ปรากฏการณ์ลานีญาสิ้นสุดแล้ว และเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ กับสภาพอากาศร้อนและแล้งมากขึ้นกว่าปกติ จะเริ่มเห็นได้ชัดในประเทศไทยตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 เป็นต้นไป มีการคาดการณ์ว่าเอลนีโญ จะยาวนาน 3-5 ปี ในช่วงปี 2566 ไปจนถึงปี 2571 ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้เกิดภัยแล้งในปี 2568 โดยเฉพาะภาคใต้ของไทยจะแล้งอย่างรุนแรงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเตรียมพร้อมรับมือในการวางแผนบริหารจัดการน้ำ ไม่ให้ขาดแคลนน้ำในอนาคต

ล่าสุดองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้ออกมาประกาศปรากฏการณ์เอลนีโญเริ่มขึ้นแล้ว จากเกณฑ์อุณหภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเขตร้อน มีอุณหภูมิสูงขึ้น 0.5 องศาเซลเซียสจากค่าเฉลี่ยระยะยาว ส่งผลให้อากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ของโลก เห็นได้จากเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 เป็นวันที่โลกร้อนมากสุดอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 17.01 องศาเซลเซียส สูงกว่าเดือนส.ค. 2559 อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 16.92 องศาเซลเซียส เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลทั่วโลกเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายมากขึ้นในปีนี้ และจะกระทบต่อสุขภาพ ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ

...

อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดที่เกิดขึ้นนอกจากเอลนีโญตามธรรมชาติแล้ว ยังเกิดจากฝีมือมนุษย์ทำให้โลกร้อน จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้นเหตุปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจทำให้ปี 2566 หรือ 2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดทุบสถิติปี 2559 และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 เอลนีโญมีโอกาสมากถึงร้อยละ 90 จะมีความรุนแรงระดับปานกลาง และมีโอกาสที่เอลนีโญจะอ่อนกำลังลงเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เป็นสัญญาณบอกว่าโลกร้อนอย่างเห็นได้ชัด และอุณหภูมิในมหาสมุทร ก็จะสูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เอลนีโญ-โลกร้อน คาดปีหน้า ทำสถิติร้อนที่สุด

“รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กังวลว่าเอลนีโญ จะส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองเต็มไปด้วยตึกอาคารและคอนกรีต จะยิ่งร้อนมากขึ้น อุณหภูมิจะสูงขึ้นอีกอาจทำลายสถิติวันที่โลกร้อนมากสุดในวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมาก็ได้ เพราะขณะนี้โลกเจออุณหภูมิที่ร้อนขึ้น จากสัญญาณอันตราย 4 ปัจจัย 1.จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น 2.อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น จากเดิม 20-21 องศาเซลเซียส 3.การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นถึง 2 เท่า และ 4.น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายผิดปกติ

ทั้งหมดจะทำให้โลกอุณหภูมิสูงขึ้นแตะระดับ 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า และจะลดลง ก่อนอุณหภูมิสูงขึ้นอีกหลังเจอเอลนีโญ ซึ่งผลกระทบจากเอลนีโญในช่วง 6-9 เดือน และปีหน้าจะหนักมากขึ้น แม้ปีนี้ส่งผลกระทบไม่มาก แต่อย่าประมาทในการจัดการน้ำ เพราะฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ หรือแม้เดือนส.ค.นี้ ฝนจะมาแน่ แต่ต้องกักเก็บน้ำและบริหารจัดการน้ำให้ดี เพื่อให้ต้นทุนน้ำสามารถใช้ได้ถึง 3 ปี โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยภาคเกษตร นอกเหนือระบบชลประทาน

“เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและทุเรียน จะอาศัยน้ำฝนที่ตกลงมาไม่ได้ ต้องมีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ต้องระมัดระวังและวางแผนในการปลูก และเดือนส.ค.ฝนจะตกหนักในภาคกลางตอนล่าง ใต้ตอนบน อาจทำให้ปีหน้าผ่อนคลายลงบ้าง แต่ต้องดูว่าฝนตกแล้วจะเข้าเขื่อนปราณบุรี หรือไม่”

ภาวะโลกร้อนได้ทำให้ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา เปลี่ยนไป ทำให้มีความถี่ในการเกิดมากขึ้น และแม้ระดับความรุนแรงของเอลนีโญ จะลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าผลกระทบจะลดลง เพราะโลกร้อนขึ้น ทำให้เอลนีโญจะมาถี่มากขึ้น และปีหน้าจะร้อนกว่าปีที่ผ่านมา อาจทำสถิติร้อนที่สุด

...

สิงหาคม-กันยายน ฝนตกหนัก เฝ้าระวังลุ่มเจ้าพระยา

ขณะที่ “ประพิศ จันทร์มา” อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์เอลนีโญ จะต้องรับมือภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าเดือนส.ค.ถึงเดือนก.ย.นี้ จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีโอกาสสูงจะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ จะส่งผลต่อปริมาณน้ำทั้งในลำน้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลับและน้ำล้นตลิ่งได้ จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก

โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เป็นจุดรองรับน้ำจากทางตอนบน ต้องเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยใช้ระบบชลประทานในการรับน้ำและระบายน้ำให้เชื่อมโยงต่อเนื่องกันอย่างเป็นระบบ และแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรและประชาชน

4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำรวมกัน 41%

...

สถานการณ์น้ำล่าสุดวันที่ 8 ก.ค. ”ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล” รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็น 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,253 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้ 3,557 ล้าน ลบ.ม. และจนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2566 ไปแล้ว 3,391 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม.

ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 6.43 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของแผน 8.05 ล้านไร่ โดยได้ทำการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรในพื้นที่ได้เริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึงในเดือนก.ย. เพื่อช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายได้ และวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2566 ให้ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมถึงการเก็บกักน้ำให้มากที่สุด เพื่อรับมือสถานการณ์เอลนีโญ.