- โควิดกับชะตา "ท่องเที่ยวไทย"
- ไกด์นำเที่ยว ในวันที่ไร้งาน ก้มหน้ายอมรับ อาชีพเสี่ยง ที่อนาคตจะหายไป
- จุดเช็กอินในเมืองไทย ใกล้ธรรมชาติ สวยไม่แพ้เมืองนอก
เรียกว่าเป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับโลกใบนี้ เมื่อโควิด-19 ระบาดในหลายประเทศ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตทั่วโลกจำนวนมาก หลายประเทศจำเป็นต้องล็อกดาวน์ตัวเอง รวมถึงประเทศไทย เพื่อสกัดเชื้อในประเทศไม่ให้ลุกลาม และทำลายระบบเศรษฐกิจให้เสียหายไปมากกว่านี้ ซึ่งหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับยุค New Normal เพื่อความอยู่รอด รวมถึง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย
จากการพูดคุยกับ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย ณ วันนี้ ซึ่งนักท่องเที่ยวเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น จะเรียกว่า ท่องเที่ยวไทย พ้นวิกฤติหรือยัง ซึ่ง นายยุทธศักดิ์ อธิบายว่า คิดว่ามีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ถ้าดูจากการท่องเที่ยวในประเทศ จากอัตราเฉลี่ย ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ประมาณ 26-27% ล่าสุด ตัวเลขประมาณเดือนตุลาคม อยู่ที่ประมาณ 34% ซึ่งจากสถิติทั่วไป จุดวิกฤติต่ำสุดที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้อยู่ที่ 28%
...
มโนภาพ วันหนึ่งที่ไทยไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ?
นายยุทธศักดิ์ ระบุว่า จริงๆ ตอนนี้เรากำลังลดการพึ่งพาจากต่างประเทศตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ปัญหาโอเวอร์ซับพาย จำนวนห้องพักโรงแรมที่ปกติเคยรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา อีกทั้งหลายโรงแรมกลับมาเปิดให้บริการหลังโควิด-19 ไม่ได้ ก็ส่งผลต่อการจ้างงาน โดยเหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่รับนักท่องเที่ยวระดับสูง เช่น จังหวัดภูเก็ต ซึ่งถ้าวันหนึ่งเราไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็ต้องมาดูว่า จะมีวิธีจัดการกับห้องพักที่เหลืออย่างไร คงต้องมีการปรับตัวกันต่อไป ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา
โดยหลายโรงแรมก็เริ่มปรับตัว ลดราคาที่พักลง จากราคาสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ปรับให้เข้ากับกำลังซื้อของคนในประเทศ ซึ่งหลายคนก็ให้การตอบรับดี เนื่องจากได้เปิดประสบการณ์ระดับโลกในโรงแรมมีชื่อหลายแห่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่า การใช้จ่ายของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท ต่อคนในการเที่ยว ขณะที่ต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท ซึ่งมันต่างกันมาก
มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว ต่อลมหายใจผู้ประกอบการ
นายยุทธศักดิ์ เผยถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว หลายมาตรการที่ออกมา ว่าจะสามารถช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้จริงหรือไม่ โดยเชื่อว่า สามารถช่วยผู้ประกอบการได้จริง เนื่องจากหลายโรงแรมเริ่มกลับมาคึกคัก ขณะที่ตัวเลขในไตรมาส 3 ก็ดีขึ้น ส่วนใหญ่ก็มาจากการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งรวมถึงการเดินทางเที่ยวในประเทศด้วย
ขณะที่แคมเปญ กระตุ้นการท่องเที่ยวในปี 2564 นั้น ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย และต้องเป็นแคมเปญที่กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพยายามดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ ให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นประมาณไตรมาส 3 ของปี 2564
ในส่วนของแคมเปญอื่นๆ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็จะได้มีการประเมิน เพื่อปรับปรุงรูปแบบให้ดีขึ้น อย่างที่บอก การเปิดประเทศให้ท่องเที่ยวได้ คงเริ่มได้จริงๆ ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ฉะนั้นบทบาทความสำคัญของการท่องเที่ยวในประเทศ จะยังมีต่อไป
เทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป
เมื่อพูดถึง เทรนด์การท่องเที่ยวของนักเดินทางในประเทศไทย หลังคลายล็อกดาวน์ จากสถานการณ์โควิด-19 นายยุทธศักดิ์ ระบุว่า ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวในประเทศสำคัญมากขึ้น เนื่องจากการระบาดในหลายประเทศ ทำให้ยังไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ แต่ก็เป็นห่วงเหมือนกันว่า ถ้าวันหนึ่ง สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ กระแสการท่องเที่ยวในประเทศสำหรับคนไทยจะลดลง เนื่องจากที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ในแต่ละปีคนไทยเดินทางออกนอกประเทศ ประมาณ 12-13 ล้านคน ถ้าโควิด-19 คลี่คลาย การเดินทางระหว่างประเทศ กลับมาเป็นเหมือนเดิม เชื่อว่าคนไทยกลุ่มนี้ น่าจะเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศแน่นอน ซึ่งก็อาจจะส่งผลต่อการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ
...
ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตอนนี้ยังเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยไม่มากนัก เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งรวมไปถึงนโยบายของประเทศต้นทางที่หลายๆ ประเทศยังไม่อนุญาตให้มีการเดินทาง คิดว่าจากนี้จะเป็นเตรียมการที่อยู่บนพื้นฐานของการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างจำกัด แบบค่อยเป็นค่อยไป
ถ้าเปิดประเทศ แล้วโควิดระบาดอีกครั้ง
ต้องยอมรับว่า เป็นปัญหาที่หลายคนในประเทศกังวลว่า หากเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แล้วทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นมาอีกระลอก นายยุทธศักดิ์ ระบุว่า อนาคตเราคงไม่รับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากเหมือนในอดีต เพราะนโยบายของรัฐบาลพูดชัดเจนแล้วว่า ต้องการนักท่องเที่ยว กลุ่มคุณภาพ ที่มีการใช้จ่ายสูง เข้ามาในประเทศไทย จำนวนอาจจะไม่เยอะ แต่เป้ารายได้คาดว่าจะใกล้เคียงกับในอดีต ซึ่งเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2565 รายได้น่าจะกลับมาประมาณ 80% ของรายได้ในปี 2562 แต่สัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงครึ่งหนึ่ง อีกทั้ง มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีการยกเว้นให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ไม่ต้องกักตัว ฉะนั้น ขออย่าได้กังวลกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ ซึ่งหากมีการระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง เราก็เตรียมแผนรับมือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันอย่างเข้มงวด ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด โดยหลักการของรัฐบาลที่ยึดมั่นคือ ต้องไม่ทำให้ประเทศไทยเกิดความเสี่ยงในการระบาดซ้ำ ซึ่งคาดว่าใช้เวลาอีก 2 ปี การท่องเที่ยวไทย จะกลับมาสดใสอีกครั้ง
...
ฝากถึงนักเดินทางในประเทศ
นายยุทธศักดิ์ ระบุว่า อยากให้ประชาชนมั่นใจ การรับมือการแพร่ระบาดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ สามารถเดินทางได้ อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ก็ถือเป็นบททดสอบ เชื่อว่าสามารถเดินทางเที่ยวได้อย่างปลอดภัยในประเทศไทย หากยึดคาถาเหล่านี้ ขณะเดินทาง "ใส่หน้ากาก การ์ดไม่ตก พกเจลล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม" ถ้าทำตามนี้ เที่ยวที่ไหนในประเทศไทยก็ได้ ปลอดภัยแน่นอน
อาชีพไกด์ กับผลกระทบโควิด-19
หากการท่องเที่ยวคือ หัวใจหลัก ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แขนขา อย่างคนที่ทำอาชีพไกด์ ซึ่งต้องได้รับเลือดจากการท่องเที่ยวไปหล่อเลี้ยง ดูจะเป็นหนึ่งแขนงที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เหมือนกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว
ไกด์จะมีด้วยกัน 3 แบบ คือ 1. ไกด์โดเมสติก (Domestic Guide) หรือ ไกด์ที่พาคนไทยเที่ยวในประเทศไทย จะต้องผ่านการอบรมไกด์ 2. ไกด์อินบาวน์ (Inbound Guide) หรือ ไกด์ที่พาคนต่างชาติมาเที่ยวในประเทศไทย จะต้องผ่านการอบรมไกด์เช่นเดียวกัน และ 3. ไกด์เอ้าท์บาวน์ (Outbound Guide) หรือที่เรียกว่า "หัวหน้าทัวร์" จะต้องมีบัตรนำทัวร์ พาคนไทยเที่ยวต่างประเทศ
...
นายเรวัตร บุญแสง หรือ ไกด์ตะกร้อ ไกด์นำเที่ยวบริษัท Zegotravel และ TTNTOUR บริษัท ไทยเที่ยวนอกทัวร์ จำกัด ซึ่งที่ผ่านมา ไกด์ตะกร้อ จะมีหน้าที่หลัก พาคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทัวร์กลุ่มสุดท้ายที่พาไปต่างประเทศ คือ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดย ไกด์ตะกร้อ บอกว่า ตนพานักท่องเที่ยวไปที่ฮอกไกโด กลับมากักตัว 14 วัน หลังจากนั้นก็มีการประกาศห้ามบินเข้า-ออกประเทศ ทั้งญี่ปุ่นและไทย นั่นหมายความว่า ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ผ่ายมา 10 เดือน ก็ยังไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งที่ผ่านมา มีงานประมาณ 3-4 ทริปต่อเดือน
ส่วนตัวเพิ่งกลับมารับงานไกด์อีกครั้งเมื่อ 2 เดือนก่อน คือการพาเจ้าหน้าที่ อสม. อสส. เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ไปเที่ยวในประเทศไทย ตามโครงการ "กำลังใจ" ซึ่งเป็นหนึ่งในแพ็กเกจการท่องเที่ยวปันสุขของรัฐบาล แต่รายได้ก็ไม่มากเท่าการพาคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ เหมือนก่อนที่จะมีโควิด ตอนนี้ ถ้ามีงานทำ ก็พออยู่ได้
ที่สำคัญ งานพานักท่องเที่ยวไทย เที่ยวในประเทศเป็นหมู่คณะ ไม่ได้มีมาก อีกทั้งงานลักษณะนี้ จะดึงเอาไกด์โดเมสติก ไกด์อินบาวน์ มากระจุกกันอยู่จุดเดียว ส่วน ไกด์เอ้าท์บาวน์ ที่พาคนไปเที่ยวต่างประเทศ แทบจะไม่ได้รับงานประเภทนี้เลย เนื่องจากไม่มีคอนเนกชัน และเหมือนไปแย่งงานกันอีก ไกด์และพนักงานบริษัททัวร์หลายคนโดนปลด บางคนมีภาระหนี้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากปล่อยให้ยึดรถ ยึดบ้าน บางคนก็ต้องกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด
"เราไม่ทิ้งกัน" ในวันที่ไร้งาน มาตรการเยียวยาจากรัฐบาล
เมื่อถามถึงเงินเยียวยาจากรัฐบาล จะได้รับเงินจากโครงการเราไม่ทิ้งกันเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน ซึ่งต้องลงทะเบียนก่อนจึงได้สิทธิ์ นายเรวัต กล่าวว่า ตนลงทะเบียนรอบแรกไม่ผ่าน ระบบขึ้นว่าเป็นเกษตรกร เลยทำเรื่องอุทธรณ์ มีผู้พิทักษ์มาลงพื้นที่ตรวจสอบถึงบ้าน มีการดูบัตรไกด์ว่า เราได้รับผลกระทบจริงจึงได้รับเงิน
หากเทียบกับเงินเยียวยา 15,000 บาท กับงานที่หายไปถือว่าน้อย แต่ถ้าจะให้เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ส่วนใหญ่ต้องใช้ต้นทุน และไม่รู้ว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่ หากลงทุนแล้ว ไปได้ไม่สวย อาจจะต้องเป็นหนี้จากการยืมเงินมาทำทุน จึงมองว่าเงินเยียวยาจากรัฐบาลน้อยไป
ปรับตัวให้เข้ากับยุค New Normal
นายเรวัต เปิดเผยถึงการพาท่องเที่ยวแบบ New Normal ตนมองว่าปรับตัวไม่ยาก เพราะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอด ล้างมือเป็นประจำ คอยวัดอุณภูมิให้กับลูกค้า ซึ่งปกติเราก็ต้องดูแลตัวเองตลอดอยู่แล้ว เลยคิดว่าปรับตัวไม่ยาก ส่วนความคาดหวังที่จะกลับไปทำงาน ตอนนี้ยังมีกำลังใจ หวังว่าถ้ามีวัคซีนแบบ 100% แล้วจะสามารถกลับไปทำงานได้ อาจจะเป็นปีหน้า หรือ ปลายปีหน้า ตอนนี้ก็พยายามประคับประคองตัวเองให้รอดจนถึงวันนั้น
ความมั่นคง และการมีอยู่ของอาชีพไกด์
นายเรวัต ยอมรับว่า ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า จะเกิดเหตุการณ์ปิดประเทศแบบนี้ แม่อายุเกือบ 60 ปี ก็บอกว่าไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน เต็มที่ก็แค่ ปิดสนามบิน บางคนมีหนี้สินไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้วางแผนมาก่อนก็ล้ม ส่วนตัวระมัดระวังตัวเองมาตลอด เมื่อถึงเวลาแบบนี้ จึงล้มไม่แรงเท่าคนอื่น
เมื่อถามว่า "อาชีพไกด์" กับความมั่นคง นายเรวัต บอกว่า เอาจริงๆ อาชีพไกด์ไม่ค่อยมั่นคงอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่สามารถเที่ยวเองได้ ยกเว้นคนบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ เดินไม่ไหว ต้องการคนดูแล คนที่ต้องการทัวร์ราคาถูกแบบโปรไฟไหม้ ที่สำคัญคือ อาชีพไกด์ เป็นหนึ่งในอาชีพที่เสี่ยงจะหมดไป
ส่องสถานที่เช็กอิน สวย ชิล ไม่ต้องไปเมืองนอก
ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลจาก Booking.com เผยผลสำรวจข้อมูลผู้เดินทางมากกว่า 20,000 คน ใน 28 ประเทศทั่วโลก รวมประเทศไทย บวกกับข้อมูลเชิงลึกจากพฤติกรรมการค้นหาและการบอกต่อของนักเดินทางบนแพลตฟอร์ม คาดการณ์เทรนด์อนาคตการเดินทางของปีหน้า และปีต่อๆ ไป ของนักเดินทาง ว่า หลังการล็อกดาวน์ นักเดินทางโหยหาการเดินทางมากขึ้น เน้นเที่ยวในสถานที่ใกล้ๆ คุ้นเคย คนไม่พลุกพล่าน ดื่มด่ำกับธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า, สูดอากาศบริสุทธิ์, เที่ยวธรรมชาติ และการผ่อนคลาย ที่สำคัญจะต้องปลอดภัยไว้ก่อน
ซึ่งที่ผ่านมา หลังการผ่อนปรน คลายล็อกดาวน์จากโควิด-19 ทำให้คนที่โหยหาการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น แต่ในลักษณะเดินทางด้วยรถส่วนตัว ใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งเราได้รวบรวมเอาจุดเช็กอินที่น่าสนใจ เรียกว่า สวย ชิล ถ่ายรูปออกมาแล้วแทบไม่เชื่อว่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยมาฝาก เผื่อเป็นตัวเลือกในการจัดทริปในช่วงวันหยุดยาวที่จะถึงนี้
- ส่องสัตว์ ชมธรรมชาติ ที่หนองผักชี เขาใหญ่
สายกรีนไม่ควรพลาด หนองผักชี หรือ หอดูสัตว์หนองผักชี ซึ่งตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งนอกจากจะขึ้นไปดูสัตว์ป่าแล้ว ยังสามารถมองเห็นแหล่งน้ำและโป่งดิน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งหากมีโชค ก็อาจจะได้เห็นสัตว์ป่านานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ช้างป่า กระทิง กวาง เก้ง ที่สำคัญ ถ่ายรูปสวย เหมือนอยู่ในบ้าน ที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาที่เขียวขจี
ภาพ : Jutaphun Sooksamphun
- นอนรถบ้าน เปลี่ยนบรรยากาศเหมือนไปแคมปิ้ง
สำหรับสายลุย คงจะไม่พลาดการออกไปแคมปิ้ง กางเต็นท์ นอนรับลม ดูดาวท่ามกลางธรรมชาติ แต่คนที่ไม่ลุยเท่าไร มักมองหาการนอนในโรงแรม หรือห้องพักที่ดัดแปลงจากรถบ้านแทน ซึ่งหนึ่งในสถานที่ที่อยากจะแนะนำคือ สวนละไม จ.ระยอง
ภาพ : Rose Piyaluck
- เล่นเซิร์ฟ ทะเลภูเก็ต
หากใครชอบไปทะเล และเบื่อกิจกรรมเดิมๆ อย่างการเล่นน้ำทะเล ดำน้ำดูปะการัง ก็อยากจะแนะนำการเล่นเซิร์ฟ ซึ่งเรียกว่าเป็นกิจกรรมที่ฮอตฮิตอยู่ในขณะนี้ โดยหากใครมีโอกาสได้ไปภูก็ต อยากจะแนะนำให้ไปเล่นเซิร์ฟ ที่หาดกะตะ โดย Jimmy Kata Surf ซึ่งจะมีครู ที่เป็นถึงโค้ชในการเล่นเซิร์ฟมาสอนให้ อย่างละเอียด พร้อมยังดูแลในเรื่องความปลอดภัยให้เป็นอย่างดี เรียกว่าทำตามได้อย่างแน่นอน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเล่น คือช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคม ที่สำคัญ เช็กอินมา ได้ฟีลเหมือนเล่นเซิร์ฟอยู่ทะเลเมืองนอก แบบเนียนๆ
ภาพ : jimmy kata surf school, ถวิกา ไพบลูย์
- เที่ยวซาฟารีปาร์ค ได้ฟีลลิ่งเหมือนอยู่แอฟริกา
"มีแต่เด็กเท่านั้นแหละ ที่จะชอบเที่ยวสวนสัตว์" คำกล่าวนี้ อาจจะใช้ไม่ได้กับปัจจุบัน เพราะเดี๋ยวนี้ วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ เขาก็เที่ยวสวนสัตว์กันทั้งนั้น แต่เป็นแนวซาฟารีปาร์ค ได้สัมผัสกับสัตว์ต่างๆ แบบใกล้ชิด เช็กอินมาเหมือนได้เที่ยวแอฟริกา แบบที่ไม่ต้องเดินทางต่อเครื่องบินเป็นวันๆ ให้เหนื่อย ซึ่ง สวนสัตว์เปิดซาฟารีปาร์ค กาญจนบุรี ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางไปแวะเวียน
ภาพ : Fai Juthamas
- รับพลังธรรมชาติ ที่ น้ำตกเขาช่องลม
สถานที่สุดท้ายที่อยากจะแนะนำ คือ น้ำตกเขาช่องลม สถานที่ลับๆ หลังเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ซึ่งการเดินทาง หลังจากมาถึงเขื่อนขุนด่านปราการชลแล้ว ต้องล่องเรือเข้าไป โดยจะมีเรือให้บริการอยู่บริเวณศูนย์บริการล่องเรือ ซึ่งเรือจะพาแวะไปตามจุดต่างๆ กระทั่งถึงน้ำตกเขาช่องลม เป็นแลนด์มาร์กใหม่ ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ มีลำธาร โขดหินน้อยใหญ่สลับกันไป ใครที่อยากชาร์จพลังให้ตัวเอง ก่อนกลับไปลุยงาน บอกเลยว่า ได้รับพลังจากธรรมชาติไปเต็มๆ แน่นอน
ภาพ : Natcharin Ncr