• หลายฝ่ายทั้งกองแช่งและกองเชียร์ กำลังจับตาท่าทีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตัดสินใจยุบสภา หรือลาออก หรือไม่? ก่อนวันที่ 23 ส.ค. 2565 จากปมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีห้ามเกิน 8 ปี แม้เจ้าตัวออกมายืนกรานจะไม่ยุบสภา ขอเดินหน้าทำงานให้กับประชาชนในช่วงเวลาที่เหลืออย่างเต็มที่

  • แต่ด้วยสถานการณ์กดดันรอบด้าน อาจยอมกลืนเลือดชิงยุบสภา ลงจากตำแหน่งอย่างงามๆ ดีกว่ายื้อเวลารอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็เป็นไปได้ แล้วชายชาติทหารอย่าง “บิ๊กตู่” จะเลือกทางเดินอย่างไรต่อไป ในห้วงสิงหาคมเดือนอันตราย เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวเท่านั้น

  • ท่ามกลางการเตรียมพร้อมเลือกตั้งของเหล่านักการเมืองกำลังวิ่งฝุ่นตลบหารังใหม่ในการย้ายพรรค เข้าสู่โหมดนับถอยหลังวาระสุดท้ายรัฐบาล “บิ๊กตู่” จึงไม่แปลกที่หลายพรรคขยันลงพื้นที่เพื่อชิงความได้เปรียบในศึกเลือกตั้งปี 2566 กับการล่มสลายของแก๊ง 3 ป. จะกลายเป็นภาพใหม่การเมืองไทย

ขอให้ติดตามอย่ากะพริบตาเป็นอันขาด จากการวิเคราะห์ของ “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ยุบสภา และจะไม่ลาออก เนื่องจากจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล หากในกรณียุบสภา จะนำไปสู่การเลือกตั้งภายใน 45 วัน หรือไม่เกิน 60 วัน หรือเต็มที่สุด 2 เดือน ยกตัวอย่างหลังการเลือกตั้งปี 2562 ใช้เวลาเกิน 5 เดือน ในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นหากมีการยุบสภา จะไม่มีรัฐบาล อีกทั้งปมนายกฯ 8 ปีก็ยังไม่จบ และจะมีประชุมเอเปค ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องยื้อเวลา ไม่เช่นนั้นจะอยู่ในฐานะรักษาการ หากมีการยุบสภา

...

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าบิ๊กตู่ จะไม่ยุบสภา หรือลาออก
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าบิ๊กตู่ จะไม่ยุบสภา หรือลาออก

ส่วนการลาออกก็ไม่ได้เป็นผลดีกับตัว พล.อ.ประยุทธ์ และกับภาพรวมประชาชน เพราะถ้าลาออกก่อน 24 ส.ค. 2565 เท่ากับว่าแคนดิเดตนายกฯ จะมี 6 คน หากพล.อ.ประยุทธ์ กลับเข้ามาอีก ก็เกิดปัญหาเดิมๆ ทำให้เหลือแคนดิเดตนายกฯ 5 คน คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ชัยเกษม นิติสิริ, อนุทิน ชาญวีรกูล และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ปมนายกฯ 8 ปี ก็ไม่จบ จะเกิดคำถามระหว่างรักษาการว่าพล.อ.ประยุทธ์ ยังถือเป็นนายกฯ หรือไม่ ถือว่าเดือนสิงหาคมเป็นเดือนอันตราย ทั้งเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง โผแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ แม้กระทั่งกฎหมายงบประมาณ จึงเชื่อว่านายกฯ จะไม่ตัดสินใจยุบสภา หรือลาออก

“อย่าลืมว่าสถานการณ์รัฐบาล หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจยังมีเสถียรภาพ แม้พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้คะแนนที่สวยที่สุด และคะแนนบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ดีกว่าอีกด้วย แต่ก็ผ่านอภิปรายมาได้ ทำให้ได้อยู่จนครบในปี 2566 จึงไม่มีสัญญาณใดๆ จะยุบสภา”

พรรคการเมืองพร้อม จบประชุมเอเปค มีโอกาสยุบสภา

กรณีการชุมนุมทางการเมืองหลัง 24 ส.ค. 2565 เพื่อกดดันขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ดูแล้วค่อนข้างยาก เพราะรัฐบาลมีเครื่องมือทั้งกฎหมาย กับการใช้อำนาจที่เข้มข้น และม็อบเองก็อ่อนแรง ไม่อาจที่จะปลุกม็อบให้คืนชีพขึ้นมาได้ หรือหลายคนกังวลว่าม็อบจะล้มการประชุมเอเปค เหมือนกับกลุ่ม นปช.บุกล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา เมื่อปี 2552 หรือไม่ ซึ่งสถานการณ์ในช่วงนั้นมีม็อบมากมาย ทั้งม็อบ นปช. และม็อบกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ทุกวันนี้ต่างกันมาก ทำให้การประชุมเอเปคในครั้งนี้จะมีเพียงม็อบขนาดเล็ก คงไม่สามารถล้มการประชุมได้เหมือนการประชุมอาเซียน

เพราะฉะนั้นแล้วให้ติดตามหลังการประชุมเอเปค มีโอกาสสูงจะยุบสภา แต่เป็นการยุบสภาในเชิงเทคนิค เพื่อสร้างความได้เปรียบในการขยายจัดให้มีเลือกตั้งภายใน 45 วัน มาเป็นไม่เกิน 60 วัน เพื่อเอื้อต่อการหาเสียง และการย้ายพรรคของนักการเมือง ต้องสังกัดพรรคใหม่ภายใน 90 วัน แตกต่างกับกรณียุบสภาจะต้องย้ายพรรคภายใน 30 วัน ซึ่งระยะเวลาสั้นกว่า และยิ่งมีการใช้สูตรคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบหาร 100 จากเดิมหาร 500 เป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็น และเป็นการเตรียมพร้อมของแต่ละพรรค

...

อวสาน "บิ๊กตู่" ปิดตำนาน 3 ป. หลังเลือกตั้งครั้งหน้า

หลังการยุบสภาการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาในเส้นทางการเมืองนั้นไม่ง่าย จากปัญหาเศรษฐกิจยืดเยื้อมานาน และความชอบธรรมทางการเมือง จะถูกนำไปตั้งคำถาม ทำให้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขายไม่ได้อีกต่อไป และทางออกที่ดีที่สุดคือการวางมือทางการเมือง ไม่ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมนายกฯ 8 ปี เพื่อการลงจากตำแหน่งอย่างสวยงาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเป็นประธานเอเปค เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นมานาน 20 ปี แต่ถามว่าได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ จนทำให้อนาคตการเมืองจบแค่นี้

"บิ๊กตู่เป็นหนังหน้าไฟมาหลายปี เจ็บมาเยอะ ไม่เหมือนบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่เคยปะทะกับสาธารณะ ทั้งๆ ที่อยู่มา 8 ปีเหมือนกัน ส่วนบิ๊กป้อมอยู่ได้เพราะบารมีส่วนบุคคลมากกว่า คิดว่า 3 ป. กำลังหาทางลงในการยุติบทบาททางการเมือง จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก หรือเรียกว่า Vote for Change แต่หากเกิดการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ อาจเกิดปัญหาเหมือนในอดีต พรรคเพื่อไทยอาจไม่ได้แลนด์สไลด์เสมอไป เพราะยังไม่มี ส.ส.ภาคใต้ อีกทั้งเลือกตั้งครั้งหน้าใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กาคนละเบอร์ รวมถึงมุมมองของประชาชนอาจเปลี่ยนไปจากค่านิยม ความเชื่อ และบริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป มีพรรคการเมืองมากขึ้น"

...

หากมองไปข้างหน้ากับการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา มีหลายคนถามโอกาสที่ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ง่ายเช่นกัน เพราะพรรคเพื่อไทยยังไม่มีการฟันธงเลือกให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อีกทั้ง ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อ จะต้องประเมินอย่างรอบคอบที่สุด ไม่เพียงแต่ความชอบของประชาชนเท่านั้น จะต้องดูเงื่อนไขของกฎหมาย เนื่องจากเป็นลูกสาวคนโปรด ต้องบวกลบคูณหารให้ดีก่อนตัดสินใจ มองว่าการเข้ามาของแพทองธารเป็นเพียงสีสัน และเป็นแม่เหล็กเพื่อดึงคนกำลังจะออกจากพรรคเพื่อไทยให้กลับมาเท่านั้น

สรุปแล้วหลังการประชุมเอเปค อาจได้เห็นการยุบสภา นำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2566 ทำให้การเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับการปิดตำนาน "3 ป." เพราะในห้วงเวลา 8 ปีที่เข้ามามีอำนาจหวังคืนความสุขให้ประเทศ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้นภายใต้การบริหารของ "บิ๊กตู่" หนทางข้างหน้าหากจะลงเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว คงเป็นเรื่องยากมาก เพราะชื่อคงขายไม่ได้แล้ว.

ผู้เขียน : ปูรณิมา