ใช้เวลาตัดสินใจลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. แค่ 30 วินาที ยืนยันไม่เสียดายเก้าอี้ในสภา เพราะถามตัวเองว่า เรามาเพื่อปักธงการเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่ มองผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นคนมีความกระตือรือร้น ชี้คำว่า “กล้าชน” ไม่ได้แปลว่าชวนทะเลาะ ส่วนปัญหาของคนกรุงเทพฯ ต้องมองให้เป็นปัญหาของตนเองหรือคนในครอบครัว ไม่ใช่อ้างไม่มีอำนาจ ส่วน “ธนาธร” จะมาช่วยดึงฐานเสียงคนกรุงหรือไม่ ให้รอติดตาม
หลายคนคงเคยเห็นบทบาทอันดุดันในสภา ของ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ไม่เป็น 2 รองใคร เพราะมีดีกรีเป็นถึงนักโต้วาที จึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัวต่ออำนาจ แต่แล้วปลายเดือนมกราคม พรรคก้าวไกล กลับประกาศส่งนายวิโรจน์ ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งก็ไม่พลิกโพลเพราะสื่อตาดีเห็นแค่หลังของนายวิโรจน์ ในคลิปก่อนเปิดตัวผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคก้าวไกล ความเลยแตกหลังเก็บงำมานานหลายเดือนว่าก้าวไกลจะส่งใคร จนนำมาสู่การประกาศลาออกจาก ส.ส. ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อมาเป็นว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อย่างเต็มตัว
...
แน่นอนว่าการเปิดตัว ของนายวิโรจน์ สร้างความฮือฮารวมถึงสร้างความสงสัยให้หลายคนไม่น้อย ว่าเพราะเหตุใดการมีตำแหน่ง ส.ส. ในมือจึงยอมกล้าปล่อย อีกทั้งพรรคก้าวไกลรู้ดีว่าหากนายวิโรจน์ลาออก ส.ส.บัญชีรายชื่อในพรรค คนอื่นๆ จะไม่ถูกเลื่อนขึ้นมาเหมือนพรรคอื่น เพราะการเข้ามาอยู่ในสภาของก้าวไกลมาจากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้สิทธิ์ของบัญชีรายชื่อหายตามไปด้วย และเท่ากับว่าก้าวไกลจะเสียเสียงในสภาไปอีก 1 เสียง
อะไรทำให้จาก ส.ส. โดดมาสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.?
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร บอกกับไทยรัฐออนไลน์ว่า เรื่องนี้ต้องย้อนไปตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ ที่หนึ่งในนโยบายคือการกระจายอำนาจ โดยสนามในกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่ต้องการปักธงการเปลี่ยนแปลง โดยบริหารด้วยการเอาประชาชนเป็นตัวตั้งไม่หวั่นไหวกับอำนาจ ปฏิบัติกับนายทุนเหมือนคนหนึ่งคน โดยไม่กลัวว่าจะถูกนายทุนเอาอะไรมาอุดปาก จนมาสู่ก้าวไกล สรุปง่ายๆ คือตนเองมีความสนใจตั้งแต่แรก ในเวทีแลกเปลี่ยนการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพมหานครของพรรคตั้งแต่อนาคตใหม่ จนมาถึงก้าวไกล จะเห็นตนเองเสมอ ทั้งแลกเปลี่ยน และเป็นผู้อำนวยการสัมมนา พอมาก้าวไกลก็เป็นทีมนโยบาย โดยก้าวไกลจะแปลกอย่างหนึ่งที่จะทำนโยบายก่อนค่อยหาคน เพราะเราเชื่อว่าต่อในนโยบายดี เลิศหรูแค่ไหน แต่ไม่มีวิถีทางกำกับก็ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ โดยก้าวไกลมีทีม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มาปีกว่าแล้ว และตนเองก็เป็นหนึ่งในผู้เสนอตัวที่จะเป็นว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ตั้งแต่ตอนนั้น แต่การคัดเลือกอยู่ที่กรรมการบริหารพรรคว่าใครจะที่จะขับเคลื่อน DNA อนาคตใหม่ได้ และสิ่งที่ประชาชนเดือดร้อนแล้วกล้าเผชิญหน้ากับปัญหา เหมือนเป็นคนในครอบครัว ซึ่งทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็เชื่อในตัวผม จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกเลือกจากกรรมการบริหารพรรค
“เมื่อทิม มาบอก ผมก็ตอบตกลงทันที ทิมก็บอกว่าพี่วิโรจน์จะไม่กลับไปคิดเหรอ ผมก็ตอบว่านี่คือความตั้งใจตั้งแต่แรกของผม และเป็นหนึ่งความฝันของผม และก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่มาทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่แรกจนมาสู่ก้าวไกล ก็รู้สึกดีใจมาก เหมือนกับการสัมภาษณ์งานรอบแรก
คอนเซปต์ของผมที่บอกกับกรรมการบริหารพรรคคือ ไม่ใช่ CEO อยู่บนตึกระฟ้า แต่คือคนมาสมัครงานในตำแหน่งผู้จัดการสำนักงาน หรือผู้จัดการโรงงาน ที่ยื่นใบสมัครและข้อเสนอกับ CEO คือ คนกรุงเทพฯ ให้พิจารณาจ้างงาน”
นายวิโรจน์ ยืนยันว่า “ทิม พิธา” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นคนเชียร์ให้ลงผู้ว่าฯ แค่เป็นคนพิจารณาอย่างเป็นกลาง แต่ตอบไม่ได้ว่าวันนั้นมีแคนดิเดตกี่คนเพราะอยู่ที่กรรมการบริหารพรรค เนื่องจากการพิจารณาหัวใจสำคัญคือต้องมี DNA ก้าวไกล อนาคตใหม่ ที่สำคัญต้องทำให้คนเชื่อว่า คนนี้พร้อมจะยืดหยัดรับใช้คนกรุงเทพฯ
“คำว่ากล้าชนไม่ใช่คือคำว่าชวนทะเลาะ การมีเรื่อง แต่เราพยายามทะลุข้อจำกัดที่มีทั้งหมดจะไม่เอาข้ออ้างว่า ไม่มีอำนาจ ไม่ใช่หน้าที่แล้วก็ปล่อยให้คนกรุงเทพฯ เผชิญกับปัญหาตามยถากรรม โดยที่ผู้ว่าฯ ที่รับเงินค่าจ้างไม่ทำอะไรเลย ทำได้หรือไม่ได้ไม่รู้ แต่ต้องมีความกระวีกระวาด ที่มองคนกรุงเทพฯ เป็นคนในครอบครัวและเจ้านายเรา”
พรรคก้าวไกลตัดสินใจส่ง “วิโรจน์” เพราะหมดสต๊อกแล้ว?
นายวิโรจน์ ชี้แจงว่าต้องย้อนกลับไปที่การเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม 2562 ถ้าถามว่าวิโรจน์คือใคร ทุกคนไม่รู้จัก แต่ก็ขอบคุณประชาชนที่รู้สึกเสียดายในตำแหน่ง ส.ส. ที่ต่อสู้กับประชาชนมา แต่ในบทบาทใหม่ ถ้าเรามีงบประมาณ 1 แสนล้าน ในการดูแลประชาชนคนกรุงเทพฯ หลายล้านคน ผลประโยชน์จะตกมาที่ประชาชนให้มากที่สุด ไม่หวั่นไหวกับผลประโยชน์ ไม่หวั่นไหวกับอำนาจ หรือเกรงใจนายทุนที่มีบุญคุณกับเรา จนต้องให้อภิสิทธิ์กับนายทุน
และที่สำคัญที่สุดคือกล้าที่จะปฏิเสธการรีดไถเพื่อให้งบประมาณทั้งหมดไปที่ประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นี่คือบทพิสูจน์ที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลก้าวไกลมันเป็นแบบนี้แล้วผมเชื่อว่า ถ้าเราทำได้สำเร็จจะเป็น momentum ที่สำคัญที่จะส่งไปที่การเมืองระดับชาติได้ โดยเรามีคณะก้าวหน้าทำเป็น prototype (ต้นแบบ) แล้ว และเรามักจะคุยกันเสมอ ก้าวหน้าเป็น prototype ก้าวไกลเป็นของจริง
เสียดายเก้าอี้ในสภาหรือไม่?
นายวิโรจน์ กล่าวว่าวันที่มาอยู่ในอนาคตใหม่ได้ลำดับปาร์ตี้ลิสต์ ที่ 33 ก็ไม่กล้าคาดหวังว่าจะได้ ส.ส. จึงต้องถามก่อนวันนี้เราต้องการตำแหน่งหรือต้องการปักธงการเปลี่ยนแปลง ผมกลับมาถามตัวเองว่าเราต้องการปักธงการเปลี่ยนแปลงใช่ไหม จึงไม่รู้สึกเสียดาย เพราะสิ่งนี้จะต้องเป็นสิ่งที่ต้องทำงานหนักและต้องพิสูจน์ตัวเอง แต่งานในสภาใช่ว่าไม่สำคัญ เพราะมีทั้งงานอภิปรายและงานตรวจสอบ จึงขอโอกาสให้ตนเองทำให้ดูแบบทดลองจริง
ใช้เวลาแค่ 30 วินาที ในการตัดสินใจ
นายวิโรจน์ ระบุว่า การตัดสินใจลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ใช้เวลาตัดสินใจเพียงแค่ 30 วินาทีเท่านั้น ทิม พิธา ยังถามจะไม่กลับไปคิดใหม่เหรอ แต่คำตอบนี้เป็นคำตอบที่ตนเองได้ตั้งแต่เข้ามาอยู่พรรคอนาคตใหม่แล้ว เพราะมองว่าตำแหน่งผู้ว่าฯ ก็เป็นฟันเฟืองที่สำคัญ และจะทำงานแบบหัวเดียวกระเทียมลีบไม่ได้ แกนของพรรคคืออยากสร้างสวัสดิการที่เป็นพื้นฐานที่ดีให้ได้ โดยที่คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องควักสตางค์จ่ายกับปัญหาที่ไม่ไหวกับกรุงเทพมหานคร
“จึงต้องย้อนกลับไปที่อนาคตใหม่ที่เราใส่ใจปัญหาเชิงโครงสร้าง การจ่ายจนเคยชินเป็นเรื่องโครงสร้างทั้งนั้น เหมือนที่เราเคยพูดเรื่องรัฐสวัสดิการจำได้ไหม คือเมืองที่ดีมันต้องมีรัฐสวัสดิการที่ดี ที่คนในเมืองนั้นฝากผีฝากไข้ได้ แต่บางคนมีกำลัง ที่จะจ่ายก็ไม่ผิด แต่ความสุขที่ดีคือการมีสวัสดิการที่ไม่ต้องหรู แต่ดีหน่อยที่ทำให้รู้สึกว่า ถ้าวันหนึ่งเราล้มจะต้องไม่เจ็บหนัก นี่คือสิ่งที่เรากำลังสร้างให้เมืองๆ หนึ่งน่าอยู่ ความสุขที่เกิดขึ้นกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จึงต้องการมุ่งสร้างสวัสดิการที่ดี”
ชู DNA อนาคตใหม่ มองปัญหาคนกรุงเป็นปัญหาตัวเอง
นายวิโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า การที่พรรคก้าวไกล ออกไปเคลื่อนไหวช่วยม็อบเรื่องสิทธิเสรีภาพ ก็คือส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐาน จึงขอถามว่า ถ้าเรามองว่าเขาคือคนในครอบครัวเรานิ่งดูดายได้หรือไม่ เพราะนั่นคือสิทธิ์อันชอบทำถามรัฐธรรมนูญ มีสิทธิ์ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม แกนสำคัญของผู้ว่าฯ ของก้าวไกลคือ มองปัญหาของคนกรุงเทพฯ เป็นเหมือนปัญหาของตัวเอง มองปัญหาที่ไม่เป็นธรรม เหมือนคนในครอบครัวและตัวเราเหมือนกัน เพราะนี่คือ DNA อนาคตใหม่
นโยบายมัดเด็ดของพรรคก้าวไกล คืออะไร?
นายวิโรจน์กล่าวว่าบ้านเราต้องสะอาดก่อน จึงขอเปิดด้วยการไม่ประนีประนอม ไม่ยอมรับกับส่วยกรุงเทพฯ เพราะทุกคนรู้เรื่องภัยคอร์รัปชันดีว่ามันทำให้ไปถึงประชาชนอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เราจึงกล้าปักหมุดใหม่ที่จะทำสัญญาประชาคม โดยไม่ต้องห่วงว่าการชนครั้งนี้ จะทำให้ข้าราชการทำงานไม่ได้ เพราะเชื่อว่าเกิน 90% เป็นข้าราชการน้ำดี ที่อยากทำงานกับผู้ว่าฯ กทม.ที่ตรงไปตรงมา และให้พื้นที่ มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ดังนั้นผู้ว่าฯ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไอ้พวกที่โกงไปต้องไม่โต เพราะหากพลิกโฉมได้ภายใน 4 ปี เรื่องงบประมาณจะตกถึงมือประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผู้ว่าฯ ที่โปร่งใสก็จะกล้าจัดการกับเรื่องนี้ อีกทั้งยังเป็นที่ยืนให้กับข้าราชการน้ำดีได้ด้วย
ผู้ว่าฯ กทม.ต้องเป็นคนมีความกระตือรือร้น
ขณะที่การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ต้องยอมรับว่าเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน และต้องหาให้ได้ก่อนว่ามันมาจากไหนบ้าง ดังนั้นผู้ว่าฯ กทม.ต้องเป็นคนมีความกระตือรือร้น ถ้ารถควันดำ แม้ไม่มีอำนาจ แต่ถ้าอยู่ในบ้านผม ก็ต้องไปคุย นี่คือคำว่าชน ไม่ได้ไปทะเลาะ เพราะหลายครั้งมักได้ยินผู้ว่าฯ กทม.หลายคนพูดว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจ แต่ไม่เคยยื่นเรื่องมาที่ฝ่ายนิติบัญญัติขอให้ช่วยแก้ไขกฎหมายเพื่อมอบอำนาจให้กับตนเอง เพื่อทำให้ชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น
ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม เอาพื้นฐานที่สุดก่อน คือ เรามักจะเจอเรื่องเครื่องสูบน้ำเสียบ่อย ดังนั้นผู้ว่าฯ ต้องไปจี้ ว่าเครื่องสูบน้ำเขตนี้ใช้ได้รึยัง เพื่อการันตีว่าหน้าฝนมาถึงสามารถใช้ได้ ถึง 150% คือเครื่องหลักใช้ได้ เครื่องสำรองพร้อมใช้งาน ต้องบอกคนกรุงเทพฯ วันนี้ ผมเตรียมระบบระบายน้ำไว้หมดแล้ว และต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวตั้ง เรื่องนี้ตนเองยืนยันว่ามันไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง
ส่วนเรื่องขยะ สิ่งที่ต้องทำคือการบำบัดและกำจัดขยะให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องเริ่มจากการแยกขยะก่อน ต้องคิดนโยบายที่ต้องสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะด้วย ส่วนเรื่องการรุกล้ำ มันไม่ใช่แค่ริมคลองแต่รวมถึงทางเท้าด้วย การบังคับใช้กฎหมายต้องทำ แต่ต้องคำนึงถึงหัวอกคนที่โดนด้วยและต้องรับรู้ถึงปัญหาที่ซับซ้อน ไม่ใช่การไล่อย่างเดียว เพราะหากไม่เข้าใจก็จะเกิดการลักลอบและระบบมาเฟีย จะทำให้การแก้ยิ่งยาก ดังนั้นต้องแก้หลายมิติและต้องคำนึงถึงเขาด้วย เพราะผมอยากเห็นคนบ้านหลังเล็ก หลังใหญ่ อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
แต่ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะทำงานกับรัฐบาลชุดนี้อย่างไร?
นายวิโรจน์ ระบุว่า ต้องตั้งคำถามกลับไปว่า เอาอะไรเป็นตัวตั้ง สำหรับตนเองต้องเอาคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก เพราะคือคนที่จะไล่ตนเองออกได้เมื่อครบสัญญาจ้าง 4 ปี แต่ถ้าหากมองว่านายวิโรจน์ทำงานดีก็เชื่อว่าจะต่อสัญญาให้ เพราะตนเองมองว่าคนกรุงเทพฯ เป็นเจ้านาย
“ส่วนที่คนกรุงบอกว่าใครเข้ามาก็เหมือนเดิม ผมเข้าใจความรู้สึกนี้ของเจ้านาย เพราะเจอความหมดหวังมา 7-8 ปีและไล่ออกไม่ได้ สุดท้ายเลยชินชา ผมจึงบอกว่าเนี่ยคือโอกาสที่เขาเปิดรับสมัครงาน จะบอกว่าถ้าลูกน้องคนเดิมทำหน้าที่ไม่ดี ผมก็พร้อมเข้าไปทำหน้าที่ อย่างเต็มที่และให้โอกาสผม เอาใจเขามาใส่ใจเรา มองเห็นปัญหาของคนอื่นเป็นของตัวเอง ผมคิดอย่างนั้นเสมอ”
“ธนาธร” คือเพื่อน รอติดตามเรื่องช่วยหาเสียงหรือไม่
ส่วนสถิติที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงเรื่องกระแสโพล นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนเองก็พร้อมทำงานอย่างหนัก เพราะหากไปโฟกัสว่าใครเบอร์ 1 เบอร์ 2 หรือ 3 หรือ 4 ก็จะเสียสมาธิให้การทำข้อเสนอให้กับเจ้านายของเรา ขณะเดียวกันการลงพื้นที่หาเสียงครั้งนี้จะมีการเรียกตัวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้ามาช่วยดึงฐานเสียงคนกรุงเทพฯ หรือไม่ นายวิโรจน์กล่าวว่า นายธนาธรคือเพื่อนตนเอง แต่จะว่างวันไหน ก็ขอให้รอติดตามดูดีกว่า
ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จะทำอะไรก่อน?
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนเองมีหลายเรื่องที่อยากแก้ แต่สิ่งที่อยากแก้ก่อน คือต้องทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ปลอดภัยที่สุด เพราะทุกวันนี้รู้สึกว่าคนถูกผลักภาระให้ระวังด้วยตัวเอง โดยที่คนที่ดูแลเมืองไม่รู้สึก โดยทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าสถิติอาชญากรรม 2,000 คดี/ปี, จี้/ปล้น 8,000 คดี/ปี, อุบัติเหตุทางเดินเท้า 800-900 คดี/ปี มันไม่ใช่เรื่องปกติ แล้วอีกอย่างสถิติจุดเสี่ยง 400-500 จุดพบว่าสะพานลอย ป้ายรถเมล์ อยู่ในจุดเสี่ยงนั้นด้วย ทั้งๆ ที่หลายคนคิดว่าการแวะส่งเพื่อนที่ป้ายรถเมล์ปลอดภัยแล้วกลับไม่ใช่ และที่แปลกคือนี่คือเมืองอะไร ที่ต้องส่ง LINE ถามกันว่าถ้าถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ เพราะถ้าไปเดินที่สิงคโปร์ หรือ ไทเป คุณจะไม่รู้สึกเสี่ยงขนาดนี้ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้คนกรุงเทพฯ ถูกผลักภาระในเรื่องนี้.
ผู้เขียน : Supattra.l
กราฟิก : sathit chuephanngam