คุยเรื่อง โลกร้อน! ทำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น ปะการังฟอกขาว ปลาย้ายถิ่น เต่าทะเลเสี่ยงสูญพันธุ์ และเปิดอีกมุมมองกับ 'วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์' นักชีววิทยา... 

มหาสมุทรของโลก นอกจากจะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ยังมีบทบาทในการดูดซับพลังงานความร้อนที่โลกได้รับส่วนหนึ่งด้วย ดังนั้น เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น ทะเลหรือมหาสมุทรก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ข้อมูลสมัยใหม่จาก Copernicus Climate Change Service ของสหภาพยุโรป เป็นหน่วยงานที่ให้ข้อมูลและเครื่องมือ ในการติดตามสภาพอากาศที่ล้ำสมัยเพื่อสนับสนุนการปรับลดและปรับเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ

ระบุว่า สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรโดยเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึง 20.96 องศาเซลเซียส (69.73 ฟาเรนไฮต์) ซึ่งสูงกว่าสถิติที่บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2559 ประมาณ 0.1-0.2 องศาเซลเซียส อาจดูเหมือนน้อย แต่มีมวลน้ำขนาดใหญ่อยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก นี่จึงเป็น 'พลังงานจำนวนมหาศาล'

ด้าน NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) หน่วยงานด้านการพยากรณ์อากาศของสหรัฐฯ พบคลื่นความร้อนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในเดือนมิถุนายน 2566 ณ มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ โดยให้คำจำกัดความไว้ว่า "รุนแรงมาก" เพราะในภูมิภาคนี้ พื้นผิวน้ำทะเลมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยเข้าใกล้ 25 องศาเซลเซียส (77 ฟาเรนไฮต์) 

...

ทำให้เขตที่ร้อนที่สุด เปลี่ยนจากบริเวณใกล้กับสหราชอาณาจักร เป็นน่านน้ำนอกชายฝั่งนิวฟันด์แลนด์ ซึ่งในเดือนนี้อุณหภูมิมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ 5 ถึง 10 องศาเซลเซียส ซึ่งน้ำร้อนจัดนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้น ในช่วงปลายฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง และทำให้เกิดความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเล

หากโลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ทางทะเลก็อาจจะไม่ส่อแววดีขึ้น แม้เหตุการณ์ตัวอย่างจะไม่ใช่ประเทศไทยโดยตรง แต่แน่นอนว่าพวกเราก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน นี่จึงถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่น่าติดตาม ว่าในอนาคตจะเกิดผลกระทบจากเรื่องนี้หรือไม่ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาผู้อ่านไปรู้จักเรื่องนี้ให้มากขึ้น พร้อมเปิดมุมมองใหม่ กับ 'ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์' หรือ 'อาจารย์วิน' นักชีววิทยา และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์
ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์

สาเหตุ :

อาจารย์วิน ให้ข้อมูลว่า 'มหาสมุทรอุณหภูมิสูงขึ้น' หรือ 'ทะเลอุ่น' (บางคนอาจจะเรียกว่า 'ทะเลเดือด' แต่อาจารย์วิน กลับไม่รู้สึกเห็นด้วยสักเท่าไร เนื่องจากทะเลเดือด อาจจะเป็นคำที่ดูเกินจริงเกินไป) เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกมานานแล้ว มันร้อนขึ้นและเย็นตัวลงอยู่เช่นนี้ เป็นวัฏจักรของธรรมชาติ เพียงแต่ช่วงเวลาประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก จนกระทั่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หรือที่ปัจจุบันมีศัพท์ใหม่ว่า 'ภาวะโลกเดือด'

เมื่อเกิดภาวะโลกร้อน และอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ทะเลเกิดการแบ่งชั้นชัดเจนมากขึ้น ปกติแล้วภายใต้ทะเลจะแบ่งออกเป็นหลายชั้น แต่ชั้นจะมีความหนาแน่นต่างกัน โดนชั้นล่างมีความหนาแน่นมากที่สุด ส่วนชั้นบนมีความหนาแน่นน้อยที่สุด 

ชั้นบนอยู่ใกล้แสงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้ดูดซับแสงอาทิตย์ได้ดี จึงมีอุณหภูมิร้อนกว่าด้านล่าง นั่นเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกติ คือ เมื่อทะเลดูดซับความร้อนมากขึ้น ทะเลชั้นบน และทะเลชั้นกลางเกิดความแตกต่างของอุณหภูมิมากขึ้น เช่น ปกติแล้วทะเลชั้นบนอาจจะ 25 องศาฯ และชั้นกลาง 23 องศาฯ กลายเป็นทะเลชั้นบน 30 องศาฯ ทะเลชั้นกลาง 23 องศาฯ

...

เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จะทำให้ออกซิเจนละลายตัวลงในทะเลได้ยากขึ้น ดังนั้น ในบางบริเวณของโลก ที่เคยมีข่าวว่ามีสัตว์ทะเลขึ้นมาตาย โดยไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไร แต่หลังจากนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษา พบว่า มันเกิดชั้นในทะเลขึ้น เรียกว่า Oxygen Minimum Zone (OMZ) หรือ โซนขั้นต่ำออกซิเจน เป็นโซนที่อิ่มตัวของออกซิเจน ในน้ำทะเลในมหาสมุทรที่ต่ำสุด เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ จะทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่บริเวณนั้นตาย และเกยตื้นขึ้นมาตามชายฝั่ง

ผลกระทบเมื่อทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น :

แน่นอนว่า 'อุณหภูมิของทะเลที่สูงขึ้น' ย่อมเกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และอาจมีผลสืบเนื่องจนถึงมนุษย์

อาจารย์วิน ยกตัวอย่าง 'ประการัง' ซึ่งเป็นสิ่งที่ชัดและเห็นได้บ่อย จากผลกระทบที่อุณหภูมิของทะเลสูงขึ้น ก็คือ 'ประการังฟอกขาว' อุณหภูมิที่สูงขึ้น จะทำให้สาหร่ายที่อยู่ในตัวปะการังหนีออกมาข้างนอก ทำให้ประการังที่เคยมีสีสันกลายเป็นสีขาว ปกติสาหร่ายที่อยู่ในตัวปะการัง มีหน้าที่ผลิตกรดไขมัน ที่มีความจำเป็นต่อปะการัง พอสาหร่ายหลุดออกมา จึงทำให้ประการังมีอาหารไม่เพียงพอ และตายไปในที่สุด

...

นอกจากนั้น แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์จำนวนมาก และยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ด้วย จึงมีความกังวลว่า การเกิดประการังฟอกขาว จะส่งผลกระทบอื่นๆ ต่อระบบนิเวศ ซึ่งนี่ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ที่อยู่ในประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น ไทย อินโดนีเซีย หรือออสเตรเลีย เพราะประเทศเหล่านี้มักใช้ประโยชน์จากแนวปะการัง ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นเม็ดเงินมหาศาล จึงอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ

สิ่งมีชีวิตในทะเลแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ เคลื่อนไหวได้ กับ เคลื่อนไหวไม่ได้ สิ่งที่เคลื่อนไหวไม่ได้ เช่น ประการัง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น พวกมันก็จะตายไป ตามที่อธิบายไปในข้างต้น แต่สิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้ เช่น ปลา เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น พวกมันก็จะเริ่มอพยพไปใกล้ขั้วโลกมากขึ้น เพราะอุณหภูมิบริเวณนั้นที่เคยเย็นก็จะอุ่นขึ้น ทำให้ 'ปลาบางชนิดที่เรากินอาจหายไป'

...

หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำประมงแน่นอน จากที่เคยจับได้เยอะมาก ก็อาจจะจับได้ลดลง แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบางประเทศ เช่น เปรู

ซึ่งเปรูจะเกิดเป็นประจำทุกๆ ประมาณ 10 ปี อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากโลกร้อน ที่ไปเสริมให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น จนเกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศทางทะเลของเปรู และเกี่ยวกับเรื่องอาหาร เพราะการที่อุณหภูมิของทะเลเปลี่ยนแปลง ทำให้การไหลของมวลน้ำในทะเลเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งการไหลนั้นเกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารในทะเล เช่น แพลงก์ตอนลดจำนวน จนปลาต้องไปหาอาหารที่อื่น 

นอกจากหากบริเวณทะเลร้อนขึ้น อาจส่งผลให้ จำนวนประชากรของสัตว์บางชนิดลดลง เช่น 'เต่าทะเล' เพราะหากอุณหภูมิของหาดทรายต่ำกว่า 27.7 องศาเซลเซียส ลูกเต่าจะฟักออกมาเป็นตัวผู้ แต่หากอุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส ลูกเต่าที่ฟักออกมาจะเป็นตัวเมีย แต่ถ้าอุณหภูมิร้อนเกินไป อาจจะทำให้ลูกเต่าตัวเมียเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขาดความสมดุลเพศของเต่าทะเล และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ในอนาคต 

อีกมุมที่อยากให้มอง :

อาจารย์วิน บอกว่า เรื่องของน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น มีการถกเถียงกันในวงการวิทยาศาสตร์ ฝ่ายหนึ่งให้ความเห็นว่า ช่วงนี้อุณหภูมิของทะเลต้องสูงขึ้นเป็นปกติ เพราะเป็นวัฏจักรของโลก ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจและยอมรับ เพียงแต่มองว่า อุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าปกติ ตรงนี้จึงเป็นข้อโต้เถียง ที่จะเชื่อได้อย่างไรว่าทะเลร้อนขึ้นเพราะมนุษย์ 100%

"ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ทะเลร้อนขึ้นประมาณหลักหน่วย ไม่ได้ร้อนกระโดดเป็น 10 องศาฯ แต่ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ตามแบบจำลองที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ คำถามต่อไปคือ แบบจำลองนั้นอาจจะไม่ได้ถูก 100% หรือเปล่า เพราะเป็นแบบจำลอง หมายความว่าข้อมูลที่มีอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ 

ทำให้ที่จริงแล้ว เราไม่สามารถบอกอนาคตได้ เป็นเพียงการคาดการณ์ แต่ทิศทางนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแน่นอน และ ณ วันนั้นที่มองกันไว้ อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้โลกเย็นขึ้นก็ได้ วิทยาศาสตร์จึงไม่แน่นอน และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา"

อาจารย์เสริมต่อว่า ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์และมนุษย์อย่างแน่นอน หากค้นหาในอินเทอร์เน็ต จะพบกับข้อมูลผลกระทบต่างๆ จำนวนมาก แต่อีกมุมมองที่เราอยากให้มอง คือ นี่เป็นเสมือนปรากฏการณ์หนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งรวมกับที่มนุษย์กระทำด้วย ในสิ่งมีชีวิตมีกลไกสำคัญของวิวัฒนาการ ที่เรียกกันว่า 'การคัดเลือกโดยธรรมชาติ' (Natural Selection) เป็นความสามารถในการเอาตัวรอด และสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

"สิ่งมีชีวิตที่อยู่ไม่รอดก็ต้องตายไป แต่สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดก็เกิดจากการปรับตัว สมมติในแนวปะการังหนึ่ง มีสัตว์อยู่ 100 ชนิด แต่เมื่ออุณหภูมิทะเลสูงขึ้น ทำให้สัตว์หายไป 50 ชนิด คนอาจจะมองว่าสูญเสียความหลากหลาย แต่มองในอีกมุมหนึ่ง คุณไม่มีวันรู้เลยว่า อาจมีสปีชีส์ใหม่ที่ทนความร้อนได้ดีกว่า เกิดขึ้นตรงนั้นก็ได้ อันนี้เป็นมุมมองที่คนอาจจะไม่ค่อยได้มองกันสักเท่าไร"

เขาเปรียบเทียบ ข้อดี-ข้อเสีย ของวิวัฒนาการให้เราเห็น โดยการยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีต คือ ถ้าในอดีตไดโนเสาร์ไม่สูญพันธุ์ บรรพบุรุษของมนุษย์ที่เป็นสัตว์ ที่เคยอยู่ใต้ดิน อาจจะไม่ขึ้นมาอาศัยข้างบน และไม่ได้วิวัฒนาการจนกลายเป็นมนุษย์ 

"เราอาจจะต้องมองเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะโลกร้อน หรือทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น ให้กว้างมากขึ้น นานาประเทศต่างมองว่า มันเป็นสิ่งไม่ดี ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะว่า มันไม่ดี

แค่พยายามอยากให้มองอีกมุมหนึ่งว่า กระบวนการทางธรรมชาตินั้นเป็นไปอย่างไร และเราจะใช้ประโยชน์อะไรจากตรงนั้น องค์กรใหญ่ๆ ในระดับโลก ที่พยายามพูดเรื่องประเด็นพวกนี้ขึ้นมา เขาอาจจะหวังดี หรืออาจจะมีประโยชน์ซ่อนอยู่"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :