รองผู้ว่าฯ ลพบุรี เผย 90% คนลพบุรี หนุนลดจำนวนลิง ตอบแนวทางแก้ 'วิกฤติลิง' ไม่เคยนิ่งนอนใจ รับรู้-ติดตาม-ดำเนินการอยู่เสมอ ตอนนี้รอ MOU เพื่อแก้ปัญหา และปลดล็อกนิคมลิง ส่วนแผนปรับปรุง-พัฒนา "ต้องคิดกันต่อไป"...
ซีรีส์ 'วิกฤติลิงลพบุรี' เดินทางมาถึงสกู๊ปที่ 5 ประเด็นคำถามต่างๆ จากประชาชนในพื้นที่ ที่ส่งผ่าน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ถูกนำเสนอไปแล้วบางส่วน แม้ 'หลายอย่าง' จะยังดู 'คลุมเครือ-ต้องรอ-ไม่ชัดเจน' แต่ก็ยังดีกว่าที่พวกเราจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลอะไรเลย
'ปัญหาลิงลพบุรี' ดูเผินๆ ก็คือปัญหา 'ระดับจังหวัด' แต่เรื่องราวที่สืบเนื่องมายาวนาน ถูกหยิบมาพูดถึงในทุกๆ ปี ชาวบ้านในพื้นที่หลายคนต่างเดือดร้อน และอยู่อย่างไม่เป็นสุขเท่าไรนัก ทำให้ปัญหานี้เป็นที่สนใจของประชาชนใน 'ระดับประเทศ' นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ ทีมข่าวฯ ต้องแสวงหาข้อมูลจากหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องมานำเสนอ
"ทั้งหมดที่ผมเรียนสัมภาษณ์นี้ ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ เป็นความเห็นที่ตรงกันจากเวทีประชุม" ประโยคบอกเล่าช่วงท้ายก่อนจบบทสนทนา จากเสียงของ 'นายปรัชญา เปปะตัง' รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ที่อยู่ปลายสาย หลังจาก ทีมข่าวฯ ได้ต่อสายตรงเพื่อสอบถามถึงการดำเนินงานของจังหวัด ต่อประเด็น 'ปัญหาลิงลพบุรี' ว่าจะมีทิศทางต่อไปอย่างไรบ้าง
เอาเป็นว่าอย่ารอช้า... เรามาลองดูกันสิว่า 'รองผู้ว่าฯ' ได้กล่าวตอบเรื่องราวแห่ง 'มหากาพย์น้องจ๋อ' ไว้อย่างไรบ้าง
...
รับฟังความเห็นนับหมื่น! มากกว่า 90% วอนลดจำนวนลิงเขตเมือง! :
นายปรัชญา เล่าย้อนอดีตลพบุรีที่อยู่ในความทรงจำให้เราฟังว่า เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ครั้งยังเป็นปลัดอาวุโสอยู่ที่ท่าวุ้ง ยอมรับว่า 'ลิงลพบุรี' ไม่เป็นอย่างนี้ คือเมื่อก่อนยังมีร้านหนังสือนายอินทร์ แต่ตอนนี้หายไปแล้ว โรงหนังมาลัยรามาก็พังเพราะลิงบุก ช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะพอสมควร จำนวนลิงก็เพิ่มขึ้นมากด้วย
อย่างไรก็ดี รองผู้ว่าฯ กล่าวต่อทันทีว่า แต่ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดหลายต่อหลายท่านก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด อย่างผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน ท่าน 'อำพล อังคภากรณ์กุล' ก็พูดถึงความเดือดร้อนของประชาชนเสมอ เพราะท่านมองว่ามันเป็น 'จุดพีก' แล้ว
ท่านอำพลจึงจัดประชุมเมื่อ 12 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี ผู้เข้าร่วมประชุมก็มีหลากหลาย ตั้งแต่เจ้าของโรงหนังมาลัยรามา ประธานชมรมร้านทองลพบุรี ผู้มีองค์ความรู้ พระสงฆ์ ประชาชน ฯลฯ รวมถึง เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นในระบบออนไลน์ มีความคิดเห็นถูกส่งเข้ามามากกว่า 10,000 ความคิดเห็น มากกว่า 90% แสดงความต้องการอยากให้ 'ลดจำนวน' ลิงในเขตเมืองเก่า
จังหวัดจัดตั้งคณะทำงานดูแลปัญหาลิงลพบุรี :
รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนั้น (12 มิ.ย. 2566) ท่าน 'เผด็จ ลายทอง' ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมประชุมด้วย ทางผู้ว่าฯ จึงนำปัญหาต่างๆ ที่ได้รับการร้องเรียนมาคุยกัน ซึ่งมันเป็นปัญหาเก่าๆ เช่น
"ทำไมคนต่างพื้นที่ ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเขตเมืองเก่า นำอาหารมาโยนทิ้งตามห้องแถว หรือตามถนน มันสร้างความสกปรก ชาวบ้านก็บ่นกันว่า ไม่อยากเป็นแบบนี้หรอก พวกเขาลำบาก ต้องอยู่ในกรง"
"เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทางผู้ว่าฯ แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา คือ ชุดบริหารจัดการลิงและถิ่นที่อยู่อาศัยลิง มีรองผู้ว่าฯ ที่ดูแลสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี เป็นประธานคณะ อีกชุดหนึ่งเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมแก้ปัญหา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ ประชาชน โดยมีปลัดจังหวัดเป็นประธานคณะ และอีกชุดหนึ่ง คือ คณะบริหารทำงานจัดการสถานที่อนุบาลลิง (นิคมลิง) ก็คือท่านนายกเทศมนตรีเมืองลพบุรีเป็นประธาน" รองปรัชญา กล่าว
...
จัดประชุม ลงพื้นที่สำรวจประชากรลิง :
"เรามีการจัดประชุม 3 ชุดใหญ่ รวมถึงชุดเล็กอื่นๆ ตกผลึกแรกที่ได้มาก็คือ ทางกรมอุทยานฯ บอกว่านัดหมายเลย ให้ทางนักเรียนโรงเรียนพิบูลวิทยาลัยที่กำลังปิดเทอม รวมถึงเยาวชน และประชาชนในพื้นที่ มาร่วมนับจำนวนลิงกับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ผมก็ไปด้วย ทำให้รู้ว่านับยากเหมือนกันนะ" นายปรัชญา กล่าวอย่างเข้าใจ ต่อความยากลำบากในการนับจำนวนลิง
รองผู้ว่าฯ เล่าต่อว่า หลังจากประชุมเดือนมิถุนายนเรียบร้อย เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม เราก็ลงพื้นที่นับลิงเลยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ข้อมูลที่ผมจะพูดตรงนี้อ้างอิงตามหลักวิชาการนะ เรานับหลักๆ ทั้งหมด 4 จุด คือ (1) พระปรางค์สามยอด มีจำนวนลิงรวมทั้งลิงเกาะอก 1,019 ตัว (2) ตลาดมโนราห์ มีอยู่ 237 ตัว (3) ร้านชโยวานิช 625 ตัว และ (4) ศาลพระกาฬ มี 325 ตัว รวมแล้ว 2,206 ตัว
"แต่มันก็คงมีเล็ดลอดไปบ้าง อย่างไรก็ตามเราก็ยึดตามหลักวิชาการ ตามที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี เขาพานับ เราก็ต้องเชื่อเขา"
...
กรมอุทยานฯ ผู้มีอำนาจ 'ย้ายลิง' กับงบประมาณทำหมันปีละ 300 ตัว :
ในตอนประชุม เราก็มีการพูดคุยกันว่าเราจะย้ายลิง 2,000 กว่านี้ไปอย่างไร ซึ่งเราต้องมาดูก่อนว่า "ใครเป็นเจ้าของลิง?" ลิงเป็นสัตว์คุ้มครองนะครับ เราจะไปทำร้ายลิง จับลิง หรือเคลื่อนย้ายลิงไม่ได้ ต้องให้เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯ มาดำเนินการ เรามีหน้าที่เป็นส่วนช่วยเหลือ
เช่น การทำหมันลิง เจ้าหน้าที่กรมฯ ก็ต้องเป็นคนทำ ของลพบุรีมี ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี เป็นผู้ดูแล เราก็ทำหมันลิงกันไปเรื่อยๆ แต่ว่าคนก็ยังถามอยู่ "ทำไมยังมีลิง และดูเยอะขึ้นเรื่อยๆ"
"เราต้องบอกก่อนว่าทำหมันลิงปีนึงไม่เกิน 400 ตัวนะ ทำตามงบประมาณจากกรมอุทยานฯ ปีที่แล้วถ้าจำไม่ผิด ได้งบประมาณมาทำประมาณ 300 ตัว เป็นเงิน 6 แสนบาท ตัวละ 2,000 บาท"
'สองมือเธอ สองมือฉัน' และการขอส่วนร่วมจากทุกคน :
"พอเราได้จำนวนลิงแล้ว ก็มาคิดแก้ปัญหาต่อว่า ในเมื่อบ้านเมืองสกปรกเราจะทำอย่างไร ท่านผู้ว่าฯ เลยคิดโครงการขึ้นมาชื่อ 'สองมือเธอ สองมือฉัน' เป็นการชวนประชาชนร่วมกันทำความสะอาด มากวาดพื้นหลังเลิกงานช่วง 17.00 น. ทุกวันพุธ ทำอยู่ประมาณเกือบ 2 เดือน"
...
นายปรัชญา กล่าวว่า ปกติแล้วรถไฟจะค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากสถานี พอมาถึงช่วงปรางค์สามยอดคนก็จะโยนเศษอาหารให้ลิง ทำให้ลิงติดเป็นนิสัย จะมานั่งรออาหารเวลารถไฟผ่าน คราวนี้เราก็ขอให้ทางนายสถานีช่วยประชาสัมพันธ์ว่า "ไม่ให้โยนอาหารให้ลิงแล้วนะ เพราะบ้านเมืองจะสกปรก" เราก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้บริการดีมาก และหลังจากได้รับความมือจาก 'รถไฟ' จังหวัดก็ย้ายมาคุยกับทางเทศบาลเมืองลพบุรีต่อว่า "ให้กำหนดประกาศเทศบาลฯ กำหนดจุดให้อาหารลิง"
กรมอุทยานฯ แนะ จะย้ายลิง ต้องเริ่มปรับนิสัย :
นายปรัชญา เล่าเรื่องที่กรมอุทยานฯ ให้คำแนะนำในการประชุมไว้ว่า ถ้าต้องการนำลิงไปอนุบาล กักขัง หรือย้ายเข้าสถานที่ดูแล เราก็ต้องปรับนิสัยลิงในเมือง คือ คนไม่ควรให้อาหารลิง หรือไม่ควรให้ลิงมองเห็นคนให้อาหาร เป็นไปลักษณะประมาณว่า 'ให้ลิงหากินเอง'
"ส่วนนี้ ทางมูลนิธิสามัคคีสงเคราะห์ ก็มีแนวคิดที่ดี นำกล่องเหล็กให้อาหารหมูแบบเหยียบ มาประยุกต์เป็นจุดให้อาหารลิง เรานำอาหารเม็ดที่เป็นอาหารสุนัข ถุงนึง 20 กิโลกรัม อยู่ที่ประมาณ 540 บาท นำไปใส่กล่องเหล็กดังกล่าว ลิงก็มากดให้อาหารเม็ดไหลลง ต้นทุนกล่องนึงประมาณ 2,000 บาท คนก็นำอาหารเม็ดมาช่วยบริจาค อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราพยายามสร้างนิสัยลิง ตามคำแนะนำของกรมอุทยานฯ"
ซึ่งนี่อาจจะไม่ได้เป็นเพียงการปรับพฤติกรรมลิง แต่อาจจะเป็นการบอกคนในพื้นที่ และคนนอกพื้นที่อย่างนัยๆ ว่า คุณก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเหมือนกัน เพราะหากยังให้อาหารลิงไปทั่ว ปัญหาก็จะยังคงมีเรื่อยๆ
เสนอตั้งกองทุนดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากลิง :
รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวอย่างเข้าใจถึงประชาชนว่า ผมเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนนะ ท่านผู้ว่าฯ ก็ติดตามพี่น้องประชาชน หรือนักท่องเที่ยวที่โดนลิงทำร้ายอยู่ตลอด และเราก็มาคิดกันต่อว่า "เราจะดูแลพวกเขาอย่างไร"
"ผมอาจจะตอบไม่เคลียร์นะ ตอบกว้างๆ มีคนมาเสนอว่า ถ้าลิงไปกัดคน กัดนักท่องเที่ยว พวกเขาต้องไปเสียค่าใช้จ่ายเอง น่าจะมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา เราไม่ใช้งบหลวง เพราะเบิกไม่ได้ แต่ต้องรับบริจาคและสร้างกองทุนขึ้นมา อาจจะส่วนตัวผมช่วยบริจาค หรือเปิดรับบริจาคมารวมๆ กันไว้
เพื่อไว้ช่วยเหลือเรื่องลิง สมมติได้ใบค่ารักษาแล้ว ก็มาเบิกเงินกับกองทุน หรือของมูลนิธิ ผมว่าทำแบบนี้ก็จะช่วยบรรเทาได้ประมาณนึง และน่าจะทำอะไรๆ ให้ดีขึ้น ผมก็นำข้อเสนอนี้เรียนผ่านทางสื่อด้วยนะครับ ในอนาคตอาจจะมี"
ประกาศ 'ลิง' เป็น 'ภัยพิบัติ' :
มีคนเคยถามว่าทำไมไม่ประกาศเรื่อง 'ลิง' เป็น 'ภัยพิบัติ' ของจังหวัด แต่การประกาศภัยมีกฎหมายหลายขั้นตอน ถ้าเป็นไฟไหม้ น้ำแล้ง หรือภัยธรรมชาติ จะเข้าใจ และดำเนินการง่ายกว่า แต่พอเป็นเรื่องลิง มันจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องโรค และถ้าเราประกาศเป็นโรคระบาด คนในประเทศก็จะเกิดความตระหนกตกใจ ทั้งที่ความจริงแล้วเราไม่ได้มีโรคระบาด
ซึ่งทาง กรมปศุสัตว์ และสาธารณสุขจังหวัดก็บอกว่า บ้านเราโรคระบาดจากลิงน้อยมาก ส่วนท่านผู้ว่าฯ ก็เคยหารือไปที่กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ผลคือลิงเป็นสัตว์คุ้มครอง ไม่ใช่สัตว์ประเภทหมา-แมว ทำให้งบประมาณที่จะมาบรรเทาในส่วนนี้ยังไม่ได้
นายปรัชญา กล่าวผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อชี้แจง...
ถ้าจะฟื้นฟูเมือง ต้องลดจำนวนลิง :
จากสภาพตึกที่ทรุดโทรม และบ้านเมืองที่ประชาชนบอกว่า "แทบจะร้าง" ทีมข่าวฯ จึงสอบถามไปยังปลายสายโทรศัพท์ว่า ท่านและจังหวัดมีแผนจะฟื้นฟูเขตเมืองลพบุรีนี้อย่างไร?
เสียงปลายสายจาก นายปรัชญา ตอบกลับมาว่า เบื้องต้นต้องเรียนก่อนว่า 'การจะฟื้นฟูเมืองได้ ต้องลดจำนวนลิง' แต่ยังต้องมีลิงบางส่วนอยู่ในเมือง ส่วนนี้ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิเคราะห์ มาตรวจสอบว่าจำนวนที่เหมาะสมต่อการเป็นเมืองท่องเที่ยวนั้นอยู่ที่ประมาณเท่าไร
"หลังจากนั้นอาจจะกลับมาทาสีตึก มาพัฒนาพื้นที่ และต้องมาคิดกันต่อไปอีก ตอนนี้สิ่งที่ทำได้คือทำหมันลิงคู่ขนานไป เพื่อลดจำนวนประชากรลิง ส่วนการเคลื่อนย้ายลิงจากเขตเมืองเก่า กรมอุทยานฯ ต้องเป็นผู้ดำเนินการ เราไม่มีอำนาจและหน้าที่ในส่วนนั้น เพราะลิงเป็นสัตว์คุ้มครอง
ทางจังหวัด ทางผู้ว่าฯ ก็มีการตั้งงบประมาณนะ ว่าอยากจะทำหมัน แต่ต้องกราบเรียนอย่างนี้ว่า ในจำนวน 2,200 กว่าตัว ผมทราบจาก ผอ.ส่วนอนุรักษ์ฯ ว่า ทำหมันมาตลอด และทำไปได้กว่า 70% แล้ว ก็ทำอยู่เรื่อยๆ แต่ลิงก็คลอดมาอยู่เรื่อยๆ ลิงตัวเล็กตัวน้อยเต็มไปหมด แสดงว่าทำไม่ทัน เป้าหมายของเราตอนนี้คือ เคลื่อนย้ายลิงออก เพื่อลดจำนวนนี่แหละ
เราตกลงกันว่า โดยกฎหมาย และนิตินัย กรมอุทยานฯ เป็นเจ้าของลิง แต่ทางพฤตินัยคนลพบุรีได้รับความเดือดร้อนจากลิง เราเลยต้องมีวิธีทำให้จำนวนลิงสองพันกว่าตัวในเขตเมืองเก่าลดจำนวนลงให้มีความเหมาะสมกับเป็นเขตท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรอหาแนวทางกันต่อไป"
MOU เพื่อการแก้ปัญหา และเพื่อการปลดล็อก 'นิคมลิง' :
นายปรัชญา ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งส่วนนี้ก็มีการพูดถึง MOU ที่ทำร่วมกันอีกแล้ว
"พวกเราคิดกันต่อว่าพอลดแล้วจะเอาไปไว้ไหน ตอนนี้มีการร่างข้อตกลง หรือ MOU ระหว่างกรมอุทยานฯ และเทศบาลเมืองลพบุรี โดยส่งเรื่องไปเพื่อให้ทางกรมอุทยานฯ ดูแลลิงเคลื่อนย้ายลิง จับลิงที่ทำหมันแล้วไปไว้ในสถานที่อนุบาลลิง หรือที่เรียกกันว่า 'นิคมลิง' ส่วนทางเทศบาลเมืองลพบุรี และสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี จะคอยร่วมมือช่วยเหลือกรมอุทยานฯ อีกอย่าง คือ เทศบาลฯ จะเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการลิงในสถานอนุบาลลิง"
แต่!!! อย่าลืมว่า MOU นี้มีเพียงการประชุม แต่ 'ยังไม่ได้ลงนาม' ซึ่งต้องรอกันต่อไปว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อ
ไม่ว่าทีมข่าวฯ จะฟังเจ้าหน้าที่พูดมากี่คน สิ่งที่ทุกคนยังคงยืนยันและพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ ตอนนี้การจัดการลิงเป็นอำนาจของกรมอุทยานฯ ต้องรอดูว่าเขาจะเอายังไง
แล้วงบประมาณนับสิบล้านที่สร้าง 'นิคมลิง' เอาไว้ ไม่เคยเปิดใช้เลยหรือ?
"ตามที่ผมจะทราบข้อมูลมา นิคมลิงนั้นสร้างมา 5 ปีเศษแล้ว ในอดีตเคยใช้อยู่ช่วงนึงสั้นๆ ในการใช้ทำหมันลิง แล้วเอาลิงที่ทำหมันเรียบร้อยไปอนุบาลข้างใน แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปทำหมันที่สวนสัตว์ อันนี้ผมไม่ทราบเหตุผลว่าเพราะอะไร แต่ความคิดของผม ผมอยากให้ใช้ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งส่วนนี้เราก็ต้องมาพูดคุยกันว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร ทุกอย่างอยู่ที่กรมอุทยานฯ และ MOU" รองปรัชญา กล่าว
แม้ตอนนี้จะดู 'วุ่นวาย' และ 'ยากจัดการ' แต่รองผู้ว่าฯ ก็กล่าวปิดทิ้งท้ายการสนทนาว่า ผมก็ติดตามสกู๊ปข่าวที่ลงนะ คนอยู่ในกรง ลิงอยู่ข้างนอก ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ผมก็ต้องเรียนตามตรงว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่คณะทำงานไม่ท้อนะครับ หลายฝ่ายก็ได้กำลังใจที่ดี ประชาชนเริ่มเข้าใจมากขึ้น เราก็ไม่ได้ทำร้ายลิง เพราะเข้าใจว่าทุกชีวิตมีคุณค่า ก็ต้องหาแนวทางอยู่ร่วมกัน.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
อ่านบทความที่น่าสนใจ :