ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่า เรื่องร้อนทางการเมืองซึ่งเป็นที่จับตา ตลอดทั้งปีหนู(ชวด) ที่ผ่านมา คงไม่มีเรื่องใดใหญ่เกินไปกว่า รวมตัวชุมนุมประท้วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ของม็อบราษฎร 

ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ขึ้นหลายอย่าง ทั้งการปลุก กลุ่ม นร.-นศ.ขึ้นมาสนใจทางการเมือง มีการประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ชนิดเนื้อหาที่เรียกร้อง ก็เป็นสิ่งแปลกใหม่ ที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ยอมรับว่าไม่เคยได้ยิน โดยเฉพาะประเด็น ปฏิรูปสถาบัน 

ปีที่ผ่านมาพ่อ แม่ ผู้ปกครอง หลายท่าน อาจพบว่าปัญหารุนแรงขึ้น เมื่อเหล่าลูกหลาน เหมือนพูดจากันคนละภาษา เหมือนอยู่คนละเจเนอเรชั่น ปัญหานี้ยิ่งดูถ่างกว้างขึ้นไปอีก ยิ่งเมื่อสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน ยิ่งทำให้ช่องว่างนี้ถ่างมากยิ่งขึ้น 

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ กับกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ลูกสาวยังเรียนอยู่ ดื้อจะไปร่วมม็อบราษฎร ผู้ปกครองพูดก็ไม่ฟัง สุดท้ายพ่อและแม่ถึงกับไล่ลูกสาวออกจากบ้าน จนต้องมานั่งขอรับบริจาคเงินในม็อบ จนเป็นข่าวในสื่อ หากใครเจอปัญหานี้คงปวดหัว ยิ่งคนที่เป็นพ่อและแม่ ผู้ปกครอง แน่นอนว่ามีความเป็นห่วงลูกหลานมาก ควรต้องมีวิธีแก้ไขอย่างไรให้สามารถพูดจาทำความเข้าใจให้เป็นภาษาเดียวกัน 

...

หมอมองว่า ยุคนี้พ่อแม่ใจต้องเปิด ถึงความคิดเห็นจะต่างกันยังไงก็ต้องอยู่ร่วมกัน อยากให้ใช้หลัก "5 ใช่" ได้แก่ 1.รัก อบอุ่น และไว้วางใจ 2.เป็นผู้ฟังที่ดี 3.ร่วมกันตั้งกฎเกณฑ์ 4.รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง และ 5.ยอมรับความสามารถที่หลากหลายของเด็ก

ขณะที่ "5 ไม่" ของหมอที่ได้พูดถึงในเพจ "บันทึกหมอเดว" นำมาใช้ทั้งในบ้านและโรงเรียนเพื่อปรับจูน เหล่านี้เรียกว่า “สงวนจุดต่างแสวงหาจุดร่วม” ยกตัวอย่าง เด็กไม่ชอบให้ผู้ใหญ่ใช้ความรุนแรง ไม่ชอบโดนสบประมาท ในทางกลับกันผู้ใหญ่ก็ไม่ชอบให้เด็กสบประมาทเช่นกัน

เพราะฉะนั้น จุดร่วมของทั้งสอง คือ "การสบประมาท" เราจึงต้องเกิดกติการ่วม ว่าต่างฝ่ายต่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างอีกประเด็นคือ ในวันที่นักเรียนรวมตัวกันไม่ใส่ชุดนักเรียน ถ้าอยากลองใส่ ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เราคงต้องตีค่าให้ชัดเจนว่า เราใช้อำนาจนิยมกับเด็กไม่ได้ ไม่ใช่แค่เด็ก ผู้ใหญ่ก็ยังไม่ชอบไม่ใช่เหรอ เพราะฉะนั้นจุดร่วมคือ การไม่ใช้อำนาจ หมอคิดว่าหมอไม่เห็นด้วยที่ไล่เด็กออกจากบ้านเพียงเพราะความคิดเห็นแตกต่าง เพราะจริงๆ แล้วเขาก็คือลูกเรา การไล่ลูกออกจากบ้านตามหลักการแล้วพ่อ-แม่ เองผิด ถ้ายึดเอาอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กถือว่าผิดหลัก เด็กในนิยาม คือ อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา พ่อแม่จะไล่ลูกออกจากบ้านไม่ได้ 

อย่างเรื่องการใส่ชุดนักเรียนก็เช่นกัน หมอได้พูดว่า การใส่ชุดนักเรียนเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่งดงาม แต่กระทรวงศึกษาธิการใช้หลักการผิดหลักจิตวิทยามาตลอด ทุกวันนี้ เวลา นร.แต่งตัวดี เราไม่เคยชื่นชมเขา แต่ในขณะที่ ถ้าทันทีที่แต่งตัวรุ่มร่าม ผลระบบระเบียบ เมื่อไหนก็จะตำหนิเขา หรือบางครั้งผิดระบบระเบียบนิดหน่อย เราก็ลงโทษเขา บางคนใช้ความรุนแรงด้วยซ้ำไป ซึ่งในหลักจิตวิทยา เสื้อผ้า หน้า ผม มันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความจริงเป็นสิทธิของเด็ก แต่เนื่องจากเรายังต้องการสอนวินัยให้เขาเข้าระบบ เขายังไม่มีวุฒิภาวะเพื่อให้พวกเขาอยู่ร่วมกับสังคม อีกหน่อยเขาอาจเติบโตไปเป็นอาชีพอะไรก็ได้ แพทย์ เภสัช ทหาร ตำรวจ พวกนี้เป็นยูนิฟอร์มกันหมด เขาก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะเขายังไม่ได้ไปถึงอาชีพไง การที่เขาเรียนรู้อยู่กับระบบ เรียนรู้อยู่กับสังคม มันเป็นเชิงสัญลักษณ์ของความงดงามของการอยู่ร่วมกัน ความหมายของหมอเป็นอย่างนั้น แต่หลักจิตวิทยาพวกนี้ เมื่อไรเขาแต่งตัวดี เราต้องให้แต้มบวก ถ้าเขาแต่งตัวไม่ดี เราก็เพิกเฉย คือ 0 แต่ไม่ได้ไปตีตราเขา สมมติเขาแต่งตัวดีทั้งห้องวันนี้ก็ขึ้นกระดานชื่นชมเขา ถ้าแต่งตัวไม่ดี ไม่เรียบร้อย ก็เรื่องของเขา แต่ที่ผ่านมาของกระทรวงมันตรงกันข้ามไง มันก็เลยกลายเป็นปัญหา

แล้วถ้าให้ดี ชุดบนดอยและชุดในเมืองก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ชุดบนดอยอาจเป็นม่อฮ่อมไปเลยได้ไหม มันไม่จำเป็นต้องเป็นเสื้อขาว กางเกงดำ-กากี นี่มันไร้สาระมาก แต่หมอกำลังบอกให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการศึกษาที่อยู่ตามท้องถิ่น แล้วเขาพิจารณาตามวัตถุดิบ ตามวัฒนธรรม ตามบริบทของท้องถิ่นนั้นฯ หมอกำลังพูดถึงนัยเป็นชุดแพทเทิร์นเดียวกัน แต่ชุดนั้นไม่จำเป็นต้องซื้อมาจาก กทม. คนในดอยไม่จำเป็นต้องมาแต่งตัวเหมือนคนในเมือง แต่เอาว่าคณะกรรมการสถานศึกษาเขายอมรับได้ ดีไม่ดีทำให้โอทอปหรือพื้นที่ชุมชนเขาอาจเย็บเสื้อผ้าเพื่อลูกหลานเขาเอง ลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วยล่ะ ทำไมกระทรวงถึงคิดไม่ได้ สมมติการที่นักเรียนในพื้นที่ตรงนั้นใส่ชุดม่อฮ่อมเหมือนกันหมด ก็เหมือนกับการฝึกระบบระเบียบไปในตัว ถ้าเราสามารถทำอย่างนี้ได้ก็ลดค่าใช้จ่ายพ่อแม่ได้ แถมส่งเสริมโอทอปเขาได้ด้วย

แต่ก็แน่นอนการไม่ใส่ชุดเลยนะ ในเชิงจิตวิทยาน่ากลัว หมอต้องตั้งคำถามว่า แล้วเราจะฝึกความคิดเชิงระบบ ไม่ใช่วินัยนะ ฝึกการมีระเบียบ วิธีการ บนความรับผิดชอบ ถ้าบ้านเมืองไหน แม้กระทั่งครอบครัวไหน กฎระเบียบฟรีสไตล์หมดเลย ผลลัพธ์หมอเห็นมาเยอะละ ลูกจะกลายเป็นมีปัญหาไปหมดเลย เพราะมันไม่อยู่กับความคิดเชิงระบบ คิดเชิงระบบไม่เป็น อยู่กับระบบระเบียบไม่ได้ การทำงานบางเรื่องกลายเป็นข้อจำกัดไปเลย ทำงานฟรีแลนซ์หมด เวลาสังคมมาอยู่ร่วมกัน แล้วจำเป็นต้องออกกฎเกณฑ์ กติการ่วมกัน พวกนี้อดทนไม่ได้ เพราะความอดทนไม่มี เป็นความเสียหายเชิงระบบในการสร้างคน

วิธีการแก้ปัญหาของหมอ 1 เด็กจำเป็นต้องพัฒนาตามกฎหมายเด็ก 1 ในเรื่องการใส่ชุดเป็นยูนิฟอร์มแบบเดียวกัน แต่ต้องเป็นไปตามท้องถิ่นนะ ไม่ใช่มาจากส่วนกลางส่ง ต้องใส่ชุดอะไร ยาวกี่มิลฯ อันนี้ช่วยเลิกไปทีเถอะ ต้องเป็นไปตามบริบทของเขา ตามท้องถิ่น อาจเกิดการประสานทำงานร่วม น่าเป็นบทบาทกรรมการสถานศึกษา แต่ต้องมีผู้แทนสภานักเรียนเข้าไปเป็นคณะกรรมการด้วย เพื่อคานอำนาจผู้ใหญ่ผู้อำนวยการได้ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้

เพราะโรงเรียนเป็นที่ฝึกเด็ก เราไม่ใช่ทหารที่ต้องเหมือนกัน เรื่องชุด เรื่องทรงผม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เรื่องแบบนี้คิดว่าน่าจะอยู่ในอาณัติของคณะกรรมการสถานศึกษาต่อไป

งานนี้พ่อ-แม่ผู้ปกครอง อาจจะลองเอาวิธีที่ "หมอเดว" แนะนำ ไปใช้พูดคุยกับลูกหลานดู เชื่อว่าน่าจะแก้ปัญหาคนละ "เจเนอเรชั่น" พูดคุยกันไม่รู้เรื่องลงได้ และเมื่อ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง สามารถเปิดใจคุยกับลูกหลานได้มากขึ้น ก็จะส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น ก็จะลดปัญหาทางสังคมอื่นได้อย่างแน่นอน