ผลจากการยุบสภา 20 มีนาคม 2566 มีผลต่ออำนาจหน้าที่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แม้มีหน้าที่รักษาการทำงานอยู่จนกว่า จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. และรัฐบาลชุดใหม่ แต่มีอำนาจจำกัดตามกฎหมาย
การยุบสภา หรือเรียกเต็มๆ ว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎร คือทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงพร้อมกันก่อนครบวาระ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการยุบสภา วันที่ 20 มีนาคม 2566 นั้น นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมือง ที่มีการยุบสภา เป็นครั้งที่ 15 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2481 ที่มีการยุบสภาในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่สองของไทย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481
ส่วนการยุบสภาก่อนหน้าสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556
เมื่อยุบสภาแล้ว สรุปอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ถูกจำกัดทำไม่ได้เหมือนก่อนยังไม่ยุบสภาแน่นอน โดยสรุปสิ่งที่ ครม.ประยุทธ์ ห้ามทำหลังยุบสภา มีดังนี้
- ไม่อนุมัติโครงการ ที่มีผลผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดแล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี
- ไม่แต่งตั้ง หรือโยกย้าย หรือปลด ข้าราชการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.
- ไม่อนุมัติใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ยกเว้นได้รับความเห็นชอบจาก กกต.
- ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่ฝ่าฝืนข้อห้าม ตามระเบียบ กกต.
...