สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ออกแถลงการณ์ การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ย. 2565 ทำให้ผู้นำประเทศทั่วโลกต่างแสดงความอาลัย แด่องค์ราชินีผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดผู้นี้
ในตลอดการครองราชสมบัติ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 9-15 กุมภาพันธ์ 2515 ครั้งนั้น ทรงเสด็จพร้อมด้วย เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามี เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระราชธิดา
ทุกพระองค์ทรงเสด็จถึงสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี เวลา 10.50 น. ของวันที่ 9 ก.พ. 15 จากนั้นเสด็จลงเรือพระที่นั่งบริแทนเนีย ที่ท่าเรือสัตหีบเพื่อมุ่งสู่พระนคร ซึ่งถือเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จเยือนประเทศไทยทางชลมารค ด้วยเรือพระที่นั่งล่องมาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้เวลาชั่วคืนเรือพระที่นั่งบริแทนเนีย ได้แล่นมาถึงท่าราชวรดิฐ กรุงเทพฯ ในเวลา 10.30 น. วันที่ 10 ก.พ. 15 ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์ ได้มาคอยต้อนรับ และถือเป็นการกระชับสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศไทยและอังกฤษให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ซึ่งก่อนหน้านั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เคยเสด็จเยือนรัฐบาลอังกฤษ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างวันที่ 19-23 ก.ค. 2503
ครั้งนั้น สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ได้ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “รอยัลวิกตอเรียน” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรี แด่ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเล่าถึงการรับเสด็จไว้ในหนังสือว่า
“สิ่งที่ข้าพเจ้าอดที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังไม่ได้ คือ พระราชินีนาถเอลิซาเบธได้ทรงโปรดให้จัดของไทยๆ เช่น ขันน้ำกับพานรองลงยาราชวดีหีบทองลงยา ตลับยานัตถุ์ทองลงยา ซองบุหรี่ทองลงยา ดาบฝักทองคำจำหลัก ที่ชาถมตะทอง เป็นต้น มาประดับตกแห่งห้องนั่งเล่นของเราภายในพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อให้เราทั้งสองได้รู้สึกเหมือนบ้าน
ของเหล่านั้น เป็นของขวัญที่รัชกาลที่ 4 ส่งไปพระราชทานควีนวิกตอเรีย โดยโปรดเกล้าฯ ให้ราชทูตไทย มีพระยามนตรีสุริยวงศ์และคณะ คือ หม่อมราโชทัย นำไปถวายเมื่อปี พ.ศ. 2400 หรือ ค.ศ. 1857
ข้าพเจ้ามีความรู้สึกส่วนตัวว่า ทุกครั้งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงพบกับพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ท่านทรงคุยกันอย่างคุ้นเคย ทั้งๆ ที่ทรงพบกันครั้งแรกเมื่อไม่กี่วันมานั่นเอง โดยเฉพาะคืนนั้น มีการทรงเย้าแหย่ซึ่งกันและกันอย่างสนิทสนม ทำให้พวกเราที่ร่วมโต๊ะเสวยพลอยสนุกสนานได้ขบขันไปด้วย ทั้งนี้ เห็นจะเป็นเพราะทั้งสองพระองค์ทรงมีพระชะตาต้องกัน และพระชันษาก็ใกล้เคียงกันมากนั่นเอง”
สำหรับการเยือน สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 9-15 กุมภาพันธ์ 2515 ได้มีการเสด็จฯ ร่วมพระราชกรณียกิจ หลายประการ อาทิ เสด็จฯ ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, เสด็จฯ เยี่ยมวัดบวรนิเวศวิหาร โรงเรียนเตรียมทหาร ทอดพระเนตรเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ
เสด็จฯ พระราชวังบางประอิน ขณะที่ เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนนาฏศิลป์ เป็นต้น
ในส่วนของพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ ได้มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่ง สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระราชดำรัส ระหว่างพิธีการต้อนรับและมอบกุญแจเมือง ว่า ทรงยินดีที่ได้มาเยือนนครหลวงของไทย ซึ่งปรารถนาจะได้ทอดพระเนตรมานาน ทั้งยังมีแม่น้ำซึ่งเป็นทางสัญจรใหญ่มาหลายชั่วอายุคน และใช้เป็นเส้นทางติดต่อชาวโลกด้วย
ทรงปรารถนาได้มาเยือนประเทศไทยเพื่อจะได้ทอดพระเนตรสิ่งต่างๆ ในโลกที่งดงามและมีความผาสุกทั้งเต็มไปด้วยความรุ่งเรืองในอดีต แต่ก็มีเจตนาแน่วแน่พอๆ กับด้านความมุ่งมั่นสำหรับภาวะปัจจุบันและตั้งความหวังในอนาคต
ทรงพอพระทัยที่ได้มีประสบการณ์ที่น่าสนใจ คือ เห็นกิจกรรมทางการค้า และอุตสาหกรรมตามสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างพระราชดำเนิน เพราะทรงเห็นชีวิตผู้คนส่วนหนึ่งในนครหลวงกรุงเทพฯ-ธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงเลือกสถานที่นี้เพื่อเหตุผลทางยุทธศาสตร์ก็จริง แต่ปรากฏว่าต่อมา เป็นการเลือกอย่างเหมาะสมยิ่ง โดยระยะ 250 ปี ต่อมา กลายเป็นนครหลวงกรุงเทพฯ-ธนบุรี นครใหญ่แห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย เป็นเมืองท่าที่จริญ และศูนย์กลางการค้า เป็นศูนย์รวมชีวิตแห่งชาติทั้งทางด้านการเมือง ภูมิปัญญา กับยังเป็นหัวใจของประเทศที่มั่งคั่งและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
สำหรับการเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในครั้งที่ 2 ของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 นั้น อยู่ในระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2539 เนื่องในโอกาสปีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี.