24 ส.ค. 2565 ใกล้เข้ามาทุกที กับประเด็น 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ”บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรจะลงจากตำแหน่งหรือไม่ ท่ามกลางข้อถกเถียงจากบรรดาผู้รู้ทั้งหลาย ให้นับการทำหน้าที่หลังการรัฐประหาร ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 ก็เท่ากับว่าวันที่ 23 ส.ค. 2565 นี้ จะบริหารประเทศครบ 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีมิได้ ส่วนอีกฝ่ายออกมาแย้ง ต้องนับเริ่มแรกตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2562

เมื่อการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบิ๊กตู่ ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด และจะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คงเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย หรืออีกแนวทางหนึ่งไม่ต้องรอให้ศาลวินิจฉัย จากแรงกดดันเริ่มมีมากขึ้นให้ ”บิ๊กตู่” ลงจากตำแหน่ง เพราะเผชิญกับวิกฤติศรัทธา จนคะแนนนิยมตกต่ำลงต่อเนื่อง แทบไม่เหลือความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลชุดนี้ ก็น่าจะพิจารณาตัวเองด้วยการลาออก หรือยุบสภา ก่อนวันที่ 24 ส.ค. น่าจะดูสง่างามมากกว่า และไม่สร้างความปวดหัวกวนใจให้กับ ”บิ๊กตู่” อีกต่อไป

...

ทางเลือกใดจะดีที่สุดสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ ในการลงจากหลังเสือ และก้าวลงจากอำนาจอย่างสง่างาม จากคำแนะนำของ ”รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ระบุว่า อยากจะถามพล.อ.ประยุทธ์ จะใช้คู่มือใดลงจากตำแหน่ง ระหว่างด้านกฎหมาย หรือกฎมหาชน หากในด้านกฎหมายพบว่าที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ มักพูดอยู่เป็นประจำขอให้ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย แต่การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 และอีกครั้งวันที่ 9 ส.ค. 2560 ซึ่งทั้งสองกรณีได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และตามมาตรา 158 ในรัฐธรรมนูญ ระบุนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ถ้านับรวมกันแล้วห้ามเกิน 8 ปี

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 อาจไม่เจาะจงเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ แต่เมื่อย้อนไปในสมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยแรกและสมัยที่สอง รวมกันแล้ว 6 ปีเศษ หากจะดำรงตำแหน่งอีกก็ได้ไม่เกิน 2 ปี และสาเหตุที่รัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี เพื่อไม่ให้ผูกขาดอำนาจ เพราะการอยู่ในตำแหน่งนานอาจเพลิดเพลินกับการอยู่ในอำนาจ ทำให้การบริหารประเทศมีปัญหาได้

“ตรงนี้ต้องบอกว่าถ้าดูตามกฎหมาย ไม่ว่ามุมใดก็ตาม ลุงตู่จะครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ เพราะมาตรา 264 ระบุว่าคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แสดงว่าลุงตู่ อยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้อย่างสมบรูณ์ จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควรใช้เวลาช่วงนี้ไต่ลงจากตำแหน่งอย่างสวยๆ เท่ๆ จะดีกว่า ถ้าดึงดันจะเจ็บตัวเหมือนรุ่นพี่ อย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลถนอม กิตติขจร ที่จบไม่สวยเลย แต่ถ้าดูตัวอย่างป๋าเปรม ยอมลงจากตำแหน่งเมื่อครบ 8 ปี ก็จบสวย หากยังคงตะแบงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ก็ไม่สง่างาม หรือถ้าผ่านการวินิจฉัยของศาลใดๆ ก็ไม่สง่างาม”

หรือพล.อ.ประยุทธ์ จะใช้คู่มือลงจากตำแหน่งโดยกฎมหาชน เพราะการจะอยู่ในตำแหน่งได้ต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากประชาชน แต่ผลสำรวจประชาชนของนิด้าโพลพบว่า คนส่วนใหญ่ 64.25% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุนายกรัฐมนตรีควรพ้นจากตำแหน่ง ไม่เกิน 24 ส.ค.นี้ นั่นแปลว่า ประชาชนพอแล้วกับพล.อ.ประยุทธ์ หรือจะใช้คำว่าแลนด์สไลด์ก็ได้ เหมือนชนะเลือกตั้งขาดลอยเกิน 60% ซึ่งประชาชนออกมาบอกว่าควรไปได้แล้ว แม้กระทั่งผลสำรวจนายกฯ ในดวงใจของนิด้าโพล พบว่า 25% ให้แพทองธาร ชินวัตร ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ อันดับ 4 อยู่ที่ 11% ไม่สามารถครองใจประชาชน จึงไม่ควรอยู่ต่อ เพราะไม่ได้อยู่ในสายตาประชาชนตามกฎมหาชน

...

จากการตีความผลสำรวจประชาชนทั้ง 2 โพล แสดงว่าคนต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่งดีๆ ถ้าไม่เช่นนั้นจะออกมาบนท้องถนนขับไล่ จึงควรประกาศลงจากตำแหน่งเหมือนพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นการลงอย่างสวยงาม พร้อมเสียงปรบมือของผู้คน และอย่าลืมว่านักการเมืองอยู่ได้เพราะประชาชน โดยส่วนตัวมองว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะดึงดันอยู่ในตำแหน่งอย่างแน่อน จากความพยายามไปยุ่งเกี่ยวเรื่องสูตรหาร 500 แต่เมื่อเจอประเด็นแจกกล้วย ก็ไม่เข็ดมายุ่งต่อสูตรหาร 100

“ท่านไม่เข็ด และยังท้าทายให้ถามศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมั่นใจว่ารอด จึงไม่กลัว อยากฝากคำกล่าวของลอร์ด แอคตัน นักการเมืองและนักเขียนชาวอังกฤษ ว่า Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely แปลว่า อำนาจนำไปสู่ความฉ้อฉล และอำนาจที่เบ็ดเสร็จยิ่งทำให้ฉ้อฉลได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะฉะนั้นการที่ลุงตู่ อยู่ในตำแหน่งนานจะทำให้ยิ่งฉ้อฉลมากโดยไม่รู้ตัว จากอำนาจที่สะสมทำให้คนเสียคน”.