• เอกชนขอภาครัฐให้ความสำคัญกับ "การฉีดวัคซีน" เพราะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ดีกว่าแจกเงิน
  • นับตั้งแต่ 28 ก.พ. ถึง 1 เม.ย. ไทยฉีดวัคซีนรวม 204,642 โดส ขณะที่ ทั่วโลกฉีดวัคซีนรวมกันแล้วกว่า 652 ล้านโดส
  • คนที่เคยมีงานทำ แต่ต้องอยู่ใน "ภาวะว่างงาน" ณ ธ.ค. 63 สูงถึง 4.06 แสนคน

ขอเริ่มต้นด้วยคำถามกับคุณผู้อ่านว่า "อยากให้ 'รัฐบาล' ทำอะไร?"

เชื่อว่า "คำตอบ" คงหลั่งไหลออกมาจากห้วงความคิดมากมาย เพราะยามนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมี "ปัญหา" มากมายเหลือเกิน สารพัดจะรุมเร้า แค่วิกฤติโควิด-19 (COVID-19) อย่างเดียวก็ผุดเรื่องโน้นเรื่องนี้ตามมาอีกเป็นพรวน

และหนึ่งในสิ่งที่หลายๆ คนอยากให้ "รัฐบาล" ทำ คงหนีไม่พ้นเรื่องของ "วัคซีนโควิด-19" ที่จะว่าไปแล้วก็ต้องยอมรับกันว่า เราค่อนข้างเชื่องช้าอยู่พอสมควร...

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 1 เมษายน 2564 เวลา 18.00 น. พบว่า นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 1 เมษายน ได้รับการฉีดวัคซีนรวม 204,642 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 167,235 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 37,407 ราย

...

ขณะที่ ข้อมูลการฉีดวัคซีนที่รวบรวมโดย Bloomberg ณ วันที่ 4 เมษายน 2564 ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 652 ล้านโดส เทียบได้กับ 4.3% ของประชากรโลก ในส่วนประเทศไทยที่ Bloomberg รวบรวมนั้น พบว่า อัตราการฉีดต่อวันอยู่ที่ 12,676 โดส ครอบคลุมประชากรเพียง 0.2%

ซึ่งจากการประมาณการณ์การกลับสู่ "ภาวะปกติ" ของไทยที่ Bloomberg คำนวณจากอัตราการฉีดต่อวัน 12,676 โดสนั้น คาดว่าจะต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 75% ของประชากร

คำถามคือ เราจะรอจนถึงเวลานั้นได้หรือเปล่า?

และจนถึงตอนนี้ วัคซีนโควิด-19 ของไทยมีอยู่เพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น คือ ซิโนแวค (Sinovac) และแอสตราเซเนกา (AstraZeneca)

"อยากให้ 'รัฐบาล' หันมาให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนมากๆ อย่าไปขี้เหนียวกับ 'วัคซีน' อยากให้อัดเข้าไปเลย สมมติต่อหัวพันบาท ประชาชนไทย 67 ล้านคน เท่ากับต้องใช้งบประมาณ 67,000 ล้านบาท ซึ่งนี่สร้างความเชื่อมั่นได้ดีกว่าการเอาเงินไปแจก เพราะถ้าคนไทยทุกคนฉีดวัคซีนกันหมด รวมถึงคนต่างด้าวด้วย อีกสัก 13 ล้านคน ทั้งหมด 80 ล้านคน ภาพของประเทศไทยก็จะดูปลอดภัยขึ้น หากเป็นแบบนี้ได้ 'เศรษฐกิจ' ไม่ว่าเรื่องอะไรก็จะกลับคืนมา"

นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) สะท้อนว่า การฉีดวัคซีนมีผลทางด้านจิตใจ มีผลทางด้านความเชื่อมั่น หากเป็นรัฐบาล เขาจะอัดเงินเข้าไปตรงจุดนี้ อย่างมากก็ใช้เงินเต็มที่ไม่กี่หมื่นล้านบาท แต่ดีกว่าเอาเงินไปแก้ประเด็นอื่นๆ เพราะหาก "ความเชื่อมั่น" กลับมา คนก็จะมีการติดต่อสื่อสาร คนก็จะทำธุรกิจต่างๆ เร็วขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่น่ากังวล คือ กำลังซื้อภายในประเทศที่ลดลงเรื่อยๆ อันเป็นผลจากตอนนี้ คนกังวลว่าจะ "ตกงาน" โดยภาพสะท้อนจากธนาคารเห็นได้ว่า อัตราการปฏิเสธสินเชื่อเกินกว่า 40% ของผู้ที่ขอสินเชื่อ

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในส่วนภาวะการทำงานของประชากร ณ เดือนธันวาคม 2563 พบว่า คนตกงานมากถึง 4.06 แสนคน ส่วนใหญ่มาจากภาคการบริการและการค้า, การผลิต และเกษตรกรรม ตามลำดับ

...

"ถ้าผมพาลูกค้าไปขอสินเชื่อ 10 คน ผมรู้เลยว่า ลูกค้าจะได้รับการอนุมัติไม่เกิน 6 คน"

นายอธิป แนะว่า รัฐบาลต้อง "สร้างงาน" แล้วก็เสริมกำลังซื้อภายในประเทศ อย่าปล่อยให้ "คนตกงาน" ต้องหางานสร้างรายได้ให้เขา จ้างเขาขุดบ่อน้ำก็ต้องจ้าง เอาเงินไปแจกเฉยๆ กับการให้เขามีงานทำ...ไม่เหมือนกัน

เมื่อเอ่ยถึงมาตรการ "แจกเงิน" ก็ต้องเปิดย้อนดูความสำเร็จที่ "รัฐบาล" เคยชี้แจงไว้สักเล็กน้อย โดย นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น "คนละครึ่ง" และ "เราชนะ" ไว้ว่า มาตรการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งปี 2564 ได้ 0.8% และโครงการเราชนะมีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 1.5 แสนล้านบาท

แน่นอนว่า ตัวเลขที่ปรากฏนั้น...ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

ขอทวนคำถามอีกครั้ง "อยากให้ 'รัฐบาล' ทำอะไร?"

"คำตอบ" ตอนนี้มีมาแล้ว 2 ข้อ คือ 1. เร่งฉีดวัคซีน และ 2. สร้างงานให้ประชาชน

...

แล้วถ้ามองภาพใหญ่กว่านั้นขึ้นอีก "รัฐบาล" ต้องทำอะไร?

นายอธิป ให้ความเห็นว่า ต้องเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) การใช้จ่ายเงินของรัฐ บางอย่างงบประมาณของรัฐไม่จ่ายออกมา มองว่า...นี่เป็นผลกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ "จีดีพี" (GDP) ได้ตัวหนึ่ง แต่ยังทำไม่ได้เต็มที่ ในส่วนของการดึงดูดการลงทุน เรายังดึงดูดการลงทุนไม่แรงพอ

"ผมว่าการให้ประโยชน์แก่นักลงทุน ถ้าเทียบกับ 'เวียดนาม' ที่บริษัทต่างๆ ย้ายฐานไป เราเสียเปรียบในเรื่องของ 'แรงงาน' ที่ต้นทุนแพงกว่า และเสียเปรียบเรื่องของการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ 'ซีพีทีพีพี' (CPTPP) ที่ทำให้เราเสียเปรียบ"

แต่ทีนี้เมื่อเขาย้ายฐานการผลิตไปกันแล้ว นายอธิปก็ย้ำว่า ต้องดึงดูดในเรื่องอื่นให้นักลงทุนเข้ามาให้ได้ ที่สำคัญ...ต้องลดอุปสรรคเรื่องกฎระเบียบให้ได้

...

ไม่เพียงเท่านั้น "รัฐบาล" ต้องสร้างแรงจูงใจในเรื่องของ "มาตรการภาษี" ในภาวะที่ก่อนวิกฤติโควิด-19 จะจบ หรือหลังวิกฤติโควิด-19 จบ

"มาตรการการคลังและมาตรการการเงินต้องสอดรับกัน ปัจจุบันนี้ ทำอย่างละนิดละหน่อย มาตรการการคลังต้องแรง อย่าไปเสียดายฐานภาษี อย่าไปเสียดายว่า อนาคตจะเก็บค่านู่นค่านี่ไม่ได้ ถ้าเขาไม่มีให้เก็บ ก็เก็บไม่ได้ เอกชนขาดทุน ซึ่งเราเก็บภาษีบนกำไร ไม่ได้เก็บภาษีบนรายได้ เพราะฉะนั้น ต้องพยายามให้ความช่วยเหลือด้านการเงินบางส่วน เพื่อไปสร้างบางส่วน"

ขณะที่ "มาตรการการเงิน" สำคัญมาก ซึ่งนายอธิปมองว่า ตอนนี้บทบาทของผู้ควบคุมมาตรการทางการเงินในไทยเน้นดูเรื่องเสถียรภาพเป็นหลัก แต่ไม่ได้บาลานซ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

"เราเดินหน้าไปไม่ได้ ถ้าไม่ยอมอุดหนุนเงินบางเรื่อง ดอกเบี้ยต่ำ ทำยังไงให้เข้าถึงสินเชื่อได้ ค่าเงินบาททำยังไงให้อ่อนลง เพราะตอนนี้ คนส่งออกร้อนรุ่มมาก เพราะค่าเงินบาทแข็งค่า แล้วเราเสียเปรียบคู่แข่ง"

อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 เมษายน 2564 อยู่ที่ 31.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

หลายๆ คนอาจจะยังมองภาพค่าเงินบาทไม่ชัดเจน แต่ถ้าลองสังเกตดีๆ สำหรับคนที่มีการบอกรับสมาชิก หรือ Subscription แพลตฟอร์มต่างประเทศบางเจ้าก็เริ่มแจ้ง "ปรับขึ้นราคา" ในส่วนประเทศไทยแล้วเช่นกัน

หากมองในภาพรวมเศรษฐกิจผ่าน GDP นายอธิปชี้ว่า GDP ปัจจุบันจนถึง 2 ปีข้างหน้า การพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวถูกลดบทบาทหมดแล้ว เพราะฉะนั้น การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภายในประเทศ การลงทุนของภาครัฐ เหล่านี้จะมีบทบาท จึงต้องเสริมสร้างแรงจูงใจให้คนบริโภคภายในประเทศ ตั้งแต่เรื่องการอุปโภคบริโภค สินค้า สินทรัพย์ถาวร การท่องเที่ยวภายในประเทศ ต่างๆ เหล่านี้

"ตอนนี้ต้องหวังพึ่งพาคนไทยกันเองให้มากที่สุด แล้วก็ทำการตลาดการท่องเที่ยวของไทยกับต่างประเทศ ไม่ต้องรอวิกฤติโควิด-19 จบ"

ขณะที่ บรรยากาศการเมือง นายอธิปก็ยอมรับว่า ไม่เอื้อเลย... ผู้ประกอบการเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศกลัวมากที่สุดคือเรื่องนี้ นอกเหนือจากนั้นอยากให้เร่งสร้างความมั่นคงทางการแพทย์ ตอนแรกๆ เราไม่เคย หลายๆ อย่างขาดแคลน แม้กระทั่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ไม่เพียงพอ

"หลังจากวิกฤติโควิด-19 ผมว่าเป็น 'บทเรียนสำคัญ' ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้"

จากที่ว่ามานั้น แล้วคุณผู้อ่านอยากให้ "รัฐบาล" ทำอะไรเพิ่มอีก?.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Sathit Chuephangam

ข่าวน่าสนใจ: