เที่ยว 'ตลาดน้ำคลองลัดมะยม' อาหารอร่อย-พื้นที่สะอาด-ราคามาตรฐาน แต่ต่างชาติสงสัย ทำไมคนไทยไม่แยกขยะ?...

ท่องเที่ยวไทยไปกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ อังคารนี้ จะพาทุกท่านเดินทางเยือน 'ตลาดน้ำคลองลัดมะยม' แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ หนึ่งใน 'ตลาดต้องชม' บรรยากาศสบาย ร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีชุมชนเล็กๆ อยู่โดยรอบ ให้ความรู้สึกเหมือนกับตลาดน้ำในต่างจังหวัด 

บรรยากาศตลาดในวันเสาร์ต้นเดือนพฤศจิกายน ค่อนข้างครึกครื้นไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่าวชาติ รวมไปถึงรถยนต์ที่สัญจรเข้า-ออก ลานจอดรถตลอดเวลา โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

แม้ว่าจะชื่อ 'ตลาดน้ำ' แต่ร้านค้าส่วนใหญ่อยู่บนบก ในน้ำมีเรือพายขายของให้เห็นบ้างแต่ก็ไม่มากสักเท่าไร อาหารและสินค้าถือว่าหลากหลาย ตั้งแต่พืช ผัก ผลไม้ สินค้าชาวบ้าน ไปจนถึงอาหารคาว-หวาน ปรุงพร้อมรับประทาน และของฝากจำหน่ายให้ทุกคนได้เลือกซื้อติดมือ 

...

นอกจากของกิน ที่นี่ยังมีร้านให้นั่งทำงานฝีมือ และดนตรีสดคอยบรรเลงเป็นระยะ ทั้งการเล่นเครื่องดนตรีไทยจากนักเรียน และการเล่นเครื่องดนตรีสากลจากคนวัยเก๋าในท้องถิ่น ต่างก็มีเสน่ห์ชวนน่าหลงใหล คอยขับกล่อมนักท่องเที่ยวให้เพลิดเพลิน ในระหว่างนั่งรับประทานอาหาร ซึ่งในตลาดก็มีพื้นที่รองรับให้นั่งมากพอสมควร 

อย่างไรก็ตาม การที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเป็นจำนวนมาก ย่อมมาพร้อมกับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าตลาดจะจัดเก็บขยะได้ดี มีจุดทิ้งขยะหลายจุด แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ กลับมีคำถามบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องขยะต่อคนไทย

ทำไมคนไทยไม่แยกขยะ? :

นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้มองว่า การจัดเก็บขยะนั้นเป็นปัญหา เพราะพื้นที่บริเวณตลาดสะอาด และมีจุดทิ้งขยะให้เห็นอย่างชัดเจน แต่พวกเขามองว่า "ทำไมคนไทยไม่แยกขยะ"

สิ่งเดียวที่ 'Alicia' สาวชาวออสเตรเลีย คิดว่าตลาดแห่งนี้ต้องปรับปรุง คือ การแยกขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก เนื่องจากเธอเห็นว่าตลาดมีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก และร้านค้าทุกร้านใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้า ทำให้เธอมองว่าในแต่ละวัน ตลาดแห่งนี้น่าจะผลิตขยะจำนวนมาก หากมีจุดคัดแยกขยะให้ดี น่าจะนำขยะไปรีไซเคิลได้ และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยวของที่นี่

"ฉันมองว่าน่าจะเพิ่มจุดคัดแยกขยะแต่ละประเภท เช่น จุดทิ้งเศษอาหาร เพราะบางคนกินอาหารไม่หมด ถ้าทิ้งรวมไปกับถุงพลาสติก ซึ่งมีปริมาณมาก จะทำให้การรีไซเคิลนั้นทำได้ยาก และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าตลาดแห่งนี้ทำได้ จะสมบูรณ์แบบมาก"

ทางด้านชาวลอนดอนอย่าง 'Megan' ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกับ 'Alicia' เธอมองว่าขยะพลาสติกมีมากเกินไป และไม่ได้มีโซนให้แบ่งขยะอย่างชัดเจน ทุกอย่างถูกทิ้งรวมกันหมด ทำให้ขยะเหล่านั้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ เธออยากให้แก้ไขในส่วนนี้ เพื่อเป็นอีกทางในการรักษาสิ่งแวดล้อม

"ถ้าคุณมองไปรอบๆ จะเห็นว่าขยะเยอะมาก ซึ่งฉันเข้าใจเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว แค่อยากให้เพิ่มจุดแยกขยะแต่ละประเภทก็เท่านั้น องค์ประกอบของตลาดฉันว่าดีอยู่แล้ว หากเพิ่มตรงนี้ไปได้จะเยี่ยมมาก"

...

กรรมการวิสาหกิจชุมชนฯ ชี้แจง :

เสียงสะท้อนจากมุมมองของชาวต่างชาติ ที่มีต่อภาพลักษณ์ 'ตลาดน้ำคลองลัดมะยม' นำพาให้ทีมข่าวฯ เดินทางไปพบกับ 'ลุงชวน' ชายผู้คิดริเริ่มก่อตั้งตลาด น่าเสียดายที่ลุงชวนเดินทางไปต่างจังหวัด แต่เราก็ยังได้คุยกับ 'คำฟอง ทองทึง' คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตลาดน้ำคลองลัดมะยม

คุณป้าคำฟองรับรู้เรื่องราว และชี้แจงถึงเรื่อง 'การคัดแยกขยะ' และ 'การจัดการขยะ' ไว้ว่า

เรื่องของขยะพลาสติก และการคัดแยกขยะ คุณป้ามองว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับจิตสำนึกและการตระหนักรู้ด้วย เนื่องจากในอดีต ตลาดแห่งนี้เคยทำจุดคัดแยกขยะไว้ให้อย่างชัดเจน ทั้งการแยกขวดน้ำ, น้ำ, เศษอาหาร และภาชนะ แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ‘เป็นคนไทย’ ทำให้การทิ้งขยะปนกันไปหมด ไม่เป็นดั่งความตั้งใจที่มีตั้งแต่แรก ตอนนี้จึงเหลือเพียงที่แยกขวดน้ำเพียงอย่างเดียว

...

ในขณะที่กำลังนั่งสนทนากันอยู่ จุดทิ้งขยะที่อยู่ด้านหลังทีมข่าวฯ มีคนนำขวดน้ำทิ้งลงในถังรวมกับขยะอื่นๆ แทนที่จะทิ้งในจุดคัดแยกที่ตลาดจัดไว้ให้ เมื่อคนที่ทิ้งเดินไปแล้ว คุณป้าคำฟองจึงเอ่ยขึ้นว่า "เนี่ย… เห็นไหม ต่อหน้าต่อตาเราเลย ขนาดเราทำไว้ให้แยกง่ายๆ บางคนยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือสักเท่าไร" เธอกล่าวด้วยสีหน้าที่รู้สึกเบื่อเล็กน้อย

คุณป้า เสริมต่อว่า การคัดแยกขยะส่วนใหญ่ รวมถึงการมองเห็นปัญหาของสิ่งแวดล้อม มักจะเกิดขึ้นกับชาวต่างชาติมากกว่า ทำให้บางครั้งตนก็รู้สึกละอายใจเหมือนกัน "ฝรั่งหลายคนเวลาเดินมาทิ้งขยะ เขามักจะมองซ้ายมองขวาว่าควรทิ้งหรือแยกขยะยังไง เพราะบางทีในขยะที่เขาถือมันมีพวกเศษอาหารอยู่ด้วย พวกเราต้องคอยบอกว่า ทิ้งได้เลยๆ"

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณป้าคำฟองมองว่า การแยกขยะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ ถ้าสุดท้าย 'เทรวม' เนื่องจากครั้งที่ยังแยกขยะแต่ละชนิดออกเป็นแต่ละถุง ตนเองเคยเห็นทางรถเก็บขยะ เทขยะทุกอย่างรวมกัน 

"เรื่องการแยกขยะ เรามองว่าต้องเข้มข้นและจริงจังตั้งแต่ข้างบนลงมา เพราะเราเห็นมาว่าเขาเทรวม ที่จริงเราพร้อมสนองนโยบายนะ ถ้าทำให้เราเห็นว่า ขยะถูกจัดการอย่างถูกวิธี และไม่เทรวมกัน เราเองก็จะได้มีกำลังใจในการแยกขยะด้วย"

...

เรื่องการใช้ถุงพลาสติกจำนวนมากในแต่ละวัน ป้าคำฟองมองว่านี่เป็นปัญหาที่ทุกตลาด หรือทุกสถานที่ท่องเที่ยวต้องเจอ เพราะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การซื้อสินค้าต้องมีบรรจุภัณฑ์ และภาชนะสำหรับใส่อยู่แล้ว

"พวกเราพ่อค้าแม่ค้ารู้นะว่าพลาสติกไม่ดี ทำลายสิ่งแวดล้อม โฟมก็ไม่ควรใส่อาหารบางอย่าง แต่ถ้าจะให้เราลดถุงพลาสติกกัน สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องลดราคาบรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อว่ารักสิ่งแวดล้อม เพราะปกติแล้วราคาถุงพลาสติกตกใบละไม่กี่สตางค์

แต่ถุงหรือบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกตกใบละ 2-3 บาท แสดงให้เห็นว่าต้นทุนสูงขึ้นอย่างชัดเจน คนขายรองรับต้นทุนตรงนี้กันไม่ไหว กำไรของสินค้าบางอย่างก็ไม่ได้มากอยู่แล้ว ถ้ายิ่งทำแบบนี้อีกก็แทบไม่มีกำไร หรือขายอะไรก็อาจจะเท่าทุน"

จากการคุยกับชาวต่างชาติและคุณป้าคำฟอง เราในฐานะชาวไทยเจ้าของประเทศ ก็อาจจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ยั่งยืน สร้างการตระหนักรู้ในสังคม และทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในประเทศดีขึ้น

อาหารอร่อย-พื้นที่สะอาด-ราคามาตรฐาน :

อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ไม่ได้มองว่าตลาดน้ำคลองลัดมะยมมีแต่ปัญหา ในส่วนของบรรยากาศ และการจัดการส่วนอื่นๆ นั้นถือว่าถูกใจพวกเขา 

"อาหารอร่อย!" คือ หนึ่งในคำตอบจากชาวต่างชาติทุกคนที่ทีมข่าวฯ เข้าไปพูดคุยด้วย

'Alicia' เธอเดินทางมาเที่ยวกับ 'Micle' ทั้งคู่ชื่นชอบในรสชาติและความหลากหลายของอาหาร Alicia กล่าวว่า เธอ ประทับใจกับการเดินทางมาตลาดแห่งนี้ ราคาอาหารไม่สูงเกินไป นอกจากนั้น ผู้คนยังต้อนรับด้วยความเป็นมิตร และเธอยังชื่นชมอีกว่า 'คนที่นี่ยิ้มเก่งมาก' ส่วน Micle ก็เห็นด้วยกับสิ่งที่ Alicia พูด และเสริมว่า พื้นที่ของตลาดสะอาด และการทำอาหารของแม่ค้าก็ถือว่าสะอาดเช่นกัน

"พวกเรากำลังมองหาตลาดน้ำที่อยู่ไม่ไกลเกินไปจากกรุงเทพฯ และที่นี่มันยอดเยี่ยมมาก" คำชื่นชมจาก 'Chris' หนุ่มลอนดอน ที่เดินทางมากับ 'Megan' พวกเขายืนยันว่า อาหารที่ตลาดอร่อยและมีให้เลือกกินหลายอย่าง 

Megan กล่าวว่า "บรรยากาศของตลาดให้ความรู้สึกท้องถิ่นมาก ถึงแม้จะไม่ได้มีของขายบนเรือมากเท่าไร แต่ของขายบนบกก็เยอะ และพื้นที่สะอาด ตลาดเต็มไปด้วยพลังงานและทุกคนดูมีความสุข"

'Nik' ชายหนุ่มจากประเทศบัลแกเรีย เขารู้สึกประทับใจในประเทศไทย การมาที่นี่เหมือนได้เห็นโลกใบใหม่อีกใบหนึ่ง เพราะปกติแล้วเขาอาศัยอยู่ในทวีปยุโรป ที่ผ่านมาจึงไปเที่ยวประเทศในแถบยุโรปมากกว่า 

ในทวีปเอเชีย Nik เคยไปประเทศจีนเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่สำหรับแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเดินทางมาที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก เขามองว่า ตลาดแห่งนี้สร้างความประทับใจที่ดี เขารู้สึกมีความสุข และไม่มีอะไรอยากให้ปรับปรุงเพิ่ม ส่วนของอาหารก็อร่อย ร้านค้า และตลาดถือว่าสะอาดสำหรับเขา

ถูกใจชาวต่างชาติแล้ว ก็ยังโดนใจคนไทยอีกเช่นกัน!...

หลังจากได้อ่านรีวิว 'ตลาดน้ำคลองลัดมะยม' ในโซเชียลมีเดียแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ 'คุณปอ' ในฐานะคนชอบเที่ยว จึงเลือกเดินทางมาที่ตลาดแห่งนี้ โดยคาดหวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ดี แต่เธอเดินทางมาถึงช่วงที่ฝนตกพอดี จึงทำให้ยังไม่ได้นั่งเรือ แต่ในส่วนอื่นก็สร้างความประทับใจได้ดี

"เรารู้สึกว่าเมนูอาหารหลากหลาย พื้นที่ของตลาดโดยรวมนั้นสะอาด ราคาของสินค้าอยู่ในระดับมาตรฐาน ถือว่าไม่ได้สูงหากเทียบกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยว" คุณปอกล่าว

'คุณบัว' และแฟนของเธออาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งคู่เดินทางมาเป็นครั้งที่ 3 เพราะชื่นชอบบรรยากาศของตลาด และรสชาติอาหารถูกปาก นอกจากนั้นทุกครั้งที่มา ยังเลือกเดินทางด้วยรถบัสไฟฟ้า ทำให้รู้สึกสะดวกและไม่ต้องกังวลเรื่องที่จอดรถ

2 วัยรุ่น 'แป้ง' และ 'บอส' มาที่คลองลัดมะยมเป็นครั้งแรก แป้งบอกกับทีมข่าวฯ ว่า ตลาดมีทั้งความเก่าและใหม่ผสมกันอยู่ ทำให้เธอรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ มีพื้นที่ทำงานศิลปะ และกิจกรรมเล็กๆ น้อย ให้ได้ทำร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างครบครัน

บอสเสริมว่า "ผมว่าที่นี่สะอาดดีนะ ถ้าเทียบกับตลาดอื่นๆ ที่ผมเคยไปมา ส่วนราคาสินค้าก็ไม่แพงจนเกินไป ถ้าทำแบบนี้ไปได้เรื่อยๆ คนก็น่าจะมากันมากขึ้นไปอีก"

เรื่อง 'ความสะอาด' ต้องยอมรับว่า คนในตลาดช่วยกันดูแลเป็นอย่างดี เพราะทีมข่าวฯ เห็นแล้วว่า หากมีขยะถูกทิ้งไว้ที่โต๊ะเมื่อไร ผู้ประกอบการ หรือคนในตลาดที่อยู่ใกล้กับตรงนั้นจะเดินเข้ามาเก็บ ทำให้เราแทบจะไม่เห็นขยะที่ถูกวางทิ้งไว้

คนไทยแนะนำเพิ่มเติม :

'คุณปอ' มองว่า อยากให้ชุมชนมีอาหารที่เป็นอัตลักษณ์มากขึ้น เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา และสร้าง "ส่วนตัวแล้วเราไม่แน่ใจว่า อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่คืออะไร อยากให้มีเรื่องราวของอาหารเป็นของตัวเอง อาหารในตลาดส่วนใหญ่ เป็นของทั่วไปที่อาจหาได้จากข้างนอก แต่ไม่รู้ว่าอาหารพื้นถิ่นคืออะไร เพราะส่วนตัวเราเป็นคนชอบกิน ถ้าได้เห็นเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหาร จะยิ่งรู้สึกถึงคุณค่าที่เพิ่มมากขึ้น"

"วันทำการของตลาดน้อยเกินไป" นี่เป็นสิ่งที่ 'คุณปัทมา' มองว่าเป็นข้อเสียเล็กน้อย เนื่องจากตลาดน้ำคลองลัดมะยม จะเปิดทำการแค่วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทำให้เธอมองว่า มันเปิดน้อยเกินไป

"เรามองว่าเป็นตลาดที่ดี ถ้าเปิดหลายวันกว่านี้ น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เพิ่มขึ้น เพราะบางคนมาถึงประเทศไทยวันธรรมดา เขาก็หาแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นท้องถิ่นแบบนี้ ก่อนที่จะไปเที่ยวจังหวัดอื่นๆ ถ้าเพิ่มวันเปิดให้อยู่ในช่วงวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ด้วย อาจจะทำให้ตลาดกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก"

คำแนะนำส่วนนี้ ทีมข่าวฯ ก็ได้แจ้งให้ คุณป้าคำฟอง รับทราบ เธอให้ความเห็นว่า ในส่วนของอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน หรือประจำท้องถิ่น อาจจะยังไม่มีให้เห็น แต่คุณป้าคำฟอง มองว่า ขนมและอาหารไทยที่มีในตลาด ก็รสชาติอร่อย และถึงเครื่องความเป็นไทย ดังนั้น สิ่งนี้อาจจะพอทดแทนกันได้ 

สำหรับเรื่องวันขายของ ป้าคำฟองบอกว่า เบื้องต้นได้เริ่มคุยกันบ้างแล้ว ว่าจะมีขยายวันเปิดเพิ่มเติม เพียงแต่ว่าต้องดูทิศทางและพูดคุยกันให้ชัดเจนก่อน 

"ตอนนี้เราเริ่มสำรวจความคิดเห็นของแม่ค้ากันว่าจะเปิดเพิ่มไหม แต่ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปออกมาชัดเจน พวกเราก็อยากเปิดกันเพิ่ม เพราะถ้าขายได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ชาวบ้านและแม่ค้าก็มีรายได้ แต่ถ้าเปิดไปแล้วขายไม่ดีขึ้นมา ของที่ทำไว้ในแต่ละวันอาจจะเสีย ทำให้ขาดทุน เลยเป็นเรื่องที่เรามองว่าต้องค่อยเป็นค่อยไป"

เศรษฐกิจฟื้นตัว-ผู้ประกอบการชวนเที่ยว :

'เจ๊หมวย' ร้านหมูหวาน-หมูเค็มทอด บอกกับทีมข่าวฯ ว่า นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมามากขึ้นหลังจากสถานการณ์ โควิด-19 เบาลง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ตนและผู้ประกอบการคนอื่นๆ มีรายได้ นอกจากนั้นตลาดที่เคยต้องเงียบเหงา ก็กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง

ทางด้าน 'พี่สี่' ร้านน้ำโซน 4 บอกเหมือนกับเจ๊หมวยว่า คนจะเยอะช่วงวันอาทิตย์ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แม้บางสัปดาห์อาจจะมีเงียบบ้าง แต่เธอก็เข้าใจถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

เจ๊หมวย และพี่สี่ ให้ความเห็นตรงกันว่า นักท่องเที่ยวจะเริ่มมามากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางวันเป็นต้นไป ซึ่งนั่นก็เป็นไปตามคำบอกเล่า เพราะประมาณ 12.00 น. จำนวนของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทางเดินบางจุดเริ่มหนาแน่นมากขึ้น นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินถือถุงพลาสติก หิ้วของกินและของฝากกันจำนวนมาก โต๊ะนั่งรับประทานก็เริ่มมีคนมาจับจองที่นั่งเพิ่มขึ้น

"เศรษฐกิจเริ่มกลับมาดีขึ้น" คำพูดปนรอยยิ้มเล็กๆ จาก คุณป้าคำฟอง เธอเผยความรู้สึกกับทีมข่าวฯ ว่า ก่อนโควิดเศรษฐกิจที่ตลาดถือว่าดีมาก แต่พอช่วงโควิดก็ได้รับผลกระทบพอสมควร ช่วงนี้ถือว่ากลับมาฟื้นตัวได้บ้างแล้วแต่ก็ไม่ได้ดีเท่าก่อนโควิด "จะให้กลับไปดีเหมือนช่วงก่อนโควิดคงยาก แต่ในสภาวะแบบนี้เราถือว่าค่อนข้างโอเคสำหรับพวกเรา"

แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีให้เห็นจนชินตา แต่คุณป้ามองว่า กำลังซื้อส่วนใหญ่เป็นชาวไทย ชาวต่างชาติถือว่าใช้จ่ายค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่มาเดินเที่ยวเล่นและถ่ายรูปมากกว่า และหากเดินทางมากับคณะทัวร์ พวกเขาจะมีเวลาจำกัดและมักไม่ได้ซื้อของ แต่ถ้ามากันเองหรือมาเป็นครอบครัวก็ยังมีใช้จ่ายให้เห็นบ้าง

คุณป้ามองว่า ที่ตลาดฟื้นตัวได้ อาจจะเป็นข้อได้เปรียบจากการที่ตลาดอยู่ในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาได้ง่าย นอกจากนั้นยังมีรถบัสไฟฟ้าของ กทม. วิ่งบริการรับ-ส่งฟรี จากสถานีรถไฟฟ้าบางขุนนนท์ (MRT สายสีน้ำเงิน) สู่ตลาดน้ำต่างๆ ในเขตตลิ่งชัน ในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เวลา 09.00 ถึง 16.45 น. ทำให้ไปช่วยเสริม และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาง่ายขึ้น

"เราอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาเที่ยวกัน ที่นี่มีของอร่อยๆ เยอะ ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ด้วย ใครไม่มีรถส่วนตัว กทม. ก็มีรถบัสบริการฟรี พื้นที่ของตลาดก็พร้อมรองรับทุกคน" คุณป้าคำฟองกล่าวส่งท้าย

หากใครยังไม่เคยไป 'ตลาดน้ำคลองลัดมะยม' ทีมข่าวฯ แนะนำว่า ต้องลองไปให้ได้สักครั้ง คุณจะพบกับของที่น่ากิน และพ่อค้าแม่ขายที่พร้อมต้อนรับด้วยรอยยิ้ม อย่างไรก็ตาม เมื่อไปเที่ยวแล้ว ก็ขอให้ทุกคนทำตามคำแนะนำต่างๆ ที่ตลาดติดป้ายไว้ เพื่อเป็นการช่วยกันดูแลแหล่งท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :