ปี 2020 เรียกว่าเป็นปีซวย ของคนทั่วโลกก็ว่าได้ เพราะเป็นปีที่ต้องเจอกับโรคระบาดครั้งใหญ่ กับไวรัส โควิด-19 (COVID-19) ปรากฏการณ์ที่ 100 ปีจะมาสักครั้ง ส่งผลกระทบให้ทั่วทุกหัวระแหง เงินหายกำไรหด ยกเว้นบางธุรกิจที่โตสวนกระแส ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียุคใหม่
ผลพวงจากโรคร้าย ทำให้หลายประเทศเลือกใช้วิธีให้ยาแรงด้วยการ ล็อกดาวน์ (Lockdown) แน่นอน..การเลือกใช้วิธีดังกล่าว ก็สัมพันธ์กับการตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ ภาคธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัว หันมาใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร AI (ปัญญาประดิษฐ์) และ IoT (Internet of Things) และทั้งหมดทั้งมวลนี้เอง ส่งผลให้ "ตลาดแรงงาน" (Labour Market) เกิดความไม่มั่นคง
จากรายงาน Future of Jobs Report 2020 ระบุว่า การมาของโควิด-19 ถือเป็นหายนะที่เร่งรัดให้ "งานแห่งอนาคต" (Future of Work) มาเร็วขึ้น ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่า ภาคธุรกิจจะเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่เมื่อโควิด-19 มาถึง ภาคธุรกิจจะเร่งปรับตัวและเลือกใช้เทคโนโลยีทันที และปีหน้านี้ หรือปี 2021 จะมีการใช้อย่างเต็มตัว
ประเด็นสำคัญที่อยู่ในรายงานฉบับนี้คือ อัตราการเคลื่อนไหวของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในปีหน้า จะไม่ใช่ลักษณะการก้าวเดิน แต่จะเป็นการก้าวกระโดด โดยนำ Cloud Computing, Big Data และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce มาใช้
...
หากเป็นบริษัทที่ใช้เครื่องจักร แรงงานคนที่ใช้ควบคุมเครื่องจักรจะถูกแทนที่โดย เครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation) หลายๆ บริษัทจะเปลี่ยนแปลงภาระหน้าที่, งาน และทักษะต่างๆ อย่างรวดเร็วขึ้น โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะมีกลุ่มธุรกิจกว่า 43% ปรับลดแรงงานลง โดยนำเทคโนโลยีมาผสมผสาน ส่วนอีก 41% มีแผนขยายการใช้แรงงานที่มีทักษะพิเศษโดยเฉพาะ และ 34% มีแผนขยายแรงงานในระหว่างการผสมผสานเทคโนโลยี
ถ้าแปลเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ภายใน 5 ปี ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม แรงงานคนจำนวนมากจะถูกแทนที่โดยเครื่องจักรและเทคโนโลยี ส่วนที่เหลือจะเป็นแรงงานที่มีสกิลความสามารถพิเศษ
ส่วน Jobs of Tomorrow จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ งานที่มีลักษณะใกล้ตายจะถูกเร่งให้ตายเร็วขึ้น โดยจะมี “งานเกิดขึ้นมาใหม่” เพิ่มขึ้นจากเดิม 7.8% เป็น 13.5% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
และจากข้อมูลของฐานลูกจ้างที่ตอบแบบสอบถามนี้ ภายในปี 2025 จะมี 85 ล้านตำแหน่งงานอาจถูกไล่ออก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ทำงานระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร และอีก 97 ล้านตำแหน่งงานใหม่จะเข้ามาแทนที่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มงานที่ใช้ทักษะการทำงานของมนุษย์กับเครื่องจักรและอัลกอริธึม (Algorithms)
“ทักษะ” แห่งอนาคต
จากการสำรวจดังกล่าว ได้บ่งบอกถึง “ทักษะงานแห่งอนาคต” ไว้ด้วย ซึ่งถ้าใครได้เตรียมพร้อมเรื่องเหล่านี้ รับรองไม่มีตกงานแน่นอน
จากรายงานฉบับเดียวกันระบุว่า ตำแหน่งที่ต้องการในอีก 5 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย กลุ่มงานการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การวิเคราะห์ (Analysis) การแก้ปัญหาสิ่งที่บกพร่อง (Problem-Solving) และทักษะต่างๆ ในการจัดการตนเอง (Self-Management) เช่น การเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Active Learning), ความยืดหยุ่น (Resilience), การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และทนสภาวะความเครียด (Stress Tolerance and Flexibility) ซึ่งไม่ว่าคุณจะทำงานด้านไหน หากมีทักษะเหล่านี้เข้ามาเพิ่ม คุณก็จะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับบริษัท
โดยมีการประมาณการราว 40% ของแรงงาน อาจต้องใช้เวลาพัฒนาทักษะใหม่ (Reskill) สกิลละ 6 เดือนขึ้นไป หรืออย่างน้อย สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่นายจ้างคาดหวังจากแรงงาน
ขณะที่มนุษย์เงินเดือน อย่างพนักงานออฟฟิศ ซึ่งถือเป็นแรงงานส่วนใหญ่โลก กว่า 84% จะมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานเป็นดิจิทัลอย่างรวดเร็ว อาทิ การทำงานที่ไหนก็ได้ (Remote Work) โดยคาดว่าจะมีมากถึง 44% ของแรงงาน
สิ่งที่ภาครัฐควรจะทำ เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจให้เข้มแข็ง คือ การให้เงินสนับสนุนการสร้างทักษะใหม่ (Reskill) และเสริม/พัฒนาทักษะ (Upskill) ให้แรงงานปัจจุบัน โดยอาจสร้างแรงจูงใจในการลงทุนในตลาดและงานแห่งอนาคตด้วยการปรับปรุงระบบการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพ เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า
เมื่อหันมามองในประเทศไทย พบว่า มีประชากรวัยทำงานอยู่ที่ 47,215,919 คน โดยมีทักษะด้านดิจิทัล 54.9% (ค่าเฉลี่ย 2562-2563) โดยมีแรงงานที่สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ มัธยมศึกษาปีที่ 6 (ปี 2559) อยู่ที่ 45.1% สำเร็จการศึกษาขั้นสูง หรือปริญญาตรีขึ้นไป 19.1% (ปี 2559) โดยมีความต้องการของธุรกิจสอดคล้องกับทักษะสำคัญ 53.6% (ค่าเฉลี่ย 2562-2563) และมีอัตราการว่างงานในบรรดาแรงงานที่มีการศึกษาขั้นสูง ปี 2562 อยู่ที่ 0.6% ส่วนอัตราว่างงานในบรรดาแรงงานที่มีการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2562 อยู่ที่ 0.3% จากทั้งหมดกว่า 47 ล้านคน มีวัยหนุ่มสาวที่ไม่ได้อยู่ในการจ้างงาน ระบบการศึกษา และการฝึกอบรมทักษะ ปี 2563 อยู่ที่ 14.4% หรือราว 6.6 แสนคน
...
ในจำนวนนี้ มีสถานะการทำงานที่ไม่มั่นคงมากถึง 48.2% หรือกว่า 22 ล้านคน (ปี 2563) โดยมีสาเหตุมาจากผลพวงจากโควิด-19 และเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานเป็นดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด ซึ่งหลายธุรกิจเลือกที่จะปรับตัวด้วยการใช้เครื่องมือดิจิทัล การประชุมทางไกลผ่าน Conference ถึง 84% ใช้วิธีการ Work Remotely หรือทำงานที่ไหนก็ได้ 75% หันมาใช้ระบบอัตโนมัติ 50% การเร่งสร้างและเสริมทักษะ 40.6% การเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลและเสริม-สร้างทักษะใหม่ 34.4%
สำหรับงานแห่งอนาคตที่จะเกิดใหม่ประกอบด้วย
1. นักวิเคราะห์ข้อมูลและนักวิทยาศาสตร์
2. การตลาดดิจิทัลและผู้เชี่ยวชาญกลยุทธ์
3. ผู้เชี่ยวชาญ Big Data
4. ผู้เชี่ยวชาญ AI และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning)
5. นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน
6. ผู้เชี่ยวชาญ Supply Chain และโลจิสติกส์
7. ที่ปรึกษากลยุทธ์
8. มืออาชีพด้าน Database และ Network
9. ดีไซเนอร์ธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม
10. มืออาชีพด้านการพัฒนาธุรกิจ
...
สำหรับตำแหน่งงานซ้ำซ้อนที่มีความเสี่ยงว่าจะหายไป ประกอบด้วย
1. พนักงานบันทึกข้อมูล
2. เลขาฯ ผู้บริหารและการจัดการ
3. พนักงานบัญชี, การลงบัญชี และธุรการเงินเดือน
4. แรงงานโรงงานและชิ้นส่วน
5. แรงงานก่อสร้าง
6. ตัวแทนจำหน่าย, การขายส่ง และอุตสาหกรรมการผลิต, เทคนิค
7. ผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรบุคคล
8. ที่ปรึกษาการเงินและการลงทุน
9. พนักงานให้ข้อมูลลูกค้าและฝ่ายบริการลูกค้า
10. ธุรกิจบริการและผู้จัดการบริหาร
...
ส่วนเทรนด์ในการใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคต
1. Cloud Computing : 98%
2. IoT (Internet of Things) และการเชื่อมต่ออุปกรณ์ : 95%
3. การเข้ารหัสลับและความปลอดภัยทางไซเบอร์ : 90%
4. อี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) และการค้าดิจิทัล : 87%
5. การวิเคราะห์ Big Data : 85%
6. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) (ตัวอย่าง Machine Learning, Neural Network, NLP) : 80%
7. กระบวนการข้อความ, รูปภาพ และเสียง : 76%
8. หุ่นยนต์, ไม่ใช่มนุษย์ (Non-Humanoid) (ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม, โดรน) : 67%
9. การกักเก็บพลังงานและพลังงานไฟฟ้า : 62%
10. เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (ตัวอย่าง บล็อกเชน) : 59%
“ทักษะ” ดีมีชัย..
1. การคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม
2. การแก้ปัญหาซับซ้อน
3. Active Learning และกลยุทธ์การเรียนรู้
4. การคิดเชิงวิพากษ์และวิเคราะห์
5. ความคิดสร้างสรรค์, ความแปลกใหม่, การริเริ่ม
6. การแก้ปัญหาและประสบการณ์ผู้ใช้
7. ความเป็นผู้นำและอิทธิพลทางสังคม
8 ความยืดหยุ่น, ความอดทนต่อภาวะตึงเครียด และการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
9. การออกแบบเทคโนโลยีและโปรแกรม
10. การใช้เทคโนโลยี, การตรวจจับและควบคุม
11. การใช้เหตุผล, การแก้ปัญหา และความคิด
12. การติดตั้งเทคโนโลยีและการบำรุงรักษา
13. การจัดการพนักงาน
14. การใส่ใจรายละเอียดและความไว้วางใจ
15. ความฉลาดทางอารมณ์
แค่มีทักษะไม่พอ ต้องสร้าง (Reskill) และเสริมทักษะ (Upskill)
1. การคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม
2. ภาคธุรกิจต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่แรงงานได้มีส่วนร่วม ปฏิบัติจริง และเรียนรู้ด้านกลยุทธ์
3. การคิดเชิงวิพากษ์และการวิเคราะห์
4. ความเป็นผู้นำและอิทธิพลทางสังคม
5. การแก้ปัญหาที่ความซับซ้อน
6. ความคิดสร้างสรรค์, ความแปลกใหม่ และการริเริ่ม
7. การใช้เทคโนโลยี, การตรวจจับและควบคุม
8. การออกแบบเทคโนโลยีและโปรแกรม
9. การใช้เหตุผล, การแก้ปัญหา และความคิด
10. ความยืดหยุ่น, ความอดทนต่อภาวะตึงเครียด และการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
การตอบสนองในการยกระดับทักษะที่จำเป็น
1. ความคาดหวังการคงอยู่ของลูกจ้างในการยกระดับทักษะในงาน : 91%
2. ฟังก์ชันการจ้างงานคนนอกของบางบริษัทในการเป็นผู้รับเหมาภายนอก : 81%
3. การจ้างพนักงานประจำใหม่ที่มีทักษะสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ : 81%
4. กำลังมองหาการใช้ระบบอัตโนมัติในการทำงาน : 78%
5. การโน้มน้าวลูกจ้างให้คงอยู่ : 75%
6. ความซับซ้อนเชิงกลยุทธ์ของพนักงานที่ขาดแคลนทักษะในการใช้เทคโนโลยีใหม่ : 59%
7. การจ้างฟรีแลนซ์ที่มีทักษะสำคัญในเทคโนโลยีใหม่ๆ : 56%
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทีมนักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เผยว่า โรคระบาดครั้งใหญ่ในปี 2563 ส่งผลระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ที่เรียกกันว่าเป็น “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” (economic scar) รอบด้าน เช่น คนเจน Z หรือวัย 15-24 ปี ที่กำลังเรียน หรือ จบการศึกษา จะเจอปัญหาการชะลอการจ้างงาน ขาดโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน กลายเป็นแผลระยะยาวยุค “บัณฑิตรุ่นโควิด”
คนวัยทำงานเต็มตัวอย่างเจน Y (25-39 ปี) และ เจน X (40-55 ปี) รายได้ที่ลดลง (อาจถูกลดชั่วโมงการทำงาน) สวนทางกับหนี้สินครัวเรือนที่พอกพูนมากขึ้น ขาดโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว
อีกกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากและกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยาก คือ แรงงานในกลุ่มธุรกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน เนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรง และแรงงานในกลุ่มธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน (automation) ในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ เช่น แรงงานภาคท่องเที่ยว แรงงานในอุตสาหกรรมบางประเภท ฯลฯ โดยเฉพาะหากเป็นแรงงานสูงอายุและมีการศึกษาและทักษะน้อย ก็อาจถูกเลิกจ้างถาวรแม้ปัญหาโควิดจะหายไปแล้วก็ตาม
การทำงานก็ไม่ต่างอะไรจากการใช้ชีวิต คนที่ยืนนิ่งอยู่กับที่ หรือวันๆ เอาแต่เกาะแข้งเกาะขาคนอื่น วันหนึ่งคุณอาจหลุดจากวงโคจร หรือ “ตกงาน” ได้ ฉะนั้น การพัฒนาตัวเองถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะโลกนี้มันโหดร้าย อ่อนแอ...ก็แพ้ไป