แม้ว่ารัฐบาลจะปลดล็อกกัญชาไทย ให้ทุกคนสามารถปลูกกัญชาได้ เพื่อสนับสนุนให้เป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต แต่นักวิชาการด้านกัญชาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิตได้เตือนว่า "กัญชาไทย” มีฤทธิ์แรง หากนำไปกินผิดวิธี เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพทั้งในะระยะสั้นและระยะยาว

รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดี คณะนวัตกรรมเกษตร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต เผยถึงอันตรายของการบริโภค “กัญชาไทย” เนื่องจากมีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ในปริมาณสูงกว่าสายพันธุ์ต่างประเทศ หากนำไปปรุงอาหารผิดวิธีจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดีอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน

ย้ำกัญชาไทยฤทธิ์แรง ไม่ผ่านความร้อนปลอดภัยกว่า

“การกินกัญชาสามารถทำได้ แต่แนะนำให้กินแบบสดโดยไม่ผ่านกระบวนการทางความร้อน ซึ่งจะไปกระตุ้นกรดในกัญชาทำให้มีปริมาณ THC ออกมามากขึ้น เมื่อกินเข้าไปในปริมาณที่มากจะทำให้เกิดอาการเมากัญชาและส่งผลกระทบต่อสมองทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้” รศ.ดร.บัญญัติ กล่าว

ผลกระทบระยะสั้นจากการกินกัญชา โดยเฉพาะกัญชาไทยในปริมาณมากเกินไปหรือผ่านความร้อนสูงๆ มากจะทำให้เกิดอาการเมา คือ รู้สึกง่วงและหลับได้ หากกัญชาออกฤทธิ์ขณะขับรถหรือใช้เครื่องจักรอยู่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้กินกัญชาและคนรอบข้าง ส่วนผลกระทบระยะยาวจากการกินกัญชาต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้ไอคิวลดลงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น

เขาแนะนำว่ากลุ่มคนที่ไม่ควรกินกัญชาเลยคือผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะฤทธิ์ของกัญชาส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมองทารกในครรภ์ และเมื่อคลอดออกมาอาจทำให้เด็กพิการได้ รวมถึงเด็กวัยรุ่นก็ไม่ควรกินหรือสูบเพราะฤทธิ์ของกัญชาส่งผลกระทบต่อสมองทำให้ไอคิวลดลง

...

รวมทั้งยังมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ได้ทำการศึกษากลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป จำนวน 3,800 คน เป็นเวลา 4 ปี พบว่ากัญชาจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อพัฒนาการของสมองเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะในแง่ทักษะในการคิด การจดจำ และความประพฤติ มากกว่าวัยรุ่นที่ดื่มแอลกอฮอล์

“การปลูกกัญชาเสรีก็มีข้อเสียเยอะ แต่ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักจะนำเสนอแต่ข้อดี นี่คือสิ่งที่ผมกังวลว่าถ้าคนทั่วไปนำกัญชาไปปรุงอาหารหรือกินผิดวิธีจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่า โดยเฉพาะผู้ประกอบการหรือร้านค้ารายเล็กข้างทางทั่วไปที่ไม่รู้รายละเอียดเหล่านี้”

วิธีการกินกัญชาให้ไม่เกิดอาการเมาก็คือการกินแบบสดโดยไม่ผ่านความร้อน เช่น นำมาทำเป็นเครื่องดื่มสมูธตี้ ซึ่งจะให้ประโยชน์ได้ดีไม่ต่างจากการกินผักทั่วไปเลย แต่ถ้านำไปปรุงอาหารโดยผ่านความร้อนเกิน 120 องศาฯ จะทำให้ปริมาณสาร THC ที่อยู่ในกัญชาไทยออกมาเป็นจำนวนมาก และทำให้ผู้กินเกิดอาการ “เมากัญชา” ได้ ซึ่งมีอาการ 3 ระดับด้วยกัน คือ 1. รู้สึกครึ้มๆ อารมณ์ดี 2. คอแห้งและตาแดง 3. ง่วงและหลับ

ขณะเดียวกัน หากต้องการนำกัญชาไทยมาปรุงอาหารโดยผ่านความร้อน ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย แต่ควรใช้เฉพาะส่วน “ใบ” ในจำนวนไม่เกิน 10 ใบเท่านั้น เพราะถ้ามากกว่านี้จะทำให้เมาได้ และที่สำคัญคือห้ามนำส่วนบริเวณ “ดอกกัญชา” มาใช้ทำอาหารโดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นส่วนที่มีปริมาณสาร THC มากที่สุด จะทำให้เกิดอาการเมาได้อย่างรวดเร็วกว่าบริเวณอื่นๆ

กัญชาออกฤทธิ์ต่อร่างกายอย่างไร

กัญชา มีสารประกอบเรียกว่า Cannabinoids จำนวนมาก โดยมีตัวหลัก คือ THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ที่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งสารประกอบทั้ง 2 ชนิดนี้ออกฤทธิ์ต่างกัน

  • THC ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และกระตุ้นให้อยากอาหาร
  • CBD มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง

สารที่ทำให้เกิดอาการ “เมากัญชา” คือ THC ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการออกฤทธิ์จะขึ้นอยู่กับวิธีการนำเข้าร่างกาย ดังต่อไปนี้

  • หยดน้ำมันกัญชาที่ใต้ลิ้น จะใช้เวลาออกฤทธิ์ภายใน 5 นาที
  • การสูบ จะใช้เวลาออกฤทธิ์ภายใน 10 นาที
  • การกิน จะใช้เวลาออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการย่อยที่กระเพาะอาหารก่อนจึงค่อยส่งผลไปยังสมอง

...

วิธีแก้เมากัญชา สามารถทำได้ดังนี้

  1. ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อลดปริมาณสาร THC ในร่างกาย
  2. เดินไปมา เพื่อให้สาร THC สลายตัวเร็วขึ้น
  3. หั่นมะนาวเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วทานพร้อมเปลือก เพราะจะช่วยลดการดูดซึมสาร THC ในร่างกาย
  4. กินพริกไทยดำ จะทำให้สาร THC สลายตัวเร็วขึ้น