9 มิ.ย.นี้ กัญชาจะถูกกฎหมาย หลังปลดล็อกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่การนำไปแปรรูป ยังมีข้อกำหนด ต้องขออนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) เช่นเดียวกับกัญชาเชิงพาณิชย์ ยังมีกรอบและเงื่อนไข ต้องทำความเข้าใจ เพราะหลังจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เตรียมออกกฎหมายมาเพิ่มเติม เป็นประเด็นต้องรู้ ก่อนปลูก และใช้กัญชาอย่างเหมาะสม
กัญชาใช้ได้ ภายในกรอบกำหนด
- กัญชาปลูกตามบ้านเรือนประชาชน สามารถนำไปปรุงอาหารได้ทุกส่วน แต่ผู้ปลูกต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. ผ่านแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565
- กรณีนำไปสกัดให้ได้สาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด โดยจะต้องมีปริมาณไม่เกิน 0.2%
- การขายเมล็ดพันธุ์ และกิ่งพันธุ์กัญชา ต้องขออนุญาต ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- การสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) จากเปลือก ลำต้น กิ่งก้าน รากและใบ นำไปประกอบอาหาร ต้องขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร ตามระเบียบของ อย.
- เจ้าพนักงานท้องถิ่น สามารถระงับเหตุและตรวจสอบได้ตามกฎหมาย หากการสูบกัญชาในพื้นที่สาธารณะ ก่อให้เกิดความรำคาญจากกลิ่นหรือควัน
- หากฝ่าฝืนสร้างความรำคาญ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาทถ้วน หรือทั้งจำทั้งปรับ
...
ฤทธิ์ของกัญชา ควรต้องระวัง
แม้กัญชาจะปลดล็อก ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ แต่ผู้เชี่ยวชาญยังมีความกังวลเกี่ยวกับการควบคุมผู้ที่ใช้กัญชาในปริมาณมาก อาจมีผลกระทบต่อครอบครัวและสังคม
- ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม มีผลทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ร่างกายอ่อนแอ สามารถติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย
- ทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล หากผู้ที่ใช้มีอาการทางจิตเภทร่วมด้วย อาจมีความเสี่ยงทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ หากมีการใช้กัญชา อาจทำให้ทารกมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ความผิดปกติของเซลล์ประสาทในสมอง ความผิดปกติของฮอร์โมนเพศและพันธุกรรม.