คุยกับ “หมอยง ภู่วรวรรณ” ตอบทุกข้อสงสัย ฝีดาษวานร ตั้งแต่เริ่มต้นสู่การระบาด Mpox 1b รุนแรงกว่า Mpox 2b แนะวิธีสังเกต วิธีป้องกัน และการรักษา ย้ำอย่าตระหนก แม้สายพันธุ์ 1b ติดง่าย รุนแรงกว่า..
“คนป่วยที่เป็นโรคฝีดาษวานร สังเกตได้ง่าย ๆ คือ ตุ่มน้ำจะมีลักษณะยุบตรงกลางตุ่ม แตกต่างจากโรคสุกใส ตุ่มจะไม่ยุบตรงกลาง”
นี่คือประโยคแรกในการสนทนากับ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยโพสต์เตือนเรื่องนี้ และวันนี้ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงโรคนี้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ บ่ายวันนี้ (21 ส.ค.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าวด่วนถึงการพบผู้ป่วยสงสัย “ฝีดาษลิง” สายพันธุ์ Clade 1b ซึ่งพบเป็นชาวยุโรป เดินทางมาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดว่า ผู้ป่วยเริ่มมีอาการตุ่มขึ้นตามร่างกายเล็กน้อย วันที่ 15 ส.ค. เมื่อซักประวัติ ทางโรงพยาบาลสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง เมื่อตรวจฝีดาษลิง กลุ่ม 2 ผลเป็นลบ แต่เมื่อตรวจฝีดาษลิง 1b หรือกลุ่มที่ 1 กลับได้ผล “ไม่ชัดเจน”
...
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้บอกเล่าที่มาและจุดเริ่มต้นของฝีดาษวานรให้ฟังว่า...
จุดเริ่มต้นและที่มาฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง เกิดจาก...
ศ.นพ.ยง เล่าจุดเริ่มต้น “ฝีดาษวานร” ว่า แรกเริ่มเราเรียกว่า Monkeypox Virus พบครั้งแรกในลิงที่เอามาเลี้ยงในห้องทดลอง และเกิดการระบาดในลิงเมื่อราว 60 ปีที่แล้ว และหลังจากนั้นมีการตรวจแผลในลิง พบว่ามีความคล้ายกับ “ฝีดาษ”
ต่อมาได้มีการตรวจลึกไปอีก มีการ “แยกเชื้อ” ก็พบว่า “ฝีดาษ” ดังกล่าวไม่ใช่ของคน จึงมีการตั้งชื่อว่าเป็น Monkeypox หรือฝีดาษลิงตามการค้นพบ
หมอยง เล่าต่อว่า หลังจากนั้นอีก 10 กว่าปี คือ ปี 1958 มีการค้นพบครั้งแรกในคน เป็นชาวแอฟริกัน สาเหตุที่รู้ได้เพราะเชื้อมีความเหมือน “ฝีดาษลิง” จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก แต่...หลักฐานที่บ่งบอกว่ามาจาก “ลิง” นั้น ยังไม่เคยมีความชัดเจน
สิ่งที่ชัดเจนคือ มาจากสัตว์ตระกูล “ฟันแทะ” หรือกลุ่มหนู และสิ่งที่ปรากฏเด่นชัดคือ เหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือ การแพร่ระบาดฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกา เกิดจากการนำหนูมาเป็นสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะ “หนูยักษ์แกมเบีย” เมื่อเข้าไปในอเมริกา เชื้อฝีดาษลิงเข้าสู่สัตว์อีกชนิด คือ Prairie dog (กระรอกดิน) (สัตว์ตระกูลหนูเช่นเดียวกัน) อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้า Prairie และที่สำคัญคือ คนที่เลี้ยงมีความใกล้ชิดกับ Prairie dog เป็นที่มาของการเกิดการระบาดครั้งใหญ่ที่สหรัฐฯ ซึ่งการระบาดดังกล่าว มีหลักฐานชัดเจนว่า ติดเชื้อมาจาก Prairie dog มีการระบาดในสหรัฐฯ อยู่หลายรัฐ กระทั่งสามารถควบคุมแก้ปัญหาได้ในเวลาต่อมา...
หลังจากนั้น มีการระบาดเป็นหย่อมเล็ก ๆ หรือในคนนอกแอฟริกาเป็นราย ๆ ซึ่งสิ่งที่สังเกตเด่นชัด และรู้ทันทีว่าเป็นฝีดาษลิง คือ ตุ่มที่ขึ้นตามร่างกาย แต่จะมีไม่เยอะมาก อัตราการเสียชีวิตต่ำ แตกต่างจาก “ไข้ทรพิษ”
การระบาดครั้งใหญ่ใน pride festival ของสายพันธุ์ 2b
ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา อธิบายต่อว่า กระทั่งล่าสุด เมื่อ 2 ปีก่อน มีการระบาดในยุโรป โดยเริ่มจากสเปน หลังเทศกาล pride festival โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชาย จากนั้นก็มีการแพร่ระบาดไปในยุโรป แต่การระบาดครั้งนั้น พบว่าเป็นคนละสายพันธุ์กับที่อยู่ในแอฟริกา
การระบาดในแอฟริกา คือ ฝีดาษวานรใน Clade 1b ส่วนการระบาดในยุโรป คือ การระบาดของฝีดาษวานรใน Clade 2b
ฝีดาษวานร MPox Clade 2b
สำหรับฝีดาษวานร Mpox Clade 2b หมอยง อธิบายว่า เป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วและไปทั่วโลก โดยพบว่ามีผู้ป่วยอยู่นอกแอฟริกาเกือบ 100,000 คน แต่อัตราการเสียชีวิต 400-500 คน ซึ่งถือว่าน้อย ประมาณ 0.2%
“การระบาดของ Clade 2b นั้น พบผู้ติดเชื้อร่วม 100 ประเทศ ในขณะที่ประเทศไทย ตัวเลขจาก ก.สาธารณสุข ประมาณ 800 ราย ส่วนใหญ่ที่พบจากการระบาดนอกแอฟริกา คือ ผู้ชาย 98% ขณะที่ผู้หญิงมี 2% ส่วนอายุ อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ถึงวัยกลางคน อาการของโรคคือ มีตุ่มและไข้ขึ้น หรือบางคนอาจจะไม่เห็นตุ่มเลย... กระทั่งเข้าสู่ปี 2024 การระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าวเริ่มน้อยลง จนทุกคนไม่ได้รู้สึกกลัวแล้ว” ศ.นพ.ยง กล่าวและว่า
...
กรณี 2b นั้น โอกาสติดต่อได้ ต้องสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด เช่น นอนเตียงเดียวกัน และก็มีส่วนเรื่อง “เพศสัมพันธ์” เพราะตำแหน่งของตุ่มที่ขึ้น ส่วนใหญ่พบที่อวัยวะเพศ เพราะมีการสัมผัสกัน แต่ส่วนอื่นตามร่างกายก็พบได้ โดยหากเอามือไปจับโดนตรงไหนของร่างกาย ก็มีโอกาสที่จะเกิดตุ่มน้ำขึ้นได้ หรือเอามือไปขยี้ตาก็ขึ้นตาได้ เพราะตุ่มหนองที่เกิดขึ้นนั้น มันมีเชื้อโรคอยู่
สายพันธุ์ที่น่ากลัว Mpox Clade 1b
หมอยง กล่าวต่อว่า กระทั่ง 2-3 เดือนนี้ เราพบฝีดาษลิงระบาดที่สาธารณรัฐประชาธิปไตย “คองโก” ในช่วงระยะเวลาอันสั้น พบผู้ป่วยกว่า 15,000 ราย จากจำนวนดังกล่าว เราพบว่า “อัตราการเสียชีวิต” อยู่ที่ 3-5% ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าว คือ 1b มีอัตราการตายสูงกว่าสายพันธุ์ 2b หลายเท่าตัว
ที่น่าสังเกตคือ โรคนี้สามารถพบได้จำนวนมากในเด็ก สิ่งที่พบการระบาดในยุโรปคือ ผู้ใหญ่ แต่สายพันธุ์ 1b คือ ในเด็ก หรือผู้หญิง ก็สามารถพบได้ นี่คือความแตกต่างของโรคนี้ โดยเฉพาะการแพร่กระจายของโรค ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสใกล้ชิดแล้ว
...
Mpox Clade 1b ติดต่อง่ายกว่า อันตรายกว่า
“เชื่อว่า การติดต่อของโรคฝีดาษลิง สายพันธุ์ที่ 1b นั้น สามารถติดต่อได้ทางฝอยละออง ที่ออกจากทางปาก จมูก และทำให้เกิดการติดต่อได้ เรียกว่าติดต่อง่ายกว่า และมีความรุนแรงของโรคมากกว่า ที่รุนแรงกว่า ตามเหตุผลของผมเชื่อว่า เพราะมีอาการป่วยในเด็ก...”
เหมือนภูมิคุ้มกันเด็กมีน้อยกว่าหรือ...? ศ.นพ.ยง ตอบว่า คนไทยอายุเกิน 40 ปีไปแล้ว จะมีการ “ปลูกฝี” ป้องกันไข้ทรพิษ และการปลูกฝีสามารถป้องกันโรคได้ ร้อยละ 70 หรือลดความรุนแรงของโรคลง
เมื่อไข้ทรพิษมันหมดไปจากประเทศไทยแล้ว ทำให้คนไทยเลิกปลูกฝี โดยเริ่มมีนโยบายเลิกปลูกฝีตั้งแต่ปี 2517 และเลิกปลูกฝีเด็ดขาด คือ ปี 2523 ฉะนั้น คนที่เกิดหลังปี 2523 นั้น จะไม่เคยปลูกฝี ดังนั้น คนที่ไม่ได้ปลูกฝี จะมีความเสี่ยงมากกว่า
เมื่อถามว่า “มากกว่าขนาดไหน...” หมอยง ตอบทันที “ไม่มีใครรู้ เพราะภูมิของการปลูกฝีนั้น อาจจะสามารถป้องกันได้เพียงบางส่วน เพราะเป็นไวรัสคนละตัว แต่ข้ามมาป้องกันได้...”
ประเด็นสำคัญของการระบาดใน “คองโก” คือ ไม่รู้ว่า การระบาดดังกล่าวมาจาก “สัตว์ชนิดใด” แต่รู้แน่ว่า มีการติดต่อจากคนสู่คน และที่เห็นได้ชัดคือ การระบาดมันง่าย ทำให้การระบาดข้ามประเทศ ไปยังประเทศแอฟริกากว่า 10 ประเทศ
จากการแพร่ระบาดได้ง่ายนี้เอง ทำให้เกิดรายแรก ที่ไปโผล่นอกแอฟริกา ก็คือ ประเทศสวีเดน
...
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง ฝีดาษวานร สายพันธุ์ Mpox 1b
หมอยง กล่าวถึงกลุ่มเสี่ยงว่า...
1. คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น คนติดเชื้อ HIV ที่ไม่ได้กินยารักษา, กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง คนกลุ่มนี้ถือว่าค่อนข้างอ่อนแอ หากติดเชื้อ จะมีอาการรุนแรง
2. กลุ่มเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
3. แผลเรื้อรัง ผื่นแพ้ตามร่างกาย ทำให้ตุ่มขึ้นเยอะ
4. สตรีตั้งครรภ์ ถ้าเป็นระหว่างตั้งครรภ์ มีโอกาสแท้งได้
มาตรการป้องกันฝีดาษวานร
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสคนที่ไม่รู้จัก หรือเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก
2. ไม่สัมผัสกับสัตว์ที่น่าสงสัย โดยเฉพาะตระกูลหนู
3. รู้จักแยกตัว หรือเว้นระยะห่าง (แต่ไม่ถึงขั้นที่ต้องห่างแบบโควิด)
4. ฉีดวัคซีนป้องกันได้ สามารถฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน แต่ปัญหาคือ วัคซีนป้องกันยังถือว่ามีราคาแพง (ราว 7,000 บาท/เข็ม)
“สายพันธุ์ 2b ถ้าเราไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เราไม่จำเป็นต้องกลัวเลย ส่วนสายพันธุ์ 1b ต้องรอพิสูจน์ชัดเจนจริง ๆ ว่าติดเชื้อ หากพิสูจน์ว่าติดจริง ๆ ก็รักษาเหมือนโควิด รักษาในห้องปลอดเชื้อ โดยอาการจะมีไข้ อ่อนเพลีย มีตุ่มขึ้นตามร่างกาย ต้องรักษาจนแผลทุกตุ่มตกสะเก็ดจนหมด ซึ่งเคส 2b หากอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล โดยมีการให้คำแนะนำ เรื่องการรักษาความสะอาด เป็นการรักษาและให้ยาตามอาการ
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การรักษาสายพันธุ์ 1b กับ 2b นั้น คล้ายกัน คือการรักษาตามอาการ แล้วจะหายได้เอง แม้จะมียาต้านไวรัส แต่ยาดังกล่าวยังเป็นที่ศึกษาอยู่ ส่วนสาเหตุสายพันธุ์ 1b มีผู้เสียชีวิตมากกว่า เพราะมีการระบาดในเด็กและกลุ่มเสี่ยง ซึ่งนี่ข้อสันนิษฐาน
ก่อนจบการสนทนา หมอยง ย้ำว่า ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก แต่ศึกษาหาความรู้และวิธีป้องกันที่ถูกต้อง และทุกคนต้องช่วยกันป้องกัน
อ่านบทความที่น่าสนใจ