“ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” กลายเป็นวาทะอีกครั้งจากคำพูด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำของประเทศ ไล่ให้สื่อไปศึกษาธรรมะเสียบ้างในเชิงติติง เพราะไม่พอใจการพาดหัวข่าวค่าไฟรอบใหม่ จะปรับขึ้น 4-5 บาท ทำคนเข้าใจผิด ทั้งที่เป็นการปรับขึ้นเป็นหลักสตางค์
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามจะระงับอารมณ์ฉุนเฉียว แต่คาดว่าด้วยปม 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหลายๆ ปัญหาประเดประดังเข้ามา อาจทำให้หงุดหงิดโดยไม่รู้ตัว จนกลายเป็นความทุกข์จะต้องหาวิธีแก้ปัญหาตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องอริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”
- “ทุกข์” การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างมีความทุกข์เกิดขึ้นได้ทุกขณะ จึงไม่ควรประมาทและพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความจริงของทุกข์นั้น
- “สมุทัย” สาเหตุทำให้เกิดทุกข์ จากความอยากทั้งกามตัณหา ความทะยานอยากได้ อยากมี อยากเป็นในจิตใจ หรือภวตัณหา กลายเป็นเหตุเกิดความทุกข์ หรือปัญหาต่างๆ เป็นหลักธรรมที่ควรละ เพื่อไม่ให้เกิดทุกข์
- “นิโรธ” การดับทุกข์ หรือดับปัญหาต่างๆ เป็นสาเหตุทำให้เกิดทุกข์ ต้องสลัดทิ้ง ปลดปล่อยสิ่งที่เป็นบ่อเกิดทุกข์โดยสิ้นเชิง ไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกเหมือนไฟที่สิ้นเชื้อ
- “มรรค” แนวปฏิบัติให้พ้นจากความทุกข์ หรือปัญหาต่างๆ ในการทำให้กิเลสหมดสภาพไปได้ ด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติ นำไปสู่สมาธิและปัญญาให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้า
...
แล้วเหตุผลใดทำไม? พล.อ.ประยุทธ์ จึงหยิบยกหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ออกมาพูดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการตัดสินใจชีวิตในทางการเมืองระหว่างการตะแบงอยู่ต่อในตำแหน่ง หรือลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อครบ 8 ปี และในมุมมองของ “รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก เห็นว่า เวลา พล.อ.ประยุทธ์ พูดอะไรเหมือนไม่ได้เตรียมพร้อมมาก่อน หรือคิดอะไรได้ก็พูดออกมา เป็นนิสัยทั่วไปของ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนกับสั่งสอนคนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้
“คงฉุกคิดมาได้ว่าน่าจะพูดในเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ให้เป็นคำสอนของผู้นำในเรื่องเหตุของทุกข์ และวิธีดับทุกข์ จนไม่แน่ใจว่าท่านต้องการอะไร แต่ที่แน่ๆ อยากจะสอนคน เป็นวิธีอันหนึ่งของท่านนายกฯ มักจะหยิบมาใช้เสมอๆ ว่าตัวท่านนั้นมีหลักคิด เพราะทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นวิธีคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และแก้ที่สาเหตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การที่นายกฯ พูดขึ้นมา อาจต้องการให้ไปแก้ที่สาเหตุหรือไม่”
เมื่อมองในบริบทของการเมือง สาเหตุอยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐบาล ต้องแก้ปัญหาให้กับประชาชน อยากถามย้อนกลับไปว่าได้แก้ปัญหาของประชาชนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากอย่างไร เพราะขณะนี้ทุกอย่างขึ้นราคาไปหมด รวมทั้งค่าไฟมีการปล่อยให้ปรับขึ้นไป โดยไม่ทำอะไร หากจะแก้ปัญหาให้ประชาชน จะต้องพยายามประคับประคองไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน จึงไม่ใช่หลักการของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และค่าไฟที่จะขึ้น ไม่แน่ใจว่าเกิดจากค่าใช้จ่ายอะไรที่เป็นต้นทุน ซึ่งฝ่ายค้านได้พูดไปว่ามีการไปทำสัญญาผูกพันกับบริษัทที่ขายไฟ เป็นการเปิดโอกาสให้เขาหรือไม่ เหมือนไปเอื้อให้กับบริษัทผู้ผลิตไฟ
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ พยายามควบคุมอารมณ์และพูดจาเป็นหลักเกณฑ์ แต่ขณะนี้กลับมามีอารมณ์ฉุนเฉียวอีก หรืออาจเกี่ยวกับปมนายกฯ 8 ปี เพราะหากใช้หลักของ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พบว่าสาเหตุเกิดจากเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมรับการลงจากตำแหน่ง หากยอมทำตามก็จบปัญหา เหมือนกรณี “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่พยายามตะแบงจนทำให้ประชาชนทุกข์ไปด้วย จากสาเหตุของทุกข์ที่เกิดจากตัว พล.อ.ประยุทธ์ เพราะยิ่งยืนหยัดจะอยู่ต่อ ยิ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้
...
“บุคลิกของท่านนายกฯ พูดอะไรออกมาจะชอบสอน แต่เหมือนไม่ได้เตรียมอะไรมา และก็ฉุกคิดขึ้นมาพูดในเรื่อง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถามว่าแล้วจะมีรัฐบาลไปทำไม ทั้งๆ ที่ประชาชนต้องการรัฐบาลมาช่วยจัดการให้พวกเขา และแก้ปัญหาให้เขา เพราะความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล จะต้องกลับไปทบทวนตัวเองว่าเป็นสาเหตุของความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนหรือไม่”.