รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญเป็นอย่างสูงกับการจัดประชุม “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” หรือเอเปก 2022 (APEC 2022 Thailand) โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ไม่เพียงเป็นผลงานในช่วงท้ายรัฐบาลกับชื่อเสียงประเทศเท่านั้น แต่ยังมีอดีตที่ 13 ปีผ่านไปยังลืมได้ยาก จากเหตุการณ์ล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14
การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก 2022ในไทยนั้น มีการใช้งบประมาณตลอดทั้งปีจำนวน 3,283.10 ล้านบาท และมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้วันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อบรรเทาปัญหาด้านการจราจร อำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้เข้าร่วมประชุม รวมทั้งเพื่อให้การอารักขาและรักษาความปลอดภัยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย
ย้อนอดีตการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทย
ทำไมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถึงให้ความสำคัญการประชุมครั้งนี้ หนึ่งนั้นเป็นเพราะจังหวะและโอกาสที่เอื้ออำนวย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง การประชุมระหว่างประเทศที่เคยใช้เพียงระบบการประชุมทางไกลก็กลับมาเจอกันตัวเป็นๆ ที่สำคัญยังเป็นผลงานในระดับอินเตอร์ครั้งสุดท้ายของรัฐบาลที่กำลังหมดวาระลงในช่วงปีหน้าด้วย
สำหรับฐานะของประเทศไทยนั้น เป็นหนึ่งเขตเศรษฐกิจที่ร่วมก่อตั้งเอเปกเมื่อปี 2532 โดยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมเกี่ยวกับเอเปกมาแล้วในปี 2535 และ 2546 ซึ่งการประชุมครั้งแรกเกิดเมื่อเดือนกันยายน 2535 ในรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่มี นายอาสา สารสิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และนายอมเรศ ศิลาอ่อน รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันเป็นประธาน
...
สำหรับประเด็นสำคัญในการหารือในปี 2535 คือ เรื่องการค้าและการลงทุนในภูมิภาค การเจรจาการค้ารอบอุรุกวัย แผนการทำงานและอนาคตของเอเปก รวมทั้งมีการประกาศจัดตั้งสำนักเลขาธิการเอเปกให้มีสำนักงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินงานของเอเปก ซึ่งต่อมาในปี 2536 การประชุมเอเปกก็เรียกว่าเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก โดยจัดขึ้นครั้งแรกที่ซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ในสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน โดยมี นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ไปร่วมประชุม
ส่วนการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปกระดับสุดยอดผู้นำของประเทศนั้น ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกจึงเกิดเมื่อปี 2546 ในการประชุมเอเปก ครั้งที่ 11 หรือ APEC Thailand 2003 (Asia Pacific Economic Cooperation Thailand 2003) ซึ่งไทยได้เป็นเจ้าภาพต่อจากเม็กซิโก ภายใต้หัวข้อเรื่อง "โลกแห่งความแตกต่าง หุ้นส่วนเพื่ออนาคต" ระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2546 ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น)
ในการประชุมครั้งนั้นก็มีปัจจัยแวดล้อมไม่ต่างจากปัจจุบัน เพราะอยู่ในสถานการณ์เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่ยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความมั่นคงด้านการก่อการร้าย และโรคระบาด SARS ซึ่งการประชุมครานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ทำให้นานาประเทศรู้จัก “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือโอทอปไทย เพราะมีการนำสินค้ามาจำหน่าย โชว์ และแจกจ่ายให้ผู้นำและแขกต่างประเทศได้เห็นและนำกลับประเทศไปด้วย
‘ยิ่งลักษณ์’ เสนอขอ แต่ ‘ประยุทธ์’ คว้าผลงานเป็นเจ้าภาพ
สำหรับ “เอเปก 2022” ซึ่งไทยรับไม้ต่อมาจากประเทศนิวซีแลนด์ที่จัดขึ้นเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้วที่เป็นการประชุมทางไกลนั้น ไทยได้แจ้งความประสงค์ขอเป็นเจ้าภาพล่วงหน้ามาตั้งแต่ปี 2555 เพราะการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกนั้นไม่ได้เรียงตามตัวอักษรของ 21 เขตเศรษฐกิจ แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อม โดยมีสมาชิก 11 รายที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมา 2 ครั้ง และมีสมาชิกอีก 7 รายที่เคยเป็นเจ้าภาพครั้งเดียว โดยฮ่องกง และไต้หวัน นั้นยังไม่เคยเป็นเจ้าภาพ ทำให้ไทยถือเป็นชาติสมาชิกเอเปครายที่ 12 ที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก
...
ในปี 2555 ที่ไทยแสดงตัวพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก นั้นเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกครั้งที่ 20 ที่เมืองวลาดิวอสตอค ประเทศรัสเซีย ซึ่งการเสนอตัวของรัฐบาลในขณะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งเพื่อหวังใช้การประชุมใหญ่ระหว่างประเทศเพื่อลบล้างตราบาปจากเหตุการณ์ล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 ที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีช พัทยา ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ได้บุกเข้าไปยังสถานที่ประชุม และล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและอาเซียน+3 ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น
ภาพคนเสื้อแดงนับพันทุบกระจกโรงแรม และตามล่าตัวนายอภิสิทธิ์ ในขณะที่ผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาบางประเทศ และทีมรักษาความปลอดภัยของประเทศนั้นๆ ต้องขึ้นเรือเร็วหนีออกไปจากท่าเรือของโรงแรมรอยัลคลิฟบีช จนนำมาซึ่งบทสุดท้าย ที่ในเวลาต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำคุกแกนนำ นปช. 12 คน จำนวน 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา
...
เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหาย และสะท้อนจุดอ่อนของประเทศไทยในประสิทธิภาพการจัดประชุมระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะแม้การประชุมระดับใหญ่ๆ ทั่วไป ก็เคยมีเหตุการณ์ประท้วง หรือผู้เห็นต่างจากการประชุมอยู่เสมอ แต่ส่วนใหญ่จำกัดอยู่เพียงรอบนอกสถานที่ประชุม เพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเห็นต่าง
แม้เวลาได้ผ่านไปนานแล้ว แต่ดูเหมือนเหตุการณ์นั้นยังเป็นฝันร้ายของประเทศไทยจนถึงเวลานี้
งานนี้จึงไม่แปลกที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะทุ่มทุนสร้างอย่างมากในการจัดประชุมเอเปก 2022 ที่จัดเต็มในการรณรงค์เรื่อง “ไทยพร้อม เอเปกพร้อม” เพราะนอกจากเป็นผลงานชิ้นโบแดงทิ้งทวนให้กับรัฐบาลไทยต่อจากการฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบียแล้ว หากสำเร็จลุล่วงด้วยดี ยังเป็นการขโมยซีนการเป็นเจ้าภาพที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยผลักดันไว้ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย.