พลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทยทูตสันถวไมตรี ยังรอการส่งกลับมารักษาตัว หลังถูกทารุณจนขาหน้างอไม่ได้ ล่าสุดอาการป่วยดีขึ้น แต่เริ่มซึมเศร้า หลังควาญไทยที่ช่วยดูแลกว่า 6 เดือน กลับไทย จนคนไทยในศรีลังกา ต้องรวมเงินกันซื้อผลไม้มาให้กินเป็นอาหารเสริม และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เร่งดำเนินการส่งช้างกลับประเทศ

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ยังติดตามการทวงคืน พลายศักดิ์สุรินทร์ จากศรีลังกา ขณะนี้อยู่ในกระบวนการรออนุมัติงบประมาณนำกลับไทยด้วยเครื่องบินขนาดใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมาพลายศักดิ์สุรินทร์ ถูกใช้งานหนัก ในการเป็นช้างในขบวนแห่ของวัดแห่งหนึ่ง ที่ต้องเดินแห่เฉลี่ยเดือนละ 30 ครั้ง ทำให้ขาหน้าด้านซ้ายบาดเจ็บ ไม่สามารถงอขาได้ ขณะที่ฝีขนาดใหญ่ด้านหลังทั้งสองข้าง ต้องใช้เวลาในการรักษาอีกนาน

หลังนำเสนอข่าวอาการบาดเจ็บของพลายศักดิ์สุรินทร์ หรือบิลลี่ และทวงคืน เพื่อนำมารักษาที่ไทย ทำให้คนไทยในศรีลังกา เดินทางเข้าไปเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์ ในสวนสัตว์โคลัม ด้วยสภาพบาดเจ็บ จึงระดมเงินกันซื้อผลไม้ มาให้ช้างไทย ทุกวันอาทิตย์ เพื่อรอการส่งกลับไทยในเร็ววัน

...

จันทร์เพ็ญ บุญยิ่ง คนไทยที่ทำงานในประเทศศรีลังกา และเพื่อนอีก 6 คน กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า พอทราบข่าวอาการป่วยของพลายศักดิ์สุรินทร์ เลยเดินทางมากับเพื่อนๆ ทุกวันอาทิตย์ช่วงหยุดงาน ซึ่งอาการในระยะแรก ช้างมีอาการบาดเจ็บค่อนข้างมาก ทำให้รู้สึกสงสาร แต่ตอนนั้นควาญคนไทยยังอยู่ ช้างยังมีอาการร่าเริงเวลาพูดคุยด้วยภาษาไทย แต่พอควาญกลับไทย ช้างเริ่มมีอาการซึมเศร้าให้เห็นชัดขึ้น

อาการพลายศักดิ์สุรินทร์ วันนี้ (7 พ.ค. 2566) เมื่อมาถึงสัตวแพทย์ของสวนสัตว์ชาวศรีลังกา กำลังทำแผลฝีทั้งสองข้างบริเวณหลัง โดยฝีบริเวณด้านขวา มีขนาดใหญ่เป็นโพรง ส่วนฝีด้านซ้าย หนองใหม่กำลังปูดออกมา ลักษณะของฝี เท่าที่เห็นจะมีขนาดลึกมากขึ้น จากการสอบถามสัตวแพทย์ที่มารักษา ได้ให้ข้อมูลว่ายาที่รักษาคือ เบตาดีน และครีมที่ส่งมาจากไทย

สัตวแพทย์ศรีลังกา ที่ดูแลบอกว่ายังต้องการยาจากไทย ที่มาช่วยดูแลช้างในการรักษาฝี และยานวดที่จะมาช่วยดูและขาหน้าด้านซ้ายของช้าง ที่ไม่สามารถงอเข่าได้ เพราะขาหน้าด้านซ้าย มีลักษณะผิดรูป หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการช้างอาจหนักกว่านี้ ส่วนขาหน้าและหลังยังถูกโซ่ตรึงไว้ เพราะเป็นประเพณีการเลี้ยงช้างของที่นี่

“ส่วนการนำช้างเดินทุกเช้า หลังจากควาญไทยกลับไป มีการพาเดินเป็นบางวัน อาการที่น่าห่วงตอนนี้คือ ช้างเริ่มมีอาการซึมเศร้า ถ้าเทียบกับตอนที่ควาญไทยยังอยู่ ช้างยังมีพฤติกรรมร่าเริง เอาหญ้ามาพัดตัวเองเล่น แต่ตอนนี้แววตาของช้างเศร้า พอเราทักทายเป็นภาษาไทย เขารู้และส่งเสียงตอบกลับมา แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ ช้างจะได้กลับไทย” เธอตอบด้วยเสียงสะอื้น

...

พวกเราพยายามคุยกับควาญช้างศรีลังกาทั้ง 2 คน โดยให้เงินควาญไว้ เพื่อให้พาพลายศักดิ์สุรินทร์ เดินทุกเช้า ระหว่างนี้ช่วงที่รองบประมาณเพื่อส่งกลับ อยากให้รัฐบาลไทย ส่งยารักษามาพร้อมกับควาญช้างชาวไทยคนใหม่ ระหว่างรอควาญช้าง ที่เลี้ยงพลายศักดิ์สุรินทร์ ตั้งแต่เกิดกลับไปรักษาสุขภาพร่างกายที่ไทย เพราะควาญช้าง ศรีลังกา ดูแลช้างไม่เหมือนกับคนไทย

อีกจุดสังเกตที่เห็นคือ เล็บเท้าขาหลังด้านขวา มีลักษณะเล็บแตกและผิวด้าน คาดว่าช้างถูกใช้งานในการเดินแห่มาอย่างหนัก จนเห็นร่องรอยบาดเจ็บบริเวณเล็บเท้า

ด้วยความสงสาร จึงได้รวมเงินกับเพื่อน 6 คน เพื่อซื้อผลไม้มาให้พลายศักดิ์สุรินทร์ ทุกวันอาทิตย์ เพราะเท่าที่ทราบจากควาญ จะให้กินอาหารวันละ 200 กิโลกรัม โดยให้ช่วง 08.30 น. และ 13.00 น. ซึ่งผลไม้ที่ซื้อมาคือ แตงโม กล้วย และอ้อย ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ครั้งละ 4,000 บาท ขณะนี้กำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ เพื่อขอลดหย่อนค่าเข้า จากคนละ 500 บาท เพราะต้องนำอาหารมาให้ทุกวันอาทิตย์ หากผู้ที่สนใจสมทบทุนค่าอาหาร สามารถติดต่อมาได้ที่ เฟซบุ๊ก Chanphen Bunying

...

“ภาพแรกที่เห็นพลายศักดิ์สุรินทร์ น่าหดหู่มาก จากช้างที่สวยงาม เนื้อตัวกลับเหี่ยวแห้งน่าสงสาร เหมือนช้างที่แก่มากแล้ว เลยคุยกับเพื่อนว่า จะซื้อผลไม้มาให้ทุกวันอาทิตย์ จนกว่าช้างจะได้กลับไทย เพราะการที่คนไทยมาหาเขา มาพูดคุยด้วยภาษาไทย ช้างรับรู้และรู้สึกผ่อนคลาย อย่างน้อยการที่มีคนไทยมาหาอาทิตย์ละครั้ง เพียงแค่หนึ่งถึงสองชั่วโมง ช้างจะแสดงอาการผ่อนคลาย และมีความสุขให้ได้เห็น”

...

สิ่งที่ทำให้ทุกคนกลับมาหาพลายศักดิ์สุรินทร์ อีกหลายครั้ง เพราะเขารู้ภาษาไทย เมื่อเรียกชื่อก็ตอบรับ พอร้องไห้กับสภาพน่าเวทนา เขารับรู้และมีน้ำตาออกมาเหมือนกับคน ยิ่งพอบอกจะกลับแล้ว เขาชูงวงแล้วเป่าลมออกมาสามรอบ เหมือนการบอกลา แต่น้ำตาช้างก็ไหลออกมาด้วย จนทุกคนสะเทือนใจอย่างมาก

“อยากให้หน่วยงานรัฐไทย เร่งดำเนินการนำช้างกลับไทยให้เร็วที่สุด คนไทยในศรีลังกา ก็พยายามช่วยให้ช้างได้รับอาหารที่เหมาะสม ตามกำลังกายและกำลังทรัพย์ ที่พวกเราพอทำได้”.