- สิ่งที่ต้องระวังหลัง "ปลดล็อกกัญชา" พร้อมวิธีเช็กอาการผิดปกติจากกัญชา ที่ควรไปพบแพทย์
- รู้จักชุดตรวจกัญชา "Test Kann" (เทส กัญ) และวิธีการอ่านค่า อย่าจำสับสนกับชุดตรวจโควิด-19
- ภาวะ "ยาตีกัน" ข้อควรระวังสำหรับผู้ใช้สมุนไพรอยู่ก่อน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ THC เกิน 0.2% โดยมุ่นเน้นเพื่อใช้ในการแพทย์ ไม่ใช่เพื่อการมึนเมาหรือสันทนาการ
ซึ่งหลังจากมีการปลดล็อกแล้ว พบว่ามีผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉินจากการใช้กัญชาแบบไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกขนาด โดยพบมากในกลุ่มที่สนใจทดลอง ทั้งการรับประทานอาหาร โดยบางรายรับประทานเข้าไปโดยร้านอาหารไม่แจ้งว่ามีส่วนประกอบของกัญชา และพบผู้ป่วยจากการนำไปใช้ทางสันทนาการ
จากข้อมูลของ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยอาการผิดปกติจากกัญชา ที่ควรไปพบแพทย์ มีดังนี้
...
- หัวใจเต้นเร็วและรัวผิดจังหวะ
- เป็นลมหมดสติ
- เจ็บหน้าอก ร้าวไปที่แขน
- เหงื่อแตก ตัวสั่น
- อึดอัดหายใจไม่สะดวก
- เดินเซ พูดไม่ชัด
- สับสน กระวนกระวาย วิตกกังวล หวาดระแวงไม่สมเหตุสมผล
- หูแว่ว เห็นภาพหลอน พูดคนเดียว อารมณ์แปรปรวน
สำหรับวิธีแก้อาการข้างเคียงเบื้องต้น มีดังนี้
- ปากแห้งคอแห้ง ให้ดื่มน้ำเปล่าตามในปริมาณมากๆ
- แก้เมา 1. บีบมะนาวครึ่งลูก ผสมเกลือปลายช้อน 2. เคี้ยวพริกไทย
- วิงเวียนศีรษะคลื่นไส้อาเจียน ให้ดื่มชาชงขิง หรือน้ำขิง
รู้จักชุดตรวจกัญชา Test Kann (เทส กัญ)
สำหรับชุดตรวจกัญชา "Test Kann" เป็นชุดทดสอบ (Test kit) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ผลิตขึ้นมาให้เพื่อผู้ประกอบการหรือประชาชนทั่วไปได้นำไปใช้ทดสอบสารสกัดกัญชา หรือน้ำมันกัญชาเบื้องต้น ว่ามีปริมาณสาร THC เกิน 0.2% หรือไม่ หากผลทดสอบเกิน 0.2% (ผลบวก) ต้องส่งยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง ถ้าผลทางห้องปฏิบัติการพบสาร THC เกิน 0.2% ถือเป็นยาเสพติดให้โทษ
การพัฒนาชุดตรวจกัญชา Test Kann สามารถตรวจสาร THC ในสารสกัดกัญชาและน้ำมันกัญชา ลักษณะการตรวจเป็นชุดทดสอบเบื้องต้น โดยใช้เทคนิคอิมมูโนโครมาโทกราฟี (Immunochromatography) หรือ IC ซึ่งอาศัยหลักการจับกันระหว่างแอนติบอดีและแอนติเจนแบบแข่งขัน (Competitive immunoassay)
การใช้งานสะดวก รวดเร็ว ทราบผลภายใน 15 นาที มีความไวในการตรวจวัดสาร THC ที่ความเข้มข้น 2 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (mg/ml) (0.2%) ผลการทดสอบจะต้องปรากฏแถบสีม่วงที่บริเวณตำแหน่ง C ทุกครั้ง จึงสามารถอ่านผลได้
อย่าจำสับสนกับชุดตรวจโควิด-19
โดยชุดทดสอบประกอบด้วย ตลับทดสอบ 1 ชิ้น กับหลอดบรรจุสารสกัดที่ 1 และหลอดสารสกัดที่ 2 วิธีใช้โดยนำน้ำมันกัญชาหยดใส่ หลอดที่ 1 เขย่าให้เข้ากันแล้วนำไปผสมกับหลอดที่ 2 เขย่าให้เข้ากัน ก่อนนำไปหยดใส่ในตลับ รอผลภายใน 15 นาที
ผลบวก: ปรากฏแถบสีม่วงแดงเพียง 1 ขีด บริเวณตำแหน่ง C ที่ตลับชุดทดสอบ แสดงว่ามี THC ในตัวอย่างที่ทดสอบเกิน 0.2%
ผลลบ: ปรากฏแถบสีม่วงแดง 2 ขีด บริเวณตำแหน่ง C และ T ที่ตลับชุดทดสอบ (โดยความเข้มสีที่ตำแหน่ง T อาจจะเข้มหรือจางกว่าตำแหน่ง C ก็ได้) แสดงว่ามี THC ในตัวอย่างที่ทดสอบไม่เกิน 0.2%
ขณะที่ชุดตรวจโควิด-19 มีวิธีอ่านค่าผลตรวจคือ หากมีแค่ขีดเดียวบริเวณตำแหน่ง C แปลว่าผลตรวจเป็นลบ หรือ ไม่ติดเชื้อ หากมี 2 ขีดบริเวณตำแหน่ง C และ T แปลว่า ผลตรวจเป็นบวก หรือ ติดเชื้อ
ทั้งนี้ ชุดตรวจดังกล่าวเป็นการตรวจเบื้องต้น (Screening test) เท่านั้น ไม่สามารถนำผลไปดำเนินการทางคดีได้ สำหรับราคาเทสต์ละไม่เกิน 100 บาท แต่ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ โดยจะถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตให้กับเอกชนที่สนใจ เพื่อผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และในระยะแรกนี้จะแจกจ่ายฟรีให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องที่เหมาะสม จำนวน 15,000 ชุด
อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจนี้เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ผลิตกัญชาในแบบน้ำมัน ส่วนการตรวจหาสารสกัดกัญชาในอาหารและเครื่องดื่มนั้นจะพัฒนาในขั้นต่อไป
ระวัง "กัญชากับยา" ตีกัน
จากข้อมูลของ สภาเภสัชกรรม ระบุว่า กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม อาจส่งผลกระทบกับยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ อื่นๆ ที่รับประทานอยู่ ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่ก่อน และมีความสนใจที่จะใช้กัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร เพื่อประโยชน์และความปลอดภัย
นอกจากนี้ สารที่อยู่ในกัญชา ก็เหมือนกับยาอี่นๆ คือจะต้องได้รับการเปลี่ยนสภาพและขจัดออกไปจากร่างกาย โดยอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนสภาพและขจัดได้แก่ตับและไตเป็นหลัก
หากมีการบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาร่วมกันกับยาอื่นๆ อาจเกิดสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ยาตีกัน” ได้ ข้อมูลทางวิชาการและรายงานที่มีอย่างแพร่หลายในฐานข้อมูลวิชาการระดับนานาชาติได้แสดงให้เห็นว่า ภาวะ “ยาตีกัน” ของกัญชาอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น
1. การใช้กัญชาร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาทบางประเภทเช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepine) ตัวอย่างเช่น diazepam หรือผู้ป่วยที่ใช้ยามอร์ฟีน อาจทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กดประสาทมากเกินไปจนเกิดผลเสียได้
2. หากผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชื่อ “ยาวาร์ฟาริน” ได้รับกัญชาเข้าไปอาจทำให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดมีระดับสูงขึ้น จนเกิดอาการเลือดออกและทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่อาจเกิดปัญหาคล้ายกันได้ถึงแม้จะยังไม่มีรายงานในฐานข้อมูล
3. การใช้กัญชาร่วมกับยากันชักบางประเภท อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับยากันชักและส่งผลกระทบต่อการรักษาได้ อาจจำเป็นต้องวัดระดับยากันชักในเลือด เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม
4. หากใช้กัญชาร่วมกันกับยาบางชนิดเช่น ยารักษาอาการซึมเศร้าบางชนิดเช่น ยาฟลูออกซิติน (fluoxetine) ยารักษาเชื้อรา (เช่นยา ketoconazole) ยารักษาโรคติดเชื้อบางประเภท (เช่นยา clarithromycin) หรือยาลดความดันโลหิตบางประเภท (เช่นยา verapamil) ยาเหล่านั้นอาจไปลดความสามารถของตับและไตในการเปลี่ยนสภาพและขจัดกัญชาออกจากร่างกาย ระดับของสารสำคัญในกัญชาจะสูงกว่าปกติได้หลายเท่าและนำไปสู่อาการเมา หรือเกิดอาการข้างเคียงได้ ทั้งๆ ที่บริโภคกัญชาในขนาดทั่วไป.
ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟฟิก : Jutaphun Sooksamphun / Theerapong Chaiyatep