ปัญหา "ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก" ในไทย ดูเหมือนว่ากำลังจะลุกลามบานปลายไปอีกขั้น จากที่ก่อนหน้านี้เกิดปัญหาให้ได้แก้กันรายวัน ทั้งจาก ปัญหาเงินซื้อลิขทธิ์ ปัญหาทีวีจอดำ ปัญหาสัญญาณถ่ายทอดสดรั่ว จนสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ขู่ระงับลิขสิทธิ์ และ ล่าสุด "คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช." มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 0 เสียง ให้ "การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ. กกท." คืนเงิน ที่ได้รับการสนับสนุนในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก2022 รอบสุดท้าย มูลค่า 600 ล้านบาท ต้องคืนภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี (หากมี) หลังจาก กกท. ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงที่ให้ไว้กับ กสทช. และมีปัญหาปล่อยให้โทรทัศน์ระบบ IPTV "จอดำ" หลังจากที่ กสทช. เคยมีหนังสือเตือน กกท.ไปแล้วก่อนหน้านี้
ทันทีที่ "กสทช." มีมติออกมา "ดร.ก้องศักด ยอดมณี" ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ก็รีบออกมายืนยันทันทีว่า กกท. ไม่ได้ทำผิดข้อตกลงที่ทำไว้กับ กสทช. แต่อย่างใด เพราะมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้ทุกคนได้ดูแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายตามช่องทางต่างๆ ทั้งทีวีดิจิทัลในระบบภาคพื้นและดาวเทียม อย่างถูกต้อง ตามกฎ มัสต์ แครี่ (Must Carry) กรณี IPTV จอดำ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาได้วินิจฉัยกรณีพิพาทระหว่าง เอไอเอส กับ ทรู แล้ว ซึ่งการดำเนินการต้องอยู่ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย
มีคำถามตามมาว่า อะไร? ที่ทำให้ กสทช. ต้องตัดสินใจทวงเงิน 600 ล้านบาท คืนจาก กกท. และอะไร? ที่ทำให้ กกท. ยืนกรานไม่คืนเงินแน่นอน และยืนยันว่าทำตามข้อตกลงที่เคยให้ไว้กับ กสทช. แล้ว ปัญหาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 จะหาทางออกร่วมกันได้หรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วจะต้องถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลกันวุ่นวาย จนยากที่จะจบด้วยการเจรจาเหมือนที่ผ่านๆ มา ฟังมุมมองการวิเคราะห์เรื่องนี้จาก “ดร.สิขเรศ ศิรากานต์” นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน ที่จับตาและเกาะติดปัญหาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้มาโดยตลอด
...
“ดร.สิขเรศ” ระบุว่า การที่ กสทช. มีมติเรียกเงิน 600 ล้านบาทคืน ไม่ผิดคาดนัก ต้องทำในรูปแบบวิธีการนี้ เพราะหากพูดกันโดยหลักการตามระเบียบราชการ ซึ่งมีสังคมและประชาชนหลายฝ่าย จับตาว่าเป็นการป้องกันการฟ้องร้องเรื่อง มาตรา 157 ในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะอาจจะมีการตีความได้ว่า กกท. มีการทำผิดข้อตกลง หรือ MOU แต่ กสทช. ไม่ดำเนินการ แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่า ข้อตกลง หรือ MOU ในที่นี้ อาจจะมีการตีความที่แตกต่างกันออกไปได้ เพราะตอนนี้ถือว่ามีการทำข้อตกลงเกิดขึ้น 2 ฉบับ มีทั้งที่ กสทช. ทำกับ กกท. และอีกฉบับ กกท. ก็ทำกับภาคเอกชนที่ให้เงินสนับสนุน อย่าง กลุ่มทรู
ทำให้ตอนนี้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า การโต้แย้งทางนิติกรรมสัญญาขึ้น ซึ่งแต่ละฝ่ายก็พยายามทำตาม MOU ที่ตัวเองได้ลงนามไว้ “เกิดการตีความทางนิติกรรมสัญญาต่างมุมมองกันออกไป” แม้ที่ผ่านมา ทาง กสทช. จะมีหนังสือแจ้งเตือนไปยัง กกท.หลายฉบับ จากการที่ไม่ดำเนินการตามข้อกำหนดที่ทำไว้ ซึ่งมีการอ้างถึงสิ่งที่ กกท. ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขและปฏิบัติให้ถูกต้องตามบันทึกข้อตกลงฯ ข้อ 2.2 ข้อ 2.4 ข้อ 2.8 และข้อ 2.10
“ดร.สิขเรศ” ชวนตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีการออกมาชี้แจงข้อท้วงติงของ กกท. ที่แตกต่างจากช่วงที่ผ่านๆ มา ที่มักจะนิ่งเงียบมาโดยตลอด แต่ตอนนี้เริ่มมีการตอบโต้ด้วยทางด้านข้อกฎหมาย มีกระบวนการตอบโต้ทางนิติกรรมสัญญา ซึ่ง ดร.สิขเรศ ไล่เรียงถึงการตอบข้อโต้แย้งของ กกท. ไปยัง กสทช.ให้เห็นชัดๆ เป็นรายข้อ
เช่น ข้อ 2.2 ที่ระบุว่า กกท. รับรองว่าจะดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด เผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ ซึ่งภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ในประเทศไทย ซึ่งจะต้องครอบคลุมการออกอากาศผ่านกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช. ตามที่กำหนดในภาคผนวกท้ายบันทึกข้อตกลงนี้
ข้อตกลงนี้ เกี่ยวข้องกับประกาศ มัสต์ แครี่ (Must Carry) แต่ประเด็นปัญหาตรงนี้ก็คือ มีการตีความที่แตกต่างกัน ส่วนที่ 1 ปัญหาจอดำของจานดาวเทียมที่เป็นจานดำ ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านเทคนิค เป็นคำสั่งของ กสทช. ที่ต้องป้องกันเรื่องของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรั่วไหล จากการเตือนของฟีฟ่า ที่มีการยื่นแจ้งเตือนมาถึง 6 ครั้ง เป็นปัญหาเชิงเทคนิค
ส่วนที่ 2 คือ ปัญหาของโทรทัศน์ IPTV ซึ่ง กสทช. ก็มีจดหมายไปยัง กกท. ให้สามารถถ่ายทอดสดได้ ขณะเดียวกันทางกลุ่มทรู ผู้ที่สนับสนุนเงินทุนและได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ซึ่งมีการทำข้อตกลงกับทาง กกท. มีการยื่นร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา จนทำให้เกิดปัญหาจอดำ จึงเป็นที่มาที่ กกท. มีการอ้างอิงตอบกลับในข้อ 2.2 ว่า มีการให้เผยแพร่ภาพทางช่องทางต่างๆ เรียบร้อยแล้ว แต่ติดที่เรื่องของปัญหาลิขสิทธิ์
ซึ่งปัญหาตรงนี้ ตั้งข้อสังเกตต่อว่า ถึงแม้จะมีประกาศมัสต์ แครี่ (Must Carry) ตั้งแต่ในปี 2555 เพื่อไม่ให้เกิดกรณีจอดำ แต่ก็มีประกาศอีกฉบับ ในปี 2563 ที่ กสทช. มีการประกาศเพิ่มเติม เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ในข้อที่ 1 ระบุว่า ผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปที่จะต้องนำรายการโทรทัศน์เผยแพร่ออกอากาศตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ผ่านทางบริการ โทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ทั้งระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดินและโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่ ให้บริการผ่านระบบดาวเทียมระบบเคเบิล ระบบโครงข่ายไอพีทางสายและไร้สาย หรือตามที่ กสทช. จะกำหนดเพิ่มเติม โดยการดำเนินการตามประกาศดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง “กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา”
...
ทำให้ กกท. ใช้สิ่งนี้เป็นข้อโต้แย้งทางนิติกรรมสัญญา เพราะปัญหาจอดำ จากข้อตกลง 2.2 ต้องไปดูเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนมุ่งไปที่กฎ Must have และ Must Carry จนลืมมองประกาศฉบับเพิ่มเติมนี้ไป
ขณะที่ ข้อ 2.4 ที่ต้องตกลงและยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลที่ประสงค์จะเข้าร่วมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ข้อนี้ แม้ตอนแรกจะเกิดปัญหา ที่สมาคมทีวีดิจิทัลออกมาระบุว่า การจัดตารางการถ่ายทอดไม่เป็นธรรม จากการที่ กลุ่มทรู ได้เลือกคู่ที่จะถ่ายทอดสดก่อน และได้จำนวนคู่ที่ถ่ายทอดมากกว่า แต่สุดท้ายก็มีการเจรจาแก้ปัญหาในที่สุด
...
ข้อ 2.8 กกท. ตกลง ยินยอม หรือดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สำนักงาน กสทช. หรือผู้รับใบอนุญาตภายใต้กำกับของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ได้สิทธิในการแพร่ภาพแพร่เสียงการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 ซึ่งรวมถึงสิทธิต่างๆ ข้อนี้ ค่อนข้างจะมีปัญหามากที่สุด เกี่ยวกับการตีความหลักการอนุญาตใช้สิทธิ์ต่างๆ จนเกิดวาทกรรมที่ว่า ผู้สนับสนุนเอกชนได้สิทธิมากกว่า กสทช.ที่ออกเงินไปหรือไม่ แต่ กกท. ก็ยึดหลักการที่ว่า กลุ่มทรู เป็นผู้ได้รับสิทธิ ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ลงนามใน MOU ด้วย
สุดท้าย ข้อ 2.10 กกท. จะดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศ หลักเกณฑ์ และระเบียบที่ กสทช. กำหนด รวมถึงมติที่ประชุม กสทช. ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่และที่จะมีต่อไปในภายหน้า ข้อนี้ชัดเจนว่า การตอบข้อโต้แย้งของ กกท. ถือว่าเป็นการตอบโต้ทางกฎหมาย เกือบทุกย่อหน้า เกือบทุกบรรทัด เพราะข้อนี้ย่อมหมายถึงการที่ กกท. สามารถยกเอาประกาศที่ กสทช. ออกเพิ่มเติมในปี 2563 ที่การดำเนินการตามประกาศกฎมัสต์ แครี่ (Must Carry) ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง “กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา” นำมาอ้างถึงได้ เป็นกระบวนการทางนิติกรรมสัญญา ในการที่อาจจะโต้แย้ง ว่าผู้ได้รับการสนับสนุน มีนิติกรรมสัญญาอยู่ 2 ฉบับ ทั้งที่ทำกับ กสทช. และ ฉบับที่ 2 ก็คือทำกับ กลุ่มทรู
...
เมื่อถามว่า กรอบเวลาที่ กกท. ต้องคืนเงินภายใน 15 วัน จะทันหรือไม่? “ดร.สิขเรศ” มองว่า หากดูจากหนังสือที่ตอบข้อท้วงติงที่ กกท. ชี้แจงไป การจะคืนเงินเป็นไปได้ยากมาก แต่หากจะคืนตามวิธีการปกติ การตั้งของหน่วยงานราชการ ที่จะต้องมีรอบในการประชุม เงินระดับ 600 ล้านบาท ไม่สามารถที่จะทำได้ง่าย ขณะเดียวกันจนถึงวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่า การจ่ายเงินภายในของ กกท.เองเป็นอย่างไร เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ การรับเช็คจาก กสทช. แต่การได้เงินจากผู้สนับสนุน มีการจ่ายเงินรูปแบบไหน หรือมีการสัญญาอย่างอื่นอีกหรือไม่ เรายังไม่เคยทราบ การจ่ายเงินคืนภายใน 15 วัน เป็นไปได้ยาก
เป็นไปได้หรือไม่ที่ กกท. จะหาทางออกวิธีอื่น เพื่อไม่ต้องจ่ายคืน? ก็พอมีทางออก แต่ก็อาจเป็นตัวเลือกที่เลือกยา ซึ่งมี 2 โมเดล โมเดลที่ 1 ก็คือให้มาเจรจาพูดคุยกันกับ กสทช. เพราะเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกันมาตกลง ก็อาจจะยืดระยะเวลา 15 วัน ออกไปได้
โมเดลที่ 2 ที่มีการพูดถึง ให้ไปยกเลิก MOU กับกลุ่มทรู แต่ด้วยหลักการแล้ว กกท. มี MOU อยู่กับทั้งสองฝ่าย ทั้ง กสทช. มูลค่า 600 ล้านบาท และกับเอกชน มูลค่า 300 ล้านบาท "ไม่ว่าจะยกเลิก MOU กับทางไหน ก็มีราคาที่จะต้องจ่าย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง" แต่หน่วยงานราชการกับหน่วยงานราชการยังพอคุยกันได้ แต่ถ้ากับเอกชน อาจจะมีการเรียกค่าเสียหายอื่นๆ ในการยกเลิกสัญญา การยกเลิก MOU กับภาคเอกชนอาจจะเป็นเรื่องใหญ่มาก อาจจะนำมาซึ่งการฟ้องแพ่งตามมาด้วย
"ไม่ใช่ความเสียหายในตัว MOU หรือ สัญญา เพียงอย่างเดียว จะเป็นความเสียหายทางด้านธุรกิจ ที่เอกชนจะมีการฟ้องร้องเพิ่มเติมขึ้นมา" ถึงแม้ว่าวันนี้การถ่ายทอดสดเหลืออีกไม่กี่นัด แต่ถ้าจะยกเลิก MOU เลย ก็อาจจะมีมูลค่ามากกว่านัดก่อนๆ ที่ผ่านมาก็ได้ เพราะอยู่ในรอบลึกๆ ของเกมการแข่งขัน ก็อาจจะมีการตีค่าความเสียหายมหาศาล เมื่อเปรียบเทียบแล้วสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือ การพูดคุยกับ กสทช. แต่ดูแล้วก็แทบจะเป็นไปได้ยาก เพราะ กสทช. ก็ยื่นคำขาดมาแล้วว่าจะต้องไม่ให้มี “จอดำ”
เมื่อลิขสิทธิ์ครั้งนี้ เชื่อมโยงกันทั้ง 3 ฝ่าย โยงกันกับ MOU 2 ฉบับ การจะไปยกเลิกปลดจอดำให้ถ่ายทอดสดได้ ก็ต้องไปคุยกับคนที่ได้รับสิทธิก็คือ ทรู แน่นอนว่า ก็จะมีการอ้างอิงถึงคำสั่งศาลศาลทรัพย์สินทางปัญญาอีก
"กว่าจะจบเรื่องของฟุตบอลโลกก็อาจจะลุกลามไปถึงฟุตบอลยูโร ถือว่าเป็นปัญหาที่อาจจะลุกลามยาวไม่จบง่ายๆ เพราะยังมีเรื่องที่ฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อมีคนผิดก็ต้องมีการเรียกร้องทางละเมิด มีการชดใช้"
เรื่องของลิขสิทธิ์ สิ่งที่เอกชน ที่ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสด ยืนยันชัดเจน คือ การให้คนไทยได้รับชมมหกรรมกีฬา ที่ไม่มีการละเมิดลิขสิทธื์ ที่เสี่ยงต่อการถูกเจ้าของลิขสิทธิ์ระงับสิทธิหากมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญหา “ดร.สิขเรศ” ขยายประเด็นนี้ให้ชัดขึ้น โดยระบุว่า ในมุมมองของเอกชน หากมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล และก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้น จะกระทบต่อตลาดอุตสาหกรรมภาพรวมในอนาคต ด้วยหลักการแบบไทยๆ กกท. สามารถพูดคุยเจรจากับกลุ่มทรูได้แน่นอน แต่ในเชิงหลักความถูกต้องในแง่กฎหมายสากล มันก็อาจจะมีปัญหา เพราะถ้ามีโมเดลแบบนี้คนที่ได้ลิขสิทธิ์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลยูโรหรือโอลิมปิก หรือ ฟุตบอลโลกนัดถัดไป เมื่อเขาเห็นว่าไทยเคยมีกรณีศึกษาเช่นนี้ เขาไม่ได้มองถึงว่าคนที่กำกับดูแลเป็นใคร แต่จะมองถึงภาพรวมของประเทศว่า ภาครัฐใช้อำนาจพิเศษในการบีบบังคับ หรือทำให้เอกชน ปลดล็อกในบางเรื่อง ทำให้การทำมาค้าขายในด้านลิขสิทธิ์ กับประเทศไทย ก็ต้องถูกขึ้นบัญชีเป็นกรณีศึกษา หรือก็อาจจะมีเงื่อนไขที่เพิ่มมากขึ้นในการขายลิขสิทธิ์ หรือแย่กว่านั้นคือไม่ขายลิขสิทธิ์ให้เลย
"เจรจาพูดคุยได้แต่จะกระทบต่อมาตรฐานสากลหรือไม่ จะกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวม ในอนาคตหรือไม่ สิ่งนี้จะต้องจับตา"
แต่สิ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดก็คือปรากฏการณ์ครั้งนี้ คนไทยตื่นรู้แล้วกับปัญหาเรื่องการกำกับดูแลกิจการสื่อ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของลิขสิทธิ์โทรทัศน์ ลิขสิทธิ์กีฬา มีปัญหาอย่างรุนแรง แต่ระหว่างรอการแก้ไขปัญหาหรือการพิจารณาคดีต่างๆ ต้องกลับมาฟังเสียง ทั้งจากผู้ที่สนใจกีฬาจริงๆ และคนที่ไม่ได้สนใจฟุตบอลโลกแต่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกรณี "จอดำ" ซึ่งมีจำนวนหลายล้านคน ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง และยังกระทบอุตสาหกรรมสื่อที่บางคอนเทนต์ไม่สามารถออกอากาศได้ ในช่วงที่มีการถ่ายทอดฟุตบอลโลก หรือเกิดจอดำ ต้องมองภาพคาดการณ์ในอีก 2-4 ปีข้างหน้า ซึ่งเราจะมองเห็นระยะเวลาของช่วงที่มีมหกรรมสำคัญของโลกอยู่แล้ว เดี๋ยวปัญหาก็จะวนกลับมา กสทช. จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
ฟุตบอลโลก 2022 เป็นโมเดลที่ทำให้เห็นว่า การใช้เงินพิเศษต้องจบไปได้แล้ว เพราะมีปัญหาระหว่างคนที่ขอโครงการกับคนที่ให้เงินสนับสนุน เป็นผลกระทบของการเข้ามาแทรกแซงของรัฐ “สิ่งที่ต้องแก้ไขคือทำให้ถูกต้อง เช่น ให้การซื้อขายลิขสิทธิ์กลับไปสู่ภาคเอกชน โดยไม่มีการแทรกแซงตลาด"
“ดร.สิขเรศ” กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า หากจะรัฐต้องการจะเข้ามาอุดหนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬา ควรตั้งงบประมาณของกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปเลย เพราะทราบอยู่แล้วว่าในแต่ละรอบปีจะมีมหกรรมกีฬาอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะหากตั้งเป็นงบประมาณจะเป็นกลไกที่ถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา หรือมีการมอบหมายให้ชัดไปเลยในหน่วยงานบริการสาธารณะของรัฐ กำหนดให้มีหน้าที่ไปประมูลหรือทำสัญญาในการซื้อลิขสิทธิ์ป้องกันการสับสน เพราะที่ผ่านมามีหลายคนที่คิดว่า การไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ไม่ได้มีเขียนไว้ในกฎหมายฉบับใดเลย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง