“ไอ้เอ็ม” พ่อใจโหดฆ่าลูกแท้ๆ ของตัวเอง ภายหลังถูกจับกุมฆ่าโบกปูนลูกสาววัย 2 ขวบ และน่าจะเป็นศพที่ 5 อ้างว่ากระทำไปเพราะป่วยจิตเวช มีอาการหลอนหูแว่ว เคยรักษาอาการทางจิตเมื่อปี 2556 และปี 2558 ทำให้สังคมกังขาถึงบทลงโทษว่าจะสามารถเอาผิดตามกฎหมายได้หรือไม่ ล่าสุดพนักงานสอบสวนคุมตัวไปตรวจและทดสอบด้านจิตวิทยา พบว่าปกติ ไม่มีอาการจิตเวช สามารถพูดคุยโต้ตอบได้ปกติ ไม่มีอาการหลอน หรือหูแว่วแต่อย่างใด
คำอ้างป่วยจิตเวชของพ่อใจโหด หวังจะหลุดรอดจากการรับโทษไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 เขียนไว้ชัดว่า ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
แม้มีใบรับรองว่าป่วยทางจิต หรืออยู่ในกระบวนการรักษา ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ได้ว่าความเจ็บป่วยส่งผลต่อความสามารถในการรู้ผิดชอบ หรือควบคุมตัวเอง หากรักษาจนอาการบรรเทาแล้วก่อเหตุ ก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุยกเว้นการรับโทษ หรือรับโทษน้อยลงได้ จะต้องผ่านการตรวจประเมินทางนิติจิตเวชทางการแพทย์ และโรคทางจิตเวชที่เข้าข่ายไม่ต้องรับโทษ มีเพียงบางโรคในช่วงที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น เช่น โรคจิตเภท ปัญญาอ่อน หรือสมองเสื่อม ขณะที่ในกลุ่มโรควิตกกังวล หรือซึมเศร้า จะยังคงได้รับโทษตามที่ศาลวินิจฉัย
...
คดีพ่อแท้ๆ ฆ่าลูกของตัวเอง ได้สร้างความตกใจให้กับ “รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล” ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เพราะปกติแล้วพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงมักก่อเหตุในลักษณะนี้ และสิ่งที่น่าตกใจ พ่อคนนี้อาจมีส่วนร่วมในการฆ่าลูกของตนเองก่อนหน้านี้ เป็นสิ่งที่แปลกใจว่าทำไมคนเป็นพ่อแท้ๆ ถึงทำกับลูกของตนเองได้ขนาดนี้ โดยมองได้ 2 ส่วน ต้องมองกลับไปดูการเลี้ยงดูในช่วงวัยเด็ก การเติบโตทางสังคม จากข้อมูลทางวิชาการถ้าเด็กถูกกระทำตั้งแต่ในวัยเด็กซ้ำๆ ในระยะเวลานาน จะส่งผลต่อคุณภาพการแสดงออก เวลาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีแนวโน้มจะก่อเหตุกระทำความรุนแรงในครอบครัว อีกส่วนจากสิ่งแวดล้อม จากเพื่อน และคนรอบข้าง เชื่อมโยงกับการใช้สารเสพติด และแอลกอฮอล์ เมื่อใช้สิ่งเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอจะส่งผลเช่นกัน
ประเด็นมีปัญหาทางจิตหรือไม่ เพราะผู้ต้องหาได้กล่าวอ้างว่ากินยาจิตเวช เคยปรึกษาหมอจิตเวช จะต้องให้หมอด้านจิตเวชเป็นผู้ประเมินว่าป่วยจิตหรือไม่ ส่วนอัตราโทษคดีที่เกิดขึ้นมีอัตราโทษประหารชีวิตอยู่แล้ว และคำกล่าวอ้างว่าป่วยจิตเวชนั้น ตัวผู้ต้องหาอาจใช้ช่องว่างทางด้านกฎหมาย อาจทำให้ไม่รับโทษทางกฎหมาย เพราะฉะนั้นแล้วในส่วนนี้ต้องให้หมอด้านจิตเวชเป็นผู้ประเมิน
ส่วนผู้ร่วมก่อเหตุเป็นแม่แท้ๆ ของเด็ก อาจกลัวถูกสามีทำร้าย เพราะเคยถูกทำร้ายมาแล้ว หรือทำไปเพื่อเป็นการพึ่งพิง เพราะรายได้ไม่เพียงพอ ต้องอาศัยเงินจากสามี แต่สิ่งที่น่าคิด ทั้งตัวพ่อและแม่ของเด็กไม่เคยมีสายใยทางครอบครัวกับเด็ก ซึ่งเป็นความผูกพันพ่อแม่ลูก มองแล้วน่ากลัวสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน และต้องยอมรับในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร พ่อแม่มักพูดคุยผ่านหน้าจอโทรศัพท์กับลูก โดยไม่มีการเจอหน้ากันจริงๆ และในทางวิชาการสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสมบูรณ์แบบ คือการปลูกฝัง คุณธรรม คุณงามความดี การอบรมสั่งสอนในสิ่งที่ถูกต้องจากพ่อแม่ถ่ายทอดไปยังลูกและบุตรหลาน
“สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุด เป็นสิ่งที่ต้องหล่อหลอมให้พฤติกรรมของมนุษย์ ให้เด็กที่โตมาเป็นคนดี มีความสมบูรณ์แบบทั้งร่างกายและจิตใจ พ่อแม่ต้องมีเวลาให้กับลูก นอกเหนือจากการให้เงิน และให้ลูกไปเรียนหนังสือเพียงเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ การปฏิสัมพันธ์ พูดคุยกันมากขึ้น จะช่วยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นน้อยลง และต้องวางแผนครอบครัวในเรื่องการมีบุตรเมื่อพร้อม”
...
ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา ประเมินว่า ผู้ก่อเหตุฆ่าลูก อาจเป็นโรคจิตชนิดเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นภาวะนี้ อาจเกี่ยวข้องกับปมในวัยเด็ก มาจากครอบครัวที่แตกแยก มีบาดแผลทางใจ เมื่อเกิดเหตุมากระตุ้นอาจขาดความยั้งคิด จนลงมือกระทำฆ่าลูกในทันที.