การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงยังเป็นที่จับตาทั่วโลก หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพราะมีรายงานพบผู้ป่วยแล้วกว่า 75 ประเทศ ขณะที่ไทยมีการพบผู้ป่วยรายแรกเป็นชาวไนจีเรีย ที่ตอนนี้ถูกจับได้ที่กัมพูชา แต่ยังต้องเฝ้าระวังผู้ใกล้ชิดกับคนชายดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และผู้ที่เดินทางเข้ามาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่ากลุ่มเสี่ยงควรกักตัวประมาณ 3 เดือน เพื่อความปลอดภัย
ฝีดาษลิงเป็นโรคระบาดล่าสุดที่องค์การอนามัยโลก ประกาศเฝ้าระวังการระบาด และประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีประกาศโรคระบาดไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 และโปลิโอ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศอยู่แล้ว โดย "ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์" สอบถามข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงไปยัง “ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี” กรรมการแพทยสภาและอดีตนายกแพทยสมาคม แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ข้อมูลที่น่าสนใจที่ควรตระหนักเกี่ยวกับโรคนี้ ดังนี้
เตือนเฝ้าระวัง กักตัวคนติดเชื้อฝีดาษลิง 3 เดือน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของฝีดาษลิงในยุโรปตอนนี้ควบคุมได้ยาก และมีการติดเชื้อในหลายประเทศ ทำให้องค์การอนามัยโลก ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อให้ประเทศต่างๆ เฝ้าระวังและป้องกันการระบาดในประเทศของตน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มีการแพร่ระบาดในยุโรปมีมากขึ้น เพราะการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งวัฒนธรรมตะวันตกบางประเทศ มองว่าการมีเซ็กซ์เป็นสิทธิส่วนบุคคล การที่รัฐห้ามไม่ให้มีเซ็กซ์เป็นเรื่องที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่ทางการแพทย์จะควบคุมการแพร่ระบาดได้ ต้องป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ของคนที่ไม่ใช่คู่ครอง
...
สิ่งที่น่ากังวลในการควบคุมโรคฝีดาษลิงคือ การระบาดจากคนสู่สัตว์ เช่นลิงหรือสัตว์ฟันแทะ ที่จะทำให้การควบคุมโรคยากมากกว่าการแพร่ระบาดในมนุษย์ ที่สามารถกักตัวในพื้นที่ปลอดภัยได้ แต่ถ้าแพร่ระบาดในสัตว์ป่าจะทำให้ยากต่อการตามจับ และการแพร่ระบาดยาวนานกว่าการติดเชื้อในคน
“ปกติการกักตัวเพื่อรักษาคนที่เป็นฝีดาษลิงใช้เวลา 3 เดือน เมื่อหายแล้วไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้ ดังนั้นการควบคุมเพื่อไม่ให้แพร่ระบาดในไทยได้ ควรมีการเฝ้าระวังกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยง และเฝ้าระวังตามแหล่งท่องเที่ยวสถานบันเทิงต่างๆ ไม่ให้มีเพศสัมพันธ์กับกลุ่มชาวต่างชาติที่มีความผิดปกติ”
เตือนอาการโรคฝีดาษลิงสังเกตยาก
แม้ฝีดาษลิงจะไม่มีโอกาสกลายพันธ์ุเหมือนกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในความเห็นของ “ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร” มองว่า การสังเกตอาการของผู้ติดเชื้อทำได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยดังนี้
- ผู้ติดเชื้อใน 2-3 วันแรกยังไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์
- ตุ่มที่เป็นอาการของโรคมักขึ้นบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักก่อนแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย แต่ตุ่มส่วนใหญ่มีขนาดเล็กคล้ายแผลถลอกธรรมดา ทำให้สังเกตได้ยาก
- ผู้ป่วยฝีดาษลิงยังเข้าใจผิดว่า ตุ่มที่แสดงอาการมีลักษณะคล้ายตุ่มแผลของโรคเริมบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งชายและหญิง
- อาการไข้ของผู้ติดเชื้อจะมีเพียงเล็กน้อย หากไม่มีการวัดอุณหภูมิร่างกายจะไม่ทราบถึงความผิดปกติ
- การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ แม้สวมถุงยางอนามัยก็มีโอกาสติดเชื้อสูง เนื่องจากมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และพบว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชายที่มีการเปลี่ยนคู่นอนเป็นประจำ
- การออรัลเซ็กซ์ มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อจากผู้ป่วยฝีดาษลิง เพราะอาจได้รับเชื้อจากสารคัดหลั่งระหว่างทำกิจกรรม
- การป้องกันควรงดการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลกลุ่มเสี่ยง ประมาณ 3 เดือน หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อในเบื้องต้น
แนวทางป้องกันฝีดาษลิงในไทย
สำหรับแนวทางป้องกันของไทย หลังองค์การอนามัยโลก ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว ในความเห็นของ “ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร” กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐควรออกกฎหมายควบคุมการกักตัวผู้ติดเชื้อเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย เพราะอย่างกรณีชายชาวไนจีเรียล่าสุด มีการหลบหนีออกจากสถานที่กักตัว เพราะไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับการกักตัวที่ชัดเจนมากเพียงพอ
ขณะเดียวกันควรมีการให้ความรู้ผู้ที่ทำงานในแหล่งท่องเที่ยวราตรี ถึงแนวทางการป้องกันผู้ติดเชื้อ และวางกรอบการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ เพราะถ้าหากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ควรมีการเฝ้าระวังโรคมาแล้ว 3 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ตามมา
สำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อปลูกฝีให้กับประชาชนทั่วไป ยังไม่มีความจำเป็น เพราะโรคนี้ติดต่อได้ยาก แต่ส่วนใหญ่ติดจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นประชาชนทั่วไปไม่ควรหวั่นวิตก แต่ถ้าเกิดการแพร่ระบาดขึ้นสามารถนำวัคซีนที่มีการแช่แข็งมากว่า 40 ปี ของกระทรวงสาธารณสุข มาฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่ป่วยเป็นอันดับแรก ซึ่งประสิทธิภาพวัคซีนยังเพียงพอในการป้องกันโรคไม่ให้มีความรุนแรงได้
...
ดังนั้นการป้องกันโรคฝีดาษลิงในไทย นอกจากจะต้องมีแผนรองรับกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางเข้ามาแล้ว การสร้างความรู้และวางแนวทางป้องกันให้กับคนที่ทำงานกับกลุ่มเสี่ยงก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องทำเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้.