'ลิงลพบุรี' ปัญหายาวนานไร้ทางออก? แหล่งธุรกิจกลางเมืองโทรม ประชาชนเดือดร้อน ชีวิตเหมือนถูกขังอยู่ในกรง เครียด! ไร้ความสุข วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา...

ขึ้นชื่อว่า 'กลางเมือง' ย่อมมีความ 'เจริญ' กว่าหลายพื้นที่ นั่นเป็นเรื่อง 'ปกติ' ที่คุณสามารถพบได้ทุกจังหวัด แต่ย่านเศรษฐกิจกลางเมือง 'ลพบุรี' กลับถูกทิ้งร้างจนทรุดโทรม แหล่งอาศัยของคน กลายเป็นที่อยู่ของ 'ลิง' 

'ลิงลพบุรี' กับ 'ประชาชน' เปรียบเสมือน 'มหากาพย์' ที่ยังหาตอนจบไม่ได้ ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่ร่ำไป มีข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ว่าหน่วยงานต่างๆ พยายามลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา แต่สุดท้ายก็ยังดูไร้วี่แววของทางออก

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงตัดสินใจเยือนเมืองลพบุรีอีกครั้ง เพื่อพูดคุยกับประชาชนคนพื้นที่ โดยหวังจะสะท้อน 'ปัญหา' และรับฟัง 'เรื่องราว' เผื่อจะเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้ 'มหากาพย์' ครั้งนี้พบตอนจบ 

...

ระหว่างเดินเท้าจากลานจอดรถข้างศาลพระกาฬ ไปฝั่งพระปรางค์สามยอด ทีมข่าวฯ ยอมรับว่าค่อนข้างระแวงกับลิงพอสมควร เพราะบางครั้งพวกมันเดินเข้ามาหาระยะกระชั้นชิด โดยที่ไม่สามารถเดาใจได้เลยว่าต้องการอะไร

ทำให้เราต้องหมั่นดูด้านหน้า สังเกตด้านหลังเพื่อป้องกันตัว แต่ก็ไม่ควรลืมข้างบนหัว เพราะมีจังหวะหนึ่งที่แหงนหน้าขึ้นไป และพวกมันอยู่บนนั้นพอดี ที่เล่าแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าทีมข่าวฯ จะตีตรา 'ลิง' เป็นผู้ร้าย แต่เป็นประสบการณ์เล็กๆ ที่อยากส่งต่อ เผื่อวันหนึ่งคุณผู้อ่านอยากไปสัมผัสบรรยากาศจริง

เมืองโทรม ตึกร้าง ชีวิตที่ต้องอยู่ในกรง :

ทีมข่าวฯ ค่อยๆ เดินไปตามทางเดินบริเวณตึก ที่อยู่ตรงข้ามทางเข้าพระปรางค์สามยอด สภาพของพื้นที่ค่อนข้างเลอะเทอะ มีลิงนั่งให้เห็นเป็นปกติ รวมไปถึงมีมูลของพวกมันให้เห็นเป็นระยะ และส่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์เท่าไรนัก 

ตัวอาคารและสิ่งก่อสร้างค่อนข้างทรุดโทรม มีลิงปีนป่ายให้เห็นราวกับว่านี่เป็นต้นไม้ เมื่อสังเกตดีๆ พบว่าอาคารที่ยังมีผู้อาศัย รวมไปถึงท่อน้ำ จานดาวเทียม ศาลพระภูมิ ลานจอดรถดับเพลิง ฯลฯ ล้วนถูก 'ติดกรงเหล็ก' เพื่อป้องกัน 'ลิง' บุกรุกทำลาย

เมื่อเดินเข้าไปยังซอยเล็กๆ ตรงข้ามกับพระปรางค์สามยอด ด้านในเรียกได้ว่าเกือบจะ 'ร้าง' สังเกตด้านซ้ายมือ เห็นโครงเหล็กกันลิงขนาดใหญ่ ส่วนในพื้นที่มีอาคารที่เปิดเป็นห้องเช่าขนาดไม่ใหญ่นัก และยังมีผู้อาศัยอยู่ ทีมข่าวฯ เดินเข้าไปหวังจะพูดคุยด้วย แต่ผู้อาศัยไม่สะดวกให้เข้าไปด้านใน เพราะกลัวลิงจะเข้าไป เราจึงได้เพียงสนทนาสั้นๆ ผ่านกรงเหล็กกันลิง

ผู้อาศัยกล่าวขึ้นทันทีหลังจากเราถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง น้ำเสียงและคำพูดของเขาดูสิ้นหวังกับเรื่องที่เกิดขึ้น และแบกความทุกข์นี้มาอย่างยาวนาน

"รถไม่สามารถจอดหน้าบ้านได้เลย ต้องทำกรงกันไว้ไม่ให้ลิงเข้าได้ ใช้ชีวิตไม่มีความสุขเลย เหมือนถูกขังอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมามีสำนักข่าวมาทำข่าวเยอะมาก และเห็นมีหน่วยงานมาลงพื้นที่บ้างแล้ว แต่ก็ยังแก้อะไรไม่ได้ 

เมื่อก่อนลิงยังมีจำนวนไม่เยอะเท่านี้ คนที่อนุรักษ์เขาก็บอกว่าอย่าไปทำหมันเพราะเดี๋ยวจะสูญพันธุ์ แต่ปัจจุบันที่เป็นอยู่มันเห็นแล้วว่าความคิดวันนั้นมันส่งปัญหากับคนที่อยู่มากๆ สภาพบ้านเมืองเละ ตอนนี้เดือดร้อนกันไปหมด"

...

ความเจริญจางหาย เหลือแต่ปัญหา เครียดลิง ปวดหัวคน :

'ร้านเบิร์ด' เป็นหนึ่งในไม่กี่ร้านที่ยังอยู่ตึกตรงข้ามพระปรางค์สามยอด ความน่าสนใจคือร้านนี้ไม่ทำกรงเหล็กกั้นลิง มีเพียงประตูกระจกดั้งเดิมที่ติดตั้งไว้ เมื่อทีมข่าวฯ ถามว่า เพราะอะไรจึงไม่ทำกรงเหล็ก เจ้าของร้านให้เหตุผลว่า "ไม่อยากทำแบบนั้น มันเหมือนถูกขัง เหมือนใช้ชีวิตอยู่ใน 'คุก' แต่ชาวบ้านบางคนต้องทำ เพราะเขาทนไม่ไหวแล้ว"

เรายืนสนทนากับเจ้าของร้านเบิร์ดอยู่หน้าร้าน พร้อมกับลิงตัวน้อยที่กำลังแทะรถของเขาอย่างเมามัน แม้จะพยายามไล่ไปกี่ครั้ง พวกมันก็ยังกลับมาเหมือนเดิม

เจ้าของร้านเบิร์ด เล่าว่า ในอดีต… บริเวณนี้เจริญกว่าที่เห็นอยู่ แถมเศรษฐกิจก็ดีด้วย แต่เมื่อเจอพิษของโควิด-19 ก็ทำให้เศรษฐกิจแย่แล้ว บวกกับมีปัญหาเรื่องลิงอีก ก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ 'เวรซ้ำกรรมซัด'

...

"ประมาณ 30 ปีที่แล้ว จำนวนลิงยังไม่เยอะขนาดนี้เลย พอ 20 ปีหลัง มันแพร่พันธุ์และเพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้น กว่าคนจะตื่นตัวถึงปัญหาเรื่องนี้ ก็ช้าเกินไปแล้ว กระจกตู้โชว์ของผมแตก ก็เป็นฝีมือของลิง รถมอเตอร์ไซค์ก็เละเพราะมันกัด ผมต้องมาคอยทำความสะอาดหน้าร้าน ต้องคอยเอาน้ำฉีดอยู่ตลอด เพราะพวกมันทำสกปรก มีทั้งมูลและฉี่ แถมยังส่งกลิ่นเหม็นจนน่าเวียนหัว"

สีหน้าของเจ้าของร้านเบิร์ด ดูจะเบื่อหน่ายกับเรื่องเหล่านี้เต็มทน เขาเล่าต่อว่า ลิงทำให้คนไม่มาเที่ยวด้วย เพราะเขามาจอดรถกัน มันก็จะดึงขอบยางรถออก ทำให้คนไม่อยากจะมาเที่ยวเท่าไร มาเที่ยวแบบเสียอารมณ์ใครเขาอยากจะมากัน บางคนมันถามเราว่าจอดได้ไหม เราบอกว่าจอดได้เลย แต่คุณก็ต้องเสี่ยงกับลิงนะ หรือบางคนเดินไปก็ต้องระแวงไป เผื่อไปเจอจังหวะไม่ดี มันหิวหรืออารมณ์เสียอยู่ก็กัดอีก 

"เรื่องลิงเป็นเหมือนปัญหาโลกแตก คนที่อนุรักษ์ หรือบอกว่าลิงน่าสงสาร อยากให้ลองมาอยู่ตรงนี้ก่อน คุณจะรู้ว่าเครียดแค่ไหน ความเจริญเริ่มออกไปข้างนอกหมดแล้ว

...

บางทีเครียดลิงไม่พอยังต้องมานั่งเครียดกับคนอีก บางคนเปิดกระจกโยนอาหารให้ลิง เขาอาจจะหวังดีแต่เขาไม่ได้คิดถึงคนที่อยู่ตรงนี้ อยากให้ก็ไปให้เป็นที่เป็นทาง ตรงที่เขาจัดไว้ให้ คุณอาจจะคิดว่าคุณได้บุญ แต่ที่จริงคุณอาจจะได้บาป"

ลิงสร้างปัญหา ร้านค้าอยู่ไม่ได้ ย่านเศรษฐกิจปิดตัว :

ทีมข่าวฯ เดินเท้าต่อตามแนวตึกเก่า ก็ต้องตกใจกับพื้นที่หนึ่ง ซึ่งในอดีตเคยเป็นพื้นที่การค้า มีร้านจำนวนมาก แต่ตอนนี้รกร้าง ไม่หลงเหลือความเจริญที่เคยมี

ที่พอจะกล่าวได้เช่นนี้ เพราะประมาณปี พ.ศ. 2558-2560 ทีมข่าวฯ ที่กำลังนั่งเขียนข่าวนี้ เคยศึกษาระดับ ม.ปลาย ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี และเคยมีโอกาสมาเดินเล่นบริเวณดังกล่าว ภาพในความทรงจำที่มี ช่างแตกต่างกับสภาพที่กำลังยืนมอง

'คุณลุงอรรถพล แพ่งพันธ์' วินมอเตอร์ไซค์ที่จอดรถรอลูกค้า ข้างพื้นที่การค้าที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เล่าให้เราฟังว่า ศูนย์การค้าปิดตัวลงไปประมาณหนึ่งเดือนแล้ว เพราะไม่มีคนมาใช้บริการ และไม่มีรถเข้ามาจอด ทำให้ร้านค้าเริ่มทยอยถอนตัวออกจนหมด ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าลิงมันกวน เลยทำให้ค้าขายไม่ได้

"เมื่อก่อนตรงนี้เจริญ คนมาใช้บริการเยอะ ปัญหาที่เป็นอยู่ก็เกี่ยวกับลิง บางทีเดินเข้าไปซื้อของออกมา ยังไม่ทันจะกลับ ลิงก็มาแย่งของในมือ โดยเฉพาะบางทีที่มันแย่งผู้หญิงซึ่งไม่มีแรงสู้ พวกมันสร้างปัญหาไปหมด กัดกันทุกวัน ร้านค้าก็ปิดกันเป็นแถว"

"คนที่ไม่ได้อยู่ลพบุรีและส่งเงินมาบริจาค พูดว่าอยากให้อนุรักษ์ลิง ลิงน่าสงสาร นั่นคือคนที่เขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่พวกเราที่อยู่ตรงนี้เดือดร้อน ตอนนี้มันวิกฤติไปหมดแล้ว"

ลิงเริ่มกระจายตัว สู่พื้นที่ที่ไม่เคยมีลิง :

ทีมข่าวฯ เดินเท้าไปสู่บริเวณแยกไฟแดง ด้านหน้าพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พื้นที่นี้มีลิงให้เราเห็นอยู่บ้าง แต่ก็ค่อนข้างบางตา ภายหลังการสอบถามประชาชนในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าเมื่อก่อนบริเวณนี้ไม่เคยมีลิง แต่กำลังเริ่มบุกเข้าเรื่อยๆ ตอนนี้ถือว่ายังไม่สร้างปัญหาเท่าไรนัก แต่ในอนาคตก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป 

ลุงเกียรติศักดิ์ พ่อค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล บริเวณแยกไฟแดง กล่าวกับทีมข่าวฯ ในฐานะคนพื้นที่ว่า

"เมื่อก่อนจำนวนลิงไม่เยอะและนิสัยดี ไม่ได้เป็นแบบนี้ เดี๋ยวนี้แย่งของหมด ไม่สนว่าจะเป็นอะไร เพราะมันคงคิดว่าเป็นของกิน ตอนนี้มันเริ่มบุกไปทั่วเมืองแล้ว ตรงนี้ไม่เคยมีก็เริ่มมี ถ้าอีกหน่อยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ลพบุรีจะกลายเป็นเมืองร้าง เพราะตอนนี้ก็เริ่มร้างแล้ว ความเจริญมันกระจายออกไปนอกเมือง"

เข้าใจคน เห็นใจลิง :

แม้ 'ลิง' จะดูเป็นตัวปัญหาสำหรับทุกคนที่เราได้พูดคุย แต่พวกเขาก็ยังมองว่า 'พวกมันน่าสงสาร' เพียงแต่ชีวิตประชาชนก็ลำบากเหมือนกัน สิ่งที่กำลังพูดและเรียกร้อง ก็แค่หวังว่า 'คุณภาพชีวิต' จะดีขึ้นบ้าง หากจัดการปัญหาได้

ความน่าสงสารของ 'ลิง' ดูจะเป็นเรื่องที่ร้าน 'ชโยวานิช' เข้าใจและเห็นใจพวกมันเป็นอย่างดี พวกเขาเป็นอีกหนึ่งร้านที่ยังคงปักหลักอยู่ตรงข้ามพระปรางค์สามยอด และในพื้นที่ต่างลงความเห็นว่า ร้านนี้ 'รักลิง'

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ร้านชโยวานิชไม่มีกรงเหล็กอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่ช่วงหลังลิงมีพฤติกรรมก้าวร้าว เริ่มขโมยของ และเกิดโควิด-19 ทางร้านจึงตัดสินใจทำกรงเหล็กเพื่อลดปัญหา และสร้างระยะห่างทางสังคม

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของลิงและกรงเหล็กที่กั้นกลาง ไม่ได้ทำให้ชโยวานิช เอ็นดูหรือสงสารพวกมันน้อยลง และยังเข้าใจพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นมากขึ้นด้วย 

'คุณป้าอ๋อย' หรือ 'สุทิพย์ ตันติวงศ์' ให้เหตุผลว่า พวกลิงมีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้น เพราะพวกมันอดอาหาร สิ่งที่แสดงออกมาคงเป็นธรรมชาติ เพื่อดิ้นรนจะอยู่รอด อีกอย่างเราอยู่ตรงนี้มาหลายสิบปี เห็นพวกมันมาตลอด จนอาจจะรู้สึกผูกพันไปด้วย บางครั้งที่เห็นมันถูกทำร้าย หรือโดนรถชนตาย เราก็เวทนาและสงสาร 

แม้ว่าทุกคนในร้านจะสงสารลิงแค่ไหน แต่พวกเขาก็เข้าใจถึงความยากลำบากที่คนในพื้นที่ประสบอยู่ 'คุณลุงโด่ง' สามีของป้าอ๋อย กล่าวว่า

"พฤติกรรมที่ลิงแย่งของคน เรามองว่ามันอาจจะเป็นพฤติกรรมที่เขาจำเป็นต้องทำ เพราะมันไม่มีของกิน ทำให้บางครั้งคนก็ทำร้ายลิง และลิงมันร้ายกลับเพราะสัญชาตญาณ แต่ก็ต้องยอมรับว่าจำนวนลิงมันมากขึ้น จะคุมกำเนิดเรายังมองว่ายากเลย ตอนนี้พอมันเยอะขึ้นคนก็เดือดร้อน เราก็โทษคนที่ไม่ชอบลิงไม่ได้นะ เพราะถือว่ามันไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่น"

อาหารลด แต่ลิงเพิ่ม :

'คุณน้อง' หนึ่งในสมาชิกของครอบครัวร้านชโยวานิช ค่อนข้างมั่นใจว่าที่ลิงเริ่มไปในที่ที่ไม่เคยไป เริ่มบุกรุกพื้นที่อื่นๆ เพราะพวกมัน 'ไปหาอาหาร'

คุณน้อง กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจำกัดเป็นที่เรื่องการให้อาหาร ยอมรับว่าได้เรื่องความสะอาดที่มากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกตัวจะได้กินอาหารในโซนที่เขาจัดไว้ให้ เพราะมันอยู่กันเป็นกลุ่ม ฝูงใหญ่กว่าจะกินก่อนแล้วค่อยเป็นฝูงที่รองลงมา คราวนี้พอมันกินอาหารไม่อิ่ม มันก็จะมาคอยดักของจากชาวบ้าน

"ตอนนี้ปริมาณอาหารที่ให้ลิงลดลง ทำให้มันไม่ค่อยมีกิน จนเริ่มบุกเข้าไปในพื้นที่ที่มันไม่เคยไป เช่น ตลาด หรือไม่ก็หน้าวัง แล้วบริเวณนั้นเขายังไม่ได้ตั้งรับ เพราะไม่คิดว่ามันจะบุก ทีนี้ก็มีการยิงลิง ตีลิง ส่วนหนึ่งมันก็เป็นการป้องกันตัวเราเข้าใจ ไปอีกส่วนหนึ่งเราก็รู้สึกสงสาร"

'คุณน็อต' ลูกชายร้านชโยวานิช พูดถึงเรื่องการให้อาหารไว้อย่างสนใจว่า "ถ้าไม่อยากให้ทางร้านให้อาหารมันเลย เราก็ทำได้ แต่อาจจะต้องเตรียมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะลิงที่อยู่ตรงนี้ ถ้าไม่มีอาหารมันก็อาจจะเริ่มเข้าไปในตลาด และสร้างความวุ่นวาย"

หาที่อยู่ให้ลิงเป็นหลักแหล่ง แก้ปัญหาบานปลาย :

อาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า 'จับลิงปล่อยป่า' หรือ 'จับลิงไปปล่อยเขา' แม้จะดูเป็นการนำสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ แต่ 'คุณน้อง' ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดนี้สักเท่าไร เธอเสนอให้สร้างพื้นที่ให้ลิงอยู่ และคอยดูแลพวกมัน 

เธอให้เหตุผลของความคิดนี้ไว้ว่า ถ้าหาที่อยู่ให้ลิงได้ก็คงดี ถ่ายเทประชากรบางส่วนไป ไม่อยากให้เขาจับไปปล่อยป่าตามธรรมชาติตามภูเขา เพราะถ้าไปปล่อยพวกป่าแล้วอาหารไม่มีอีก มันก็จะลงมากวนชาวบ้าน ยิ่งถ้าบริเวณไหนเป็นพื้นที่การเกษตร มันก็อาจจะแผ่วงกว้างจนเดือดร้อนเข้าไปใหญ่

"ถ้ามีที่ทางให้อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง มีอาหารให้ มันก็อาจจะช่วยให้ดีกว่า แล้วถ้าวันหนึ่งเราทำได้ดี มันอาจจะกลายเป็นโมเดลให้จังหวัดอื่นๆ ที่มีปัญหาเรื่องลิงมาเรียนรู้และแก้ปัญหาตรงนี้ได้"

ชาวบ้านติง ราชการแก้ปัญหาไม่จริงจัง :

เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเมื่อทีมข่าวฯ สอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ว่าเพราะอะไรปัญหาลิงจึงยังไม่หมดไปเสียที หนึ่งในคำตอบที่ทุกคนเห็นตรงกัน คือ 'หน่วยงานผู้รับผิดชอบ แก้ปัญหาไม่จริงจัง' (?)

เจ้าของร้านเบิร์ด ให้ความเห็นว่า "การดำเนินงานของหน่วยงานไม่ค่อยจริงจัง และไม่ได้ต่อเนื่อง ต้องเปลี่ยนผู้ว่าฯ และ สส. บ่อย มันเลยทำให้มีแต่โครงการแต่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง"

'คุณน็อต' แสดงความคิดเห็นที่คล้ายกับเจ้าของร้านเบิร์ดว่า ผู้ว่าฯ ไม่ใช่คนพื้นที่ เขาอาจจะไม่เคยสัมผัสปัญหาเหล่านี้มาก่อน ย้ายมาอยู่เขาก็จะแก้ปัญหาในมุมของเขา พอทำได้สักพัก ยังเรียนรู้ปัญหาได้ไม่เต็มร้อย แก้ปัญหาได้ไม่เต็มที่ เขาก็ต้องย้ายออกไปอีก

"คิดง่ายๆ ลพบุรีเปลี่ยนผู้ว่าคนนึงก็เรียกประชุมทีนึง แต่ความคิดไม่ต่อเนื่องและไม่สืบเนื่อง เป็นแค่การพูดปัญหาเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอประชุมครั้งใหม่ก็ยกปัญหาเดิมขึ้นมา"

ด้าน 'ลุงอรรถพล' คิดว่าการแก้ปัญหานั้นทำได้ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง ที่ลิงออกมากวนชาวบ้านแบบนี้ เพราะมันเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ไม่มีอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ ถ้าอยากจะให้มีลิงอยู่มันก็มีได้ แต่ต้องลดจำนวนให้น้อยลงกว่านี้

"อีกอย่างคือการเปลี่ยนผู้ว่าฯ บ่อยด้วย เข้ามาอยู่แป๊บๆ ยังไม่ทันแก้ปัญหาก็ออกไปแล้ว ยังไม่ทันได้เรียนรู้ปัญหาจริงๆ อย่างคนล่าสุดก็ประชุมไปแล้วประมาณ 3 ครั้ง"

ความหวังครั้งใหม่ แก้ปัญหาคนกับลิง :

จากที่ได้คุยกับคนลพบุรี ทำให้ทีมข่าวฯ ทราบว่า ขณะนี้กำลังมีการสร้าง 'นิคมลิง' แห่งใหม่ บริเวณวัดพระบาทน้ำพุ โดยการนำของ 'พระราชวิสุทธิประชานาถ' (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า 'หลวงพ่ออลงกต'

คุณน็อต กล่าวถึงความหวังครั้งใหม่ไว้ว่า "นิคมลิงที่กำลังสร้างใหม่ที่วัดพระบาทน้ำพุ ถ้าทำสำเร็จก็ทยอยย้ายลิงไป แล้วก็กระจายลิงบางส่วนไปอยู่ในแต่ละที่ เหลือไว้ตรงนี้บ้างให้เหมือนเป็นแหล่งท่องเที่ยว 

แต่ก็ต้องมาทำหมันมันไว้ เพราะถ้าไม่แก้ปัญหาแบบนี้ มันก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก แล้วก็วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะในเมื่อมันน้อยลง ก็ต้องจับมันทำหมันในช่วงที่มันทำง่าย บทเรียนมีมาแล้ว ตอนมันน้อยคนก็ยังไม่ค่อยตระหนักกัน ตอนนี้มันเริ่มเกินควบคุมไปแล้ว"

ประชาชนยังคาดหวัง หน่วยงานแก้ปัญหาให้ทุเลา :

แม้เจ้าของร้านเบิร์ดจะเบื่อหน่ายกับสิ่งที่เป็นอยู่มากเท่าไร แต่เขายังคงมีความหวังลึกๆ ในใจ ว่าวันหนึ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่จะต้องดีขึ้น

"เราก็ยังคาดหวังให้มันทุเลาลงมากกว่านี้ คาดหวังว่าจะมีหน่วยงานที่ทำให้จริงจัง ถ้าจำนวนลิงที่มันมีอยู่ไม่กี่ตัวเราก็ยังพอรับไหว อันนี้มีหลายร้อย ก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ นิคมลิงที่ทำไว้ก็ใช้ได้แล้ว อาจจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ได้ ให้กลายเป็นแลนด์มาร์ก เช่น ไหว้เจ้าศาลพระกาฬเสร็จ มาเที่ยวปรางค์สามยอด และไปดูลิงที่นิคมลิง"

คุณสุทิพย์ กล่าวว่า ยังอยากให้ความเจริญกลับมา เพราะตอนนี้ดูแล้วมันก็เงียบเหงาไปหมด ตอนนี้ตรงนี้เหมือนกลายเป็นทางผ่าน ถ้าไม่มีงานประจำปี หรือไม่มีการจัดงานใดๆ ช่วง 18.00 น. ตรงนี้ก็จะเริ่มเงียบแล้ว แต่ก่อนก็มีโรงแรมเมืองทอง ตอนนี้ก็อยู่ไม่ได้แล้วเพราะลิงมันบุก 

"แต่เราก็มองว่ามันเอาลิงออกไปหมดไม่ได้หรอก เพราะที่นี่มันมีลิงเป็นเอกลักษณ์"

ท้ายที่สุดแล้ว 'มหากาพย์ลิงลพบุรี' จะจบอย่างไร และชีวิตของชาวบ้านที่ต้องอยู่ในกรงจะเป็นอิสระเมื่อไร ต้องติดตามกันต่อไป…

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

อ่านบทวามที่น่าสนใจ :