คุยกับ ผอ.ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เผยสถิติในรอบ 5 ปี พบเต่าตายจากขยะทะเลเฉลี่ย 20 ตัว/ปี รอดชีวิตหลังวางไข่เฉลี่ย 20% ทั้งที่มีการอนุรักษ์แล้ว หากปล่อยตามธรรมชาติ จะเหลือรอด 0.1%

หากเราปล่อยให้เต่าวางไข่ตามธรรมชาติ เขาจะมีโอกาสรอดแค่  1  ใน 1,000

นี่คือหัวใจสำคัญที่ต้องมีหน่วยงานใดสักหน่วยที่คอยดูแล “เต่า” เหล่านี้ และหน่วยงานนั้นก็คือ “กองทัพเรือ” นอกจากจะดูแลผลประโยชน์ทางทะเลแล้ว ยังต้องประคับประคอง “ชีวิตสัตว์ทะเล” ให้เหลือรอดจากผู้ล่าที่เป็นทั้งคนและสัตว์ 

นาวาเอก เหรียญชัย พ่วงเชย ผู้บังคับการศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ เกริ่นว่า “เต่าทะเล” ก็เหมือนกับสัตว์อื่นๆ ในทะเล เพียงแต่เขาเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เริ่มมีการลดน้อยลงไป 

จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2493 ซึ่งถึงวันนี้ก็ 73 ปีมาแล้ว โดยตอนนั้นกองทัพเรือได้ออกประกาศ พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องเขตปลอดภัยทางราชการ โดยใช้พื้นที่สถานีทหารเรือสัตหีบบางส่วนในการดูแล และกรมประมงได้มอบหมายให้ กองทัพเรือ เป็นผู้เก็บไข่และอนุรักษ์เต่า 

...

กระทั่งปี 2522 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระดำริให้กองทัพเรือตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ตั้งอยู่ที่เกาะมันใน อ.แกลง จ.ระยอง มาช่วยดูแลรักษาไข่เต่าในพื้นที่ที่กองทัพเรือดูแลอยู่ โดยเฉพาะที่ เกาะคราม เกาะอีร้า เกาะจาน ซึ่งเป็นแหล่งที่เงียบสงบ ไม่มีคนมารบกวน เต่าจึงมาวางไข่ที่เกาะเหล่านี้ 

โดย หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รับผิดชอบการดูแลเกาะคราม แทนกองการฝึกกองเรือยุทธการ ดังนั้น หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง จึงได้เข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับเต่าทะเลของกองทัพเรือตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในปี พ.ศ.2535 กองทัพเรือได้จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลโดยมุ่งเน้นขยายผลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนร่วมกันในการพัฒนาและรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ผอ.ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล เผยว่า เกาะที่มีเต่ามาวางไข่มากที่สุด คือ เกาะคราม แต่ละปีมีเต่ามาวางไข่นับพันฟอง แต่โอกาสรอด หากเราไม่ดูแล หรืออนุรักษ์เลย โอกาสรอดเมื่อมีการวางไข่คือ 1 ต่อ 1,000 ฟอง เพราะเมื่อมีการวางไข่แล้วก็จะกลายเป็นอาหารของสัตว์ที่อยู่บนเกาะ หากรอดจากตรงนั้นได้ ฟักออกมาเขาก็จะคลานลงทะเลทันที ตัวอ่อนเต่าเหล่านี้เมื่อคลานลงหาดก็จะกลายเป็นอาหารของเหยี่ยว นก ตัวเงินตัวทอง หรือแม้แต่ลงทะเลไปแล้วก็เจอสัตว์ในทะเลกินอีก แม้แต่ปูก็ยังกินลูกเต่า 

ฉะนั้น การอนุบาลฯ ของเราคือ เมื่อมีแม่เต่ามาวางไข่แล้ว เราก็จะนำมาอนุบาลด้วยการฝังกลบไว้ และรออีกประมาณ 45-60 วัน หลังจากนั้นเต่าทะเลก็จะเพาะฟักออกมาเป็นตัว จากนั้นเราก็ดูแลสักพักก็เอามาอนุบาลต่อที่ศูนย์อนุรักษ์ที่เราทำไว้ที่เกาะครามด้วย

“หากเลี้ยงได้สัก 3 เดือนแล้ว ดูว่าตัวไหนแข็งแรง จริงๆ เราก็จะปล่อยลงสู่ทะเล และบางส่วนจะนำมาไว้ที่สัตหีบ ที่ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล ที่สัตหีบ ซึ่งเต่าที่เราดูแลจะมีการทำทะเบียนควบคุม โดยมีการแบ่งเป็นบ่อๆ ตามอายุ เช่น 3 เดือน 1 ปี ซึ่งศูนย์นี้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนได้มาศึกษาด้วย” 

ประชากรเต่า และการปล่อยสู่ธรรมชาติ 

นาวาเอก เหรียญชัย เผยว่า แต่ละปี ศูนย์อนุรักษ์ฯ ปล่อยเต่าลงท้องทะเลเฉลี่ยเกือบพันตัว แต่ปล่อยแล้วโอกาสรอดก็อยู่ที่ประมาณ 50% ฉะนั้นโอกาสรอดของเต่าในแต่ละปีคือราว 500 ตัว 

แต่ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไร คำตอบของคำถามนี้ คือต้องรอ 15 ปี คือการกลับมาวางไข่ที่เกาะที่ตัวมันเกิด เพราะธรรมชาติของเต่าจะเป็นแบบนี้ ซึ่งเต่าในประเทศไทยนี้มี 4 ชนิด คือ 1.เต่าตนุ 2.เต่ามะเฟือง 3.เต่ากระ 4.เต่าหญ้า โดยในฝั่งอ่าวไทยมีเพียง 2 ประเภท คือ เต่ากระ กับ เต่าตนุ ขณะที่ฝั่งอันดามันมีทุกประเภท 

...

ซึ่งตามปกติแล้วเต่าจากฝั่งอันดามันจะไม่ย้ายถิ่นฐานมายังอ่าวไทย เพราะธรรมชาติต่างๆ ในทะเลของอ่าวไทย กับ อันดามัน มีความแตกต่างกัน รวมทั้งอาหารและกระแสน้ำก็มีความแตกต่างกัน

นาวาเอก เหรียญชัย เผยว่า ที่ผ่านมาเราเคยติด GPS ให้เต่า ก็พบว่า เต่าเดินทางไปไกลมาก ไปทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือเมียนมา จากนั้นมันก็กลับมาวางไข่ที่เกาะคราม เรื่องนี้มีการทำวิจัยกันอยู่ อย่างไรก็ตามวิธีการติดตามดังกล่าวปัจจุบันนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว เพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าดูแลเครื่องมือที่ใช้ติดตามเต่า ค่าเฉลี่ยในการตามดูเต่า 1 ตัวเป็นล้านบาท ด้วยเหตุนี้จึงมีการยกเลิกไป เหลือเพียงการติดไมโครชิปที่เราฝังไปในตัวเต่า โดยมีทะเบียนคุมไว้ โดยระบุวันเดือนปีในการปล่อย และมันวางไข่ที่ไหน 

“ในรอบการปล่อย 5-6 ปีที่ผ่านมา ก็คาดว่าอีกสัก 10 ปี มันจะกลับมาวางไข่ที่เกาะที่มันเกิด แต่...ถ้ามันมาเจอคน มันก็จะไม่วางไข่ ปล่อยให้ไข่เสียภายในตัวมัน ฉะนั้นการวางไข่ของเต่าสำคัญคือต้องเป็นสถานที่สงบเงียบ ฉะนั้นเราถึงต้องจำกัดพื้นที่ไว้ โดยเต่าหนึ่งตัวเฉลี่ยวางไข่ครั้งละ 80-150 ฟอง” 

...

อัตราการรอด-ตาย จากธรรมชาติ และขยะทะเล 

สำหรับความสำคัญของเต่าในระบบนิเวศน์ทางทะเลเป็นอย่างไร นาวาเอก เหรียญชัย อธิบายว่า เต่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในทะเลเหมือนกับปลาชนิดต่างๆ โดยมีอาหารเป็นสาหร่าย ปลาเล็ก แมงกะพรุน ซึ่งก็เป็นหนึ่งในวัฏจักรของการมีชีวิตในทะเล เพียงแต่อัตราการรอดตามธรรมชาติมันน้อยมาก แต่หากเราไม่ดูแล หรืออนุรักษ์มัน วันหนึ่งมันก็จะหายไปเหมือนสัตว์อื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุม ซึ่งประกอบด้วย 

1.พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490 

2.พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522

3.พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 

4.พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 

โดย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาตินี้เป็นกฎหมายมุ่งที่จะคุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัย และหาดวางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่ง 

นาวาเอก เหรียญชัย กล่าวว่า ภัยที่ส่งผลกับชีวิตเต่าทะเลก็มีหลายแบบ เช่น อุบัติเหตุโดนใบจักรเรือ การถูกจับที่ติดอวนชาวประมง การกินขยะ โดยเฉพาะพลาสติก ซึ่งแต่ละปีเราพบเต่าเสียชีวิตที่มีปัจจัยมาจากขยะในทะเลเฉลี่ย 20 ตัว/ปี โดยในระยะเวลา 5 ปี เราพบเต่าทะเลเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับขยะ 97 ตัว

ส่วนที่เกยตื้นตามธรรมชาติ ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา 

ปี 2560 พบเกยตื้น 22 ตัว รักษาหาย 14 ตัว

ปี 2561 พบเกยตื้น 37 ตัว รักษาหาย 22 ตัว

ปี 2562 พบเกยตื้น 19 ตัว รักษาหาย 11 ตัว

ปี 2563 พบเกยตื้น 20 ตัว รักษาหาย 12 ตัว

ปี 2564 พบเกยตื้น 48 ตัว รักษาหาย 32 ตัว

ปี 2565 พบเกยตื้น 20 ตัว รักษาหาย 12 ตัว

นาวาเอก เหรียญชัย ระบุว่า อัตราเกยตื้นตามธรรมชาติจะอยู่ที่ 65% ทั้งนี้บางส่วนเราก็ไม่รู้สาเหตุ เพราะสภาพที่พบก็ยากที่จะตรวจสอบดูได้แล้ว ส่วนอัตราการรอดของเต่า ถ้าเทียบจากการฟักไข่แล้วเกิดเป็นตัวและมีชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 20% ในรอบปี 2560-2565 (ตามกราฟ)

...

 

ลดทิ้งขยะ ประมง-ท่องเที่ยว อย่างมีจิตสำนึก เพิ่มความยั่งยืนทางทะเล 

ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญของประเด็นนี้คือ “จิตสำนึก” อยากให้ทุกคนร่วมกันรักษาชีวิตสัตว์ทุกชนิดในทะเล โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน หรือเต่าทะเล โดยเฉพาะ “พะยูน” ที่มาเล่นกับเต่า 

“การรับผิดชอบชีวิตของสัตว์เหล่านี้ คือ การลดการทิ้งขยะในทะเล เพราะขยะทะเลจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัตว์เหล่านี้ตายจากการกินขยะพลาสติก และอื่นๆ ในขณะที่ธุรกิจจับสัตว์น้ำก็ควรคำนึงด้วยว่าจะมีสัตว์เหล่านี้ติดมา หากเห็นก็ควรรีบปล่อย อย่าลากแบบทั้งวันทั้งคืน เพราะเต่าคือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มันจำเป็นต้องขึ้นมาหายใจ หากมันขึ้นมาไม่ได้ ส่วนการท่องเที่ยว กลุ่มไกด์ทัวร์ควรให้ความรู้ความเข้าใจกับนักท่องเที่ยว และควรมีจิตสำนึก พื้นที่ไหนห้าม พื้นที่ไหนไม่ควรดำน้ำดูปะการัง หากเจ้าหน้าที่ห้ามแล้วก็อย่าฝ่าฝืน เหล่านี้หากทุกคนช่วยคนละไม้คนละมือก็จะช่วยได้”. 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ที่มารูป : ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล 

อ่านบทความที่น่าสนใจ