- รู้จัก "ก๊าซเรือนกระจก" ตัวการ "ภาวะโลกร้อน"
- มนุษย์อย่างเรา เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "ก๊าซเรือนกระจก"
ปรากฏการณ์ "ก๊าซเรือนกระจก" คือ
ก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วยก๊าซหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ โอโซน สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน และฮาโลคาร์บอน ซึ่งก๊าซเหล่านี้จะมีหน้าที่เก็บกักรังสีความร้อนจากผิวโลก แล้วคายรังสีความร้อนนั้นกลับลงมา ทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกร้อนขึ้นกว่าเดิม เปรียบเหมือนกระจกที่สะท้อนรังสีความร้อนไม่ให้ออกไปจากโลก จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) และเรียกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เข้าใจง่ายว่า การปล่อยคาร์บอน (carbon emission)
"ก๊าซเรือนกระจก" มาจากไหน?
นายอภิสิทธิ์ เสนาวงค์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สำนักรับรองคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หากหลายคนยังมองว่า ก๊าซเรือนกระจก ตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องไกลตัว แต่อยากให้รู้เลยว่า "มนุษย์" อย่างเราก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ทำให้เกิด "ก๊าซเรือนกระจก" ได้เหมือนกัน เพราะมนุษย์ คือ ตัวการที่ปล่อยคาร์บอนฯ ออกสู่ชั้นบรรยากาศ
โดย "ก๊าซเรือนกระจก" เปรียบเสมือนฟิล์มที่ห่อหุ้มโลก ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศบางๆ มีหน้าที่กรองแสงอาทิตย์ไม่ให้รังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ลงมาสู่โลกมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ช่วยให้โลกมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการอาศัยอยู่ของสิ่งมีชีวิต แต่ถ้ามี "ก๊าซเรือนกระจก" มากเกินไปก็จะทำให้โลกอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ที่เราเรียกว่า "ภาวะโลกร้อน" กระทั่งเกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต
แต่ถ้าถามว่า โลกเราไม่ควรมีคาร์บอนฯ ในชั้นบรรยากาศเลยจะดีไหม? นายอภิสิทธิ์ อธิบายว่า ไม่ เพราะจะไม่มีชั้นบรรยากาศที่กรองรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังโลก และที่ไม่ดีไปกว่านั้น ถ้าเราไม่มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเลย กลางวันเราจะร้อนมาก และกลางคืนก็จะหนาวมาก
ทั้งนี้ ก๊าซเรือนกระจก มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Natural Greenhouse Gas) เช่น ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น
และก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น (Anthropogenic Greenhouse Gas) เช่น ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินในกระบวนการการผลิตไฟฟ้า การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ กระบวนการหมักของจุลินทรีย์จากน้ำในนาข้าว กระบวนการในภาคอุตสาหกรรม สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ แอร์รถยนต์ และระบบทำความเย็นในอาคาร เป็นต้น
ดังนั้น อยากให้ตระหนักไว้ว่า มนุษย์ ตัวเล็กๆ อย่างเรานี่แหละที่ช่วยทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ การสร้างขยะ ฯลฯ
ก๊าซเรือนกระจก ทำให้ "โลกร้อน" ขึ้นจริงหรือ
มีหลักฐานและปรากฏการณ์มากมายที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ร่วมกันศึกษา ติดตาม และวิจัย จนยืนยันได้ว่าภาวะโลกร้อนกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ
นายอภิสิทธิ์ อธิบายว่า หลักฐานที่บ่งบอกว่าโลกร้อนขึ้นคือ ก๊าซเรือนกระจกในอากาศเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ โดย 8 พันกว่าปีก่อน คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีอยู่ประมาณ 300 PPM (PPM คือ 1 ส่วนในล้านส่วน) แต่ 100 กว่าปีที่ผ่านมามันเพิ่มจาก 300 PPM มาอยู่ที่ 419 PPM แม้จะยังไม่ทำให้ใครตาย แต่ก็ทำให้หลายคนตระหนักถึงคำว่าโลกร้อน เพราะมีทฤษฎีที่บอกไว้ว่า หากมีคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเกิน 450 PPM จะทำให้โลกวิบัติ สิ่งมีชีวิตจะอยู่ไม่ได้แล้ว
นอกจากนี้ สมัยก่อนอุณหภูมิเฉลี่ยจะไม่เกิน 1 องศาฯ แต่ในช่วงไม่ถึง 100 ปี อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 องศาฯ เหมือนจะเล็กน้อย แต่หลายคนรู้สึกได้ว่าอุณหภูมิความร้อนในบ้านเราเพิ่มมากขึ้น ดังเช่นเมื่อช่วงปลายเมษายน 2566 ที่เกิดคลื่นความร้อนปกคลุมเอเชีย และสุดท้าย น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลาย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 1-2 องศาฯ แต่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจไม่สมดุลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม่ หรือการเกิดของสิ่งมีชีวิต โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าสิ่งมีชีวิตกว่าร้อยละ 30 เผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ผลผลิตข้าวและธัญพืชอาจลดลง มนุษย์ในฐานะที่ต้องพึ่งระบบนิเวศและอาหาร ก็อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย
นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อน ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้อากาศแปรปรวนไปจากเดิม และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น.