็จะต้องไปขึ้นที่แผนกคดีและวินัย สตช. 

ในคดีอาญา จะอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน ส่วนคดี “วินัย” นั้น คดีนี้เป็นคดีร้ายแรง จึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีอยู่ 2 ทาง คือ “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” กับ “พักราชการ” ซึ่งทั้งสองทางก็คล้ายกัน เพราะนี่ยังไม่ถึงการลงโทษจริงๆ เพราะหากสอบสวนแล้วมีความผิดนั้น จะถึงขั้นให้ออก ปลดออก 

แต่การให้ออกจากราชการไว้ก่อน หมายความว่า บิ๊กโจ๊ก “ไม่ใช่ข้าราชการตำรวจ และ รอง ผบ.ตร. แล้ว”

โอกาส ผงาด การท้าชิง เก้าอี้ ผบ.ตร. ยังมี แต่...?

ผู้การวิสุทธิ์ อธิบายถึงหนทางของ “บิ๊กโจ๊ก” ในการกลับมาผงาด ท้าชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. ว่า สิ่งแรกที่เร็วที่สุด ที่เห็นได้คือ ผลคดีอาญา “สมมติ” หาก สน.เตาปูน สอบแล้ว มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทุกอย่างจบ “บิ๊กโจ๊ก” กลับมาได้...และตำแหน่งต้องไม่น้อยกว่าตำแหน่งเดิม ส่วน สตช. ต้องชดเชยอะไรหรือไม่ ต้องไปฟ้องเอาเอง 

หากพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง และอัยการก็ฟ้องด้วย...ก็ต้องไปรอลุ้นถึง ศาลสุดท้าย นั่นก็คือ “ศาลฎีกา” แบบนี้เรียกว่าเป็นไปตาม “ยถากรรม” ถ้าศาลลง ก็จบ ถ้าไม่ลง ก็ค่อยขอกลับ เพราะยังมีเหลืออายุราชการ 

ระหว่างนี้...! 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สามารถขออุทธรณ์ กรณีการให้ออกจากราชการไว้ก่อน และยังอาศัย “สิทธิ” ในการฟ้องศาลปกครองได้ ด้วยการอ้างว่า “นี่คือคำสั่งที่ไม่ชอบ” 

ประเด็นสำคัญ!!! 

“บิ๊กโจ๊ก” คือ รอง ผบ.ตร. และแคนดิเดต ผบ.ตร. อาวุโส อันดับ 1 เพราะ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ก็ไป สมช. แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ “บิ๊กโจ๊ก” สามารถร้องเรียนได้ว่า “บิ๊กต่าย” คือคู่แข่งชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. การที่ “บิ๊กต่าย” รักษาการ ผบ.ตร. เซ็นให้ออกจากราชการ อาจจะถูกมองได้ว่า นี่คือการหักเหลี่ยมเฉือนคม ตัดเส้นทางคู่แข่ง เพื่อปูทางให้ตัวเองได้? 

นี่คือสิ่งที่ใครก็คิดได้ รวมถึง “บิ๊กโจ๊ก” 

1. บิ๊กโจ๊ก มีอายุราชการ ยาวไปถึง 2574 

2. “บิ๊กโจ๊ก” อาวุโส มากกว่า... 

อีกด้านหนึ่ง “บิ๊กต่าย” อาจบอกได้ว่า หากไม่ทำ ก็จะโดนละเว้นปฏิบัติหน้าที่...กลายเป็นสิ่งที่ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ “บิ๊กโจ๊ก” อาจจะเอาสาเหตุดังกล่าวไปร้องขอความเป็นธรรมกับศาลปกครองได้... เพื่อขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน ซึ่งหากศาลมองว่า เป็นการเซ็นคำสั่งโดยมิชอบ ก็จะคล้ายกรณี นายถวิล เปลี่ยนศรี ก็ต้องถอนคำสั่ง “บิ๊กโจ๊ก” ก็จะรีเทิร์น 

คดีนี้ ต้องรอดูผลจากพนักงานสอบสวน หากพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง อัยการไม่ฟ้อง การชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. ก็ยังทันอยู่ ส่วนคดีที่อยู่ ป.ป.ช.ก็ปล่อยไปก่อน เพราะมันคาราคาซังอีกยาว 

ผู้การวิสุทธิ์ อธิบายว่า การแต่งตั้งตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ระดับนายพล ทั้ง ผบ.และ รอง ผบ. ทาง ก.ตร. มีการแก้ไขกฎว่าจะต้องประกาศหลังมีราชกิจจาฯ 180 วัน ดังนั้น อาจจะมีผลในวันที่ 1 พ.ย. 67 ซึ่งมีเวลา 7 เดือน หากคดีอาญา พนักงานสอบ และอัยการสั่งไม่ฟ้อง “บิ๊กโจ๊ก” ก็รีเทิร์นได้ นี่คือ หนทางที่ 1 

หนทางที่ 2 หากบิ๊กโจ๊ก ฟ้องศาลปกครอง เพื่อพิจารณาฉุกเฉิน โดยให้เหตุผลว่าเซ็นคำสั่งโดยมิชอบ หากสู้แล้วชนะ คำสั่งนั้นก็ต้องถอน “บิ๊กโจ๊ก” ก็จะกลับมาที่เดิม เพราะ...นายกฯ ได้เซ็นย้ายกลับมาที่ สตช. แล้ว ก่อนจะเซ็นให้ออกจากราชการ เพื่อให้อำนาจ รักษาการ ผบ.ตร. 

“เรื่องนี้เป็นการเดินเกมที่ฉลาด เพื่อทำให้ทุกอย่างชัดเจน เพราะตอนแรก ยังไม่แน่ใจว่า คำสั่งนี้ใครจะเป็นคนเซ็น ระหว่างนายกฯ กับ รรท.ผบ.ตร. แต่เพื่อให้คำตอบที่ชัดเจนและไม่ต้องเถียงกัน จึงมีการเซ็นย้ายกลับมา คล้ายกับว่าส่งบิ๊กโจ๊กมาขึ้นเขียงก่อน”

ส่วน “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ยังมีโอกาส เพราะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สน.เตาปูน คล้ายกับของบิ๊กโจ๊กเลย โอกาสก็คล้ายบิ๊กโจ๊ก หากพนักงานสอบสวน หรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็กลับมาเป็น ผบ.ตร. 

เมื่อถามว่า ประวัติศาสตร์ของ สตช. ไม่เคยปรากฏว่า คนที่ขึ้นเป็น ผบ.ตร. แล้ว ไม่เคยโดนเด้งจากตำแหน่ง เรื่องนี้ ผู้การวิสุทธิ์ บอกว่า...อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หลายๆ อย่างไม่น่าเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นมาแล้ว 

มลทิน มัวหมอง เรื่องที่หลายคนมองข้าม 

ทีมข่าวถามว่าฯ หากวันหนึ่งคนที่เคยถูกดำเนินคดี เกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือร่วมกับเว็บพนัน เกิดขึ้นเป็น ผบ.ตร. จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ตำรวจหรือไม่ ผู้การวิสุทธิ์ บอกว่า หากคนที่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีแล้วหลุดรอด พูดว่า “วิธีพิจารณาความอาญาตามกฎหมายไทย ตราบใดที่ศาลไม่มีคำสั่งลงโทษ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ล่ะ...เขาอาจจะพูดได้ว่าที่โดนนั้นเพราะถูกกลั่นแกล้ง มีการฟ้องร้องตามกระบวน”

โดยสรุป หนทางการกลับมาผงาดของ “แมว 9 ชีวิต” อย่าง “บิ๊กโจ๊ก ผู้การวิสุทธิ์ สรุปว่า มี 2 หนทางตามกฎหมาย คือ 1. คดีจบ 2. ศาลปกครองตัดสินว่า มีการเซ็นคำสั่งโดยมิชอบ

“ส่วนบิ๊กโจ๊ก จะรอดครั้งนี้หรือไม่ ผมไม่รู้... เพราะประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้” 

ผู้การวิสุทธิ์ ย้ำอย่างหนักแน่นว่า หลักกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ตามกฎหมายไทย หากสงสัยว่าจำเลยกระทำผิด ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้กับจำเลย สงสัยว่าจำเลยทำผิด...จำเลยก็ไม่ผิด ยกเว้นว่า มีหลักฐานที่ชี้ชัด ยืนยันได้ว่า จำเลยกระทำความผิดจริง ศาลถึงจะลงโทษ นี่คือ “คดีอาญา” 

แต่...มีอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่หลายๆ คนมองข้ามไป นั่นคือ สิ่งที่เรียกว่า “มลทินมัวหมอง” 

ตัวอย่างคดีหนึ่ง คือ ผู้ชายคนหนึ่งร้องเรียนว่า ตำรวจคนหนึ่งไปเป็นชู้เมียเขา เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่ถูกตรวจสอบ เรื่องนี้มีการแจ้งดำเนินคดีทางอาญา และวินัย ผลคดีอาญามีการต่อสู้ในชั้นศาล และฝ่ายตำรวจเป็นฝ่ายที่ชนะ ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้เข้าไปในบ้าน ไปยุ่งกับเมียผู้ร้อง เพราะถูกหักล้างในชั้นสืบพยาน 

แต่...ในทางกลับกัน ตำรวจรายนี้กลับถูกให้ออกจากราชการ เพราะ “มลทินมัวหมอง” เพราะมีการสอบสวนในประเด็นเรื่องทำผิดวินัยร้ายแรง เป็นคนที่มีมลทินหากยังรับราชการอยู่ 

ดังนั้น หากสมมติว่า “บิ๊กโจ๊ก” รอดคดีอาญาไปได้ ก็ไม่แน่ว่า อาจจะไม่รอดในประเด็น “มลทินมัวหมอง” เพราะบิ๊กโจ๊กถูกสอบสวนในคดีเว็บการพนัน การฟอกเงิน ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ส่อให้มองได้ว่าเกิดมลทินมัวหมอง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้พิจารณาออกจากราชการได้ ถึงแม้คดีอาญาจะชนะก็ตาม...ผู้การวิสุทธิ์ให้ความเห็นสรุป 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ