รู้จัก "เอลนีโญ" ฝาแฝดคู่ตรงข้ามกับ "ลานีญา" ปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และประเทศไทย ภัยแล้ง ไฟป่า
หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" และ "ลานีญา" กันมาบ้าง แต่อาจจะสับสนว่าปรากฏการณ์ใดส่งผลกระทบทำให้เกิดภัยแล้ง และน้ำท่วม
รู้จักปรากฏการณ์ เอลนีโญ
"เอลนีโญ" ในภาษาสเปน (El Niño) หมายถึง เด็กชาย หรือบุตรพระคริสต์ เนื่องจากมีการสังเกตว่า ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นทุก 2-3 ปี ไม่แน่นอน โดยแต่ละครั้งอาจมีเวลายาวนานถึง 3 เดือน และบางครั้งอาจยาวนานถึง 1 ปีครึ่ง นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงตรงกันข้ามกับ "เอลนีโญ" นั่นก็คือ "ลานีญา" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากกัน
โดยปกติแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือมหาสมุทรที่กั้นระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา มีกระแสลมหรือเรียกว่า ลมค้า (Trade winds) ซึ่งพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลจากอเมริกาใต้มายังประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปรากฏการณ์ เอลนีโญและลานีญา จะทำให้กระแสลมและกระแสน้ำอุ่นนั้นเกิดความแปรปรวน ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและฝนตกหนัก ตามลำดับ
ความแตกต่างระหว่าง เอลนีโญ กับลานีญา
เอลนีโญ เกิดจากกระแสลมค้าพัดที่สลับฝั่งแกนโลกไปอีกทิศ เป็นกรณีเดียวกันกับ ลานีญา ซึ่งกระแสลมมีกำลังอ่อน และเปลี่ยนทิศทางลม จากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้เกิดกระแสน้ำอุ่นไหลไปยังฝั่งทวีปอเมริกาใต้แทน ซึ่งทำให้ฝนตกหนัก และน้ำท่วม ซึ่งย้อนกลับมาทำให้ฝั่งทวีปเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียไม่เกิดฝน และแห้งแล้ง
ในส่วนของผลกระทบจาก เอลนีโญ ต่อประเทศไทยนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า เอลนีโญ เป็นสาเหตุของภัยแล้งรุนแรงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ นั้นก็คือ เมื่อเกิดความแห้งแล้งผิดปกติ อาจทำให้เกิดไฟป่า ซึ่งไฟป่าจะไปทำลายระบบนิเวศ แมลงจะระบาดมาก เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งเป็นศัตรูของข้าวมีมากขึ้นก็จะทำให้พื้นที่ทำนาเสียหาย
จากข้อมูลของ GISTDA เกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศไทย พบว่า เมื่อปี 2561 เกิดภัยแล้งค่อนข้างหนัก ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กคงเหลือในภาพรวมของประเทศน้อยกว่า 30% สูงถึง 568 อำเภอ
ในปี 2566 พบว่า หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กคงเหลือในภาพรวมของประเทศน้อยกว่า 30% จำนวน 528 อำเภอ ขณะที่ปี 2565 เกิดปรากฏการณ์ลานีญา พบว่า ในปีนี้มีปริมาณฝนมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กคงเหลือในภาพรวมของประเทศ ที่มีน้อยกว่า 30% มี 403 อำเภอ
จากข้อมูลดังกล่าวหมายความว่า หลายพื้นที่ในประเทศได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว ซึ่งแตกต่างจากปีที่แล้วที่ช่วงเวลานี้หลายพื้นที่มีฝนตกลงมา ถึงแม้ว่าปี 2566 จะเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่ก็ยังไม่เด่นชัดมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง พื้นที่ ณ ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเข้าใกล้ไปทุกขณะ แหล่งน้ำหลายแห่งเริ่มตื้นเขิน แห้งขอด นั่นเป็นสัญญาณว่า เกษตรกรในหลายพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว.