• สนามการเลือกตั้งกรุงเทพฯ เปิดโอกาสให้ผู้อาสาเข้ามาพัฒนากรุงเทพฯ นำเสนอความคิดเห็นค่อนข้างหลากหลาย แต่กลับพบว่านโยบายในการหาเสียงของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละยุค แทบไม่มีความแตกต่าง เพราะปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ ที่แก้ไขไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะในยุคไหน

  • นโยบายในการหาเสียง อาจมาพร้อมแนวทางแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่เคยทำไปแล้ว ผู้ว่าฯ กทม.จากการเลือกตั้งส่วนใหญ่ดำเนินงานตามที่กำหนดอยู่แล้วในแผนพัฒนากรุงเทพฯ และมีผู้ว่าฯ บางคน สามารถนำเอาสิ่งที่เคยหาเสียงไว้ มาปรับใช้ภายใต้แผนพัฒนาฯ ออกมาเป็นโครงการต่างๆ ได้

  • การจัดการกรุงเทพฯ ซับซ้อนเกินกว่าผู้ว่าฯ จะลงมือได้เพียงคนเดียว เพราะการพัฒนาถูกกำกับและกำหนดทิศทางจากแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ทั้งยังมี “เจ้าภาพ” หลายราย ยังไม่นับกฎหมายจากรัฐบาลกลางที่เข้ามาร่วมกำหนดแนวทางบริหารเมือง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. 2565 ครั้งแรกในรอบ 9 ปี มีผู้สมัครลงชิงชัยหลากหลายทั้งจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และผู้สมัครอิสระ รวม 31 คน แต่ละคนต่างเร่งหาเสียง พร้อมประกาศนโยบายพัฒนากรุงเทพฯ เมืองหลวงที่มีประชากรตามทะเบียนบ้านและประชากรแฝงที่มาทำงาน หรือเรียนหนังสือ ราว 8 ล้านคน

...

แต่ดูเหมือนว่านโยบายที่ผู้ลงสมัครแต่ละคนใช้หาเสียง ยังเป็นเรื่องรถติด น้ำท่วม พื้นที่สีเขียว สภาพทางเท้า ฯลฯ ไม่แตกต่างจากผู้ลงสมัครในยุคก่อนๆ จนชวนสงสัยว่า ที่ผ่านมาผู้ลงสมัคร หรือผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. เคยหาเสียงไว้ว่าอย่างไร ทำอะไรไปแล้วบ้าง แล้วเหตุใดเมื่อมีการเลือกตั้งอีก จึงยังหาเสียงด้วยนโยบายเดิมๆ อยู่ เสมือนว่าผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยแก้ปัญหาอะไรในกรุงเทพฯ ได้เลย

“Rocket Media Lab” ชวนทบทวนว่าที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนๆ เคยหาเสียงอะไรไว้ เคยมีผลงานอะไร ทำตามที่เคยหาเสียงไว้หรือไม่ หรือสิ่งที่ทำนั้นอยู่ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ อยู่แล้ว รวมไปถึงในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ นโยบายของผู้สมัครแต่ละคนแปลกใหม่น่าสนใจแค่ไหน เคยมีคนเสนอไว้หรือยัง หรือเป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯ คนก่อนๆ เคยทำไปแล้วหรือไม่ ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.

สัญญาอะไรไว้ ทำได้หรือเปล่า?

นโยบายหาเสียงของผู้สมัครในแต่ละยุค มักมาจากเรื่องที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องประสบพบเห็นตลอดมา และมักจะเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหา โดยอาจมีแนวทางการแก้ปัญหาเหมือนกัน หรือต่างกันไปบ้าง

เมื่อดูเฉพาะผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้ง จำนวน 7 คน (10 สมัย) ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2518 มาจนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2556 สามารถจำแนกประเด็นปัญหาที่สำคัญและมักถูกหยิบยกมาหาเสียง ได้ดังนี้

เน้นสร้างถนน ขยายรถไฟฟ้า แต่รถเมล์ ยังคงถูกลืม

ปัญหาการจราจรติดขัด มักเป็นประเด็นแรกสุดที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ ตลอดระยะเวลากว่า 47 ปี ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ข้อเสนอส่วนใหญ่เน้นไปที่การรองรับรถยนต์ด้วยการเชื่อมต่อเส้นทาง ขยายถนน และปรับปรุงระบบสัญญาณไฟจราจร

ในสมัยแรกของการลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2528 จำลอง ศรีเมือง หาเสียงว่า “ต้องทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือ” จนสมัยต่อมา ปี 2533 มีข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาจราจรติดขัดว่า ควรจะ “สร้างสะพานลอยข้ามแยกที่มีการจราจรหนาแน่น ตัดถนนใหม่ ขยายถนนเก่า สร้างทางลัดให้มากขึ้น” อีกทั้งยังสนับสนุนให้สร้างที่จอดรถและสะพานลอยคนข้ามให้มากขึ้นด้วย

...

เช่นเดียวกับ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กับนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งเมื่อ ปี 2535 ก็เป็นการต่อยอดจากนโยบายของจำลอง ที่ลาออกไป ด้วยการสานต่อการสร้างสะพานข้ามแยกเช่นกัน รวมถึงสมัคร สุนทรเวช เสนอนโยบายสร้างถนนวงแหวน เชื่อมนอกเมืองในการเลือกตั้ง ปี 2543 ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ ได้แก่ พิจิตต รัตตกุล, อภิรักษ์ โกษะโยธิน และ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ให้ความสำคัญกับการขนส่งสาธารณะมากกว่า

นโยบายขนส่งมวลชน เริ่มได้รับความสนใจตั้งแต่ ปี 2533 โดยจำลอง เสนอให้จัดรถวน เป็นรถส่วนกลางรับส่งประชาชนในถนนบางสายที่การจราจรแออัดมาก เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง ระหว่างที่จำลอง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ออกประกาศให้บุคคลยื่นข้อเสนอโครงการลงทุนก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2534 ต่อมาได้ทำสัญญากับบริษัท ธนายง จำกัด เมื่อ 9 เม.ย. 2535 หลังจากผ่านการอนุมัติโดยกระทรวงมหาดไทยแล้ว

การหาเสียงว่าจะสร้างรถไฟลอยฟ้า เริ่มชัดเจนขึ้นในยุคของกฤษฎา ซึ่งหาเสียงว่าจะสร้างรถไฟลอยฟ้า และจัดทำเครือข่ายรถไฟลอยฟ้าขนาดเล็กใยแมงมุมทั่วกรุงเทพฯ หลังกฤษฎา เข้ารับตำแหน่งในเดือน เม.ย. 2535 ได้มีพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อเดือน ส.ค. 2535 และจัดทำแผนแม่บทโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พ.ศ.2538 เป็นครั้งแรก

...

ต่อมาพิจิตต หาเสียงในการเลือกตั้ง ปี 2539 จะ “ผลักดันรถไฟฟ้าใต้ดินให้เร็วที่สุด และรีบเร่งดำเนินงานที่คั่งค้างและต่อเนื่องให้เสร็จโดยฉับพลัน” พร้อมกับเสนอว่าจะสร้าง “รถรางเลียบคลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร คลองภาษีเจริญ” ซึ่งไม่เกิดขึ้นในช่วงที่ดำรงตำแหน่

ขณะที่ สมัยอภิรักษ์ และสุขุมพันธุ์ เสนอการเชื่อมโยงระบบเดินทางขนส่งมวลชนทุกพื้นที่ ทั้งขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการดำเนินการตามแผนที่มีอยู่แล้ว

ขณะที่รถโดยสารประจำทาง ไม่ค่อยถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในการหาเสียงมากนัก นอกจากการประกาศนโยบายรถตู้มวลชน เพื่อเชื่อมการเดินทางชานเมืองสู่เมืองชั้นในของพิจิตต ขณะที่ยุคของอภิรักษ์ ในปี 2547 มีการหาเสียงเน้นการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนโดยรวม จัดให้มีรถเมล์ด่วนพิเศษบน 10 เส้นทางหลัก สร้างเครือข่ายขนส่งมวลชนขนาดเล็ก และเครือข่ายรถโรงเรียน แต่ที่เกิดขึ้นจริงคือ รถเมล์ด่วนพิเศษ BRT 1 เส้นทาง ที่เปิดใช้งานในช่วงที่สุขุมพันธุ์ เข้ามาทำงานต่อจากอภิรักษ์ ที่ต้องลาออกไป

...

จะเห็นได้ว่านโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มักให้น้ำหนักไปที่รถยนต์และรถไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น รถโดยสารประจำทาง และเรือ ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก ทั้งที่เป็นการเดินทางที่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมาก มีราคาถูก เข้าถึงพื้นที่ได้มากกว่ารถไฟฟ้า และแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้ แต่ในสมัยของผู้ว่าฯ จำลอง ก็มีการนำเอาเรือโดยสารคลองแสนแสบมาวิ่งบริการเป็นครั้งแรก แม้ไม่ได้หาเสียงเรื่องนี้ไว้

จะผ่านไปกี่ปี ก็ต้องแก้น้ำท่วม ปลูกต้นไม้ให้มากๆ

น้ำท่วม

การหาเสียงว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ด้วยการปรับปรุงท่อระบายน้ำมีมาตั้งแต่สมัยจำลอง เมื่อปี 2533 โดยเสนอว่าจะ “สร้างท่อระบายน้ำหรือขุดคูคลองสองข้างทางถนนที่ยังไม่มีท่อระบายน้ำ ขยายช่องตะแกรงระบายน้ำริมถนนให้กว้างขึ้น ปรับปรุงท่อระบายน้ำใต้ดินที่มีขนาดเล็กและไม่ได้ระดับ” รวมทั้งจะ “เร่งรัดการก่อสร้างเขื่อน สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำเพิ่ม” และ “จัดหาแอ่งรับน้ำในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น”

ในช่วงปี 2535-2547 นโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมของผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งทั้งกฤษฎา สมัคร และพิจิตต ไม่ชัดเจนนัก ส่วนการหาเสียงทั้งสองครั้งของอภิรักษ์ ก็ไม่มีรายละเอียดมากนัก โดยเสนอว่าจะพัฒนาระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม การหาเสียงเมื่อปี 2552 ทางสุขุมพันธุ์ เสนอให้มีระบบระบายน้ำที่ใช้การได้ทั่วถึง ต่อมาปี 2556 เสนอว่า “สร้างอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ 6 แห่ง เพิ่มขีดความสามารถในการรับน้ำฝนแต่ละพื้นที่ให้รับได้เกิน 60 มม.”

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ กทม. บางคน แม้ไม่ได้หาเสียงเรื่องนี้ไว้ แต่ขณะดำรงตำแหน่งก็มีผลงาน เช่น พิจิตต มี “อาสาสมัครหน่วยฟองน้ำ” ออกปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมในย่านต่างๆ เมื่อมีฝนตกน้ำขัง หรือกฤษฎา มีการสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ 18 แห่ง

ขยะ

ขณะที่จำลอง ศรีเมือง หาเสียงในปี 2528 เน้นการรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึก โดยเสนอว่า “ต้องทำให้ประชาชนหันมาให้ความร่วมมือในการรักษาความสะอาด” ต่อมาในการหาเสียงปี 2533 มุ่งเน้นการจัดเก็บให้ทั่วถึง “เพิ่มรถขนขยะให้เพียงพอ โดยเฉพาะรถขนขยะขนาดเล็กให้เข้าซอยได้ ใช้เรือเก็บขยะในคูคลองต่างๆ จัดซื้อที่ดินแปลงใหญ่ไกลออกไปจากย่านชุมชนเพื่อนำขยะไปทิ้ง เร่งรัดให้มีการจัดสร้างโรงงานกำจัดขยะและเตาเผาขยะเพิ่มขึ้น”

คล้ายกับที่พิจิตต หาเสียงเมื่อปี 2539 ว่าจะจัดเก็บขยะให้หมด และจะสร้างโรงเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่ท่าแร้ง-บางเขน อ่อนนุช คลองเตย เช่นเดียวกับสมัครที่เสนอว่า จะ “สร้างเตาเผาขยะ ทั้งสามทิศชิดชานเมือง” ส่วนนโยบายของอภิรักษ์ ปี 2547 ระบุจะเพิ่มเวลาการจัดเก็บขยะให้ถี่ขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีการลงทุนเพิ่มเติมพร้อมกับการปฏิรูปการบริหารจัดการ

ขณะที่ สุขุมพันธุ์ หาเสียงเมื่อปี 2552 ว่าจะจัดให้มีถังขยะพอเพียงในทุกที่ และจัดธนาคารรีไซเคิล แปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ต่อมาปี 2556 เน้นไปที่การจัดหาโรงงานกำจัดขยะ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยเสนอว่า จะสร้างโรงงานขยะแปรรูปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน สร้างเตาเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้า 2 แห่ง สร้างโรงผลิตปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ 1,000 ตัน รวมทั้งสร้างสถานีขนถ่ายย่อย โดยกล่าวถึงนโยบายการแยกขยะว่าเป็นการรณรงค์กับประชาชน

เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยสวนสาธารณะ และปลูกต้นไม้

การปลูกต้นไม้เป็นนโยบายที่ถูกนำมาหาเสียงมากที่สุด โดยปี 2528 จำลอง เคยหาเสียงไว้ว่า จะปลูกต้นไม้ยืนต้นและไม้เลื้อยให้มากขึ้น และต่อมาในการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เริ่มกล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเสนอว่า จะรณรงค์ต่อต้านการทุจริตทั่วประเทศ เพื่อให้รัฐบาลมีเงินเหลือมาแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นพิษในกรุงเทพฯ และติดตั้งแผ่นกั้นเสียงบางจุดที่มีเสียงยวดยานอยู่ในเกณฑ์อันตราย

ด้านพิจิตต ในภาพรวมมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหลายด้าน มีการเสนอนโยบายเก็บ-แยก-กำจัด ขยะ บำบัดน้ำเสียทั่วเมือง ฟื้นฟูลำคลอง และปลูกต้นไม้ให้กทม.เขียวขจี 400,000 ต้น ต่อมาปี 2543 สมัคร หาเสียงว่าจะเพิ่มข้อต่อติดท่อไอเสียรถยนต์และปลูกต้นไม้เกาะกลางถนน ขณะที่อภิรักษ์ ให้ความสำคัญกับปัญหาสภาวะโลกร้อน ด้วยการประกาศว่าจะรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนทุกวันที่ 9 ของเดือน ส่วนนโยบายของสุขุมพันธุ์ ในปี 2552 จะส่งเสริมพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านสวนสาธารณะตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา ผู้สมัครทุกคนหาเสียงว่าจะเพิ่มสวนสาธารณะให้มากขึ้น ผู้ที่ระบุจำนวนไว้ว่าจะสร้างสวนสาธารณะให้ได้ 10 แห่ง ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งคือกฤษฎา ส่วนสุขุมพันธุ์ หาเสียงเมื่อปี 2556 ว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว 5,000 ไร่ สร้างสวนสาธารณะ 10 แห่ง

พัฒนาศูนย์สาธารณสุข-ชุมชน จัดระเบียบแผงลอย 

สาธารณสุข

นอกจากการหาเสียงเมื่อปี 2528 ของจำลอง ว่าจะแก้ปัญหาสาธารณสุข เน้นการขยายและสร้างขึ้นอย่างทั่วถึง ซึ่งผู้สมัครทุกคน นับตั้งแต่กฤษฎา เป็นต้นมา เสนอให้พัฒนาศูนย์สาธารณสุข ให้เป็นโรงพยาบาล หรือปรับปรุงคุณภาพโรงพยาบาลของ กทม. ให้เทียบเท่าเอกชน ขณะที่พิจิตต เสนอว่าจะจัดให้มี กทม.โพลีคลินิก 60 แห่งทั่วกรุงเทพฯ

ด้านอภิรักษ์ หาเสียงในสมัยที่ 2 เมื่อปี 2551 นอกจากยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ให้ได้มาตรฐานยังมีแนวคิดจะจัดหน่วยพยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขของ กทม.เคลื่อนที่ เยี่ยมบ้านและที่ทำงาน

ส่วนสุขุมพันธุ์ สัญญาว่าจะจัดให้มีบริการตรวจสุขภาพประจำปีฟรี จัดตั้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินและตั้งศูนย์เวชศาสตร์คนเมือง เพื่อศึกษาปัญหาด้านสุขภาพโดยเฉพาะ

หาบเร่ แผงลอย

จำลอง เริ่มมีแนวคิดจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยตอนที่ลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ สมัยที่ 2 ในปี 2533 ด้วยการหาเสียงว่า จะผลักดันให้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้ กทม. มีอำนาจผ่อนผันให้ผู้ค้าวางสินค้าบนทางเท้าบางจุดได้เหมาะสม ให้ กทม.มีอำนาจจับและปรับผู้ฝ่าฝืน กำหนดจุดอนุญาต ขีดสีตีเส้นให้ผู้ค้าตั้งวางเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน ใช้นโยบายปราบผู้ค้าและผู้ซื้อพร้อมกัน และจัดหาสถานที่เหมาะสมให้ผู้ค้ามากขึ้น เช่น จัดให้มีตลาดนัดแห่งใหม่เพิ่ม

ด้านสมัคร ย้ำถึงความสำคัญของการมีอาหารราคาถูก โดยประกาศว่าจะตั้งศูนย์อาหารไว้ใกล้ชุมชน โดยหลังจากได้เป็นผู้ว่าฯ มีการตั้งสำนักเทศกิจขึ้นมา

ในปี 2556 สุขุมพันธุ์ มีนโยบายจะดำเนินการให้หาบเร่แผงลอยมาอยู่ในอำนาจของ กทม. ขยายโครงการอาหารริมทาง สะอาดปลอดภัยมีใบรับรอง

ชุมชน-คุณภาพชีวิต

การหาเสียงในประเด็นนี้ จำลอง เริ่มต้นด้วยการหาเสียงจะโน้มน้าวจิตใจให้คนเห็นแก่ตัวน้อยลง ในการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2528 ต่อมากฤษฎา ประกาศจะพัฒนาชุมชนแออัด ส่วนนโยบายของสมัคร จะจัดแฟลตให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่อาศัย ถือว่าเป็นการเสนอทางแก้ปัญหาชุมชนแออัดอย่างเป็นรูปธรรม

ในสมัยแรกของอภิรักษ์ เสนอจะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน ส่งเสริมการกระจายสินค้าชุมชนและพัฒนาตลาดนัด พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ต่อมาปี 2551 มุ่งไปที่การส่งเสริมชมรมผู้สูงอายุ จัดตั้งศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อคนต่อเดือน

ด้านสุขุมพันธุ์ ต่อยอดนโยบายของอภิรักษ์ โดยเสนอเมื่อปี 2552 ว่าจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งการค้าและการท่องเที่ยวของภูมิภาค สร้างตลาดนัดอาชีพ เพิ่มพื้นที่ตลาดสินค้าผลิตในครัวเรือนและสินค้าทำมือ และตั้งลานกีฬาใกล้บ้าน ศูนย์กีฬาครบวงจร 1,200 แห่ง โดยจะมีฟุตบาทเรียบ ถนนสวย

ในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในปี 2556 สุขุมพันธุ์มีนโยบายจะจัดให้มีศูนย์กีฬามิติใหม่และกีฬาผาดโผนสี่มุมเมือง สร้างห้องน้ำสาธารณะสะอาด ครอบคลุมจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ขยายการดูแลนักเรียน บริการหมวกกันน็อกฟรีแก่นักเรียน สร้างห้องสมุดใหม่ 10 แห่ง สร้างศูนย์เยาวชนเพิ่ม 5 แห่ง ติดตั้ง WIFI ความเร็วสูง และทำแท็กซี่ สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ

ปลอดภัยจากอาชญากรรม

ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาหาเสียงอย่างชัดเจนในสมัยของพิจิตต เมื่อปี 2539 เสนอจะติดตั้งไฟแสงจันทร์ทั่วทุกซอย จัดทำโครงการสารสนเทศป้องกันเหตุร้าย 24 ชั่วโมง และตั้งศูนย์อาสาประชากู้ภัยทั้ง 38 เขต บริการ 24 ชั่วโมง คล้ายคลึงกับนโยบายของอภิรักษ์ในปี 2547 ที่จะ “สำรวจจุดเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นจุดที่ล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม ปรับบทบาทบุคลากรของ กทม. เช่น เทศกิจ ให้เข้ามาดูแลประชาชนโดยให้ผู้รักษาความปลอดภัยโดยจะร่วมกับอาสาสมัครในชุมชนนั้นๆ”

สมัยของสุขุมพันธุ์ ในปี 2552 นอกจากการติดไฟส่องสว่างเพิ่ม 40,000 จุด ยังเพิ่มการติดตั้งกล้องวงจรปิด 10,000 ตัว ขณะที่ในปี 2556 เน้นเพิ่มจำนวนทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) และติดไฟส่องสว่างในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงจะจัดตั้งศูนย์บริหารการจัดการภัยพิบัติเร่งด่วน เพิ่มชุดปฏิบัติการดับเพลิงขนาดเล็กสำหรับชุมชน และให้มีอาสาสมัครชุมชนเฝ้าระวังเสริมความปลอดภัยให้ชุมชน

จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่า การออกแบบนโยบายหาเสียงมักขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ ณ เวลานั้น และตั้งเป้าหมายว่าต้องการเห็นกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร และเมื่อพิจารณาจะเห็นได้ว่า ประเด็นที่ผู้ลงสมัครในแต่ละยุคหยิบยกขึ้นมา เป็นนโยบายหาเสียงแทบจะไม่แตกต่างกัน หรือในแง่หนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ ที่ไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จได้เลยไม่ว่าในยุคไหน

จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า เมื่อได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคนนั้นๆ ในแต่ละยุค ได้ทำในสิ่งที่ตนเองหาเสียงไว้ว่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปมากน้อยแค่ไหน แล้วทำไมเมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่วนกลับมา ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ยังนำเอาประเด็นปัญหานั้นกลับมาหาเสียงใหม่อยู่ร่ำไป.

ผู้เขียน : ปูรณิมา