ในห้วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังแข่งขันทาง "นวัตกรรม" ก็ต้องยอมรับว่า ไทยยังห่างชั้นนัก แม้มีของ แต่ไร้การสนับสนุน อุปสรรคสำคัญเริ่มตั้งแต่ "ระบบการศึกษา"

จริงๆ แล้ว หากจะว่าด้วย "นวัตกรรม" นั้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่คนให้ความมุ่งหวังมากที่สุดเห็นจะเป็น "เทคโนโลยี" ที่จับต้องได้ชัดเจน และบรรดาประเทศมหาอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, จีน, รัสเซีย, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เหล่านี้เป็นต้น

หากมองมายัง "ไทย" ย้อนไปในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ อาจไม่ค่อยชัดเจนมากนักกับคำว่า "นวัตกรรม" ที่ได้ยินผ่านๆ กันมาบ้างก็อย่างเช่น "ปัญญาประดิษฐ์" หรือ "เอไอ" (AI) แต่ในช่วง 1-2 ปีนี้ เมื่อทั่วทั้งโลกต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้เห็นว่า "นวัตกรรม" ใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมากมาย และยังช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตต่างๆ ให้สะดวกมากขึ้น

ตั้งแต่เดลิเวอรี่ การต่อยอดแพลตฟอร์มสนับสนุนชุมชน การใช้โดรน การใช้นวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายหลากหลายด้านในยุคโควิด-19 แต่ก็ต้องยอมรับว่า... ตลอดช่วง 1-2 ปีนี้ ไทยยังคงเป็นเพียง "ผู้ใช้นวัตกรรม" แต่ยังไม่ได้เป็น "ผู้ผลิตนวัตกรรม" อย่างโดดเด่น แม้กระทั่งในภูมิภาคอาเซียนเองก็ตาม

"จริงๆ แล้ว หากพูดถึงนวัตกรรมเฉพาะแค่ 'เทคโนโลยี' ก็ต้องยอมรับว่า ในภาพรวมทั่วโลกมีมายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4"

...

ในมุมมองของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่ศึกษาและติดตามโลกดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง อธิบายภาพของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ไว้ว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ และในอนาคต นวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นอย่างไรก็ยังคงมี "เอไอ" (AI) เป็นตัวหลักที่จะใช้ผสมผสานกับเทคโนโลยีอื่นๆ ขณะเดียวกัน นวัตกรรมที่โดดเด่นและน่าจับตามองการแข่งขันในตลาดอันใกล้นี้ คือ "รถยนต์อัตโนมัติแบบไร้คนขับ" หรือแม้แต่ "ไอโอที" (IoT) ก็จะมีมากขึ้น พร้อมๆ กับควอนตัมคอมพิวเตอร์

หรือแม้แต่ในมุมมองนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "โลกร้อน" ก็จะมีบทบาทมากขึ้น เห็นได้จากหลายๆ ประเทศเริ่มนำมาตรการการเก็บ "ภาษีคาร์บอน" จากสินค้าของประเทศต่างๆ ที่นำเข้าประเทศ โดยเฉพาะ "สหรัฐอเมริกา" ที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ดังนั้น หมายความว่า ประเทศใดๆ ก็ตามที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาต้องพยายามหานวัตกรรมที่จะช่วยให้การผลิตสินค้าของตัวเองมีปริมาณคาร์บอนน้อยที่สุดถึงไม่มีเลย

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมอีกประเภทที่กำลังมีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราอย่างมากในช่วงนี้ นั่นคือ "นวัตกรรมไลฟ์สไตล์"

นวัตกรรมไลฟ์สไตล์ คืออะไร?

รศ.ดร.สมชาย อธิบายคร่าวๆ ว่า เหล่านั้นคือ นวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสาธารณสุข อาทิ วัคซีน หรือการตัดต่อยีน เป็นต้น ซึ่งที่ว่ามานี้ต้องยอมรับว่า "ไทยไม่มีทางตามทันเลย!"

เหตุผลง่ายๆ ลองวาดภาพดูทีละสเตป...

"ดิจิทัลของไทยยังล้าหลังมาก..."

แม้ว่าในห้วงวิกฤติโควิด-19 นี้ ทุกคนจะใช้นวัตกรรมดิจิทัลเยอะมาก ตั้งแต่การสนทนาผ่านไลน์ (LINE), ประชุมผ่านซูม (Zoom), การถกประเด็นผ่านการเปิดห้องในคลับเฮาส์ (Club House) หรือกระทั่งการใช้แอปพลิเคชันสั่งซื้ออาหารก็ใช้ฟู้ดแพนด้า (Food Panda) แกร็บ (Grab) ไลน์แมน (LINE MAN) อะไรต่างๆ แต่ทุกตัวที่ว่ามานี้...มาจาก "ต่างประเทศ" หมดเลย

"เราส่งออก Low-End (สินค้าราคาถูก คุณภาพต่ำ) แต่นำเข้า High-End (สินค้าราคาแพง คุณภาพสูง) แค่นี้ก็ชัดเจนแล้วว่า เราล้าหลังเขา"

สำหรับ "สตาร์ตอัพ" ที่มีการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ จนพัฒนาไปสู่การเป็น "ยูนิคอร์น" แม้จะเริ่มมีบ้างแล้วสำหรับประเทศไทย แต่ก็ยังไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น ยังไม่โดดเด่นจนเป็นที่พูดถึงกว้างขวาง กำลังก่อร่างสร้างตัวกันอยู่ ขณะเดียวกันรอบด้านอย่างมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ ไปกันหมดแล้ว

"อุปสรรคใหญ่" ขัดขวางไทยไม่มี "นวัตกรรม"

"การสนับสนุนจากภาครัฐไม่เต็มที่"

รศ.ดร.สมชาย ยอมรับว่า แม้ที่ผ่านมารัฐบาลไทยจะมีความพยายามในการส่งเสริมด้านนวัตกรรมเอไอ (AI) ที่เรียกว่า S-Curve อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมเทคโนโลยีและดิจิทัล โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.First S-Curve (ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี-เชิงสุขภาพ, เกษตร-เทคโนโลยีชีวภาพ, แปรรูปอาหาร) และ 2.New S-Curve (หุ่นยนต์, การบิน-โลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพ-เคมีชีวภาพ, ดิจิทัล, การแพทย์ครบวงจร) แต่เป็นการส่งเสริมในลักษณะที่ว่า พยายามลดภาษีเพื่อดึงคนจากต่างประเทศมาสอนแรงงานไทยในเรื่องเอไอ (AI) หรืออะไรต่างๆ อีกทั้งคนที่มีบทบาทดูแลในด้านนี้โดยตรง ก็พบว่าบางคนยังไม่มีความเชี่ยวชาญตรงนี้อย่างดีพอ ทำให้ขาดความเข้าใจ หากเทียบภาพใหญ่ แม้กระทั่งจีนยังขับเคี่ยวกับสหรัฐอเมริกาได้ยาก ทั้งๆ ที่จีนเก่งมากในช่วง 1-2 ปีนี้ แต่เขาพัฒนากันมาหลายปี เห็นได้ชัดในยุคของประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" ที่สนับสนุนเต็มที่มากๆ เพราะฉะนั้น ไทยยังห่างไกล แทบเป็นไปไม่ได้เลย หากจะออกไปขับเคี่ยวกับโลกข้างนอก

...

หากพูดนวัตกรรม "โดรน" แน่นอนไทยมีการใช้กันอย่างกว้างขวางในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น โดรนทางการเกษตร เป็นต้น แต่นั่นเป็นเพียงแค่ "คนใช้อุปกรณ์" และ "ต่อยอด" ไม่ใช่คิดค้นนวัตกรรม

รศ.ดร.สมชาย ให้จับตาอนาคตอีกว่า ในวันข้างหน้า ไทยต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่เรียกว่า "แรนซัมแวร์" (Ransomware) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ "ความมั่นคงทางไซเบอร์" (Cyber Security) หากแบ่งเป็น Tier ไล่ตั้งแต่ Tier 1 : สหรัฐอเมริกา, Tier 2 : จีน, รัสเซีย, ยุโรป (EU) และ Tier 3 : อินโดนีเซีย, เวียดนาม ฯลฯ แต่ไทยไม่ได้อยู่ในนั้นเลย

ไม่เพียงแค่การสนับสนุนจาก "ภาครัฐ" ที่ส่งเสริมแบบกึ่งๆ แล้ว อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญ คือ "คุณภาพการศึกษา"

"แม้เรียนเก่งมาก แต่กลับไม่มีนวัตกรรมโดดเด่นออกมา"

โดยธรรมชาติการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน มักคุ้นเคยกับการทำคะแนนให้ได้สูงๆ คะแนนดี ขอให้สอบได้ที่ 1 ได้ A นับว่ายอดเยี่ยม ซึ่งแตกต่างกับระบบการศึกษากับของตะวันตก ที่ไม่จำเป็นว่าทุกคนที่เรียนจะต้องได้ที่ 1 แต่เรียนเพื่อค้นพบความอัจฉริยะของตัวเอง พอจบไปแล้ว จึงไปได้ไกลมาก เพราะว่ารู้จักวิธีการเรียนและการนำไปใช้ ผสมผสานกับความสร้างสรรค์ที่มี

...

รศ.ดร.สมชาย เสริมอีกว่า ประเทศที่มีเทคโนโลยีเด่นๆ จะสังเกตได้ว่า คนจะเก่งคำนวณ วิทยาศาสตร์ และจับประเด็นการอ่านกันมาก เห็นได้จากอันดับใน PISA ของ OECD (องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ที่วัดด้วย 3 ตัว คือ วิทยาศาสตร์ การคำนวณ และการอ่านจับประเด็นของนักเรียนประถมศึกษากับมัธยมศึกษา โดยในวันนี้ ไทยอยู่อันดับเกือบจะสุดท้าย 70 กว่า ขณะเดียวกัน เวียดนามบางตัวอยู่อันดับ 1 ใน 10 เช่น วิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นแค่ภาพการศึกษาเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต เราก็ยังสู้เวียดนามไม่ได้เลย

"แค่วิชาภาษาอังกฤษ ไทยก็เน้นขับเคี่ยวไวยากรณ์มากจนเกินไป แต่ไม่ค่อยครอบคลุมการนำไปใช้จริง การพูดยังขัด แต่การพูดก็ไม่ได้สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว เพราะพูดเก่งใครๆ ก็ทำได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ การอ่านแล้วจับประเด็นให้เป็น แล้วสามารถนำมาใช้ได้"

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาไทยที่ รศ.ดร.สมชาย มองว่ายังอ่อนแออยู่มาก เมื่อเทียบกับโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป แล้วหากจะอยากไล่ตามโลกให้ทัน ก็ต้องปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาใหม่

...

อย่างไรก็ตาม แม้เหมือนหนทาง "นวัตกรรม" ไทยจะมืดมน เพราะอุปสรรคนั้นใหญ่พอสมควรไม่ได้แก้ได้ง่ายๆ แต่ รศ.ดร.สมชาย ก็มองว่า นวัตกรรมหนึ่งที่จะทำให้ไทยโดดเด่นได้ คือ นวัตกรรมทางการเกษตรและนวัตกรรมอาหาร

"ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างสายพันธุ์ทุเรียนต่างๆ หากพัฒนาดีๆ ไทยจะไปได้ดีทีเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าแซงหน้าเขา เพราะการชนะเขาจะต้องมีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมออร์แกนิกเข้ามาร่วมด้วย ผสานกับนวัตกรรมไลฟ์สไตล์ ซึ่งตรงนี้ยังติดขัดอยู่ เรายังสู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศไม่ได้"

รศ.ดร.สมชาย ทิ้งท้ายว่า คนไทยเก่งๆ เยอะมาก นวัตกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือเกษตร ล้วนไปได้ดี แต่ถ้าดูภาพรวมทั่วๆ ไปของนวัตกรรมทั้งหมดแล้ว เรายังลำบากมาก...