มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม มีประสบการณ์ขนย้ายช้างด้วยเครื่องบิน พร้อมช่วยพาพลายศักดิ์สุรินทร์ กลับบ้านไทย ให้ยืมกรงขนย้าย ไม่ต้องไปทำใหม่ให้เปลืองงบประมาณ เผยขั้นตอนขนย้ายช้างละเอียดอ่อน ฝึกเข้ากรงหลายสัปดาห์ หากขนย้ายไม่เหมาะสมเสี่ยงงาหัก ช้างบาดเจ็บ
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ติดตามการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ กลับมายังประเทศไทย ซึ่งส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรี ที่ศรีลังกา เมื่อ 22 ปีก่อน แต่กลับไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จนร่างกายทรุดโทรมขาหน้าด้านซ้ายงอไม่ได้ มีฝีขนาดใหญ่บริเวณหลัง โดยหน่วยงานภาครัฐไทยคาดว่า 1 ก.ค. นี้ สามารถนำพลายศักดิ์สุรินทร์ กลับมาได้
แสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ฐานะที่เคยมีประสบการณ์ในการขนย้ายช้างทางเครื่องบินระหว่างประเทศ และติดตามการทวงคืนพลายศักดิ์สุรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เคยไปศึกษาวิจัยชีวิตช้างไทยที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรี ในศรีลังกา แต่ความเป็นจริงกลับนำช้างไปไว้ในวัด เพื่อเป็นช้างในขบวนแห่ แต่ละปีช้างต้องเดินในขบวนพิธีหลายครั้งจนร่างกายทรุดโทรม เช่น ต้องเดินในขบวนแห่ 10 วัน 10 คืน
...
ช้างไทยที่ถูกส่งไปในศรีลังกามีอีกสองเชือก ถูกใช้งานในขบวนแห่อย่างทารุณ หากมีอาการตกมันจะถูกฉีดยา เพื่อให้สามารถมาเดินร่วมในขบวนแห่ได้ จนมาวันหนึ่งได้พบช้างเชือกหนึ่งล้มลงในขบวนแห่ และได้ถ่ายภาพโพสต์ลงในโซเชียล จนมีเสียงวิจารณ์จากทั่วโลก ทำให้หน่วยงาน RARE องค์กรพิทักษ์สัตว์ ศรีลังกา มาปรึกษาเพื่อรณรงค์ พาช้างไทยในศรีลังกากลับบ้าน
โดยอาทิตย์ก่อน RARE องค์กรพิทักษ์สัตว์ ศรีลังกา เดินทางมาไทย เพื่อยื่นหนังสือไปยังภาครัฐ ให้รีบนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทย โดยยื่นหนังสือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งข้อเท็จจริง มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ต้องการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ เข้ามาดูแล เพราะไม่มีพื้นที่เพียงพอในการดูแลช้าง จึงไม่มีความคิดนำพลายศักดิ์สุรินทร์ มาอยู่ในความดูแลของหน่วยงาน แต่อยากให้อยู่ในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีความพร้อมมากกว่า
เปิดขั้นตอนขนย้ายช้างทางเครื่องบิน
แสงเดือน เล่าถึงประสบการณ์การขนย้ายช้างทางเครื่องบินว่า ที่ผ่านมาเคยขนย้ายช้างทางเครื่องบินหลายเชือก เช่น ขนย้ายช้างจากปากีสถาน มาศูนย์พักฟื้นที่กัมพูชา และกำลังจะขนช้างอีก 2 เชือก จากยูเครน มาที่กัมพูชา สำหรับกรณีขนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ ไม่ใช่พูดวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ขนมาได้เลย ยิ่งถ้าไม่ให้ยาซึมในระหว่างขนย้าย ช้างตัวผู้ ที่อยู่ในกรงขนาดเล็กบนเครื่องบินขนส่ง อาจใช้งางัดกรงจนงาหักได้
กรงขนย้ายช้าง ทางหน่วยงานมีกรงที่ใช้ขนย้ายช้างทางเครื่องบิน เคยเสนอเพื่อให้ยืมมาขนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ โดยไม่ต้องเสียงบประมาณทำใหม่ เพราะกรงดังกล่าว เคยทำเพื่อขนย้ายช้างที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 6–7 ตัน หากหน่วยงานรัฐต้องการสามารถนำไปใช้งานได้ฟรี
ขั้นตอนสำคัญในการขนย้ายช้างทางเครื่องบิน ต้องฝึกช้างให้เดินเข้ากรง เป็นขั้นตอนที่ยาก ใช้การฝึกหลายอาทิตย์ ประกอบกับพลายศักดิ์สุรินทร์ มีงายาวเป็นลักษณะไขว้ ต้องดูว่าพื้นที่กรงขนาดไหน ที่ช้างสามารถอยู่ได้ โดยไม่เกิดอันตรายกับงา หรือต้องดัดแปลงกรง ให้มีความปลอดภัย ไม่ให้ช้างใช้งางัดกรงระหว่างเครื่องขึ้นบินกำลังทำงาน
...
การขนส่งช้างทางเครื่องบินต้องมีการมัดขาหน้า ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ทำให้ช้างบาดเจ็บ ถ้าไม่มัดขาหน้า ช้างจะปีนกรง และเขย่ากรงระหว่างการขนส่ง จากประสบการณ์ช่วงที่ช้างตื่นตระหนกมากที่สุดคือ ช่วงที่เครื่องบินกำลังขึ้น เนื่องจากเสียงเครื่องบินจะทำให้ช้างตกใจ ที่ผ่านมาเคยใช้เวลาฝึกช้าง ก่อนการขนย้ายทางเครื่องบินประมาณ 3 เดือน กรณีของพลายศักดิ์สุรินทร์ ทางหน่วยงานพร้อมเข้าไปช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกในการขนย้าย เพื่อนำช้างไทยกลับมาดูแลในศูนย์พักพิงของรัฐ
ที่ผ่านมามีการส่งช้างไทย ไปยังต่างประเทศหลายแห่ง โดยเฉพาะในจีน แต่ไม่มีกระบวนการติดตามสวัสดิภาพช้างไทยต่อเนื่อง ทำให้เกิดกระบวนการส่งต่อช้างไทยอย่างไม่ถูกต้อง จึงอยากให้มีกระบวนการตรวจสอบร่วมกับองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านนี้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน.