• จีนเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ไม่ใช่แค่ปลดล็อกการใช้ชีวิตของประชากรในจีน แต่คือการเปิดประตูการค้า การลงทุนอีกรอบของโลก
  • ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งนักธุรกิจในไทย ที่ต่างต้องเร่งเตรียมพร้อมคว้าโอกาสทองนี้ไว้
  • การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า นำร่องย้ำพลังทุนจากจีนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรอบใหม่

หลังจากจีนปิดประเทศ เพื่อสู้กับโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี ไม่เพียงความเป็นอยู่ของประชากร และระบบเศรษฐกิจในจีนจะเงียบเหงาซบเซา แต่ประเทศคู่ค้าของจีนก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน รวมทั้งประเทศไทยก็หนีไม่พ้นผลพวงนี้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 จีนเปิดประเทศให้ชาวจีน และชาวต่างชาติเดินทางเข้าออกได้อิสระกว่าช่วงล็อกดาวน์ และยังมีเรื่องประทับใจเมื่อครั้งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มาร่วมประชุมเอเปก 2022 ในไทยด้วย จึงจุดประกายความหวังว่า บรรยากาศที่สดใสกำลังจะกลับมาเหมือนเดิมในเร็ววัน หากความหวังเป็นจริง นักธุรกิจไทย-จีน ต้องเตรียมพร้อม เพื่อรุกอย่างมีกลยุทธ์อย่างไรบ้าง

คำถามนี้ ทำให้แวดวงนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไทยมาอย่างยาวนาน จึงต่างเร่งมองหาข้อมูลและโอกาสการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างสองประเทศมากขึ้น โดยนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ พร้อมด้วยผู้บริหารไทยรัฐ กรุ๊ป นำโดยนางสาวจิตสุภา วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานคอนเทนต์ไทยรัฐทีวี และผู้บริหารในเครือไทยรัฐ ทั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ ได้เข้าพบปะกับผู้บริหารสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย และสมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย

...

บรรยากาศการหารือที่สมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย
บรรยากาศการหารือที่สมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย

การพบปะครั้งนี้ เพื่อหารือถึงสถานการณ์ด้านความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุนระหว่างไทยกับจีน หลังจากจีนเปิดประเทศ รวมไปถึงเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนทางด้านวัฒนธรรมอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่นักธุรกิจกลุ่มนี้ต่างเห็นตรงกัน คือ มีสัญญาณดีหลายอย่างเกิดขึ้น

บันทึกภาพร่วมกันระหว่างผู้บริหารสมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย ก้บผู้บริหารไทยรัฐ กรุ๊ป
บันทึกภาพร่วมกันระหว่างผู้บริหารสมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย ก้บผู้บริหารไทยรัฐ กรุ๊ป

ปิดฉากเอเปก 2022 แล้ว แต่ภาพต้อนรับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังตราตรึง

เหตุการณ์สำคัญ ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 หรือปี 2022 ที่ผ่านมา และส่งต่อมาถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีนนับจากนี้แน่นอน คือการจัดประชุมเอเปก 2022 ที่ไทยต้อนรับผู้นำจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อย่างสมเกียรติ จนผู้นำจีนโดดเด่นในการประชุมเอเปก และยังมีเซอร์ไพรส์จัดงานวันเกิด ให้มาดาม สี จิ้นผิง ภริยาประธานาธิบดี อย่างน่าประทับใจ ซึ่งนายพินิจกล่าวว่า ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นไม่เพียงรับรู้ในไทย แต่ที่ประเทศจีนก็ชื่นชมอย่างมากด้วย 

“การจัดงานเอเปก 2022 ที่ผ่านมา ยอมรับว่ารัฐบาลไทยจัดได้สุดยอดน่าประทับใจ โดยเฉพาะการจัดเค้กวันเกิดให้มาดามสี จิ้นผิง ที่สร้างความประทับใจ และได้รับคำชมเชยอย่างมาก” นายพินิจกล่าวย้ำ

นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์  (ซ้าย) ร่วมพูดคุยกับ นายชิม ชินวิริยกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย (ขวา) พร้อมผู้บริหารสมาคมฯ และผู้บริหารไทยรัฐ กรุ๊ป
นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ (ซ้าย) ร่วมพูดคุยกับ นายชิม ชินวิริยกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย (ขวา) พร้อมผู้บริหารสมาคมฯ และผู้บริหารไทยรัฐ กรุ๊ป

...

สอดคล้องกับความเห็นของนายชิม ชินวิริยกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ที่มีโอกาสได้เข้าต้อนรับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อครั้งเดินทางมาร่วมประชุมเอเปก 2022 ด้วย

"ถือเป็นการประชุมที่ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่จะแน่นแฟ้นมากขึ้นนับจากนี้ระหว่างไทยกับจีน และเชื่อว่าจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากประเทศไทยมีบรรยากาศการลงทุนที่ดี เหตุการณ์ต่างๆ เป็นไปอย่างเรียบร้อยก็จะจูงใจนักลงทุนจีน ทั้งจากประเทศจีน และชาวจีนที่ลงทุนอยู่ในประเทศอื่นมาไทยมากขึ้น เพราะขณะนี้ชาวจีนที่อยู่ในประเทศต่างๆ ก็ยังมองเห็นว่าไทยยังเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้"

"สวัสดีท่านสี" แม้เป็นคำกล่าวสั้นๆ ที่ ชิม ชินวิริยกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ได้พูด แต่ก็ประทับใจที่มีโอกาสได้เข้าต้อนรับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อครั้งเดินทางมาร่วมประชุมเอเปก 2022

...

อย่างไรก็ตามโจทย์ที่สำคัญ คือ ในไทยยังต้องการแรงงานอีกมาก รัฐจึงควรประสานการจัดหากลุ่มแรงงานถูกกฎหมายเข้าประเทศ เพื่อทำงานในภาคที่ต้องใช้แรงงานหนัก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวนั้นจะเติบโตอีกมาก จึงต้องรองรับให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนับจากนี้

บันทึกภาพร่วมกันระหว่างผู้บริหารสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ก้บผู้บริหารไทยรัฐกรุ๊ป
บันทึกภาพร่วมกันระหว่างผู้บริหารสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ก้บผู้บริหารไทยรัฐกรุ๊ป

ร่วมแรงร่วมใจ เชื่อมโยงทุนรุ่นใหม่จากจีนสู่ไทย

ขณะเดียวกันนายสมชาย เวชากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูโรเปี้ยนฟู้ด จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ในช่วงที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงสูง บทบาทของสมาคมตระกูลแซ่ ไม่เพียงการช่วยเหลือกันในกลุ่มนักธุรกิจของสมาคมฯ แต่การให้ความร่วมมือ หรือเป็นพันธมิตรกับนักลงทุนจากจีนก็เรื่องสำคัญ

...

“การเปิดประเทศของจีนตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เปิดให้คนจีนออกมาเที่ยว แต่ยังเป็นโอกาสที่นักลงทุนจากจีน จะมองหาลู่ทางการลงทุนนอกประเทศจีนด้วย ซึ่งนักลงทุนรุ่นใหม่ของจีน มีความต่างจากรุ่นก่อนที่มาด้วยความยากลำบาก แต่รุ่นใหม่จะมีเงินทุน และมาพร้อมเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่สิ่งที่นักลงทุนจีนรุ่นใหม่ยังขาด คือ ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งสมาคมตระกูลแซ่ ที่อยู่ประเทศไทยมานานจะมีบทบาทสนับสนุนตรงนี้ได้ แต่ต้องยอมรับว่า คนที่มาลงทุนมีทั้งที่ดีและไม่ดี โดยสมาคมฯ พร้อมเข้าไปช่วยคัดกรองให้กลุ่มที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เป็นผู้ประกอบการที่ดีและมีคุณภาพอย่างแท้จริง”

ในโลกปัจจุบัน ตัวอย่างการรุกธุรกิจของจีนที่น่าจับตา คืออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี (Electric Vehicle : EV) ที่มีหลายแบรนด์มาเปิดตลาดประเทศไทยแล้ว  ขณะเดียวกันสิ่งที่ประเทศไทยต้องปรับตัว คือการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการดึงนักลงทุน เพราะไทยมีจุดแข็งอยู่แล้วทั้งอากาศ อาหาร และลักษณะเป็นมิตรของคนไทยที่ยิ้มง่าย

ส่วนนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในจีนนั้นอาจไม่ง่ายนัก  เพราะมีกลุ่มทุนที่แข็งแรงอยู่มานาน แต่โอกาสของไทยยังมี เช่น การส่งออกสินค้าไปจีน หรือต่างประเทศ ที่ต้องมองหาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่างๆ มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์เพื่อขายในราคาที่สูงขึ้นได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าส่งออกด้านการเกษตร และอาหาร

นายสมชาย เวชากร นายกสมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย (ซ้าย) และดร.ชุมพล พรประภา อุปนายกสมาคมฯ  (ขวา) แนะนำแนวโน้มการลงทุนจากจีนที่น่าจับตา
นายสมชาย เวชากร นายกสมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย (ซ้าย) และดร.ชุมพล พรประภา อุปนายกสมาคมฯ (ขวา) แนะนำแนวโน้มการลงทุนจากจีนที่น่าจับตา

จับตารถยนต์ไฟฟ้าจีนครองตลาดโลก

สนามรบการค้าล่าสุดที่จีนกำลังบุก คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอาวุธ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนนับจากนี้ จากก่อนหน้านี้จีนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการเป็นผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีจำนวนมาก ทั้งสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ จนกลายเป็นผู้ครองโลกไอทีมาแล้ว

ดร.ชุมพล พรประภา ประธานกรรมการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) และอุปนายกสมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย ย้ำว่า จีนผลิตและบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ได้เริ่มจากการผลิตรถยนต์เทคโนโลยีสันดาปที่ใช้พลังงานน้ำมัน  ก๊าซ แบบเดิม จึงเริ่มโรงงานผลิตรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ได้ทันที คือ รถยนต์ไฟฟ้า จนขณะนี้ในประเทศจีนมีโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 200 แห่ง

แนวโน้มนี้ ทำให้ธุรกิจในครอบครัวของพรประภามุ่งหน้าอย่างชัดเจนไปยังรถยนต์ไฟฟ้า จากที่เคยเป็นผู้ทำตลาดรถยนต์จากญี่ปุ่นรายใหญ่ของไทย โดยปัจจุบันทายาทรุ่นหลานของตระกูลพรประภา ก็บุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว โดยตั้งบริษัท Rêver Automotive (เรเว่ ออโตโมทีฟ) ที่มี นายประธานวงศ์ พรประภา เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รับเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน แบรนด์ BYD ที่ย่อมาจาก Build Your Dreams

ขณะที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ลงทุนเทคโนโลยีผลิตเครื่องยนต์สันดาป การปรับตัวเพื่อเริ่มใหม่จึงต้องใช้เวลา จึงเชื่อว่าอีกไม่นาน รถยนต์ไฟฟ้าของจีนจะครองตลาดรถยนต์โลกอย่างแน่นอน ส่วนในประเทศไทยก็เป็นตลาดที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าสนใจมาลงทุนเป็นฐานการผลิตจำนวนมาก ซึ่งมีนักธุรกิจจากจีนเข้ามาลงทุนในไทยแล้วประมาณ 5-6 ราย และยังมีแนวโน้มต้องการเข้ามาลงทุนเพิ่มอีก มีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยคาดว่าอีก 3 ปี ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า อาจเพิ่มขึ้นจาก 1-2 หมื่นคันเมื่อปีที่แล้ว ไปถึง 5- 6 หมื่นคันต่อปี ด้วยมูลค่าเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 72,000 ล้านบาทเลยทีเดียว