อีกคดีสะเทือนใจเด็กหญิงวัย 2 ขวบ ถูกพ่อแท้ๆ ทำร้ายจนเสียชีวิตก่อนนำศพขึ้นรถจากกรุงเทพฯ ไปบ้านของภรรยาคนที่ 4 ทำการโบกปูนฝังบริเวณพื้นห้องครัวหลังบ้าน เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา จนดูเหมือนเรื่องจะเงียบ ไม่มีใครล่วงรู้ถึงความโหดเหี้ยม ยิ่งกว่าละคร สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงในครอบครัว แต่แล้วเรื่องก็แดงขึ้นมาก
เมื่อ กัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง พร้อมกับตำรวจโรงพักบางเขน เข้าช่วยเหลือเด็กหญิง 2 พี่น้อง ออกมาจากห้องพักอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ภายในซอยพหลโยธิน 48 แยก 11 แขวงอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา เพราะถูกพ่อแท้ๆ ทำร้ายจับขังแช่น้ำในห้องน้ำ จนเนื้อเปื่อย โดยคนหนึ่งวัย 12 ปี และอีกคนวัย 4 ปี ซึ่งทั้ง 2 คน มีพ่อคนเดียวกันแต่คนละแม่
ระหว่างที่เด็กทั้ง 2 คน อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้านเด็กหญิงวัย 12 ปี ได้ปริปากออกมา ยังมีน้องสาวอีกคนแต่คนละแม่ ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต จนเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการสืบสวนขยายผล นำไปสู่การจับกุม 2 สามีภรรยา ก่อเหตุฆ่าโบกปูนฝังศพลูกสาววัย 2 ขวบ และยิ่งสลดไปกว่านั้น ลูก 4 คนที่เกิดจากภรรยาอีกคน อาจเสียชีวิตในช่วงปี 2556 ปี 2557 ปี 2559 และปี 2561
...
พ่อใจโหดรายนี้ อายุ 46 ปี มีอาชีพรับจ้างส่งของ ปัจจุบันอยู่กินกับภรรยาคนที่ 4 อายุ 40 ปี และในอดีตเคยมีภรรยา 3 คน จนมีลูกสาวลูกชายรวมกัน 10 คน ส่วนมูลเหตุจูงใจทำร้ายลูกอย่างรุนแรง เนื่องจากคิดไปเองว่าไม่ใช่ลูกในไส้ จึงทำร้ายลูกๆ จนได้รับบาดเจ็บ และ 1 คนหรืออาจมีอีก 4 คน เสียชีวิต เพราะทุกครั้งที่ทำร้ายลูก จะไม่นำตัวส่งโรงพยาบาล แต่จะปล่อยทิ้งไว้ จนเด็กเสียชีวิต และทำการอำพรางศพ
ล่าสุด 20 ก.ย. สองสามีภรรยาถูกควบคุมตัวมาโรงพักบางเขน โดยพ่อโหดได้แต่ร้องไห้สะอึกสะอื้น ยอมรับเป็นคนลงมือฆ่าลูก อ้างว่าป่วยต้องกินยาจิตเวชมาหลายปี พร้อมกับขอโทษคนในสังคม บอกรู้สึกสำนึกผิด แต่ไม่ตอบได้ก่อเหตุฆ่าลูกไปแล้วกี่คน ขณะที่ตำรวจมีข้อมูลจากพยานแวดล้อมว่าครอบครัวนี้มีความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จะต้องมีการสืบสวนขยายผล และติดตามอดีตภรรยาทั้งหมดมาสอบสวน จนเจอตัวอดีตภรรยาอีกคน อายุ 33 ปี เปิดปากรับสารภาพ รู้จุดทิ้งศพลูกทั้ง 4 ศพ เป็นทารกชายทั้งหมด อยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
พ่อผิดปกติด้านจิต ทำร้ายลูกรุนแรง ติงสังคมเมินเฉย
เหตุสลดพ่อฆ่าลูกมากถึง 5 ศพ ทำให้คนในสังคมรับไม่ได้กับพฤติกรรมอันโหดร้าย หากลูกสาววัย 12 ปี เหยื่อจากการกระทำของพ่อ ไม่เปิดเผย คงไม่มีใครล่วงรู้ได้ “รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในเรื่องรายละเอียดจะมีการวิเคราะห์อีกครั้ง แต่เห็นว่าเป็นความผิดปกติด้านจิตของผู้กระทำ จากลักษณะบาดแผลของเด็กหญิงทั้ง 2 คนที่รอดชีวิต ได้บ่งบอกความผิดปกติของผู้เป็นพ่อ ไม่ได้ลงโทษธรรมดา เพราะร่างกายลูกสาววัย 12 ปี โดนความร้อน โดนไฟลนจนเป็นปื้นขนาดใหญ่ทั้งตัว และเอาวัตถุร้อนๆ จี้ไปที่ร่างกายจนเด็กเจ็บปวด ส่วนลูกสาววัย 3 ปี 6 เดือน ก็บาดเจ็บกระดูกหักเหมือนโดนบิด ปากถูกทำให้แหว่ง จนเนื้อหายไป และตาบอดทั้ง 2 ข้าง จากการเอาสายยางฉีดน้ำเข้าตาอย่างแรง
แม้เด็กทั้ง 2 เป็นลูกคนละมารดา แต่ถูกกระทำโดยพ่อคนเดียวกันและโดนแบบเดียวกัน ซึ่งผู้เป็นแม่ก็พยายามปกป้องพ่อว่าไม่ได้กระทำมาโดยตลอด จนกลายเป็นว่าได้ร่วมกระทำลูกไปด้วย และเหตุการณ์นี้ยังบ่งบอกความผิดปกติอย่างมาก ซึ่งน่าจะมีการทบทวนการทำหน้าที่ของคนในสังคม ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เด็กเสียชีวิต 5 ศพ และบาดเจ็บ อย่างการรักษาอาการบาดเจ็บของเด็ก ทางแพทย์ไม่ได้วินิจฉัยจากลักษณะแผลว่าถูกกระทำด้วยความรุนแรง
...
หรืออาจไม่อยากยุ่งด้วยกับปัญหาในครอบครัว คือไม่อยากให้ตัวเองยุ่งยาก แสดงให้เห็นว่าระบบคุ้มครองเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ไม่ถูกรายงานตามมาตรา 29 ที่ผู้ใดพบเห็นเด็กตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ต้องให้การช่วยเหลือแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้เด็กหญิงวัย 12 ไม่ได้เข้าเรียนก็จริง แต่เรียนในชุมชน หากครูพบความผิดปกติก็ต้องช่วยเหลือ และเด็กอยู่ในอพาร์ตเมนต์ ก็มีนิติบุคคล คนอาศัยอยู่ จะต้องเห็นสภาพเด็ก จนเพิ่งมีคนไปแจ้งให้ กัน จอมพลัง มาช่วย ส่วนยายที่เลี้ยงหลานก็เห็นบาดแผลมาตั้งแต่แรก ไม่พยายามช่วยเหลือ และมาร้องไห้ฟุมฟายทีหลัง
“ทำไมภรรยาต้องปกป้องสามี หรืออาจถูกบังคับก็ได้ ทำไมไม่นำคนที่จิตใจไม่สมบรูณ์ไปรักษา ทำไมเด็กอยู่ในครอบครัวเหล่านี้ ไม่มีการช่วยเหลือให้ทันเวลา จนเด็ก 2 คนบาดเจ็บ จะมีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร เกรงว่าโตขึ้นมาอาจก่อเหตุจากปมในใจ อยากกระตุ้นให้คนในสังคมต้องเรียนรู้ ต้องทำให้เคยชิน หากเห็นเด็กถูกเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม เห็นเด็กเล็กไปขอทานบนท้องถนน แล้วมีบาดแผล มีความผิดปกติ ไม่ใช่ทนเห็นแล้วเฉยๆ จะต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนในสังคม โทรไปแจ้งสายด่วน 1300 ของ พม. ให้การช่วยเหลือ”
...
เหตุที่เกิดขึ้นเป็นความผิดปกติด้านจิต จากความรุนแรงในครอบครัว ทั้งการทำร้ายภรรยาและทำร้ายลูก ถือเป็นบทเรียนในสังคม ทั้งที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ออกมาบังคับใช้ 20 ปีแล้ว และทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็พยายามทำระบบต่างๆ แต่ไม่สามารถทำให้คนในสังคมอยู่ด้วยระบบได้ จะต้องมีความร่วมมือกันของคนในสังคมในการช่วยกันดูแล ต้องเปลี่ยนทัศนคติ หากพบเด็ก ซึ่งสงสัยว่าถูกทำร้ายก็ต้องช่วยเหลือตามมาตรา 29 พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ.