รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ ตอบ MOU ไม่ติดขัด แค่รอทุกฝ่ายเซ็น ถอดลิงแสมออกจากสัตว์คุ้มครองไม่ใช่คำตอบ ปัญหาลิงต้องรับผิดชอบร่วมกัน เผย มั่นใจ 'วิกฤติ' นี้ แก้ได้แน่นอน!
'วิกฤติลิงลพบุรี' ดูท่าแล้วคงไม่ใช่เรื่องที่จะจบลงง่ายๆ จากปัญหาและการตั้งคำถามของประชาชนในเขตเมืองลพบุรี ที่เคยถูกส่งผ่าน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สู่การติดต่อและเดินทางเข้าพบ เพื่อพูดคุยกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ด้วยความหวังลึกๆ ในใจที่อยากให้เกิดขึ้นจริงว่า "การทำข่าวครั้งนี้ จะช่วยทุเลา บรรเทา และคลายวิกฤติให้ชาวบ้านได้"
วันนี้เดินทางมาถึงสกู๊ป 'วิกฤติลิงลพบุรี' ตอนที่ 6 ทีมข่าวฯ ยกโทรศัพท์ต่อสายตรงหา "อรรถพล เจริญชันษา" อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรามาดูกันสิว่า ท่านอธิบดีของเรา จะพูดถึง MOU และประเด็นที่หลายฝ่ายต่างบอกว่า "รอกรมอุทยานฯ" ไว้อย่างไร ถ้าพร้อมแล้วก็ไปกันเลย!
...
MOU ไม่มีปัญหา รอเซ็นอย่างเดียว :
นายอรรถพล กล่าวว่า "MOU ทุกฝ่ายกำลังช่วยกันร่างอยู่ ถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันครบถ้วนทุกข้อความก็จะลงนาม เห็นตอนแรกว่าจะลงนามตั้งแต่อาทิตย์ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าไม่ว่างกัน เนื้อหาของ MOU มันมีรายละเอียดที่ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ว่าอยู่ที่ 'ความพร้อม' ที่จะร่วมมือเซ็น อย่างผมไปต่างประเทศก็เพิ่งกลับมา
ทีมข่าวฯ สอบถามไปยังนายอรรถพลที่อยู่ปลายสายว่า "ขณะนี้ MOU ติดขัดเรื่องอะไรหรือไม่"
"ไม่เกี่ยวๆ MOU มาเซ็นตอนไหนก็ได้ ตอนนี้เราเริ่มทำงานกันไปแล้ว ต้องมาวางแผนกันต่อว่า งบประมาณที่ทางจังหวัดจะตั้ง จะตั้งยังไง จะตั้งแบบไหน ตอนนี้ผมกำลังให้ทาง 'สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า' เขานัดหมายกับ 'มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า' ลงพื้นที่ลพบุรี เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน"
"เรื่อง MOU มันไม่มีปัญหาหรอก ตอนนี้เดินหน้าไปได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะการออกแบบกรง ซึ่งตอนนี้เราก็ใช้แบบที่ผมไปทำที่เพชรบุรีให้เป็นต้นแบบ และจะเชิญ มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทางลพบุรี เพราะว่าเขามีประสบการณ์ในการเลี้ยงลิง สร้างกรงลิง เราก็จะไปคุยกันว่า ท้องถิ่น จังหวัด เทศบาล หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่มีกรงเดิมอยู่แล้ว จะพัฒนาเพิ่มเติมอย่างไร ก็เดี๋ยวมาคุยกัน แต่กระบวนการงบประมาณเป็นเรื่องของทางจังหวัด ว่าจังหวัดจะพิจารณาใช้งบอะไรก็แล้วแต่"
แล้วถ้ามีหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วย แล้วไม่ยอมลงนามล่ะ ทีมข่าวฯ ถาม
รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตอบว่า "ผมไม่คิดว่าจะมีฝ่ายไหนไม่ยอมเซ็นนะ เพราะเนื้อหา MOU ไม่เห็นมีผลเสีย มีแต่ผลดี การเซ็น MOU ก็เพื่อให้เป็นการดำเนินการร่วมกัน ให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันเท่านั้นเอง ทุกฝ่ายก็จะมีกฎหมายในส่วนของตัวเอง แล้วก็โครงการต่างๆ มันก็จะได้นำไปสู่เรื่องของการของบประมาณ ตั้งงบประมาณ เบิกจ่ายงบประมาณได้ การจะเซ็น MOU ทางหน่วยงานภายในจังหวัดต้องคุยกันให้ลงตัวและเรียบร้อยก่อน เพราะถ้าไม่เรียบร้อยอาจจะยุ่งได้ เราก็รอทางนั้นอยู่"
ต้นแบบกรงจากเพชรบุรี สู่การปรับปรุงที่ลพบุรีก่อนเริ่มใช้ :
หลังจากสกู๊ป 'วิกฤติลิงลพบุรี ตอนที่ 3' เรื่อง นิคมลิงลพบุรี 40 ล้านที่ไม่ได้ใช้ กับคำตอบที่บอกให้ 'รอ' ถูกโพสต์ลงในโลกออนไลน์ ประชาชนหลายคนต่างตั้งคำถามว่า "ตอนสร้างกรง ไม่ได้คุยกันเหรอ" ทีมข่าวฯ จึงสอบถามไปยังปลายสายว่า "ตอนแรกที่สร้าง ทางจังหวัดได้ปรึกษากรมอุทยานฯ หรือไม่"
...
"อันนี้ไม่ทราบเลย ช่วงนั้นยังไม่ได้มารับตำแหน่ง อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ ต้องลองไปดูว่าเรื่องราวเป็นยังไง เข้าใจว่ากรงที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถที่จะเอาลิงไปปล่อยให้เขาอยู่ได้ทำนองนั้น ผมก็ยังไม่ได้เข้าไปดูเหมือนกัน
นี่เป็นอีกเหตุผลด้วย ที่ผมจะพาผู้เชี่ยวชาญไปดู พามูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าไปดู เราทำต้นแบบไว้ ตอนนี้ใกล้เสร็จแล้ว จะได้ให้คำปรึกษาไปเลยว่าถ้าจะทำ ทำยังไง ใช้แบบของเรายังไง ควรจะใช้กรงเดิมมาปรับปรุง หรือจะเพิ่มกรงใหม่ แล้วใช้ขนาดเท่าไร เมื่อเทียบกับปริมาณลิงที่จะมาอยู่ เราต้องไปเวิร์กช็อปที่ลพบุรี เดี๋ยวผมไปที่นู่น"
เราถามว่า... อีกนานไหม?
"ไม่นานครับ อาทิตย์สองอาทิตย์นี่แหละ จะลงพื้นที่" อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว
ถอด 'ลิงแสม' ออกจากสัตว์คุ้มครองไม่ใช่คำตอบ :
ในกรณีที่มีการเสนอให้ ถอด 'ลิงแสม' ออกจาก 'สัตว์คุ้มครอง' เรื่องนี้อธิบดีคิดเห็นอย่างไร?
นายอรรถพลพูดขึ้นทันทีว่า "ผมคิดว่าไม่ใช่คำตอบ"
...
"เราจะทำเพื่ออะไร แล้วมันจะยังไงต่อ หากประกาศยกเป็นสัตว์คุ้มครอง มันอาจจะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้มีการล่าลิงเสรีมากขึ้น เพราะว่าล่าไปอยู่ในครอบครองก็ไม่มีความผิด แล้วมันก็จะไปกระทบลิงที่อยู่ในธรรมชาติด้วย
คราวนี้ก็หมายความว่า เปิดโอกาสให้คนไปล่าลิง ซึ่งมันไม่ใช่คำตอบ คำตอบของเราคือการเอาลิงออกจากพื้นที่ ไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่ เพราะเรากำจัดเขาไม่ได้ เราเมืองพุทธ ไปลดประชากรลิงโดยการฆ่าเขาไม่ได้ ฉะนั้น เราก็ต้องให้เขาไปอยู่ในที่ที่เราควบคุม แล้วก็ให้อาหารเขา ที่ดีที่สุดตอนนี้ก็คือการทำหมัน และเอามาอยู่ในศูนย์พักพิง"
งบประมาณไม่พอ จะทำหมันทันเหรอ? :
จากที่ 'นายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม' ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี เคยพูดไว้ในสกู๊ป 'วิกฤติลิงลพบุรี ตอนที่ 4' ในลักษณะที่ว่า "งบไม่พอ"
อ่านเพิ่มเติม : ทำหมัน 'ลิงลพบุรี' การทำงาน 10 ปี กับงบที่ไม่เพียงพอ
...
เรื่องนี้ รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า "ทัน... เราก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วก็อย่างที่บอก ทำแล้วก็เอามาอยู่ในกรง ตอนนี้ยอดสะสมประมาณ 4-5 ปี เราทำไปสองหมื่นกว่าแล้ว จับเจ็ดหมื่นกว่า เจ็ดหมื่นหมายถึงตัวที่อยู่นอกป่านะ ตามพื้นที่สาธารณะอะไรต่างๆ เราทำไป เพียงแต่ว่าแรกๆ เราใช้วิธีเป็นการใช้ยาฮอร์โมน ซึ่งมันก็มีวันหมดอายุ ซึ่งตอนหลังเรามาใช้วิธีการทำหมันสด อันนี้มันถาวร"
หน่วยงานท้องถิ่นทำ (บางอย่าง) ได้เลย ไม่ต้องรอกรมอุทยานฯ :
หากคุณผู้อ่านได้เคยอ่านสกู๊ปที่เกี่ยวกับ 'วิกฤติลิงลพบุรี' จะพบว่า ทั้งทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี และนายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี ต่างก็บอกว่า "รอกรมอุทยานฯ" นั่นแสดงว่าต้องรออย่างเดียวโดยทำอะไรไม่ได้เลยหรือ?
"ไม่ใช่ทำอะไรไม่ได้ครับ แต่ในการจะทำได้หรือไม่ได้ ต้องไปคุยกันว่าเราจะปรับกรงยังไง ใช้งบประมาณยังไง ตอนนี้จังหวัดก็ต้องไปตั้งงบประมาณรอได้เลย ถ้าจะให้กรมอุทยานฯ ไปตั้งงบประมาณขอ 'มันจะยาก' เพราะถ้าเราต้องทำทุกจังหวัด 52 พื้นที่เลยนะ ซึ่งเราจะไปของบประมาณรัฐบาล ตอนนี้มันก็คงจะยาก เพราะว่ามันจะเยอะ คราวนี้ถ้าจังหวัดไหนช่วยตัวเองได้ ไม่ว่าจะท้องถิ่นหรืออะไรก็ตาม มาช่วยกัน ระดมกัน เหมือนที่เพชรบุรีเขาทำอย่างนี้ ก็ช่วยกันคนละมือก็จะเร็วกว่า"
ท่านคิดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องลิงลพบุรีได้หรือไม่?
"ได้แน่นอน ถ้าทุกคนช่วยกัน คือตอนนี้ถ้าเราซ่อมกรงเดิมได้เสร็จ ถ้ากรงเดิมพอ หรือถ้าไม่พอก็สร้างเพิ่ม มันก็จะลดจำนวนลิงไปได้เยอะ ระหว่างนี้เราก็ทำหมันไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การตั้งงบประมาณก็จะมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือการทำหมัน อีกส่วนหนึ่งคือการย้าย
และอีกส่วนหนึ่งก็คือกรง ที่ท้องถิ่นสามารถตั้งงบประมาณได้ ก็เหมือนกับเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน มันก็ทำได้หมดแหละ ท้องถิ่นเขาก็มีส่วนรับผิดชอบอยู่แล้ว"
"ถ้าจะให้กรมอุทยานฯ เป็นคนตั้งงบ ผมว่ายาก เพราะมีตั้ง 52 พื้นที่เลยนะ เราก็ต้องของบทั้งหมด แล้วถ้ากรมทำเองโดยลำพังก็จะยากกว่าระดับท้องถิ่นพัง ไม่ได้หมายความว่ากรมอุทยานฯ จะไม่ตั้งงบอะไรเลย แต่ว่าอันไหนได้ก่อนก็เอาอันนั้น เหมือนอย่างที่ว่า ต้องแก้ปัญหาร่วมกันทุกฝ่าย"
'ลิง' ทุกคน ทุกฝ่าย ต้องรับผิดชอบร่วมกัน :
จาก 'ความคิดเห็น' ที่ประชาชนคนพื้นที่มองว่า 'หน่วยงานทำงานไม่จริงจัง'
รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ ให้ความเห็นว่า... ผมว่าทุกอย่าง ทุกคน ต้องรับผิดชอบร่วมกันแหละ จะโทษใครไม่ได้หรอก ทุกคนก็ต้องช่วยกัน เราจะโยนความรับผิดชอบให้ท้องถิ่น หรือให้กรมอุทยานฯ อย่างเดียวมันก็คงไม่ได้ เรื่องลิงเป็นเรื่องที่สะสมมาเรื่อยๆ ในอดีตเราก็เลี้ยงลิงมาตลอด แม้แต่ตอนนี้ก็ยังมีโต๊ะจีนลิงอยู่เลย เราก็สนับสนุนให้มีลิงมาตลอด พอถึงเวลาลิงเยอะ เราจะมาโทษกันก็ไม่ได้ หยุดโทษกันดีกว่า ไม่มีประโยชน์อะไร มาช่วยกันทำงานดีกว่า เหมือนที่เพชรบุรี เขาพร้อมใจกันมาตั้ง 500-600 คน ทุกคนเขาเข้าใจหมดแล้ว และเขาก็จะช่วยกัน
"เราเข้าใจชาวบ้าน ไม่เป็นไรหรอก ชาวบ้านเขาก็ต้องบ่นบ้างแหละ เพราะเขาก็เดือดร้อนกัน แต่ว่าท้องถิ่น จังหวัด ก็ต้องช่วยกัน ผู้ว่าฯ ก็ไปดูว่างบประมาณของจังหวัดมีไหม ท้องถิ่นก็ไปดูว่างบท้องถิ่น จะเป็น อบต. อบจ. หรืออะไรก็แล้วแต่ มาช่วยกัน
ถ้าในระดับพื้นที่ช่วยกันผมมองว่ายังไงก็ทำได้ ช่วยกันเรื่อยๆ เนี่ย...ค่อยๆ สร้างกรง ค่อยๆ ย้ายลิงไปเรื่อยๆ มันก็เหลือน้อยลง เอาให้มันเหลือน้อยเท่าที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชนก็พอแล้ว"
นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ ฝากทิ้งท้ายว่า...
"ตอนนี้อยากให้ทุกคนมาช่วยกัน แล้วก็อาจจะต้องช่วยผลักดันให้ท้องถิ่นได้มีบทบาทในการแก้ปัญหาตรงนี้ให้มากขึ้น แล้วก็ทางเราเองพร้อมให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ส่วนพี่น้องประชาชน อันไหนที่ระมัดระวังตัวเองไปก่อนได้ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากลิง หรือไม่การให้อาหารต่างๆ ที่มากเกินไป มันก็ไม่ดี"
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
อ่านบทความที่น่าสนใจ :