หลังคณะศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ รับคำร้องพรรคร่วมฝ่ายค้าน กรณีการพิจารณานายกรัฐมนตรีครบวาระ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีมติ 5 ต่อ 4 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าการพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ระหว่างรอการพิจารณา ทำให้ขณะนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการแทน แต่มีความกังวลว่าการสั่งการ หรือการอนุมัติงานราชการอาจมีข้อจำกัด จนทำให้การบริหารราชการแผ่นดินหยุดชะงักหรือไม่?
“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแค่ในนาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม แม้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการ เพราะคณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานราชการส่วนอื่นยังคงทำหน้าที่ต่อ ขณะที่การพิจารณาสำคัญอย่างร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สภาได้อนุมัติให้ผ่านไปแล้ว เมื่อกลางดึกวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา
การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ เหมือนกับการลาพักร้อน เพราะอำนาจการสั่งการยังเหมือนเดิม ถ้าวิเคราะห์เกมการเมืองถือว่าเป็นผลดีกับบิ๊กตู่ เพราะช่วยลดแรงกดดันจากผู้ชุมนุมนอกสภา ขณะเดียวกันหากยังนั่งอยู่ในตำแหน่งต่อ เมื่อถึงการประชุมเอเปค จะถูกนักข่าวต่างชาติขุดคุ้ยกรณีนี้นายกฯ 8 ปี จนทำให้เสียภาพลักษณ์ แต่ถ้ามองทางการเมือง ถือว่าเป็นการวางแผนที่เหนือชั้น เพราะวาระการพิจารณาสำคัญได้อนุมัติไปแล้ว ช่วงเวลานี้จึงเป็นจังหวะเหมาะสมมากที่สุด
“ท่าทีของบิ๊กตู่ เหมือนรู้แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้วันที่ 24 ส.ค. ไม่เดินทางเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบฯ แต่ใช้การประชุมออนไลน์มาจากบ้านพัก เพราะคงเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี หากมีภาพบิ๊กตู่ เดินคอตกขึ้นรถกลับบ้าน”
...
ถ้าวิเคราะห์ถึงผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายนนี้ หากตัดสินให้พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่คณะรัฐมนตรียังสามารถทำงานต่อได้จนครบวาระ และรอการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่หากคำตัดสินให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งต่อ จะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับพล.อ.ประยุทธ์ สามารถลงเลือกตั้งในครั้งถัดไปได้ และถือเป็นการสร้างความได้เปรียบเชิงการเมือง
“ต้องยอมรับว่าเกมการเมืองของฝั่งรัฐบาล วางแผนไว้ซับซ้อนกว่าที่คิด จึงเป็นไปได้ว่า หลังจากการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กลุ่มอำนาจเดิมจะได้อยู่ต่อ เพราะดูจากช่วงเวลาขณะนี้จะเห็นว่า เดือนกันยายน ไม่มีวาระการพิจารณาที่สำคัญ แต่หลังการตัดสิน เมื่อเข้าเดือนตุลาคม จะเริ่มมีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และสามารถนำงบประมาณมาใช้เพื่อดำเนินนโยบายต่อได้”
นายกฯ รักษาการ ไม่ใช่ตัวจริง สั่งยุบสภาไม่ได้
“รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจบางกรณีได้เหมือนนายกรัฐมนตรีตัวจริง โดยเฉพาะอำนาจในการยุบสภา ไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกันยังมีข้อกฎหมายบางอย่างที่ไม่สามารถทำแทนได้ แต่การบริหารราชการแผ่นดินทั่วไปสามารถทำได้ตามปกติ
การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาเสร็จสิ้น เป็นผลดีในการลดความตึงเครียดทางการเมืองของผู้ชุมนุม และเป็นผลดีต่อพรรคร่วมรัฐบาล ที่ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ.