หลังจากที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงว่ามีการพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกในไทย ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี โดยมีผลการตรวจ PCR ยืนยันว่าพบเชื้อ Monkeypox Virus อาจทำให้หลายคนสนใจศึกษาอาการฝีดาษลิงอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อเตรียมเฝ้าระวังป้องกันโรคฝีดาษลิงอย่างถูกวิธี

ไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการของฝีดาษลิง ที่ควรหมั่นสังเกต หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย รวมถึงวิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว ถือเป็นแนวทางที่ช่วยลดความตื่นตระหนก เพื่อรับมือได้อย่างมีสติ

ทำความรู้จัก "ฝีดาษลิง" เกิดจากอะไร?

ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง (ภาษาอังกฤษ Monkeypox) คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส Othopoxvirus ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่พบในสัตว์ตระกูลฟันแทะทุกชนิด เช่น ลิง กระต่าย กระรอก เป็นต้น โดยที่เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่ไปยังสัตว์อื่น และแพร่มาสู่คนได้อีกด้วย 

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ "ฝีดาษลิง" เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แนะนำให้กระทรวงสาธารณสุขในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมมีมาตรการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันโรคอย่างเข้มงวด

...

ฝีดาษลิง (Monkeypox) แตกต่างจาก ฝีดาษธรรมดา หรือไม่?

ฝีดาษลิง ถูกจัดเป็นโรคติดต่อกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ (Smallpox) หรือที่เรียกว่า "โรคไข้ทรพิษ" ซึ่งเคยระบาดอย่างหนักในอดีต แต่ในปัจจุบันไม่มีการระบาดอีกต่อไปแล้ว โดยผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายๆ กันตรงที่มีตุ่มลักษณะคล้ายฝี ขึ้นตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มีไข้ และรู้สึกปวดเมื่อย เพียงแต่ผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษจะไม่มีอาการ "ต่อมน้ำเหลืองโต" เหมือนอย่างโรคฝีดาษลิง

วิธีสังเกตผู้ติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" มีอาการอย่างไร?

อาการฝีดาษลิง จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 5-20 ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะแสดงอาการได้ช้า-เร็วแค่ไหน สำหรับผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงส่วนใหญ่ มักจะมีอาการที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ "มีไข้" หลังจากนั้น 1-3 วันก็จะมี "ตุ่มใส, ตุ่มแดง, ตุ่มนูน ขึ้นตามร่างกาย"

อาการฝีดาษลิงจะเป็นต่อเนื่องประมาณ 2-4 สัปดาห์ กว่าที่ตุ่มนูนต่างๆ จะตกสะเก็ด แล้วจะค่อยๆ หายจากโรคได้เอง ยกเว้นในบางรายที่มีอาการหนัก ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีภาวะแทรกซ้อน ก็อาจเป็นอันตรายเสี่ยงต่อชีวิตได้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย ว่ามีอาการเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงโรคฝีดาษลิงหรือไม่ ดังนี้

  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • ปวยเมื่อกล้ามเนื้อ
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง จากจุดหนึ่งบนร่างกาย และค่อยๆ ลามไปทั่วตัว

ฝีดาษลิง ติดต่อทางไหนได้บ้าง?

ฝีดาษลิงแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน
เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ฟันแทะที่สามารถแพร่มาสู่คนได้ ผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง เยื่อเมือก สารคัดหลั่ง เลือด หนอง หรือการสัมผัสเชื้อโรคจากสัตว์, ถูกสัตว์ป่วยกัดหรือข่วน, นำซากสัตว์ หรือเนื้อสัตว์ป่าที่ติดเชื้อมาประกอบอาหาร ปรุงไม่สุก เป็นต้น 

ฝีดาษลิงแพร่เชื้อจากคนสู่คน
ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อได้ ผ่านสารคัดหลั่งโดยตรง เช่น ตุ่มหนอง น้ำหนอง เลือด ละอองฝอยการหายใจ, ไอ, จาม และผ่านการสัมผัสใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย

วิธีป้องกันฝีดาษลิง ดูแลตัวเองให้ดี ลดความเสี่ยงได้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่อาจเป็นพาหะนำโรค
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดโรค
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มใส และตุ่มหนองที่ผิวหนัง
  • ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นเพื่อสุขอนามัยที่ดี
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ใช้สบู่ทำความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ
  • รับประทานอาหารปรุงสุกเท่านั้น งดเมนูเนื้อสัตว์ป่า
  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน
  • หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์

...

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิง มีการยืนยันผู้ติดเชื้อแล้วใน 75 ประเทศทั่วโลก จำนวนผู้ป่วยมากกว่า 16,000 คน พบมากที่สุดในประเทศสเปน, เยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และฝรั่งเศส สำหรับฝีดาษลิงในไทยเพิ่งมีการยืนยันการพบผู้ป่วยรายแรก แต่ก็ยังต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันโรคอย่างใกล้ชิด

อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

อ่านเพิ่มเติม