ลงนาม MOU แก้ปัญหา 'วิกฤติลิงลพบุรี' กรมอุทยานฯ มอบอำนาจให้เทศบาลจัดการลิงได้ แต่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไข นายกเทศมนตรีบอก "นี่คือนิมิตใหม่" เห็นรูปธรรมช้าสุด 1 ปี ด้านชาวบ้านเผย รู้สึกดีใจ กล่าวสาธุ ขอให้ทำได้จริง เพราะกลัวมีแค่โครงการ...หลังจากที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ลงพื้นที่และติดตาม 'วิกฤติลิงลพบุรี' มากว่า 2 เดือนเต็ม ในที่สุดการลงนามความร่วมมือฯ (MOU) เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ก็ได้เกิดขึ้นเสียที…7 กุมภาพันธ์ 2567 บริเวณพระปรางค์สามยอด จ.ลพบุรี อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี และนายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาลิงในเขตบริเวณเมืองเก่า โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมกันนั้นมีประชาชนชาวลพบุรีจำนวนหนึ่ง ได้มาร่วมสังเกตการณ์และเฝ้ารอดูภาพประวัติศาสตร์ครั้งนี้ พวกเขาหวังว่า MOU ฉบับนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตและคุณภาพเมืองนี้ให้ดีกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญของ MOU : ด้านการช่วยเหลือ เทศบาลเมืองลพบุรี จะร่วมมือกับกรมอุทยานฯ จับลิงที่ทำหมันแล้วในเขตเมืองเก่า ไปดูแลรักษาที่สถานอนุบาลลิง และกรมอุทยานฯ จะมอบอำนาจการจับลิง และดูแลลิงในสถานอนุบาลลิงให้เทศบาลเมืองลพบุรี ด้านวิชาการ เทศบาลเมืองลพบุรี จะร่วมมือกับกรมอุทยานฯ ดำเนินการทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการจับลิง การดูแลรักษาลิง การจัดการสุขภาพ และสวัสดิการลิงในสถานอนุบาลลิงด้านงบประมาณ ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการตามกรอบ MOU โดยกรมอุทยานฯ จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงกรง/คอก ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 (นครนายก) เพื่อเตรียมการรองรับการเคลื่อนย้ายลิงจากสถานอนุบาลลิงด้านการประสานงาน ทุกฝ่ายจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงาน เพื่อให้การดำเนินงาน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด "เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ต่อจากนี้เราทุกคนต้องมาเป็นคณะทำงานร่วมกัน" : หลังจากทุกฝ่ายจรดปากกาลงนามความร่วมมือเรียบร้อยแล้ว 'นายอรรถพล เจริญชันษา' อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กล่าวต่อประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อมวลชนว่า"MOU ฉบับนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น สิ่งที่เราต้องรีบทำคือ ทำให้ MOU ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งวันนี้ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายพร้อมร่วมมือกัน ซึ่งการร่วมมือของทุกฝ่าย จะเป็นการตัดข้อจำกัดในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ร.บ.สาธารณสุข ทุกหน่วยงานจะมีหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด""ณ วันนี้กรมอุทยานฯ กำลังเสนอร่างประกาศ ซึ่งอาศัยอำนาจของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ท่านได้กำชับให้เร่งแก้ไขปัญหาลิงทุกพื้นที่ ซึ่งร่างประกาศตัวนี้ จะให้อำนาจท้องถิ่นเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสัตว์ป่า โดยยังอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อท้องถิ่นจะได้สามารถเข้ามาดำเนินการ หรือจัดทำของบประมาณแก้ปัญหาภายใต้กฎหมายได้ ร่างประกาศนี้จะเป็นการปิดข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมาย ที่หลายคนบอกว่าท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการเรื่องลิงได้ เพราะเป็นสัตว์คุ้มครอง" อรรถพล เจริญชันษา"ต่อจากนี้เราทุกคนต้องมาเป็นคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งทางจังหวัดมีอยู่แล้ว แต่ผมจะเสริมทีมงานของส่วนกลางเข้ามาร่วมด้วย มาช่วยกันคิดว่า เราจะเหลือลิงไว้เท่าไร ที่พอเหมาะพอควรจะเป็นอัตลักษณ์ของเมือง แล้วลิงที่เราจะต้องทำหมัน ต้องทำหมันเท่าไร""ส่วนลิงที่จะต้องเคลื่อนย้ายไปอยู่ในสถานอนุบาล ไม่ว่าจะเป็นกรงของเทศบาลที่พร้อมจะปรับปรุง ผมก็จะมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมอุทยานฯ และคุณเอ็ดวิน วิค (ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า) ซึ่งได้ไปช่วยเราสร้างกรงลิงที่เพชรบุรี และมีประสบการณ์ในเรื่องของการดูแลลิง ก็จะมาช่วยดูแลตรงนี้อีกแรง นอกจากนั้น ทั้งเรื่องที่เป็นกรงใหญ่ กรงพัก และกรงที่ต้องดูแลลิงเกเร ต้องคุยกันต่อว่า จะเคลื่อนย้ายลิงไปอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ อย่างไร" "หลักการของเราจึงเป็นการเอาลิงออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด ให้เหลือตามพอเหมาะพอควร แล้วก็เลี้ยงเขาไว้ในกรง เพราะฉะนั้นเราต้องมาคุยกันว่าแต่ละหน่วยงานจะช่วยกันได้อย่างไร เราเองจะช่วยในเรื่องของการขนย้าย การทำหมัน นอกจากนั้นลิงที่อยู่ในกรง จะใช้งบประมาณส่วนไหนที่จะต้องมีอาหารให้เขากินไปตลอด""ผมเชื่อว่าภายใต้คณะกรรมการที่ทำงานร่วมกัน ถ้าช่วยกันคนละไม้คนละมือจะแก้ไขได้ครับ นับจากนี้ผมเชื่อว่าต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ภายใน 6 เดือนก็ควรที่จะต้องมีการดำเนินการบ้างแล้ว ทั้งหมดทั้งปวงนี้ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เริ่มต้นด้วยกัน ผมว่าเรามาถูกทางแล้ว อยากจะเรียนพี่น้องประชาชนที่อยู่ ณ ที่นี้ หรือแม้แต่กลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ก็ขอให้มั่นใจได้ว่า ทุกหน่วยพร้อมช่วยกันทำงาน ขอบคุณครับ" "ขอบคุณท่านอธิบดี ที่ได้มาสร้างความหวังให้กับคนลพบุรี" : สิ้นเสียงกล่าวของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็มีเสียงปรบมือจากผู้ร่วมงานตามมา หลังจากนั้นนายอรรถพลได้ส่งไมค์ต่อให้แก่ 'นายจำเริญ สละชีพ' นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี นายกด้งได้กล่าวต่อผู้เข้าร่วมงานทุกคนว่า"ก่อนอื่นผมต้องกราบขอบคุณท่านอธิบดีที่วันนี้มาด้วยตัวเอง เพราะปัญหาลิงเกิดมานานมากแล้ว แต่ว่า ณ เวลานี้มันรุนแรงมากขึ้น เมื่อก่อนไม่เยอะขนาดนี้ คนกับลิงจึงอยู่ร่วมกันได้ แต่ตอนนี้ปริมาณมันเยอะขึ้นและขยายวงกว้างมากขึ้น ปัญหาลิงมีทั่วประเทศ แต่จังหวัดที่มีปัญหาจริงๆ คือเพชรบุรีกับลพบุรี ที่ผมต้องเอ่ย 2 จังหวัดนี้เพราะว่าลิงอยู่ใจกลางเมือง""ลพบุรี 10 ปีหลัง จำนวนลิงเยอะมาก มีการทำร้ายประชาชนด้วย ผมพยายามแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ไปออกสื่อ ออกกรรมาธิการ ไปออกทุกอย่าง สรุปแล้วก็ยังทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้มีท่านอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ มาด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี" จำเริญ สละชีพ"ก่อนที่จะมีการเซ็น MOU วันนี้ ผมบอกประชาชนมาตลอดว่า ลิงเป็นสัตว์ที่มีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เทศบาลเมืองลพบุรีจึงดูแลได้แค่เรื่องความสะอาดเท่านั้น แต่เมื่อมี MOU ขึ้นมา มอบอำนาจให้ท้องถิ่นทำได้ แล้วมีกรมอุทยานฯ เข้ามาร่วมด้วย อันนี้ผมยินดี จับได้ ขนได้ ทำหมันได้ ขังได้ แต่อย่างไรก็ตาม กรงของเราเป็นแค่ที่พักฟื้นลิงเท่านั้น การจะให้ลิงอยู่ถาวรคงเป็นไปไม่ได้""ตอนนี้โชคดีนิดนึง ผมได้เข้าไปหาหลวงพ่ออลงกต ท่านมีที่ดินอยู่ประมาณ 3,000 ไร่ ที่หนองม่วง ผมก็บอกกับหลวงพ่อว่าอยากจะขอสัก 100 ไร่ได้ไหม แล้วก็ทำเป็นที่พักของลิง เป็นป่าให้ลิงมาอยู่ ซึ่งตอนนี้หลวงพ่อก็เริ่มทำได้แล้ว เพราะท่านมีงบประมาณ เรื่องอาหารลิงต่างๆ ผมไม่ค่อยห่วงเท่าไร เพราะทางเราพอช่วยกันได้ แต่หลวงพ่อก็ยังติดปัญหาเพราะว่ายังไม่สามารถรับลิงไปได้ ต้องติดตามกันต่อไป" "ที่ท่านอรรถพลพูดว่า จะของบซ่อมแซมศูนย์ช่วยเหลือลิงที่นครนายก กับอีกประมาณ 2-3 ที่ที่ท่านพูด ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างของผม เอาลิงมาฝากไว้ก็ต้องเอากลับไปอยู่ดี เพราะฉะนั้นในอนาคตหลังจากพักฟื้นแล้ว ก็นำส่วนหนึ่งให้หลวงพ่อ ส่วนหนึ่งส่งต่อให้กรมอุทยานฯ ส่วนหนึ่งเอาไว้ในที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี คือศาลพระกาฬและปรางค์สามยอด โดยให้อยู่ในจำนวนที่ดูแลได้ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี""ผมเรียนแจ้งกับพี่น้องประชาชนนะครับ ว่าวันนี้เป็นเรื่องที่ดี แล้วก็อำนาจหน้าที่ที่ทางกรมอุทยานฯ แบ่งปันพวกเราให้ช่วยกันทำมากขึ้น ก็ต้องกราบขอบคุณท่านด้วย ส่วนทางศูนย์อนุบาลลิงแจ้งมาได้เลยครับว่า อยากให้ทำแบบไหน หรือต้องเพิ่มอะไรที่มันแข็งแรง สุดท้ายต้องขอบคุณท่านอธิบดีและทีมงานทุกคนอีกครั้ง ที่ได้มาสร้างความหวังให้กับคนลพบุรี หวังว่าจะประสบความสำเร็จนะครับ" ชาวบ้านยังไม่ค่อยเข้าใจและไม่รู้เรื่อง MOU : หลังจากทีมข่าวฯ เฝ้าดูการลงนาม และติดตามคณะผู้เกี่ยวข้องไปที่กรงลิงลพบุรีเรียบร้อยแล้ว เราได้เดินทางกลับมาบริเวณเขตเมืองอีกครั้ง ก่อนจะเดินเท้าลงพื้นที่ เพื่อสอบถามความเดือดร้อนที่ผ่านมาของประชาชน พร้อมกับถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการเซ็น MOU ครั้งนี้ในเบื้องต้น ประชาชนพื้นที่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่รู้เรื่องการเซ็น MOU สักเท่าไร บางคนได้ยินมาบ้าง แต่บางคนไม่ได้ยินเรื่องนี้เลย เพิ่งรู้เรื่องตอนที่เห็นเขาเริ่มจัดสถานที่กัน นอกจากนั้น พวกเขายังไม่เข้าใจว่า MOU ที่ทำนั้นคืออะไร จะส่งผลอย่างไรกับพวกเขา และพวกเขาจะได้อะไรจากตรงนี้ ทีมข่าวฯ จึงได้พูดสรุปเนื้อหา MOU ที่ได้รับจากนายกด้งให้ประชาชนฟัง ก่อนสอบถามความคิดเห็นเพิ่มเติม ทำให้ชาวบ้านพอจะเข้าใจเรื่อง MOU ขึ้นมาบ้าง "สาธุ… ถ้าทำได้แบบที่พูดก็ดีสิ กลัวเป็นแค่โครงการ" : 'เจ้าของร้านเบิร์ด' ร้านขายเสื้อผ้าแนววินเทจ ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระปรางค์สามยอด เดินเข้าไปหลบลิงที่กำลังพลุกพล่านอยู่เต็มหน้าร้าน ก่อนจะให้ความเห็นต่อเรื่อง MOU ว่า"ตอนแรกไม่เข้าใจ เฉยๆ ไม่คาดหวังอะไรเลย มันหมายความว่าอะไรเรายังไม่รู้เลย แต่พอคุณพูดแบบนี้ผมก็ สาธุ… ขอให้ทำได้จริงแบบที่พูดเถอะ ดีมาก ผมชอบแบบนี้ ขอให้มาทำจริงเถอะ กลัวจะมีแค่โครงการอะสิ เพราะมันมีหลายโครงการ หลายผู้ว่าฯ แล้ว คนนี้มาทำเรื่องนึง คนนู้นมาทำเรื่องนึง เปลี่ยนไปก็ทำอีกเรื่องนึง เปลี่ยนไปมา" เจ้าของร้านเบิร์ด"นั่นแหละขอให้ทำได้จริงเถอะ จะได้เป็นโชคดีของชาวบ้าน ผมภาวนาต่อเจ้าพ่อศาลพระกาฬเลย ตัวไหนที่มันสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน จับไปดูแลให้หมด ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วยก็ได้ ดูแลรักษาให้มันดีๆ เปิดให้คนเข้าชม"'คุณลุงอรรถพล' วินมอเตอร์ไซค์หน้าร้านเครื่องประดับ ที่ตั้งอยู่ข้างพื้นที่การค้าที่เคยรุ่งเรืองในอดีต แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าเขาแก้ปัญหาตรงนี้ได้มันก็ดี เพราะคนก็เดือดร้อนกันมานานแล้ว เราไม่อยากให้เป็นเรื่องที่มานั่งพูด นั่งคุย นั่งเซ็นกันเฉยๆ แล้วสุดท้ายก็ไม่มีอะไรต่อ ขอให้ดำเนินการได้จริงๆ ตรงนี้มันจะได้กลับมาดี เหมือนหลายสิบปีก่อนสักที อรรถพล'คุณวสันต์' อีกหนึ่งคนขับวินมอเตอร์ไซค์ที่อยู่ไม่ไกลจากคุณลุงอรรถพลนัก กล่าวกับเราว่า แผนการนี้ดีมาก ผมว่าดีจริงๆ นะ บ้านเมืองเราจะได้กลับมาเจริญสักที แต่ต้องทำจริงนะ ไม่งั้นก็กลายเป็นเซ็นกันเฉยๆ แต่ผมว่าเขาทำกันแบบนี้ เดี๋ยวก็คงทำจริงแหละมั้ง ผมจะรอดูการเปลี่ยนแปลงแล้วกันทางด้าน 'คุณลุงภูมินทร์' ที่คุณวสันต์เรียกอย่างสนิทชิดเชื้อว่า 'เฮีย' กล่าวเสริมขึ้นมาว่า ก็ดีจริงนะ แต่มันก็ต้องเหลือไว้บ้างให้คนมาเที่ยว นั่นแหละ… เราก็หวังว่าเขาจะทำกันจริงๆ ความทุกข์ที่ผ่านมาของประชาชน : 'เจ้าของร้านเบิร์ด' เล่าถึงความเดือดร้อนที่ผ่านมาว่า ตอนนี้มันมีจำนวนเยอะเกิน ถ้ามีนิดหน่อยก็ไม่ใช่ปัญหา เราไม่ได้จงเกลียดจงชังพวกมัน แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามันสร้างความเดือดร้อน ชาวบ้านที่อยู่แถวนี้เขาเดือดร้อนกันหมดนะ น่าเบื่อไปหมด เสาโทรทัศน์ จานดาวเทียมขึ้นข้างบนไม่ได้เลย มีที่ครอบก็เอาไม่อยู่ มันขย่มจนพังอีก ผมเคยขึ้นจานดาวเทียมไปครั้งหนึ่ง เสียเงินไปประมาณหมื่นกว่าบาท พัง หัก เราเสียเงินไปฟรีๆ ตอนช่างทำงานลิงก็มากวน"เราเปิดบ้านมาตอนเช้าทั้งอึ ทั้งฉี่ เต็มหน้าร้านไปหมด ตอนนี้ลิงมันออกมามากขึ้น เพราะเขาห้ามให้อาหารลิง มันหิวก็เลยออกมา บางคนรักเราก็เข้าใจ แต่เราเดือดร้อน อย่างเสื้อผ้าที่แขวนไว้ข้างหน้า เดี๋ยวมันก็มาดึง เราต้องคอยดูไว้ ถ้าไม่แขวนคนก็ไม่เห็นอีกว่ามีของขาย" วสันต์ทางด้าน 'คุณวสันต์' เล่าว่า ผมขี่วินมา 20 ปีแล้ว แต่ก่อนลพบุรีเจริญมาก ชาวบ้านขายของเต็มไปหมด เดี๋ยวนี้อยู่กันไม่ได้แล้ว มาขายมันก็มาแย่ง ถ้าช่วงเย็นนักเรียนเลิกเรียนนะ มันแย่งจากมือเลย เด็กไม่ได้กินหรอก มันกัดด้วยซ้ำ "โรงหนังมาลัยรามาเก่านะ ถ้าไปดูตอนกลางคืนจะเห็นมันอยู่เต็มไปหมด กลายเป็นบ้านมันไปแล้ว คนเคยไปส่องดูกลางคืนตาแดงก่ำไปหมด เข้าไปใกล้มากไม่ได้นะ พวกมันจะกัดเอา ถ้าจะไปตอนนี้ก็ไม่ค่อยเห็นหรอก มันออกไปหากินหมด" ภูมินทร์'คุณลุงภูมินทร์' เล่าภาพในความทรงจำว่า สมัยก่อนตรงนี้รถแน่นไม่หมด ไม่มีพื้นที่ว่างแบบนี้ ตรงนี้เป็นที่จอดรถเต็มไปหมด ส่วนตรอกที่คุณเดินผ่านมาไม่มีลิงเลยนะ ตอนนี้มันเริ่มกระจายไปหมดแล้ว อย่างถ้าวันปกติ พวกมันก็จะเดินไปโซนใกล้ตลาด เพราะแถวนั้นมีพื้นหญ้า มันเลยไปหาอะไรกิน แต่ตอนนี้เขาเตรียมงานวังอยู่ มันไปก็โดนไล่กลับมา "คุณคิดว่าแต่ก่อนมันเจริญไหมล่ะ ตึกแถวนี้ราคา 18 ล้านบาทนะ ตอนนี้ห้องละ 2 ล้านยังไม่มีคนซื้อเลย จอดรถมันก็มาดึงยางแล้ว ลองเอารถมาจอดสิ ยังไงก็ไม่รอด แล้วเวลาร้านค้าเข้าย้ายไปที่อื่น ไปอยู่นอกเมือง เขาก็ไปสร้างความเจริญกันที่นั่น ปักหลักอยู่ไม่กลับมาแล้ว" กรง 'เกือบดี' แต่ยังมีส่วนต้องเพิ่มเติม : ย้อนกลับไปในช่วงหลังจากเสร็จสิ้นการลงนาม นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี ได้นำคณะและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่งรถรางจากพระปรางค์สามยอด วนรอบศาลพระกาฬ ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ 'สถานอนุบาลลิง' (นิคมและกรงลิง) ที่ตั้งอยู่ข้างสถานีตำรวจภูธรท่าหิน ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมืองลพบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากจุดลงนามเพียงประมาณ 2.6 กิโลเมตรนายกด้งพาผู้เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่เดินชมกรงลิง ขณะเดียวกันนั้นทีมงานช่างก็กำลังปรับปรุงกรงอยู่ ซึ่งวันนี้ทีมข่าวฯ สังเกตเห็นว่ากรงมีความคืบหน้าเพิ่มเติม หลังจากที่เราได้มาเมื่อวันที่ 2 ก.พ. แต่อย่างไรก็ตาม 'นายเผด็จ ลายทอง' ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ให้ข้อมูลกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า เผด็จ ลายทอง"ตอนนี้ก็เกือบสำเร็จดีแล้ว แต่เท่าที่ผมดูยังมีบางจุดที่ต้องร้อยสลิงเพิ่ม เพราะบริเวณตะเข็บมันจำเป็นต้องร้อยสลิงทุกจุด เพราะถ้าไม่ร้อยให้แข็งแรง มีรูนิดเดียวเขาก็ออกไปได้แล้ว ถ้าร้อยเสร็จตรงกลางหรือตรงริมก็จะไม่หลุดแล้ว เพราะแผงยึดติดกันหมดแล้ว"ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กางแบบปรับปรุงที่ได้มอบหมายให้ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลพบุรีเป็นคนออกแบบ พร้อมกับชี้แจงจุดที่ต้องปรับปรุงต่อหน้าของทีมข่าวฯ รองผู้ว่าฯ ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สาขาสระบุรี และช่าง แบบกระชับได้ใจความว่า"ตรงกลางนี้ก็ต้องเชื่อมด้วย แบบที่บอกให้โยธาทำมันมีนะ เราต้องใช้เหล็ก RB ตัดเป็นห่วงแล้วก็เชื่อม ไม่อย่างนั้นลิงจะออกมาได้ คือช่างเขาคิดว่าไม่มีการเชื่อมตรงกลาง แต่ที่จริงมันต้องเชื่อมทุกช่อง เดี๋ยวต้องปรับกันใหม่ คุยกันใหม่ เพิ่มเติมให้ครบสมบูรณ์" โครงการต่อจากนี้ คาดว่าใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท : ทางด้านของนายจำเริญ สละชีพ ได้กล่าวถึงเรื่องการปรับปรุงกรงลิง และงบประมาณที่คาดการณ์ สำหรับก่อสร้างสถานอนุบาลลิงเพิ่มเติมต่อสื่อมวลชนว่า"ผมมองว่าเรื่องลิงเป็นปัญหาระดับชาติ ไม่ใช่ระดับจังหวัด มีหลายพื้นที่ในประเทศที่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่ของลพบุรีอยู่กลางเมือง ลิงมากขึ้นเรื่อยๆ จนจะกลายเป็นเมืองร้าง การเซ็น MOU ครั้งนี้ จึงเป็นสารตั้งตนที่ดี ส่วนโครงการต่างๆ ต่อจากนี้ ผมดูแล้วคงใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 30 ล้านแน่นอน เพราะพื้นที่มันใหญ่มาก อย่างที่ทั้งหมดตรงนี้ประมาณ 10 กว่าไร่" สิทธิชัย หล่อประสงค์สุข (เสื้อสีฟ้า)"เราพร้อมทำตามระเบียบและแบบของกรมอุทยานฯ เขาเข้ามาตรวจให้ เราก็พร้อมปรับปรุงตามอยู่แล้ว ในกรงปัจจุบันเดี๋ยวจะมีการเทปูน ทำบ่อบำบัด ส่วนอีกฝั่งหนึ่งที่จะทำทั้งหมด เรายังมีงบประมาณไม่เพียงพอ ผมได้ประสานกับทาง สส.หน่อง (สิทธิชัย หล่อประสงค์สุข) ให้ช่วยผลักดันด้วย สส.หน่อง บอกว่าทำเรื่องมาเลย เดี๋ยวจะประสานของบกับท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อมาแก้ไขปัญหาส่วนนี้ เราก็ต้องของคุณ สส.ลพบุรี ของเราด้วย ที่เข้าไปผลักดันในสภาฯ กัน""คาดว่าจะสามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้ เอาช้าสุดก็ปีนึง ถ้ากรมอุทยานฯ ผลักดันได้จริงนะ แล้วก็ต้องถาม สส.หน่อง ด้วยว่าจะไปของงบประมาณได้อย่างไร เพราะงบประมาณมันเยอะ เทศบาลคงทำทั้งหมดไม่ได้ เราต้องหาทางกันแก้ไขต่อไป"ส่วน 'นายสิทธิชัย หล่อประสงค์สุข' หรือ 'สส.หน่อง' สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลพบุรี เขต 1 ได้กล่าวต่อว่า…"ในส่วนของผมได้ประสานกับท่านจำเริญ สละชีพ มาโดยตลอด ในเรื่องของโครงการแก้ไขปัญหาเรื่องลิง ในนามที่สภาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำได้ ก็จะขอสนับสนุนทุกวิถีทาง ที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องลิงของจังหวัดลพบุรีให้เร็วที่สุด" คาดว่ากรงสำเร็จแล้ว 95% ถ้าจะจับลิงมาไว้ ต้องวางแผนให้ดีๆ : ทีมข่าวฯ เข้าสอบถาม 'คุณเอ็ดวิน วิค' ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า หนึ่งในแกนนำหลัก ที่ได้ช่วยแก้ปัญหาลิงเพชรบุรี โดยได้ตรวจสอบและช่วยพัฒนากรงลิงเพชรบุรี จนกระทั่งสามารถจับลิงเข้าไปในกรงได้ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้น ที่ทำให้อธิบดีกรมอุทยานฯ และสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า มั่นใจในองค์ความรู้ที่มี จึงได้ขอความร่วมมือให้เขามาช่วยดูเรื่องกรงลิงลพบุรีต่อด้วย เราสอบถามคุณเอ็ดวินว่า หลังจากที่ได้มาเห็นกรงลิงลพบุรีด้วยตาตัวเองแล้ว คิดว่ายังติดปัญหาส่วนใด และมีเรื่องไหนที่ต้องปรับปรุงเพิ่มบ้าง? เอ็ดวิน วิค (Edwin Wiek)ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า แสดงทรรศนะกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า สำหรับกรงลิงลพบุรีเราก็เห็นว่าใช้งบมหาศาลเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ ตอนนี้ปัญหาของกรงลิงลพบุรีน้อยมาก ถือว่าขณะนี้แข็งแรงดี หลังคาดี ป้องกันดี แต่ยังต้องมีการเพิ่มสลิงเข้าไปตรงเหล็กบางจุด เพราะว่าลิงชอบโยกชอบเกาะ แล้วก็โดดไปเรื่อยมันก็อาจทำให้พังได้ ถ้าร้อยสลิงให้เรียบร้อย มันก็จะดีขึ้นเพิ่มความปลอดภัยไปอีกชั้นหนึ่ง ของเล่น (สภาพแวดล้อม) ข้างในก็อาจจะต้องมีมากขึ้น ให้ลิงได้ปีนได้โหน ให้เขามีกิจกรรมทำ ไม่ต้องนั่งหรือนอนเฉยๆ จะได้รู้สึกไม่เครียด "ต้องมีการเพิ่มเส้นไฟฟ้ารอบๆ อีกที เพื่อให้ลิงรู้จักกับกรงไฟฟ้าว่า เพราะในอนาคตอาจจะต้องไปอยู่กับกรมอุทยานฯ ถือว่าเป็นการฝึกในตัว ทางมูลนิธิยินดีและพร้อมที่จะช่วยดูแล เรื่องไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานสำหรับคนและสัตว์ ช่วยดูว่าควรติดตั้งยังไง เรื่องอื่นๆ เราก็สามารถช่วยดูได้ ตอนนี้ผมมองว่าโครงการนี้น่าจะเสร็จไปแล้วประมาณ 95% เหลือเสริมและปรับปรุงบางอย่าง ในอนาคตเราก็จะช่วยกันดูต่อไป" พอจะประเมินได้หรือไม่ ว่าสามารถนำลิงเข้ามาไว้ได้ประมาณกี่ตัว? คุณเอ็ดวิน วิค ตอบคำถามของทีมข่าวฯ ว่า อันนี้ต้องบอกตรงๆ ว่า ถ้ามันเป็นฝูงเดียวกันหมด อย่างศาลพระกาฬ หรือที่เห็นในซอยประมาณ 200 กว่าตัว ฝูงนั้นสามารถอยู่ได้ที่นี่ แต่ต้องแบ่งออกเป็น 2 กรง แล้วทั้งหมดอาจจะต้องไม่เกิน 300 ตัว เพราะถ้าเกินกว่านี้อาจจะแน่นเกินไป มันจะเครียดและกันกัดเอง สัตวแพทย์ต้องเย็บแผลทุกวัน "อย่างไรก็ตามลิงในกรงต้องมาจากฝูงเดียวกัน เพราะถ้ามาจากคนละฝูงก็กัดกันตายเลย นอกจากนั้นเวลาปล่อยเข้ากรง ต้องเข้าไปทีละนิดทีละหน่อย ค่อยๆ ให้มันรู้จักกัน แล้วต้องทำในเวลาที่จำกัดด้วย ถ้าห่างกัน 2-3 อาทิตย์ หรือเป็นเดือน มันก็จะกัดกันอีก" ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ต้องวางแผนให้ดี ว่าจะเอาลิงฝูงไหนมา ไม่ใช่เอาตรงนู้นมา 30 ตัว ตรงนี้มา 20 ตัว เพราะพวกมันจะเข้ากันไม่ได้ ต้องดูว่าพื้นที่ไหนเดือดร้อนมากที่สุด ให้เอาชุดนั้นก่อน แต่เรื่องนั้นก็กลัวจะมีปัญหากับชาวบ้านอีก เพราะทุกคนก็เดือดร้อนกันหมด อาจจะเกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมเอาฝูงนู้นไป ไม่เอาฝูงนี้ไป ดังนั้น การบริหารต้องวางแผนให้ดี "อย่าลืมว่าเราต้องทำหมันลิงก่อนเข้ากรง ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะไปออกลูกกันข้างใน กลายเป็นภาระเพิ่มอีก ทุกอย่างต้องใช้เวลา ทุกคนรอกันมา 20-30 ปีแล้ว ขอให้รออีกนิดนึง อะไรๆ น่าจะดีขึ้น" แม้ว่าตอนนี้ชาวลพบุรี จะยังไม่ได้เห็น 'น้องจ๋อ' ที่พวกเขามองว่า 'สร้างปัญหา' เข้าไปอยู่ในกรง แต่ MOU นี้ ถือเป็นหนึ่งการเริ่มต้นใหม่แห่งความหวัง สำหรับชาวเมืองละโว้ ทีมข่าวฯ หวังว่า ความทุกข์และการรอคอยที่ทุกคนส่งผ่านเรามา จะได้รับการบรรเทาให้ทุเลาลงอีกไม่นานนับจากนี้อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามต่อไปว่า เทศบาลเมืองลพบุรี กรมอุทยานแห่งชาติฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้เริ่มดำเนินการเมื่อไร และมหากาพย์วิกฤติลิงลพบุรีนี้ จะสิ้นสุดลงตอนไหน โปรดติดตามกันต่อไป ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงานภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhotoอ่านสกู๊ปลิงลพบุรีทั้งหมด : (1) วิกฤติลิงลพบุรี! กระทบชาวบ้าน ชีวิตเหมือนอยู่ในกรงขัง (คลิป)(2) อัปเดตประชากรลิงลพบุรี รหัสแรกสู่การแก้ไขปัญหา(3) นิคมลิงลพบุรี 40 ล้านที่ไม่ได้ใช้ กับคำตอบที่บอกให้ 'รอ'(4) ทำหมัน 'ลิงลพบุรี' การทำงาน 10 ปี กับงบที่ไม่เพียงพอ(5) 90% คนลพบุรี หนุนลดจำนวนลิง ความปรารถนาที่รอกรมอุทยานฯ(6) 'ลิงลพบุรี' ยกเลิกคุ้มครองไม่ใช่ทางออก MOU พร้อม...แต่ยังไม่ได้เซ็น(7) จับลิงลพบุรี จ่ายปีละ 6 ล้าน แค่ค่าเลี้ยงดู(8) 'ลิงลพบุรี' ยังวุ่น ตรวจกรงนิคมลิงยังไม่ได้มาตรฐาน(9) สรุป 'วิกฤติลิงลพบุรี' ปัญหาที่ยังไม่คลี่คลาย(10) นิคมลิงลพบุรี 40 ล้านยังไม่ได้ใช้ กับ 6 แสนที่ซ่อมเพิ่ม