พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างที่มอบให้กับศรีลังกาเมื่อ 22 ปีก่อน แต่ด้วยการดูแลที่ไม่ดีทำให้ช้างมีอาการป่วยอย่างหนัก จนรัฐบาลไทยเจรจาเพื่อขอส่งกลับมารักษาที่ไทย ซึ่งเจ้าของช้างเปิดเผยว่า ตอนส่งไปเป็นช้างที่ฉลาด และคัดเลือกสายพันธุ์ดีที่สุดของช้างสุรินทร์ และเลี้ยงเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว หากรักษาให้แข็งแรงแล้ว อยากให้เป็นพ่อพันธุ์ เพราะตอนอยู่วัดที่ศรีลังกา ไม่เคยมีการขยายพันธุ์มาก่อน
สมโรจน์ คูกิจติเกษม เจ้าของอาณาจักรพิพิธภัณฑ์ช้างจังหวัดสุรินทร์ เจ้าของพลายศักดิ์สุรินทร์ ที่เมื่อ 22 ปีก่อน ทางหน่วยงานภาครัฐของไทย มีหนังสือให้สรรหาช้างที่มีคชรักษ์ดี ส่งไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับศรีลังกา จึงมอบพลายศักดิ์สุรินทร์ และพลายศรีณรงค์ ให้ไป โดยมีพิธีมอบช้างที่ทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกา เมื่อ 8 ม.ค. 2544
พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างที่เลี้ยงมาตั้งแต่เกิด เป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัวให้วิ่งเล่นกับลูกสาวตั้งแต่ยังเล็ก โดยเป็นช้างนิสัยดี คชรักษ์งาม ตอนนั้นมีหนังสือจากหน่วยงานภาครัฐ ให้หาช้างสุรินทร์ ที่มีอุปนิสัยน่ารักและลักษณะดี เพื่อมอบให้กับศรีลังกา โดยตอนนั้นมีอีกหลายเชือก แต่ตัดสินใจมอบพลายศักดิ์สุรินทร์ ให้เพราะเป็นช้างที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่
...
การขนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ ไปศรีลังกา เมื่อ 22 ปีก่อน ไม่ได้ทำกรงแน่นหนา แต่เน้นใช้การสื่อสารระหว่างคนกับช้าง โดยตอนนั้นก็ให้ช้างเดินขึ้นเครื่องบิน ซี-130 และเข้าไปในกรงได้อย่างสบาย เพราะเขาเป็นช้างที่มาจากสายพันธุ์ดีที่สุดของสุรินทร์ ประกอบกับคนกับช้างก็มีความผูกพันกัน
ที่ผ่านมาพอมอบให้ศรีลังกา แต่ยังมีการติดตาม โดยทางเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในศรีลังกา แจ้งถึงเหตุที่ช้างไม่ได้รับการดูแล เพราะควาญชาวศรีลังกาคนเดิมเสียชีวิต แล้วควาญคนใหม่มาดูแลแทน แต่ขาดความเข้าใจ ซึ่งจากการสอบถามปัญหาที่ขาหน้าเกิดจากช้างตกมัน แล้วดันไปผูกไว้กับรถแทรกเตอร์ เลยทำให้ขาหน้าเสีย ส่วนฝีที่หลังทั้งสองด้าน สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการถูกของมีคมจิ้มจนเป็นแผล เพราะผิวหนังช้างก็เหมือนคน เวลาโดนอะไรบาด ถ้าไม่มีการดูแลแผลให้ดีก็จะมีหนองบวมได้
“ช้างสุรินทร์ ทุกเชือกจะถูกเลี้ยงด้วยความเข้าใจเหมือนลูก ซึ่งควาญจะต้องรู้ว่าช่วงเวลาตกมัน ไม่ควรเข้าใกล้ ถ้ารู้จะไม่เกิดปัญหา แต่สิ่งที่พลายศักดิ์สุรินทร์ เจออาจเกิดจากความไม่เข้าใจของควาญ ตอนเล็กที่ส่งไปศรีลังกา งายังตรง แต่เมื่อโตขึ้นจะยาวเป็นธรรมชาติ”
ช้างของสุรินทร์ที่งายาว เกิดจากการผสมข้ามกลุ่ม เลยทำให้สายพันธุ์ไม่มีเลือดชิดเหมือนกับปัจจุบัน กรณีของพลายศักดิ์สุรินทร์เป็นการผสมกันของพ่อแม่พันธุ์ที่ข้ามกลุ่มอย่างชัดเจน เลยทำให้ช้างฉลาด และมีคชลักษณ์สวยงาม รูปร่างใหญ่ ปัจจุบันการผสมพันธุ์ของช้างเลือดชิดมากขึ้น ทำให้ช้างตัวเล็ก ไม่สง่างาม
...
“ศักดิ์สุรินทร์ ตอนเล็กๆ เหมือนเป็นเพื่อนกับลูกสาววิ่งเล่นกัน เพราะช้างไว้ใจ ไม่เคยเกเร แต่ถ้าไปทำเขาก่อนก็ไม่ยอม ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ เมื่อรักษาหายดีแล้ว อยากให้เขาได้เป็นพ่อพันธุ์ ในการถ่ายทอดช้างที่มีลักษณะดีและอุปนิสัยฉลาดให้เพิ่มขึ้น เพราะ 22 ปี ที่อยู่วัดในศรีลังกา ช้างไม่เคยได้สัมผัสกับเพศเมีย ทั้งที่จริงเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป ซึ่งถ้ามีโอกาสอยากให้พลายศักดิ์สุรินทร์ ได้ถ่ายทอดพันธุ์กรรมให้กับช้างที่เกิดใหม่ ได้มีพ่อพันธุ์ที่ดี กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงการเสียโอกาสของศรีลังกา ที่นำช้างพลายงดงามหลายเชือกไป แต่ไม่ได้ผสมพันธุ์กับช้างท้องถิ่น เลยทำให้ไม่มีช้างที่มีคชลักษณ์ที่ดี สิ่งเหล่านี้ทำให้เสียโอกาส”
ที่ผ่านมารู้สึกเป็นห่วงพลายศักดิ์สุรินทร์ จึงคอยให้คำปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาและนำกลับมายังประเทศไทย เพราะเขาก็เหมือนกับคนในครอบครัว ที่แต่งงานแล้วไปอยู่กับครอบครัวอื่น การกลับมาไทยครั้งนี้ก็ดีใจมาก ซึ่งก่อนการขนย้ายก็ได้บนกับศาลปะกำช้าง ให้การขนย้ายราบรื่น และถ้ามีโอกาสจะไปเยี่ยมที่ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง.
...