อีกไม่กี่วันก็จะถึงช่วงเวลา "สุขสันต์สงกรานต์" กันแล้ว ชาวบ้าน ร้านรวง บรรดาธุรกิจต่างๆ เตรียมจัดงานคึกคัก ก็มีอันให้ต้องประสบกับ "หายนะ" ในแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อ "คลื่นโควิด-19" ลูกใหม่โถมซัดเข้ามาอย่างรุนแรง
เกิด "คลัสเตอร์" ใหม่ที่แผ่กระจายไปหลายพื้นที่ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วคืน โดย ณ วันที่ 7 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 334 ราย สะสมแล้วกว่า 29,905 ราย สร้างความหวาดวิตกให้กับประชาชนถ้วนหน้า เสียงครวญระงม...หากคราวนี้ "ล็อกดาวน์" อีกครั้ง ก็ไม่รู้จะอยู่รอดไหม
โควิด-19 ก็กลัว...ปากท้องก็ห่วง!
นั่นจึงหนีไม่พ้นที่ทุกสายตาจะจับจ้องไปยัง "รัฐบาล" ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า "แล้วท่านๆ จะจัดการกับวิกฤติโควิด-19 รอบนี้อย่างไร?"
ซึ่งที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้แสดงความกังวลสถานการณ์โควิด-19 วอนขอให้ทุกคนร่วมมือกัน มีความรับผิดชอบร่วมกัน มีจิตสำนึกร่วมกัน อย่าให้อะไรต้องแย่ไปกว่าเดิม เป็นห่วงประชาชนและทำเต็มที่แล้ว
ทั้งนี้ ขอประเมินสถานการณ์อีก 2-3 วันข้างหน้าก่อน
และห้วงเวลาที่ "รัฐบาล" กำลังประเมิน... หลายๆ คนก็ภาวนาว่า มติของรัฐบาลต่อวิกฤติโควิด-19 ระลอกนี้ ขออย่ากระทบกับ "รายได้" ที่มีอยู่น้อยนิดนี้เลย
...
"ในภาวะแบบนี้ รัฐบาลต้องตัดสินใจที่จะ 'เน้นน้ำหนัก' หากว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ขยายตัวและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่า ในขณะนี้ 'น้ำหนัก' ที่รัฐบาลจะต้องให้ คือ 'สุขภาพ' กับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า 'ทิ้งเศรษฐกิจ' เพียงแค่เน้นน้ำหนักมาอยู่ตรงนี้เท่านั้น"
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ให้ความเห็นต่อข้อคำถาม "ตอนนี้รัฐบาลควรทำอะไรไม่ให้เศรษฐกิจแย่ไปกว่าเดิม?" ว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเริ่มกลับมาให้น้ำหนักกับ "เศรษฐกิจ" มากกว่า... เพราะคิดว่า สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย แต่ตอนนี้นอกจากสถานการณ์ไม่คลี่คลายแล้ว กลับเริ่มร้ายแรงขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องให้น้ำหนักกับการป้องปรามและการแก้ไขก่อน แต่เศรษฐกิจก็ต้องมี... เพราะหากว่า สถานการณ์ขยายลามปามแบบในยุโรป เศรษฐกิจจะยิ่งย่ำแย่ไปใหญ่
ทีนี้... ในส่วนการป้องปรามการขยายตัวของโควิด-19 ระลอกใหม่ รศ.ดร.สมชาย มองว่า รัฐบาลต้องทำ 2 เรื่องด้วยกัน คือ
ข้อแรก ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้...เราค่อนข้างมีความรู้สึกคล้ายๆ ว่า "วิกฤติโควิด-19 เริ่มดีขึ้น" ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐมนตรีบางท่านต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เลยทำให้ "การ์ด" เริ่มลดลง ทั้งการใส่หน้ากาก การทิ้งขยะ ไปจนถึงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และที่สำคัญ หากลองสังเกตดูในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผับหรือร้านอาหาร คนนั่งติดกันหมดเลย ดังนั้น สิ่งแรกที่รัฐบาลจะต้องทำในตอนนี้ คือ "ตั้งการ์ด" ให้สูงขึ้นกว่าเดิม อาจจะต้องนำมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มาใช้อย่างเข้มงวดจริงจัง แต่ยังไม่ต้องพูดถึง "มาตรการล็อกดาวน์" (Lockdown) ส่วนถ้าสถานการณ์โควิด-19 ขยายตัวร้อนแรงขึ้น ก็ต้องมีการพิจารณามาตรการล็อกดาวน์ว่าจะผ่อนคลายหรือไม่อย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นจะมียอดติดเชื้อขึ้นมามาก
ข้อที่ 2 อันนี้สำคัญมากๆ คือ การเร่ง "ฉีดวัคซีน" ซึ่งในส่วนนี้ รศ.ดร.สมชาย คิดว่า "ไทยค่อนข้างจะช้า..." พร้อมยกตัวอย่างว่า ยุโรปที่ว่าช้าๆ ยังฉีดวัคซีน 30% แล้ว ส่วนไทยแค่ 0.2% เท่านั้น หรืออย่างฝรั่งเศสที่ว่าช้า เกิดการขยายตัวโควิด-19 ระลอกใหม่ จากระลอก 2 สู่ระลอก 3 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์เกือบจะครึ่งประเทศ อันเป็นผลมาจาก "วัคซีน" เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องเร่งมืออย่างมาก
...
นอกจากที่ว่านั้นแล้ว รศ.ดร.สมชาย ก็มองว่า รัฐบาลต้องพิจารณามาตรการที่เตรียมจะผ่อนคลายด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดท่องเที่ยวให้กับคนที่มาจากต่างประเทศ เวลานี้ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ "สุขภาพ" มากกว่าแล้ว ซึ่งอาจต้องกลับมาใช้การกักตัวเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ การติดเชื้อบางส่วนมาจาก "ชายแดน" ด้วย จากกรณีของเมียนมา รัฐบาลก็ต้องดูแลและควบคุมชาวเมียนมาที่หลั่งไหลเข้ามา ซึ่งอาจมาพร้อมกับเชื้อโควิด-19 ได้
"ในตอนนี้ ผมคิดว่า รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมให้มากเลย คือ เชื้อที่เข้ามาตอนนี้เป็นเชื้อโควิด-19 'สายพันธุ์อังกฤษ' ที่ทำให้ฝรั่งเศสและยุโรปกำลังปั่นป่วน เพราะว่าเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงและแพร่กระจายเชื้อรวดเร็ว ขณะที่ สายพันธุ์แอฟริกาก็มีเข้ามาแต่ถูกกักกันไว้ อย่างไรก็ตาม เชื้อโควิด-19 ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้อาจจะมาจากชายแดนด้วยก็ได้ หรืออาจจะมาจากคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ ซึ่ง 'ชายแดน' ที่หมายถึงนั้น ไม่ได้แค่เมียนมา แต่ยังรวมชายแดนอื่นๆ ด้วย เช่น มาเลเซีย"
สำหรับกรณี "วัคซีนพาสปอร์ต" หรือ "ใบรับรองการฉีดวัคซีน" รศ.ดร.สมชาย ก็มองว่าต้องระวัง ส่วนหนึ่งก็เห็นใจการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องพิจารณาวัคซีนพาสปอร์ตว่า "สิ่งนี้สามารถป้องกันหรือมีมาตรการป้องกันได้จริงหรือเปล่า?" เพราะฉะนั้น การป้องกันไวรัสตัวใหม่เหล่านี้สำคัญมาก นี่คือ มาตรการทางด้านสุขภาพที่รัฐบาลต้องเร่งทำ
...
และอย่างที่ รศ.ดร.สมชาย บอกในตอนต้นว่า แม้ "สุขภาพ" ต้องเน้นมากกว่า แต่ "เศรษฐกิจ" ก็ห้ามหิ้ง!
"ทีนี้... ในเรื่องเศรษฐกิจ ผมคิดว่า มาตรการต่างๆ ที่ช่วยไม่ให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเลวร้าย หรือมาตรการกระตุ้นต่างๆ เหล่านี้ ยังคงต้องมีอยู่ แต่ต้องเติมมาตรการอื่นๆ ที่ไม่เคยหยิบมาใช้เลยขึ้นมาด้วย"
รศ.ดร.สมชาย ไล่เรียงดังนี้
ข้อแรก มาตรการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งที่ผ่านมา... รัฐบาลมีมาตรการที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน แต่ไม่ได้ช่วยในเรื่องของการลงทุน หรือศักยภาพในการแข่งขัน เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะต้องกระตุ้นการแข่งขันเข้ามาด้วย
กับอีกส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการที่สำคัญมากที่สุดที่รัฐบาลต้องหันมาดู คือ มาตรการที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องกับเรื่องนี้ เช่น "อุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพ" ที่สามารถต่อยอดได้ ไปได้อีกไกลเลย แต่เรายังทำได้น้อยมาก
สุดท้ายที่อยากเน้นย้ำ มาตรการที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ "การพัฒนาเทคโนโลยี" เราจะเห็นได้ว่า "ดิจิทัล" เข้ามามีบทบาทมาก นี่เป็นโอกาสด้วยซ้ำ มาตรการหนึ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำ คือ ใช้โอกาสตรงนี้ในการพัฒนาเรื่องของขีดความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือคน ที่เรายังมีไม่เพียงพอ พัฒนาน้อยมาก
...
"ทุกวันนี้ ดิจิทัลเข้ามาเยอะมาก ทั้งไลน์ (Line) ลาซาด้า (Lazada) หรือแกร็บ (Grab) เราควรจะพัฒนาบุคลากรเพื่อลดการพึ่งพิง ที่ผ่านมา... เรานำเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้มาใช้ แต่ไม่ได้เอามาเสริมสร้างความรู้ ใช้กันแบบผิวเผิน ฉะนั้น รัฐบาลต้องทำให้เป็นความรู้ พัฒนาการศึกษา การใช้คนให้ได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น"
นอกจากเอไอ (AI) ที่คนมักพูดกันบ่อยๆ แล้ว อีกอันที่จะต้องเกี่ยวข้องมากขึ้นในอนาคต และรัฐบาลต้องเร่งมือ รศ.ดร.สมชาย ชี้ว่า BCG ย่อมาจาก Bio-Circular-Green Economy ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหรือป้องกันภาวะโลกร้อน (Global Warming) เพราะอีกหน่อยเวลาเราส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เขาจะดูเลยว่า "สินค้าเรามีการควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์หรือเปล่า?" ที่ผ่านมา เรามีการพูดถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ BCG แต่ไม่พอ...ต้องเร่งแก้ไข เพื่อที่จะทำให้เราป้องปรามโควิด-19 และเตรียมตัวสำหรับการรองรับอนาคตที่จะฟื้นฟูขึ้นมาได้ ในส่วนนี้ เรายังไม่ได้ทำเลย หรืออาจจะมีทำบ้าง...แต่ทำน้อยมาก
ทั้งหมดที่ว่ามาตั้งแต่ต้นต้องทำพร้อมกัน ทำคู่ขนานกันไป เป็นระยะสั้น กลาง และยาว
"สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่นี้ มีความเป็นไปได้ที่จะยืดเยื้อเกินกว่าครึ่งปี ก่อนหน้านี้ รัฐบาลนึกว่าไม่รุนแรง ตอนนั้นก็เลยใช้มาตรการที่ไม่เข้มงวด ซึ่งผมคิดว่า กรณีรอบนี้จะยืดเยื้อไปสู่ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 โดยสิ่งที่ต้องระวัง คือ โควิด-19 เกิดการลดการ์ดลง กับอีกอันคือ โควิด-19 ที่กลายพันธุ์ ดังนั้น รัฐบาลต้องระวัง!"
สุดท้าย... "รัฐบาล" จะตัดสินใจจัดการวิกฤติโควิด-19 ระลอกใหม่นี้อย่างไร จะใช้มาตรการเด็ดขาด หรือผ่อนปรนบ้างเพื่อให้ "เศรษฐกิจ" เคลื่อนต่อไปได้ ก็ต้องติดตาม...แต่อย่างน้อยภารกิจ "ฉีดวัคซีน" ก็คงต้องเป็นหนึ่งในแผนที่ต้องเร่งมือ!.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Sathit Chuephangam
ข่าวน่าสนใจ:
- อย่าขี้เหนียวอัดงบ "วัคซีน" สร้างงานเพิ่มรายได้ ดีกว่าเอาเงินไปแจก
- "พาสปอร์ตวัคซีน" ฟื้นเศรษฐกิจ แต่ "แบ่งแยก" ใต้เหลื่อมล้ำเข้าถึงวัคซีน
- ไทยแสนชิล ถ้าไม่รีบฉีด "วัคซีนโควิด-19" ต้องอยู่แบบนี้นานแค่ไหน?
- "เอฟเวอร์ กิฟเวน" เป็นอิสระ แต่ผลพวงหายนะ "วิกฤติคลองสุเอซ" ยังไม่จบ!
- วิกฤติ "คอนเทนเนอร์" ส่อยืดเยื้อถึงกลางปี สุดท้าย "ผู้บริโภค" รับภาระ